จากกรณีที่เมื่อวันที่ 6 ก.พ.2568 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พิพากษาจำคุก 2 ปี ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. กรณีออกหนังสือเตือนโฆษณาแทรกบนแพลตฟอร์มทรูไอดี ทั้งนี้วางเงินประกันตัว 120,000 บาท แต่ห้ามออกนอกประเทศ
![สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการ กสทช.](https://news.thaipbs.or.th/media/TSNBg3wSBdng7ijMhTpDHxFDZRstXC9kiZZagRUIXy3.jpg)
สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการ กสทช.
สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการ กสทช.
น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการ กสทช. ระบุว่า จากกรณีดังกล่าวยังรู้สึกช็อกกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และเห็นใจ ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รวมถึงเป็นห่วงภาพรวมการทำงานของ กสทช.
"แต่หลังจากนี้ถ้าใช้คำว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นแดนสนธยาก็ว่าได้ เพราะอึมครึมและทำให้สังคมรู้สึกมีความหวังน้อยมากในการจะฝากอะไรไว้กับ กสทช.และคนที่ตั้งใจทำงานอย่างอาจารย์พิรงรอง"
ทั้งนี้ในฐานะ อดีต กสทช.สิ่งที่เคยเจอในอดีตว่าหนักแล้ว แต่ในปัจจุบันยิ่งหนักกว่า มองว่าเป็นโจทย์ร่วมของสังคมและอุตสาหกรรมสื่อ และมาสู่ประเด็นทางกฎหมาย รวมถึงเรื่องหลักนิติธรรม การคุ้มครองผู้บริโภค ประโยชน์สาธารณะ บทบาทเจ้าหน้าที่รัฐในการคุ้มครองประโยชน์ประชาชน
"ในมุมหนึ่งต้องสดุดี อ.พิรงรอง เพราะต้องเจอผลกระทบแบบนี้ แต่อาจให้สังคมตาสว่างขึ้นในหลายๆ เรื่อง แต่ไม่รู้ว่าเป็นจุดคานงัดที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีหรือเปล่า ถ้าการต้องเสียสละและนำไปสู่การคานงัดทำให้หลายๆ อย่างดีขึ้นบ้าง สังคมไทยยังรู้สึกมีความหวัง เช่นเกิดการทำงานที่รับผิดชอบโปร่งใสมากขึ้นของ กสทช.ในการกำกับภาคเอกชนและอีกหลายๆ เรื่อง แต่ตอนนี้กลับดูมืดมน และไม่รู้ว่าจะพึ่งพาใครได้
ขนาดเป็นเจ้าหน้าที่รัฐมีกฎหมายรองรับ เป็นกรรมการองค์กรอิสระ ทำหน้าที่ตามที่เชื่อว่าเป็นการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ ก็ยังเจอผลกระทบรุนแรงขนาดนี้
การเตือนเป็นอำนาจที่ กสทช.หรือไม่
น.ส.สุภิญญา ระบุว่าหลายคนอาจจะพูดถึงอำนาจในการกำกับ OTT (Over-The-Top หรือการให้บริการสตรีมเนื้อหาผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต) และ Must Carry แต่อีกคำหนึ่งที่ตามว่าคือพาสทู คือไม่ว่าใครนำช่องไปออกก็ต้องออกจากพาสทู คือมาอย่างไรไปอย่างนั้น การนำอะไรมาแทรกเป็นการผิดประกาศของ กสทช.อยู่แล้วอำนาจในการกำกับ OTT ยังไม่ได้เป็นอำนาจของ กสทช. แต่อำนาจในการกำกับตามประกาศเพื่อคุ้มครองดิจิทัลทีวีตามกฎ Must Carry และพาสทูเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคเป็นอำนาจที่ต้องทำอยู่แล้ว
ทั้งนี้ถ้าเป็นเรื่องของนโยบาย เช่นการออกแบบแผนแม่บท ประมูลเรื่องความถี่ ต้องส่งเรื่องไปยังบอร์ด แต่เรื่องเป็นที่ผ่านบอร์ดแล้ว เป็นการกำกับดูแลเป็นส่วนที่สำนักงานสามารถแจ้งเตือนได้
ในกรณีนี้เห็นว่าถ้ากระทบต่อกฎ Must Carry และเมื่อมีการร้องเรียนเข้ามา ส่วนตัวคิดว่าต้องดำเนินการ แต่มีกลไกอนุกรรมการกลั่นกรองอีกทีหนึ่ง
ส่วนประเด็น กสทช.ไม่ได้มีอำนาจกำกับ OTT ซึ่งจดหมายที่สำนักงาน กสทช.แจ้งเตือนไม่ได้ไปที่ OTT แต่ได้ถูกส่งไปที่ผู้ได้รับใบอนุญาต
น.ส.สุภิญญา ยังระบุว่าความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรกำกับดูแลและผู้ถูกกำกับดูแลควรเป็นความสัมพันธ์ Love-Hate Relationship ที่ไม่ใช่ถึงกับหวานแหววและไม่ถึงกับขั้นแตกหัก ควรเป็นความสัมพันธ์ที่รักษาระยะห่าง ในบางเรื่องที่เห็นไม่ตรงกัน ขัดแย้งกันได้ หลายๆ เรื่องของความขัดแย้งจะไปจบที่ศาลปกครอง
แต่สิ่งที่เห็นคือผู้ประกอบการรายหนึ่งรายใดจะทำหนังสือเข้ามาที่ กรรมการ กสทช.และมีการพูดคุยชี้แจง ถ้ามากไปกว่านั้นต้องไปศาลปกครอง ข้อดีคือข้อพิพาททางปกครอง ไกล่เกลี่ย คุยกัน ทำคู่ขนาน และทำให้เกิดการดีเบตนำมาสู่ซึ่งความสมดุล
ส่วนตัวมองว่าถ้ามีข้อขัดแย้งระหว่างเอกชน กับ กสทช.อาจจะมีการเสนอไต่ตามลำดับ หรือไปยังศาลปกครอง อย่างกรณีนี้ยังไม่ได้เป็นคำสั่งทางปกครอง ที่ชี้ผิดชี้ถูก เป็นแนวเตือนขอความร่วมมือ
การฟ้องร้องและใช้เวลาในการต่อสู้ทางกฎหมาย ก็จะกระทบการทำงาน
อ่านข่าว : เปิดฉบับเต็มคำพิพากษาจำคุก 2 ปี "พิรงรอง" กับคำว่า "จะล้มยักษ์"
![ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช.](https://news.thaipbs.or.th/media/TSNBg3wSBdng7ijMhTpDHxFDZRstXDE22MwcU8gMMjF.jpg)
ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช.
ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช.
ความจำเป็นการกำกับ OTT
ผู้ประกอบการไทยที่อยู่ใน OTT ต้องสนับสนุนให้มีการกำกับ OTT เพราะแพลตฟอร์ม OTT จากต่างประเทศ ที่เข้ามาสตรีมมิงและได้เม็ดเงินในไทย เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีการกำกับดูแลจะกระทบผู้ประกอบการไทยในที่สุด ต้องมาถึงจุดที่ให้ กสทช.เป็นเจ้าภาพ ในการกำกับดูแล หาแนวทางที่สร้างจุดสมดุลระหว่างการธำรงเรื่องหลักการสิทธิเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารประชาชนและการแข่งขันที่เสรีเป็นธรรม และคุ้มครองผู้บริโภค
เมื่อมีคดีนี้จะไปต่อไปอย่างไร ทุกคนกลัวไหมในการขับเคลื่อนเรื่องนี้
ทั้งนี้อยากให้กำลังใจอาจารย์พิรงรอง อย่าเพิ่งถอดใจ การอยู่ตรงนั้นยังเป็นปากเป็นเสียงของภาควิชาการ ภาคสื่อ ด้วยจุดยืนที่เป็นอิสระ แม้จะมีแรงกดดัน
"องคาพยพ ของ กสทช.ใช้งบประมาณไปเยอะมาก ต้องรู้หน้าที่ว่าอยู่เพื่ออะไร เพราะฉะนั้นในความขัดแย้งของ กสทข.ทุกวันนี้จะทำให้คนทำงานลำบาก จะหนักกว่านั้นถ้าไม่ทำงาน ทำร้าย และบั่นทอนคนที่ตั้งใจทำงาน ถ้าสำนักงานไม่ทำงานบอร์ดจะทำงานอย่างไร"
อาจารย์พิรงรองยังต้องเจอแบบนี้ บอร์ดที่เหลือทำอะไรได้บ้าง
![อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ อุปนายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย)](https://news.thaipbs.or.th/media/TSNBg3wSBdng7ijMhTpDHxFDZRstXDD678oVP1DSwKk.jpg)
อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ อุปนายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย)
อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ อุปนายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย)
"ทีวีดิจิทัล" ไปต่ออย่างไร
นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ อุปนายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) หลังจากนี้ห่วงการทำงาน กสทช.เนื่องจากอยู่ในช่วงสำคัญที่ทีวีดิจิทัลใบอนุญาตจะหมดเมษายน 2572 อีก 4 ปีที่เหลือ แต่ กสทช.ยังไม่ได้ดำเนินการอะไรในเรื่องนี้
ซึ่ง กทสช. จะวางแนวอย่างไร เช่นถ้าไม่ประมูลต้องทำอย่างไร แก้กฎหมาย หรือประมูลต้องทำบนเงื่อนไขอะไร ซึ่งต้องมีความชัดเจนล่วงหน้าประมาณ 3 ปี เพื่อให้เอกชนได้มีการเตรียมตัว
"แต่ที่น่าตกใจมากๆ และเป็นความสิ้นหวังของวงการโทรทัศน์ คือ ประธาน กสทช.เคยให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์เว็บหนึ่งระบุว่าเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ในเรื่องของใบอนุญาตทีวีดิจิทัล ไม่สามารถที่จะพิจารณาได้ ต้องพิจารณาปีต่อปี และไว้รอปี 70 ค่อยพิจารณาก็ได้ ซึ่งเมื่อบทสัมภาษณ์นี้ออกไปเป็นที่โจษจันและสิ้นหวัง"
นายอดิศักดิ์ มองว่า ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง เป็นคนเดียวที่ต่อสู้เสนอแนวทาง แต่เรื่องทั้งหมดหยุดนิ่ง ไม่ผ่าน กสทช.ชุดใหญ่
นี่ยังไม่เกิดคดี และยิ่งเมื่อเกิดแล้ว อนาคตของทีวีดิจิทัลจะไปต่ออย่างไร ไม่รู้เลย มันมืดสนิท
![](https://news.thaipbs.or.th/media/TSNBg3wSBdng7ijMhTpDHxFDZRstXDJHQysekXDIABj.jpg)
เสียโอกาสในการทำงาน
สำหรับกรณีที่ กสทช.ถูกตั้งมาเพื่อหวังอำนวยความสะดวกให้มากำกับเนื้อหาโทรทัศน์แต่เมื่อ กสทช.ถูกฟ้องและมีคดีติดตัว จะทำให้เสียโอกาสในการทำงาน นั้น มองว่าเสียโอกาสในการทำงานตั้งแต่แต่งตั้ง กสทช.ชุดนี้ขึ้นมา เพราะ 3 ปีผ่านไปแล้ว การดำเนินการในหลายเรื่องใหญ่ๆ ไม่คืบหน้า อย่างเรื่องกำกับ OTT จะกำกับได้แค่ไหน เรื่องควรจะดำเนินการเสร็จแล้ว เพราะตั้งแต่กรรมการชุดที่ผ่านมาก็ได้หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดคุยกัน 3 ปีแล้วไม่เดินหน้าเพราะมีความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายใน กสทช.เอง
อย่างกรณีการกำกับ OTT ถ้ามีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน ทรูไอดีต้องเข้าหลักเกณฑ์ใดหลักเกณฑ์หนึ่ง เช่นเดียวกับ AIS PLAYBOX ที่เข้าหลักเกณฑ์ IPTV
"ซึ่งถ้าถามผู้บริโภคทั่วไประหว่าง ทรูไอดี กับ AIS AIS PLAYBOX ก็จะมองว่าเป็นผู้ให้บริการประเภทเดียวกัน แต่ทำไมอีกรายไปขอใบอนุญาต แต่อีกรายไม่ได้ขอใบอนุญาตเพราะ กสทช.ยังไม่มีหลักเกณฑ์"
"หมอลี่" มองอนาคต การทำหน้าที่ของ "กสทช." หลังศาลฯพิพากษา "พิรงรอง"
เรียกร้องรัฐดูแล กสทช. - แก้กฎหมายล้าหลัง
นายอดิศักดิ์ ยังระบุว่าข้ออ้างของรัฐบาลที่บอกว่า กสทช.เป็นองค์กรอิสระไม่สามารถที่จะเข้าไปกำกับดูแลอะไรได้ ต้องปล่อยให้ กสทช.ทำงาน แต่ขณะนี้มองว่าสร้างความเสียหายแล้ว สถานการณ์เปลี่ยน และทุกคนเห็นปัญหา รัฐบาลซึ่งมีหน้าที่บริหารประเทศ ดูนโยบายใหญ่ ในเรื่องของดิจิทัลด้วย จึงขอเรียกร้องให้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ต้องเข้ามาดูแล ไม่เช่นนั้นอุตสาหกรรมของทีวีดิจิทัล จะไปต่อไม่ได้
ขณะเดียวกัน พ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่ที่บังคับใช้มาตั้งแต่ พ.ศ.2553 หลายประเด็นอาจจะไม่เข้ากับยุคสมัย ต้องมีการแก้ไข เพื่อปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมนี้ให้เหมาะสมกับ Ecosystem ที่เปลี่ยนไป ทีวีดิจิทัลที่เปลี่ยนผ่านจากอนาล็อก จะเดินต่อไปอย่างไร
ในพื้นที่ กทม. OTT เริ่มมีส่วนแบ่งของคนดูมากกว่าทีวีภาคพื้นดิน ไม่เกิน 3 ปี OTT จะมีคนดูมากกว่าทีวีแบบดั้งเดิม ถ้าไม่รีบดำเนินการ จะมีจะยักษ์ที่คุมตลาดจากต่างประเทศ
"ในเมื่อ กสทช.ไม่มีอำนาจในการกำกับ OTT อาจารย์พิรงรองจึงจำเป็นต้องหาช่องแจ้งหนังสือมายังผู้ถือใบอนุญาตคือทีวีดิจิทัล แต่กลับถูกลงโทษ การปกป้องผู้บริโภคแล้วถูกศาลตัดสินเป็นเรื่องร้ายแรง ที่บั่นทอนการทำงานของคนที่อาสาตัวเข้ามาทำงานในองค์กรอิสระ"
บทเรียนขององค์กรอิสระแบบ กสทช. ที่อิสระไม่ขึ้นกับใครเลย มันสร้างปัญหา
อ่านข่าว :
"สารี" งัด ม.27 "พิรงรอง" สู้เพื่อผู้บริโภคไม่ได้อยาก "ล้มยักษ์"