วันนี้ (6 ก.พ.2568) เพจเฟซบุ๊ก เข็นเด็กขึ้นภูเขา ของพญ.เบญจพร ตันตสูติ (หมอมินบานเย็น) จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น และแอดมินเพจเข็นเด็กขึ้นภูเขา ระบุว่า จดหมายนี้เขียนด้วยความเป็นห่วงคนไข้ที่จำเป็นต้องกินยา แต่ยาขาดคราว (ขาดคราวเป็นศัพท์ที่ใช้เวลายาขาดไม่มีให้สั่งจ่ายเป็นคราว ๆไป)
โดยเนื้อหาระบุว่าถึงนายกรัฐมนตรี และรมว.กระทรวงสาธารณสุข เนื่องด้วยที่ผ่านมาในประเทศไทย บรรดาแพทย์ที่ทำการรักษาผู้ป่วยที่เป็นสมาธิสั้น โดยเฉพาะจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น พบปัญหายาสมาธิสั้น Methylphenidate ในรูปแบบต่าง ๆ ขาดคราวค่อนข้างบ่อย ทำให้ไม่มียาสั่งจ่ายในการรักษาให้คนไข้ ส่งผลกระทบตามมาถึงตัวคนไข้ ซึ่งส่วนมากเป็นเด็ก รวมถึงครอบครัวด้วย
โรคสมาธิสั้น เป็นโรคที่พบได้บ่อย โดยผลสำรวจจากกรมสุขภาพจิตพบว่าในกลุ่มเด็กไทยที่กำลังเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 ที่มีจำนวน 5 ล้านคน พบว่าเป็นโรคสมาธิสั้น 6.5% คาดว่าจะมีเด็กไทยป่วยเป็นโรคนี้ 310,000 คน
แม้ชื่อจะบอกว่าเป็นสมาธิที่สั้น แต่จริง ๆ เป็นโรคที่ส่งผลต่อการควบคุมตัวเอง (Self-control) ด้านต่าง ๆ ทั้งสมาธิ คำพูด การกระทำ อารมณ์ ดังนั้นหากไม่รักษาหรือรักษาได้ไม่ต่อเนื่องจะส่งผลกระทบไม่เพียงแค่ไม่มีสมาธิในการเรียน หรือมีปัญหาการเรียน ตามที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ
แต่อาจมีปัญหาอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการเรียน เช่น การควบคุมอารมณ์ มีใจร้อน หงุดหงิด รอคอยไม่ได้ มีปัญหาเวลาอยู่กับคนอื่นๆ เพราะควบคุมคำพูดและการกระทำไม่ได้ เช่น มีพูดโพล่ง พูดแทรก ไม่คิดก่อนทำ หุนหันพลันแล่น บางทีเด็กอาจถูกเพื่อนแกล้ง หรือไปแหย่เพื่อน ถูกครู ครอบครัว ตำหนิ ไม่เป็นที่ยอมรับในกลุ่ม สุดท้ายส่งผลถึงความภาคภูมิใจในตัวเอง มีปัญหาสุขภาพจิตอื่นๆ ตามมาทั้งตอนที่เป็นเด็กและเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่
การรักษาที่เป็นที่ยอมรับทางการวิชาการในเคสที่ได้รับการวินิจฉัยคือการรักษาด้วยยาที่ได้ผลดีคือ Methylphenidate ซึ่งคือยากำลังเป็นปัญหาขาดคราวบ่อยๆ
เนื่องจาก Methylphenidate เป็นยาที่อยู่ในกลุ่มวัตถุออกฤทธิ์ประเภทที่ 2 (กลุ่มเดียวกันกับ pseudoephedrine ) สถานพยาบาลไม่สามารถสั่งยาโดยตรงจากบริษัทยาได้ ต้องสั่งผ่าน อย.ตรงนี้เป็นที่เข้าใจได้
แต่ด้วยปัญหาบางอย่างที่เรื้อรังมานานหลายปี ทำให้เกิดปัญหายาขาดคราวบ่อย ๆ เกิดเหตุการณ์ ยาไม่เพียงพอสำหรับความต้องการของคนไข้ โดยปีหนึ่ง ๆ เกิดเหตุการณ์ขาดยาหลายรอบ
ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ เด็กๆ และคนไข้ที่เป็นโรคสมาธิสั้นและกินยาอยู่ (เวลากินยาก็ต้องกินยาติดต่อเนื่องเพื่อช่วยให้อาการดีขึ้น) ไม่มียากินกะทันหัน พอจะมารับยาก็ผิดหวังกลับบ้านเพราะหมอบอกว่า
ยาหมดนะ ไว้ค่อยมาใหม่อีกทีตอนที่ยามาแล้วนะคะ
เด็กๆ ที่เป็นสมาธิสั้นเมื่อไม่ได้กินยาก็เกิดปัญหา ไม่ว่าจะเป็นไม่มีสมาธิตอนเรียน ทำให้จดงานไม่ทัน คะแนนตก มีปัญหาพฤติกรรมเพราะควบคุมตัวเองไม่ได้ คิดไม่ทันก่อนที่จะทำหรือพูด เช่น พูดแหย่เพื่อน แกล้งเพื่อน
ทำให้เพื่อนไม่ยอมรับ เพื่อนแกล้งมากขึ้น ที่บ้านก็มีปัญหาขาดระบบระเบียบ และมีอารมณ์หงุดหงิด ใจร้อน ทะเลาะกับพ่อแม่มากขึ้น กลายเป็นปัญหาครอบครัว สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้เมื่อเด็กไม่ได้กินยา
มีคำกล่าวว่า เด็กคืออนาคตของชาติปัญหานี้จึงไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย เพราะส่งผล กระทบลามไปไม่เพียงตัวเด็ก แต่กับครอบครัว โรงเรียน และสังคมประเทศชาติโดยรวม
ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นด้วยสาเหตุอะไรใด ๆ ที่ทำให้เกิดปัญหายาขาดคราวขึ้น หมอขออนุญาตวอนขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ อย. รวมถึงการเขียนจดหมายเปิดผนึกนี้ที่ส่งผ่านไปยังผู้บังคับบัญชา คือ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.รัฐมนตรีสาธารณสุข และน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้ดูแลทุกข์สุขของประชาชนไทย
ด้วยความหวังอย่างยิ่งว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงแก้ไขที่เป็นรูปธรรม นำไปสู่การทำให้ปัญหายาสมาธิสั้นขาดคราว ซึ่งเกิดขึ้นมาเป็นเวลานาน ให้หมดไปจากประเทศไทยในที่สุด
จากโพสต์ของ พญ.เบญจพร ตันตสูติ (หมอมินบานเย็น) จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น แอดมินเพจ เข็นเด็กขึ้นภูเขา ได้เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกถึง นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาการยา Methylphenidate ขาดคราวซึ่งเป็นยาจำเป็นสำหรับผู้ป่วยสมาธิสั้น (ADHD)… pic.twitter.com/vTnL141P9m
— Ying Rinthipond Varinvatchararoj (@Rinthipond_Ying) February 6, 2025
"สมศักดิ์" เรียกถกด่วนปัญหายาขาดคราวบ่อย
โดยโพสต์ดังกล่าวมีการแชร์ไปจำนวนมากในโลกออนไลน์ทั้งในวงการสาธารณสุขและภาคการเมือง ซึ่งน.ส.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ จากพรรคเพื่อไทย ได้แชร์โพสต์ดังกล่าวพร้อมระบุว่า ได้ติดต่อไปยัง พญ.เบญจพร เพื่อแสดงความขอบคุณ และยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยรับทราบปัญหาดังกล่าว และจะดำเนินการประสานไปยัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อหาแนวทางแก้ไขโดยเร่งด่วนเมื่อคืนนี้ (5 ก.พ.)
หลังจากได้รับแจ้งปัญหานายสมศักดิ์ ได้รับทราบเรื่องและตอบกลับว่าจะมีการประชุมในช่วงบ่ายวันนี้ เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางแก้ไขปัญหายาขาดคราว ซึ่งรายละเอียดเพิ่มเติมจะมีการแจ้งให้ทราบต่อไป
ปัญหายาขาดคราวเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนจำนวนมาก
โดยจะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ป่วยทุกคน โดยเฉพาะเด็ก ๆ จะได้รับการรักษาที่ต่อเนื่องเป็นรูปธรรม และช่วยเหลือผู้ป่วยทุกคนอย่างมีประสิทธิภาพ