ท้ายรถยนต์กระบะด้านซ้าย ของ จ.ส.ต.ซุลกีฟลี เจ๊ะมามะ ถูกแรงระเบิดจนฉีกขาด และได้รับความเสียหายทั้งหมด หลังผู้ก่อเหตุนำระเบิดที่ดัดแปลงบรรจุในกล่องเหล็กขนาดความหนา 2 เซนติเมตร ยาวประมาณ 6 นิ้ว ซึ่งถูกพ่นสีดำ มีขนาดพอดีกับร่องของแชสซี หรือคานรับตัวถังรถ ทำให้ไม่สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่า เว้นแต่จะคลานเข้าไปใต้ท้องรถ และดึงออกมา
รวมถึงใช้แผ่นโลหะเป็นสะเก็ดระเบิดแทน สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ก่อเหตุลอบวางระเบิดวางแผนไว้อย่างแนบเนียน ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นไล่เลี่ยกับเหตุระเบิดในรถยนต์ของปลัดอำเภอยี่งอ ที่นำมาจอดภายในที่ว่าการอำเภอยี่งอ จ.นราธิวาส เช่นกัน
พ.ต.อ.ภควัฒน์ วันสนุก ผกก.สภ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส กล่าวว่า ได้เน้นย้ำกำลังพลที่พักอยู่ภายนอกบ้านพักเสมอให้ระมัดระวังตัว เพราะอาจถูกผู้ก่อเหตุประกบ หรือคอยสังเกตพฤติกรรมตลอดเวลา เพื่ออาศัยช่องว่างในการก่อเหตุ
พ.ต.อ.ภควัฒน์ ให้ข้อมูลว่า แม้ในช่วงปี 2563-2565 สถานการณ์ความรุนแรงใน อ.ศรีสาคร เริ่มลดลง แต่กลับมาเพิ่มมากขึ้นในปีที่ผ่านมา จึงต้องเสนอให้กลับมาใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินซ้ำอีกครั้ง โดยเฉพาะเหตุระเบิด และการซุ่มโจมตี เพราะ อ.ศรีสาคร เป็นพื้นที่ป่าเขาค่อนข้างมาก ภูมิประเทศจึงเหมาะสมในการกบดาน และมีพื้นที่สนับสนุน หรือซับพอร์ตไซส์
“ทุกพื้นที่มักจะมี ซับพอร์ตไซส์” ศรีสาครก็เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่มีซับพอร์ตไซส์ ซึ่งเป็นป่า มีภูเขา จึงยากต่อการติดตาม เพราะต้องใช้ความชำนาญป่าจริง ๆ ในการเดินป่าติดตาม เวลาเราเข้าไปก็จะไม่เจอ เพราะเขาก็มีงานการข่าวของเค้า แต่มันเป็นป่าภูเขา ก็ยังหลบซ่อนได้อยู่ดี เวลาเราลุยไป เขาก็ถอยไปหลบซ่อนที่อื่น คอยช่วยเหลือด้วย ขณะที่การติดตามก็ทำได้ยาก
ตรงกับความกังวลของนายรักชาติ สุวรรณ อดีตเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ มองว่า แม้หลายอำเภอจะถูกยกเลิกการใช้ พ.ร.ก หรือ กฎหมายพิเศษ หากเหตุกลับมารุนแรงในพื้นที่เหล่านี้ก็เป็นไปได้ ที่จะกลับมาประกาศใช้ได้อีก
นั่นหมายความว่า สถานการณ์วนกลับมาที่เดิม คือการใช้อาวุธต่อสู้ด้วยอาวุธ โดยเฉพาะในช่วงสุญญากาศ ที่รัฐบาลภายใต้พรรคเพื่อไทย ยังไม่มีความชัดเจนในการแก้ปัญหาภาคใต้ โดยเฉพาะการพูดคุยสันติสุขกับกลุ่มบีอาร์เอ็น ว่าจะเดินหน้า หรือหยุดลงแค่นี้
“ถ้าทางรัฐไทยต่อสู้ หรือวิสามัญฆาตกรรม ฝั่งตรงข้ามที่สูญเสียเขาก็ตอบโต้ มันเป็นไปได้ในช่วงสุญญากาศแบบนี้ เพราะรัฐไทยเอง ก็ยังไม่ชัดเจนว่า จะเอายังไงกับการพูดคุย เพราะยังไม่มีการตกลงอะไรกัน ไทยก็ยังไม่มีหัวหน้าคณะพูดคุย หรือแต่งตั้งใครขึ้นมา” นายรักชาติ กล่าว
นายรักชาติกล่าวด้วยว่า จากการรวบรวมข้อมูลตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา จนถึงตอนนี้ แม้ว่า เป้าหมายในการก่อเหตุจะเป็นเป้าหมายแข็ง หรือกองกำลังติดอาวุธมากกว่าพลเรือน แต่ก็ยังวางใจไม่ได้ ต่อสถานการณ์ความรุนแรงที่เริ่มคุกรุ่น จึงอยากเห็นรัฐมีความจริงใจในการแก้ปัญหาภาคใต้มากกว่านี้
ทั้งนี้ จากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 ม.ค.2568 เห็นชอบ ขยายระยะเวลา การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ออกไป 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค.-19 เม.ย. ปีนี้ ทำให้ จ.นราธิวาส มี 4 อำเภอ ที่ยังประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คือ อ.ยี่งอ อ.สุไหงโก-ลก อ.แว้ง และ อ.สุคิริน จ.ปัตตานี คือ อ.ยะหริ่ง ปะนาเระ มายอ ไม้แก่น ทุ่งยางแดง กะพ้อ และแม่ลาน ที่ จ.ยะลา คือ อ.เบตง อ.ยะหา รามัน กาบัง และ อ.กรงปินัง
เรียบเรียง : ติชิลา พุทธสาระพันธ์ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคใต้
อ่านข่าว : เด้ง "ผกก.สภ.องครักษ์" เซ่นจับบ่อนพนันนครนายก
ตัดไฟท่าขี้เหล็กกระทบ 7 พันครัวเรือน รพ. 5 แห่ง โรงเรียน 45 แห่ง
อย.แจง "โค้ก" เรียกคืนสินค้าจากยุโรป "สารคลอเรต" เกินมาตรฐาน