เมื่อวันที่ 3 ก.พ.2568 ผู้อยู่ในเหตุการณ์บันทึกภาพนาทีแฟน ๆ กีฬาบาสเกตบอลชาวแคนาดา พร้อมใจกันโห่เพลงชาติสหรัฐฯ ระหว่างศึก NBA การแข่งขันบาสเกตบอลอาชีพในอเมริกาเหนือ แสดงความไม่พอใจที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ปธน.สหรัฐฯ สั่งขึ้นภาษีสินค้านำเข้าสินค้าทุกชนิดจากแคนาดาเป็นร้อยละ 25 ยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้ากลุ่มพลังงานจากแคนาดาที่ใช้อัตราร้อยละ 10
เหตุเกิดขึ้นที่สนามกีฬาในนครโทรอนโต รัฐออนแทรีโอ ของแคนาดา เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (2 ก.พ.2568) ก่อนเกมการแข่งขันระหว่างงทีม Toronto Raptors ของแคนาดาจะพบกับทีม Los Angles Clippers จากสหรัฐฯ ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากวันเสาร์แฟน ๆ ฮอกกี้ชาวแคนาดาพร้อมใจกันโห่เพลงชาติสหัฐฯ ระหว่างศึกเนชันแนลฮอกกี้ลีกในกรุงออตตาวา
แคนาดายกเลิกเดินทาง-คว่ำบาตรแอลกอฮอล์สหรัฐฯ
วันเสาร์ที่ 1 ก.พ.2568 เป็นวันเดียวกับที่ทรัมป์สั่งขึ้นภาษีนำเข้าจากแคนาดาและเม็กซิโกร้อยละ 25 รวมทั้งสินค้าจากจีนร้อยละ 10 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันนี้ (4 ก.พ.) ไปจนกว่าสถานการณ์ฉุกเฉินจากปัญหาผู้อพยพผิดกฎหมาย รวมทั้งวิกฤตเฟนทานิลและยาเสพติดอื่น ๆ ในสหรัฐฯ จะยุติลง ซึ่งทำให้จัสติน ทรูโด ออกมาตอบโต้ด้วยการสั่งขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ร้อยละ 25 ซึ่งจะมีผลในวันที่ 4 ก.พ.เช่นกัน
มาตรการกำแพงภาษีของทรัมป์สร้างความไม่พอใจให้ชาวแคนาดาเป็นจำนวนมาก โดยหลายคนยกเลิกการเดินทางไปสหรัฐฯ รวมทั้งคว่ำบาตรเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสินค้าอื่น ๆ ของสหรัฐฯ ขณะที่ผู้นำแคนาดากระตุ้นให้ชาวแคนาดาหันมาสนับสนุนสินค้าในท้องถิ่นและเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ
อย่างด้าน Doug Ford มุขมนตรีรัฐออนแทรีโอ สั่งให้คณะกรรมการควบคุมสุรารัฐออนแทรีโอ ซึ่งเป็นผู้ค้าส่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพียงรายเดียวในรัฐที่มีประชากรมากที่สุดของแคนาดาแห่งนี้ ถอดผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์จากสหรัฐฯ ออกจากชั้นวางทั้งหมดในวันนี้
พร้อมทั้งระบุด้วยว่าแต่ละปี LCBO มียอดขายไวน์ เบียร์ สุรา และเซลต์เซอร์ เครื่องดื่มน้ำสปาร์คกลิ้งแอลกอฮอล์จากสหรัฐฯ สูงถึงเกือบ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่จากนี้จะไม่มีอีกต่อไปแล้ว
"ทรัมป์" พักคำสั่งเก็บภาษีนำเข้าแคนาดา-เม็กซิโก 1 เดือน
ขณะที่ล่าสุด ทรูโด เปิดเผยว่า ผู้นำสหรัฐฯ จะพักคำสั่งเก็บภาษีนำเข้าจากแคนาดา 30 วันเป็นอย่างน้อย หลังตนยกสายหารือกับทรัมป์ทางโทรศัพท์ ไม่กี่ชั่วโมง ก่อนคำสั่งดังกล่าวจะเริ่มมีผลบังคับใช้ ในเวลาเที่ยงคืนเข้าสู่วันที่ 4 ก.พ. ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ
โดยผู้นำแคนาดาตกลงที่จะทุ่มงบประมาณในการเสริมสร้างความมั่นคงชายแดน จัดตั้งกองกำลังร่วมระหว่างแคนาดาและสหรัฐฯ เพื่อต่อสู้กับกลุ่มอาชญากร เฟนทานิล และการฟอกเงิน แต่งตั้งผู้ควบคุมดูแลเฟนทานิน (Fentanyl Czar) และขึ้นบัญชีกลุ่มค้ายาว่าเป็นผู้ก่อการร้าย
ทรูโดระบุด้วยว่าตนได้ลงนามคำสั่งข่าวกรองฉบับใหม่ เกี่ยวกับกลุ่มอาชญากรและเฟนทานิลด้วย และจะใช้งบสนับสนุนจำนวน 200 ล้านดอลลาร์ ขณะที่คำสั่งเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนมีแนวโน้มจะยังคงมีผลบังคับใช้ตามแผนเดิมที่วางเอาไว้
ความเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้นไม่นาน หลังผู้นำสหรัฐฯ สั่งพักคำสั่งเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากเม็กซิโกเป็นเวลา 1 เดือน หลังจากพูดคุยหารือทางโทรศัพท์กับคลาวเดีย เชนบอม ปธน.เม็กซิโก
โดยผู้นำเม็กซิโกตกลงที่จะเสริมกองกำลังสำรองตามแนวชายแดนทางตอนเหนือของประเทศอีก 10,000 นาย เพื่อสกัดการการหลั่งไหลของยาเสพติด โดยเฉพาะเฟนทานิลเข้าไปในสหรัฐฯ ขณะที่สหรัฐฯ ตกลงจะเดินหน้าป้องปรามการลักลอบการขนอาวุธร้ายแรงเข้าไปในเม็กซิโก
ผู้นำทั้ง 2 ประเทศ ระบุว่าการระงับแผนเก็บภาษีเป็นเวลา 1 เดือนเพื่อเปิดทางสำหรับการเจรจาเพิ่มเติม ซึ่งทั้ง 2 ประเทศพยายามที่จะบรรลุข้อตกลงร่วมกัน
ผู้เชี่ยวชาญชี้มาตรการภาษีทรัมป์อาจทำเศรษฐกิจโลกชะลอตัว
นักเศรษฐศาสตร์ระบุว่าแผนจัดเก็บภาษีสำหรับ 3 ประเทศของทรัมป์ จะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และส่งผลให้ราคาสินค้าสำหรับชาวอเมริกันสูงขึ้น หอการค้านานาชาติคาดการณ์ว่ามาตรการดังกล่าวจะทำให้การส่งออกของเม็กซิโกลดลงร้อยละ 10 และทำให้ GDP ของเม็กซิโกลดลงร้อยละ 4 ภายใน 1 ปี ขณะที่ GDP ของแคนาดาอาจลดลงร้อยละ 2.6
ส่วนนักวิเคราะห์บางส่วนมองว่ามาตรการภาษีของทรัมป์จะครอบคลุมเกือบครึ่งหนึ่งของการนำเข้าทั้งหมดของสหรัฐฯ และจะทำให้สหรัฐฯ ต้องเพิ่มผลผลิตการผลิตของตนเองมากกว่า 2 เท่าเพื่อชดเชยส่วนที่ขาด ซึ่งอาจทำไม่ได้ในระยะสั้น (an unfeasible task in the near term)
ทรัมป์ประกาศว่าสหภาพยุโรปจะเป็นเป้าหมายต่อไปของมาตรการกำแพงภาษี แต่ไม่ระบุกรอบเวลาอย่างแน่ชัด ขณะที่ผู้นำสหภาพยุโรปที่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอย่างไม่เป็นทางการในกรุงบรัสเซลส์ ระบุว่า ยุโรปพร้อมที่จะตอบโต้หากสหรัฐฯ ใช้มาตรการดังกล่าว แต่เรียกร้องให้มีการใช้เหตุผลและมีการเจรจาด้วย
เดโมแครตรวมตัวประท้วงรัฐบาล "ทรัมป์" ปิด USAID
เมื่อวันที่ 3 ก.พ.2568 นักการเมืองจากพรรคเดโมแครตหลายคนนำการชุมนุมประท้วงนอกสำนักงานองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ หรือ USAID ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อคัดค้านความพยายามของรัฐบาลทรัมป์ในการปิดหน่วยงานช่วยเหลือต่างประเทศ
ความเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้น หลังจากเจ้าหน้าที่ USAID ส่วนใหญ่ได้รับแจ้งให้ไม่ต้องมาที่สำนักงานใหญ่ในวอชิงตันในวันจันทร์ (3 ก.พ.) และให้ทำงานทางไกล ขณะที่ก่อนหน้านี้ พบว่า พนักงานกว่า 600 คนไม่สามารถเข้าระบบคอมพิวเตอร์ขององค์กรได้
ความวุ่นวายเกิดขึ้นหลังจากที่อีลอน มัสก์ ระบุว่า ได้คุยกับ ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ และผู้นำสหรัฐฯ เห็นชอบให้ปิด USAID องค์กรอายุ 60 ปีที่ทำงานด้านความช่วยเหลือและการพัฒนาทั่วโลกแห่งนี้ได้
ล่าสุด มาร์โก รูบิโอ รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ ยืนยันว่าได้รับการแต่งตั้งให้เป็น "ผู้อำนวยการรักษาการ" USAID โดยระบุว่า USAID ไม่ใช่องค์กรอิสระ และจำเป็นต้อง "รับคำสั่งจากกระทรวงการต่างประเทศ"
ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ระดับสูงทำเนียบขาว ระบุว่า ทรัมป์กำลังพิจารณาควบรวม USAID กับกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและให้มั่นใจว่าการใช้จ่ายสอดคล้องกับวาระของรัฐบาล หลังจากทรัมป์สั่งระงับความช่วยเหลือต่างประเทศของสหรัฐฯ ส่วนใหญ่เมื่อวันที่ 20 ม.ค. โดยอ้างว่าต้องการให้สอดคล้องกับนโยบาย "America First" จนส่งผลให้โครงการ USAID หลายร้อยโครงการที่ครอบคลุมความช่วยเหลือเพื่อช่วยชีวิตมูลค่านับพันล้านดอลลาร์ทั่วโลกต้องหยุดชะงักลงทันที
WHO พิจารณาตัดงบหลังสหรัฐฯ ถอนสมาชิก
ขณะที่อีกแรงกระเพื่อมจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายรัฐบาลทรัมป์ในระดับโลก องค์การอนามัยโลก (WHO) เตรียมหารือตัดงบประมาณ 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายหลังทรัมป์ประกาศถอนตัวจากการเป็นสมาชิก ที่ปัจจุบันสหรัฐเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณรายใหญ่สุดของ WHO
การตัดงบประมาณจะถูกหารือในการประชุมระหว่างวันที่ 3-11 ก.พ.2568 ที่เจนีวา ซึ่งผู้แทนรัฐสมาชิกจะหารือเกี่ยวกับงบประมาณและการดำเนินงานสำหรับปี 2569-2570 เทดรอส อะดานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ ย้ำเรียกร้องให้สหรัฐฯ พิจารณายกเลิกการถอนตัวและเข้าสู่เวทีเจรจากับ WHO เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงต่อไป
ทรัมป์ประกาศถอนตัวออกจาก WHO ในวันแรกของการเข้าดำรงตำแหน่งเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน โดยกระบวนการนี้จะใช้เวลา 1 ปีตามกฎหมายสหรัฐฯ
อ่านข่าวอื่น :
PM 2.5 กทม.เกินค่ามาตรฐานทุกพื้นที่ เช็ก 12 อันดับค่าฝุ่นสูงสุด