ถือว่าพลิกความคาดหมาย เพราะจังหวัดที่ถูกคาดหมายว่า ค่ายสีส้มมีโอกาสเอาชนะนายก อบจ.ได้ เป็นที่ จ.นครนายกที่เป็น “แชมป์เก่า” จ.สมุทรปราการ ที่ตระกูล “จึงรุ่งเรืองกิจ” มีฐานทางธุรกิจ คือ บริษัท ไทยซัมมิต ออโตพาร์ท ตั้งอยู่ที่เชียงใหม่ เมืองหลวง และฐานไข่แดงพรรคเพื่อไทย
ยังไม่นับปัจจัยสำคัญ อย่างจัดเลือกตั้งวันเสาร์ แทนที่จะเป็นวันอาทิตย์เหมือนเลือกตั้งครั้งก่อนๆ ทำให้คนออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งเพียงประมาณ 56 % ต่ำกว่าเป้าที่วางไว้ 65 % ขณะที่กูรูทางการเมืองเชื่อว่า หากเลือกตั้งวันอาทิตย์ ในหลายจังหวัดผลอาจออกมาต่างไปจากนี้
นายวีระเดช เอาชนะ “แชมป์เก่า” นายอนุสรณ์ วงศ์วรรณ ที่เป็นทายาททางการเมืองของ “พ่อเลี้ยงณรงค์” นายณรงค์ วงศ์วรรณ อดีตหัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม ที่เคยลือลั่นเมื่อพรรคให้การสนับสนุน พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี หลังการเลือกตั้งครั้งแรกปี 2535 เป็นทั้งการตระบัดสัตย์และสืบทอดอำนาจของ รสช. ที่ทำรัฐประหารรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อปี 2534 และเป็นจุดเริ่มของเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ ปี 35”
นายอนุสรณ์เป็นนักการเมืองรุ่นเก๋า ผ่านทั้งการเป็น สส.หลายสมัย และเป็นรัฐมนตรีหลายกระทรวง ก่อนหันไปเล่นการเมืองท้องถิ่น เป็นนายก อบจ.ปี 2563 ได้เสียงสนับสนุนประมาณ 1 แสนเสียง เอาชนะคู่แข่งตอนนั้น แบบขาดลอยครึ่งต่อครึ่ง
แต่สำหรับการแข่งขันรักษาเก้าอี้นายก อบจ.ครั้งนี้ แม้จะมีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ลงไปช่วยหาเสียงให้ และมีลูกอ้อนให้ “แดงคายส้ม” หวังให้นายอนุสรณ์ชนะแบบเด็ดขาด
แต่ไม่เป็นตามเป้า แม้จะได้คะแนนเสียงเพิ่มขึ้นเป็น 1.03 แสนเสียง แต่ได้เพิ่มเพียง 3-4 พันคะแนน และนายอนุสรณ์ก็ล้างอาถรรพณ์ อบจ.ลำพูน ไม่ได้ เพราะเลือกนายก อบจ.ทุกรอบ เปลี่ยนคนทุกรอบ
สะท้อนบารมีที่หดหายของนายทักษิณอย่างน่าเหลือเชื่อ เพราะแม้แต่ที่ จ.เชียงใหม่ ที่ช่วยให้นายพิชัย เลิศพงษ์อดิศร หรือ สว.ก๊อง รักษาเก้าอี้ได้อีก 1 สมัย แต่คะแนนที่ สว.ก๊องได้รับครั้งนี้ ลดต่ำจากที่ได้รับเลือกปี 2563 ที่คะแนนทะลุ 4.2 แสนเสียง เหลือเพียง 3.8 แสนเสียง หายไปเกือบ 4 หมื่นคะแนน แม้จะขึ้นไปช่วยตระเวนหลายรอบ หลายเวที และเอาชนะนายพันธุ์อาจ ชัยรัตน์ จากค่ายสีส้มได้เพียง 2 หมื่นคะแนนเท่านั้น
ไม่ต่างจากที่เชียงราย เลือกตั้งปี 2563 นายทักษิณ อุตส่าห์ส่งจดหมายน้อยวอนให้ชาวเชียงราย เลือก น.ส.วิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ แต่ไม่สำเร็จ ได้คะแนนเสียง 2.1 แสนเสียง แต่ครั้งนี้นายทักษิณไปหาเสียง ช่วยนางสลักจิต ติยะไพรัช หลังบ้านนายยงยุทธ ติยะไพรัช ถึง 2 หน กลับได้คะแนนเพียง 2.3 แสนเสียง เพิ่มขึ้นจากครั้งก่อนไม่ถึง 2 หมื่นเสียง
ขณะที่ “แชมป์เก่า” อย่าง น.ส.อทิตาธร วันไชยธนวงษ์ ที่กลับได้ไป 2.4 แสนเสียง เพิ่มขึ้นจากปี 2563 กว่าหมื่นเสียง เท่ากับ 3 จังหวัด เชียงใหม่ เชียงราย และลำพูน สั่นสะเทือนค่าย “สีแดง”ทั้ง 3 จังหวัด ครั้งหน้าด้วย
เพราะอีกหน้า นายทักษิณจะอายุใกล้ 80 ปี จะสามารถเดินสายหาเสียงช่วยผู้สมัคร วันหนึ่งๆหลายเวที และเดินทางเป็นร้อยกิโลเมตร ในวันเดียวแบบปีนี้ได้หรือไม่ ยังไม่นับคะแนนนิยมในตัวนายทักษิณ และพรรคเพื่อไทย จะเป็นอย่างไร
ถือเป็นสัญญาณเตือน “บ้านใหญ่” โดยเฉพาะค่ายสีแดง ให้พึงตระหนักว่า การเลือกตั้ง อบจ.ครั้งหน้าอาจ “ไม่หมู” เหมือนครั้งนี้ อีกทั้งจะมีเลือกตั้งใหญ่ สส.ในปี 2570 ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับ “บ้านใหญ่” บ้าง เพราะเลือกตั้ง สส. บรรดา “บ้านใหญ่” จะอยู่ในสภาพ “แตกทัพ”
ต่างบ้านต่างมีคนของตัวเอง ที่จะส่งลงสมัครในต่างพรรคการเมืองกัน การสามัคคีจับมือของ “บ้านใหญ่” เพื่อรุมกินโต๊ะสกัดผู้มาใหม่อย่างเลือกตั้ง อบจ. จึงเป็นได้ยากมาก
กลับกันที่ อบจ.ลำพูน ไม่เพียงตัวนายก อบจ. นายวีระเดช ที่มาจากพรรคประชาชน แต่ ส.อบจ.ลำพูน อีกประมาณ 15 คน จากทั้งหมด 24 คน ยังจะเป็นคนของพรรคประชาชนด้วย นั่นหมายถึง “อบจ.ประชาชน” ที่เป็นโมเดลที่พรรคประชาชนวางไว้ จะเกิดขึ้นได้จริงที่ลำพูน
หลักการ “อบจ.ประชาชน” ของค่ายสีส้ม คือการดูแลทุกคนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้งบประมาณของ อบจ. อย่างเข้มข้น อย่างที่แกนนำในพรรคประกาศให้มีการถ่ายทอดสดการประชุมสภา อบจ. เพื่อความสุจริต โปร่งใส เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมตรวจสอบได้ ซึ่งไม่เคยมีปรากฏมาก่อน
หากทำได้จริง จะเป็นมิติใหม่ที่จะช่วยป้องกันการทุจริตในโครการต่าง ๆ ของท้องถิ่น ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่ถูกหมักหมมทับถมซุกไว้ใต้พรมมานาน
อบจ.ลำพูน มีงบประมาณต่อปีประมาณ 400 ล้านบาท แม้จะเป็น อบจ.ขนาดเล็ก แต่เหมาะสำหรับการเป็นโมเดลเริ่มต้น และจะสามารถนำไปเปรียบเทียบกับอบจ.อื่น รวมทั้ง อบจ.ที่มีงบประมาณต่อปีจำนวนมาก แต่กลับมีปัญหาการทุจริต ไม่โปร่งใส
“อบจ.ประชาชน” ที่ จ.ลำพูน แม้จะเป็นหนึ่งเดียวของค่ายสีส้ม แต่จะเป็นจุดเริ่มและน่าสนใจอย่างยิ่ง นับตั้งแต่ กกต.ให้การรับรองนายก อบจ.คนใหม่
วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา บรรณาธิการอาวุโส
อ่านข่าว : วิเคราะห์เลือกตั้ง อบจ. นับแต้ม 3 ค่ายสี "ทักษิณ" กระแสตก?