ชัดเจนแล้วว่า กองทัพอากาศตกลงจัดซื้อเครื่องบินขับไล่กริพเพน จากประเทศสวีเดน ทดแทนเครื่องบินขับไล่ F-16 ที่จะทยอยปลดประจำการ ในปี 2570 หลังทำหน้าที่เป็นเขี้ยวเล็บของทัพฟ้ามานานกว่า 30 ปี แม้จะยังมีข้อกังขาและมีคำถาม ? ความคุ้มค่าและความจำเป็นก็ตาม
พล.อ.ท.อนุรักษ์ รมณารักษ์ เจ้ากรมยุทธการทหารอากาศ นายทหารลูกหม้อทอ. ตั้งแต่ครั้งยังเป็นนายเรืออากาศ จนก้าวขึ้นมาเป็นนายพล ตลอด 36 ปีของการทำงานและขึ้นทำการบินกว่า 2,300 ชั่วโมง ในฐานะผู้เชี่ยวชาญในเครื่องบินฝึก – เครื่องบินขับไล่ เปิดใจคุยกับ “สุทธิชัย หยุ่น” ในรายการคุยนอกกรอบ
เปิดภารกิจ จ้าวเวหา "กรมยุทธการทหารอากาศ"
“เวลาจะเกิดสงคราม มันไม่ได้มีการบอก มันเกิดด้วยความรวดเร็ว และเราก็ไม่รู้ว่าในอนาคต มันจะเกิดในภูมิภาคหรือไม่” พล.อ.ท. อนุรักษ์ กล่าว และเล่าถึงการทำงานในฐานะ “เจ้ากรมยุทธการ” ว่า ตามปกติจะดูภาพรวมใหญ่ของการเตรียมกำลังพล และยุทโธปกรณ์ในทุกระบบ ด้วยการเตรียมนักบิน ฝีกนักบิน การฝึกบินในสถานการณ์ต่าง ๆ เพื่อให้มีความชำนาญ เนื่องจากในกรณีที่เข้าสู่สงคราม การใช้กำลังพลช่วยเหลือประชาชน จะได้มีขั้นตอนการปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ สิ่งสำคัญจะต้องศึกษาติดตามเทคโนโลยีใหม่ ๆ ทุกวันเพื่อประเมินสถานการณ์ของโลก
“หากมองในสงครามรัสเซีย - ยูเครน บทบาทการใช้กำลังทางอากาศเปลี่ยนไป จะเห็นได้จากที่รัสเซียไม่ได้เข้าไปโจมตีกรุงเคียฟ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของยูเครน เพราะมีหลักคิดที่ไม่ได้ต้องการยึดประเทศแบบเบ็ดเสร็จ แต่ต้องการให้เกิดการชะลอตัว ซึ่งแตกต่างในอดีตที่สหรัฐอเมริกาจะเน้นโจมตีจุดศูนย์กลาง เพื่อจำกัดจุดศูนย์ดุลเพื่อหยุดระบบสั่งการทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นที่ระบบพลังงาน และอื่น ๆ รวมถึงความสูญเสียของประชาชนในพื้นที่”
ความทันสมัยของเทคโนโลยีทำให้ “ระเบิดมีความฉลาด” การทิ้งบอมบ์สามารถใช้จีพีเอสนำทางได้อย่างรวดเร็ว และแม่นยำ ดังนั้น แม้ทหารจะเป็นเป้าหมายที่ถูกทำลาย แต่การใช้อาวุธทางอากาศในปัจจุบันต้องคำนึงถึงผลกระทบข้างเคียง โดยต้องเจาะลงไปที่เป้าให้แม่นยำ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อพลเรือน ไม่เช่นนั้นจะไม่ได้รับการสนับสนุนหรือความชอบธรรมในการทำสงคราม
"กริพเพน" เครื่องบินรบ ต้านภัยคุกคามหลากรูปแบบ
แม้ที่ผ่านมาจะมีข้อถกเถียงและมีความไม่ลงตัว ในเรื่องการจัดซื้อฝูงบินรบของกองทัพอากาศ แต่ในที่สุด ได้ข้อยุติที่ “เครื่องบินรบกริพเพน รุ่น EF” โดยใช้ระยะเวลาศึกษานานกว่า 10 เดือน ตั้งนับตั้งแต่เดือนต.ค. 2566 – 2567 โดยมีการตั้งคณะกรรมการศึกษาข้อมูลเครื่องบินทั้งหมด 20 แบบ จำนวนหลายชุดด้วยกัน
เจ้ากรมยุทธการทหารอากาศ บอกว่า ขั้นตอนไม่ได้จบเพียงเท่านี้ แต่กว่าจะได้ผลสรุปในการจัดซื้อจะต้องมีการตั้งคณะกรรมการ เพื่อกำหนดขอบเขต และคุณลักษณะเครื่องบินที่ต้องการ ต้องการ 6 แบบ ก่อนที่จะไปถึงคณะกรรมการคัดเลือกและคณะกรรมการเพื่อกำหนดวิธีการจัดซื้อ ซึ่งคณะกรรมการทั้งสามชุดมีความเป็นอิสระต่อกัน
"ในขั้นตอนของการศึกษามีความน่าสนใจหลายรุ่น หลายคนอาจจะมองว่าทำไมอยู่ ๆ ถึงออกมาเป็น กริพเพน ซึ่งจริง ๆ ไม่ง่าย"
พล.อ.ท.อนุรักษ์ เล่าว่า ด้วยงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด จึงต้องเลือกเครื่องบินที่คุ้มค่า เพื่อตอบ สนองต่อบทบาทและภารกิจของกองทัพอากาศปัจจุบัน - อนาคต เพราะต้องมีอายุการใช้งานไปอีก 30 ปี เช่นเดียวกับเครื่องบิน F – 16 ที่กำลังจะปลดประจำการ ใช้งานมาถึง 36 ปี (ใช้งานมาตั้งแต่ปี 2531 แต่หากนับไปจนถึงปลดประจำการครบทุกลำในปี 2577 ประมาณ 46 ปี)
"เพื่อความคุ้มค่าที่เกิดขึ้น เครื่องบินที่จะประจำการใหม่ จะต้องอยู่ไปกับกองทัพอากาศไปอีกนานแล้วและยังต้องเป็นเครื่องบินรบขับไล่โจมตีที่ดีกว่ากองทัพมีอยู่ในปัจจุบัน เพราะภัยคุกคามในอนาคตมีความหลากหลายและต้องเหมาะสมกับงบประมาณที่มีอยู่"
เจ้ากรมยุทธการทหารอากาศ กล่าวว่า กองทัพฯไม่ได้กู้เงินเพื่อมาซื้อเครื่องบิน แต่มีงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร และอนุมัติผ่านรัฐสภา ในแต่ละปีเพิ่มขึ้นไม่เกิน 2% ซึ่งก็เป็นไปตามอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นจะเป็นการบริหารจากงบประมาณที่ได้เพิ่มขึ้นในแต่ละปี แล้วใช้วงเงินที่มีอยู่ นอกเหนือจากค่าใช้จ่ายประจำ และเงินที่ต้องผูกพันกับโครงการอื่น ๆ ปีก่อน ๆ ที่เหลืออยู่ให้สามารถซื้อเครื่องบินได้
..ถ้าถามว่า ทำไมต้องรีบจัดซื้อเครื่องบินใหม่ ในเมื่อจะปลดประจำการในปี 2577 หรืออีกประมาณ 7-8 ปี… เพราะเครื่องบินใหม่ที่ซื้อ จะต้องใช้เวลาในการสร้างอย่างน้อย 5 ปี ตามรูปแบบมาตรฐานของเครื่องบิน แต่จะมีการเพิ่มเติมในส่วนของระบบอาวุธอื่น ๆ ที่กองทัพอากาศได้มีการเพิ่มเติมให้ตรงตามความเหมาะสมที่จะใช้งาน
ยังมีในเรื่องของการส่งกำลังพลทางอากาศ ไม่ว่าจะเป็น นักบิน เจ้าหน้าที่ช่างอากาศ เจ้าหน้าที่สื่อสาร เจ้าหน้าที่สรรพาวุธ เจ้าหน้าที่สนับสนุน ที่จะต้องส่งไปฝึกเพื่อศักยภาพในการเตรียมพร้อม
นอกจากนี้ การใช้เครื่องบินที่มีความเหมาะสม ก็ต้องตอบให้ได้ว่า เหมาะสมกับภัยคุกคามในอนาคต เหมาะสมกับงบประมาณหรือไม่ อย่างไร คือ สิ่งที่สำคัญ เราจะต้องตอบประชาชนให้ได้ว่า ความคุ้มค่า ความมีประสิทธิภาพกับสิ่งที่ได้มาเป็นอย่างไร
กริพเพน EF สมรรถภาพใช้งานร่วม "กองทัพอื่น"
"ใช้งานได้ต่อเนื่อง" คือ หัวใจสำคัญของการทำงานร่วมกับกองทัพอื่น แม้รายละเอียดของเครื่อง บินกริพเพน EF จะเป็นคนละรุ่นกับกริพเพน CD แต่ระบบส่งกำลัง ระบบคอมพิวเตอร์ ระบบเก็บข้อมูลต่าง ๆ ก็ใช้งานในลักษณะเดียวกัน รวมถึงการส่งกำลังซ่อมบำรุง
พล.อ.ท.อนุรักษ์ อธิบายว่า ความต่อเนื่องหมายถึงทั้ง "คน" และ "บุคลากร" "แพลตฟอร์ม" "อาวุธ" อีกทั้งยังต่อยอดไปใช้งานร่วมกับเหล่าทัพอื่นได้ โดยปัจจุบันเครื่องบินกริพเพน สามารถเชื่อมโยงข้อมูลทางยุทธวิธีกับเรือหลวงจักรีนฤเบศร เรือหลวงตากสิน เรือหลวงนเรศวร และเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช ได้ด้วย
เครื่องบินกริพเพน EF ถือว่า ตอบโจทย์ เนื่องจากกองทัพอากาศได้ลิขสิทธิ์ทางปัญญาในเรื่องของระบบดาต้าลิงค์ ทำให้สามารถออกแบบโครงข่ายแอพพิชั่นดาต้าลิงค์ในอนาคตต่อไปได้ ที่จะขยายไปสู่กองทัพเรือ กองทัพบก และกองบัญชาการกองทัพไทย หรือหน่วยความมั่นคงอื่น
รวมทั้งการให้บริการหลังการขาย ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องดูแลเครื่องบินในระยะการใช้งานไปอีก 30 ปี ในการซ่อมบำรุง โดยมั่นใจได้ว่าโรงงานผลิตอะไหล่ไม่ปิด
โดยเกณฑ์การพิจารณาพบว่า "เครื่องบินกริพเพน" ประเทศสวีเดน เป็นเครื่องบินที่กองทัพอากาศสวีเดนใช้งาน จึงทำให้คิดได้ง่าย ๆ ว่า ประเทศผู้ผลิตโดยลูกค้ายังเป็นกองทัพอากาศชาติตัวเอง ถือเป็นเรื่องของความเชื่อมั่น และการันตีให้ได้ว่าการส่งซ่อมบำรุงจะสามารถยืดไปถึง 30 ปี
นอกจากนี้ "เครื่องบินกริพเพน" ยังตอบโจทย์กับข้อจำกัดงบประมาณที่มีอยู่ โดยกองทัพอากาศ มีความต้องการใช้เครื่องบินทั้งหมด 12 ลำ แต่เนื่องจากงบประมาณจำกัดไม่สามารถจัดซื้อได้พร้อมกันได้จึงได้แบ่งโครงการเป็นสามระยะ เฟสละ 4 ลำ
โดยเฟสแรกจะลงนามสัญญาประมาณกลางปี 2568 ดังนั้น ต้องบวกไปอีก 5 ปี ในการสร้างเครื่องบินที่จะส่งมอบได้ กล่าวคือ ปี 2572 จะได้รับมอบเครื่องบินจำนวน 4 ลำ
โปร่งใส ล้านเปอร์เซ็นต์ จัดซื้อ "กริพเพน"
เจ้ากรมยุทธการทหารอากาศ ยืนยันความโปร่งใสในการจัดซื้อล้านเปอร์เซ็นต์ เนื่องด้วยทุกโครงการจะมีการปฏิบัติตามกฎหมายตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้าง ปี 2560 ซึ่งมีกำหนดระเบียบขั้นตอนชัดเจน ใช้วิธีการจัดซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ
โดยรัฐบาลสวีเดนจะมีสำนักงานจัดหายุทโธปกรณ์กลาโหมสวีเดน (FMV) เข้ามาดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างอาวุธยุทโธป กรณ์ให้กับสวีเดนทั้งหมด ดังนั้น กระบวนการจึงเป็นไปตามขั้นตอน คือ ไม่มีนายหน้า ไม่มีโบรกเกอร์
อีกทั้งโครงการจัดซื้อที่มีมูลค่าเกินพันล้านบาท จะมีคณะกรรมการคุณธรรม โดยมีอธิบดีกรมบัญชีกลางเป็นเลขาคณะกรรมการคุณธรรม เข้ามาดูตั้งแต่การจัดทำ TOR , กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง การตรวจรับ ที่สำคัญคณะกรรมการคุณธรรมเหล่านี้ยังเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ มีความรู้ มีความสามารถ ให้คำแนะนำที่ดีกับโครง การต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
"ขั้นตอนตั้งแต่การคัดเลือก การจัดซื้อเป็นไปตามกระบวนการที่มีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ในด้านของเครื่องบิน ทั้ง อดีตนักบิน หรือผู้ที่ยังทำการบิน และผู้เกี่ยวข้องทุกหน่วยงาน จะนำข้อมูลมาวิเคราะห์ทั้งหมด มีการถ่วงน้ำหนัก" พล.อ.ท.อนุรักษ์ กล่าว
และว่าโดยเกณฑ์การพิจารณาที่เป็นไปในระดับสากล เพื่อให้ได้ผลการทำงานที่จะเกิดในอีก 10-30 ปี ของขีดความสามารถจะรองรับต่อภัยคุกคามในอนาคตหรือไม่
ดังนั้นกระบวนการแทรกแซงจากการเมือง จึงไม่เกิดขึ้น เพราะทุกอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ และผลวิเคราะห์ที่สามารถจับต้องได้
พบกับรายการ:คุยนอกกรอบกับสุทธิชัย หยุ่น ทุกวันพฤหัสบดี เวลา 21.30-22.00 น.ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส
อ่านข่าว:
"เปรี้ยง" โผไม่พลิก โค้งสุดท้ายนายก อบจ. 47 จังหวัด ใคร ? ลอยลำ