ผศ.ณัฐกร วิทิตานนท์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ความเห็นถึงผลการเลือกตั้ง นายก อบจ.เชียงใหม่ ซึ่งนายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร ผู้สมัครนายก อบจ.เชียงใหม่ หมายเลข 2 จากพรรคเพื่อไทยได้ 386,559 คะแนน ส่วนนายพันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้สมัครนายก อบจ.เชียงใหม่ หมายเลข 1 จากพรรคประชาชน ได้ 364,385 คะแนน แม้เป็นไปตามคาด แต่ก็มีข้อสังเกตถึงช่วงคะแนนที่ห่างไม่มากนัก
ผศ.ณัฐกร ระบุว่าผลการเลือกตั้ง อบจ.เชียงใหม่ ในส่วนของ นายก อบจ. ถือว่าเป็นไปตามคาด เพราะผู้สมัครพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นอดีต นายก อบจ.กุมความได้เปรียบหลายอย่าง แต่สิ่งที่ผิดคาด คือ ช่วงห่างของคะแนนในการเลือกตั้งครั้งก่อน ระหว่างนายพิชัย เลิศพงษ์อดิศร กับ นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ มีช่วงห่างประมาณ 7 หมื่นคะแนน แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ มีเพียง 2-3 หมื่นคะแนน ถือว่าแคบมาก และ นับตั้งแต่มีการเลือกนายก อบจ.เชียงใหม่โดยตรงตั้งแต่ปี 2547 ไม่เคยมีครั้งไหนที่คะแนนสูสีเช่นนี้มาก่อน
ผศ.ณัฐกร วิทิตานนท์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ส่วนจำนวน ส อบจ.ที่ได้มา 15 คน ก็ถือว่าเกินความคาดหมาย จากที่คาดไว้หลักสิบคน ส่วนตัวมองว่าเพราะการเลือก ส อบจ.จะพึ่งเพียงกระแสอย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องมีปัจจัยส่วนบุคคลด้วย
ผู้สมัครของพรรคประชาชนก็เป็นผู้ที่มีฐานเสียงเดิมระดับหนึ่งอยู่พอสมควร ทั้ง ส อบจ.เดิม หรือ ทำงานการเมืองมาก่อน แต่ข้อสังเกตหนึ่ง คือ พื้นที่ที่ชนะ ยังกระจุกตัวอยู่ในเขตเมือง ขณะที่เขตอำเภอรอบนอกแทบไม่ได้รับเลือกเลย
สำหรับการลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ เพื่อช่วยหาเสียง ของนายทักษิณ ชินวัตร หลายครั้ง หลายเวที แต่ผู้สมัคร นายก อบจ.ของพรรค ชนะไปด้วยคะแนนเพียง 2 หมื่นคะแนนจะถือว่าลงแรงที่พลาดเป้าไปหรือไม่
ผศ.ณัฐกร ระบุว่าส่วนตัวไม่สามารถบอกได้ แต่จากการลงพื้นที่พูดคุยกับประชาชนที่ไปติดตามการนับคะแนน ก็มีความเห็นเป็น 2 กระแส คือ บางส่วนเห็นว่าถ้าไม่ได้ทักษิณมาช่วย ผู้สมัครของเพื่อไทยน่าจะพ่ายแพ้การเลือกตั้ง แต่อีกกระแสก็เห็นว่าการมาของนายทักษิณ กลายเป็นผลด้านกลับ ทำให้คะแนนเสียงหายไป เพราะประชาชนกลุ่มหนึ่งที่ไม่แฮปปี้กับนายทักษิณ เทคะแนนไปให้อีกฝั่ง ซึ่งพรรคเพื่อไทยควรต้องถอดบทเรียน เพื่อหาคำตอบว่าเกิดอะไรขึ้น และ ทักษิณ เป็นปัจจัย บวก หรือ ลบ กันแน่ กับผลคะแนนที่ออกมา