เครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์ชนกลางอากาศเหนือแม่น้ำโปโตแมคใกล้เมืองวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อช่วง 21.00 น.ของวันที่ 28 ม.ค.2568 ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ ซึ่งมีการยืนยันแล้วว่ามีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 67 คน เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นตามหลังอุบัติเหตุร้ายแรงของ Jeju Air และ Azerbaijan Airlines ในเดือน ธ.ค.2567 และก่อนหน้านั้น 1 ปี เกิดเหตุการณ์เครื่องบินโบอิงของ JAL ชนกับเครื่องบินยามชายฝั่ง บนรันเวย์ในประเทศญี่ปุ่น
เหตุการณ์ร้ายแรงเหล่านี้ ไม่เพียงแต่สร้างความสะเทือนใจผู้โดยสารเครื่องบิน และ คนทั่วไปทั่วประเทศ แต่ยังเป็นสัญญาณเตือนให้กับวงการการบินในยุคที่ระบบจราจรทางอากาศมีความซับซ้อนและอัดแน่นมากขึ้น และยิ่งเพิ่มความตระหนกมากขึ้นกับข่าวอุบัติเหตุของเครื่องบิน Medevac ที่มีผู้โดยสาร 6 คนบนเครื่องในเมืองฟิลาเดลเฟีย
ภาพประกอบข่าว
- เครื่องบินเล็กชน ฮ.ทหาร ตกแม่น้ำสหรัฐฯ ยังไม่รู้ชะตากรรม 64 ชีวิต
- เครื่องบินเล็กตกในฟิลาเดลเฟีย ผู้โดยสาร 6 คน - ไม่มีรายงานผู้รอดชีวิต
Near-miss พฤติกรรมการ "เกือบ" จะเกิดอุบัติเหตุ
แอนโทนี บริกเฮาส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยการบินจากสหรัฐอเมริกา กล่าวว่าเขาไม่คิดว่าผู้โดยสารควรวิตกกังวลเกินไป แต่ต้องมีการเรียกร้องและผลักดันให้รัฐบาลรวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำทุกวิถีทางเพื่อยกระดับความปลอดภัยในระบบการบินให้มากขึ้น บริกเฮาส์ เน้นย้ำว่าถึงแม้อุบัติเหตุร้ายแรงเกิดขึ้นเพียงไม่กี่ครั้ง แต่ถ้าพฤติกรรม "Near-miss" (เหตุการณ์เกือบเกิดอุบัติเหตุ) เกิดซ้ำ ๆ กัน ระบบความปลอดภัยอาจเกิดความล้มเหลวในที่สุด แต่เขายังกล่าวว่าในเชิงสถิติว่า
ถ้าเทียบทางสถิติแล้ว การเดินทางทางอากาศยังคงเป็นวิธีการขนส่งที่ปลอดภัยที่สุด
ในช่วงปี 2566 มีเหตุการณ์เครื่องบินเกือบชนกันในสหรัฐฯ จนเป็นแรงกดดันให้กับองค์การการบินพลเรือนสหรัฐ (FAA) ก่อตั้งทีมตรวจสอบความปลอดภัย รายงานฉบับสุดท้ายของทีมในเดือน พ.ย.25688 ระบุว่าปัญหาต่าง ๆ ทำให้ระดับความปลอดภัยในปัจจุบันไม่ยั่งยืน ได้แก่ การจัดสรรงบประมาณที่ไม่สม่ำเสมอ, เทคโนโลยีที่ล้าสมัย, การขาดแคลนเจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรทางอากาศ และข้อกำหนดการฝึกอบรมที่หนักหน่วง
แต่กรณีเหตุชนกันกลางอากาศที่สนามบิน Ronald Reagan Washington National เมื่อปลายเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา จากการสอบสวนก็พบว่า มีเจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรทางอากาศเพียงคนเดียวที่ต้องทำงานใน 2 ตำแหน่งในหอควบคุมการบิน โดยต้องดูแลทั้งการจราจรของเครื่องบินภายในพื้นที่และการจราจรของเฮลิคอปเตอร์
ภาพประกอบข่าว
แหล่งข่าวจากการควบคุมการจราจรทางอากาศที่ให้ข้อมูลกับ CNN ได้อธิบายว่าการจัดวางตารางงานแบบนี้ ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ อย่างไรก็ตาม The New York Times รายงานว่าจากรายงานเบื้องต้นภายในของ FAA พบว่าการจัดสรรเจ้าหน้าที่ในช่วงเวลานั้น ไม่เป็นปกติสำหรับช่วงเวลานั้นที่มีปริมาณการจราจรแออัดขณะนั้น
Near-miss คือเหตุการณ์ที่เกือบจะเกิดอุบัติเหตุร้ายแรง แต่สุดท้ายก็รอดพ้นไปได้ เช่น เครื่องบินเกือบชนกัน หรือ รถไฟเกือบชนกัน ถึงแม้จะยังไม่มีใครได้รับบาดเจ็บหรือทรัพย์สินเสียหาย แต่เหตุการณ์เหล่านี้เป็นสัญญาณเตือนว่าระบบมีความบกพร่อง และหากปล่อยปะละเลย อาจนำไปสู่เหตุการณ์ร้ายแรงได้ในอนาคต
ในอีกมุมหนึ่ง กาย แกรตตัน อาจารย์และนักบินพาณิชย์จาก Cranfield University ได้แสดงความคิดเห็นว่าในระบบความปลอดภัยของการบิน เราอาศัยหลักการเรียนรู้จากความผิดพลาด หลังจากเกิดอุบัติเหตุหรือเหตุการณ์ที่เกือบเกิดทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้น เราจะได้ข้อแนะนำและแนวทางปรับปรุง ซึ่งจะถูกนำไปใช้ทั่วโลกอย่างรวดเร็ว Gratton ย้ำว่าแม้เหตุการณ์ล่าสุดที่วอชิงตัน ดี.ซี. จะเป็น "ความผิดพลาดที่ไม่ควรผิดพลาด" แต่กระบวนการตรวจสอบและปรับปรุงอย่างเป็นระบบที่มีมาตรฐานระดับโลกเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้การบินยังคงเป็นวิธีการขนส่งที่ปลอดภัย
เหตุการณ์ผิดปกติที่เกิดขึ้น อาจดูใหญ่โต แต่ในวงการการบินมีประวัติ เรื่องความสามารถในการรับมือและปรับปรุงอย่างรวดเร็วทั่วโลก ซึ่งเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ การบินยังคงเป็นวิธีการขนส่งที่ปลอดภัย
ทางด้าน จีโอฟรีย์ โทมัส บรรณาธิการเว็บไซต์ 42,000 Feet และผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ AirlineRatings ซึ่งมีชื่อเสียงด้านการจัดอันดับความปลอดภัยของสายการบิน กล่าวว่า ถึงแม้ว่าในปีที่ผ่านมา อุบัติเหตุร้ายแรงจะเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก แต่ปัญหาที่แท้จริงคือ การบริหารจัดการและการให้ทุนกับ FAA ที่ไม่เพียงพอ ซึ่งส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการปรับปรุงเทคโนโลยีและการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรทางอากาศ โทมัสเน้นว่าการเมืองและการแย่งชิงงบประมาณเป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อการพัฒนาระบบความปลอดภัยที่ดีที่สุดในโลก
เพื่อรักษามาตรฐานความปลอดภัยสูงสุด จำเป็นต้องมีการลงทุนที่เพียงพอจากภาครัฐและการกำกับดูแลที่เข้มงวดในระบบควบคุมการจราจรทางอากาศ
ภาพประกอบข่าว
IATA ชี้ต้องเดินทาง 1 แสนปีถึงเกิดอุบัติเหตุ
ข้อมูลจากรายงานล่าสุดของ IATA (สมาคมการบินพาณิชย์) ให้รายละเอียดดังนี้
- ปี 2566 มีอุบัติเหตุในภาคการบินพาณิชย์เพียง 30 ครั้ง
- ในกลุ่มเครื่องบินขับเจ็ท ไม่มีอุบัติเหตุที่ทำให้สูญเสียเครื่องหรือเกิดการเสียชีวิต ซึ่งคำนวณให้มีความเสี่ยงของการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุอยู่ที่ 0.03 ต่อ 1,000,000 เที่ยวบิน
- ในรายงานระบุอีกว่า โดยเฉลี่ยแล้ว คน ๆ หนึ่งจะต้องเดินทางโดยเครื่องบินทุกวันเป็นเวลา 103,239 ปี จึงจะมีโอกาสเผชิญกับอุบัติเหตุร้ายแรง ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความน่าทึ่งของสถิติความปลอดภัย
นอกจากนี้ ผลการศึกษาของ อาร์โนลด์ บาร์เน็ตต์ ศาสตราจารย์สถิติจาก MIT แสดงให้เห็นว่า
- ระหว่างปี 2560-2565 ความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางการบินอยู่ที่ประมาณ 1 ใน 13.7 ล้านเที่ยวบิน
- เปรียบเทียบกับช่วง 2551-2560 ความเสี่ยงอยู่ที่ 1 ใน 7.9 ล้านเที่ยวบิน
ย้อนกลับไปในช่วง 2511-2520 ความเสี่ยงอยู่ที่ 1 ใน 350,000 ครั้ง ที่มีผู้โดยสารขึ้นเครื่อง
ตัวเลขเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าที่สำคัญในด้านความปลอดภัยทางการบินในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา
ภาพประกอบข่าว
แม้เหตุการณ์ชนกลางอากาศเหนือแม่น้ำโปโตแมคและอุบัติเหตุของเครื่องบิน Medevac ในฟิลาเดลเฟีย จะเป็นสัญญาณเตือนใจที่ชัดเจนในยุคที่ระบบการบินเผชิญกับความท้าทาย แต่สถิติและหลักฐานจากผู้เชี่ยวชาญยังคงยืนยันได้ว่า การบินยังคงเป็นวิธีการขนส่งที่ปลอดภัยที่สุดในโลก
แต่ในขณะเดียวกัน การปรับปรุงระบบควบคุมจราจรทางอากาศ การเพิ่มงบประมาณและการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ๆ รวมถึงการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่อย่างเข้มข้น ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญที่จะช่วยให้การบินยังคงรักษามาตรฐานความปลอดภัยระดับโลกไว้ได้
อ่านข่าวอื่น :