วันนี้ (27 ม.ค.2568) นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมกุ้งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย สร้างรายได้และอาชีพให้คนไทยกว่า 2 ล้านคนทั่วประเทศ การส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมกุ้ง จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการขยายโอกาสและสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์
ล่าสุด สนค. ได้ร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย โดยคณะกรรมการธุรกิจประมงและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย จัดทำรายงานการศึกษา เรื่อง แนวทางการพัฒนาศักยภาพการค้าสินค้ากุ้ง
จากการศึกษา พบว่า ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2544-2555) การส่งออกกุ้งของไทยเคยครองแชมป์อันดับหนึ่งการส่งออกกุ้งของโลก ในปี 2555 ไทยส่งออกกุ้งเป็นมูลค่า 3,124.25 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 16.5% ของมูลค่าการส่งออกกุ้งทั้งหมดของโลก แต่จากการระบาดของโรคตายด่วน (Shrimp Early Mortality Syndrome : EMS)
ในปี 2556-2558 ส่งผลให้ผลผลิตกุ้งของไทยลดลงกว่า 50% ทำให้ไทยเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับประเทศผู้ผลิตกุ้งรายสำคัญ เช่น เอกวาดอร์ อินเดีย และเวียดนาม และในปี 2566 ไทยเป็นผู้ส่งออกกุ้งอันดับที่ 6 ของโลก รองจากประเทศเอกวาดอร์ อินเดีย เวียดนาม จีน และอินโดนีเซีย ตามลำดับ ด้วยมูลค่า 1,315.20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วน 4.6% ของมูลค่าการส่งออกกุ้งทั้งหมดของโลก
ส่วนด้านการผลิต ในช่วงระยะเวลา 10 ปี (2556-2566) ผลผลิตของไทยค่อนข้างคงที่ ประมาณ 0.27 ล้านตัน สะท้อนว่าการผลิตกุ้งของไทยต้องเผชิญปัญหาอุปสรรคที่ส่งผลกระทบต่อการผลิต เช่น ข้อจำกัดด้านทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับการเลี้ยงกุ้ง การระบาดของโรคกุ้ง ขาดการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ การจัดการที่ไม่เหมาะสม
รวมถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น โดยประเทศผู้ผลิตสำคัญที่มีผลผลิตเติบโตมากที่สุด 3 อันดับแรกของโลก ได้แก่ เอกวาดอร์ จีน และอินเดีย ซึ่งในช่วง 5 ปี (2562-2566) มีอัตราผลผลิตเติบโตเฉลี่ยที่ 15.3% 13.0% และ 3.8% ตามลำดับโดยเอกวาดอร์ จีน และอินเดีย ครองตำแหน่งผู้นำในตลาดกุ้งโลก ด้วยผลผลิตและการส่งออกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ การศึกษาลักษณะโครงสร้างการนำเข้ากุ้งของโลกในปี 2566 พบว่า ประเทศผู้นำเข้ากุ้งรายใหญ่ของโลก อาทิ สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร และเกาหลีใต้ มีสัดส่วนการนำเข้ากุ้งจากไทยค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สหรัฐฯ จีน เกาหลีใต้ สหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรป
โดยอินเดียมีส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้ากุ้งสูงสุดของโลก 36.41% รองลงมา คือ เอกวาดอร์ 21.72% อินโดนีเซีย 17.71% เวียดนาม 9.98% ส่วนไทยมีส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ เพียง 5.24%
สำหรับตลาดนำเข้าสำคัญอื่น ๆ เช่น จีน และเกาหลีใต้ แม้จะนำเข้ากุ้งจากไทยในอันดับต้น ๆ แต่ไทยก็มีส่วนแบ่งตลาดค่อนข้างน้อย เช่น ตลาดจีน ไทยมีส่วนแบ่งตลาดเพียง 5.29% รองจากเอกวาดอร์ และอินเดีย ที่ 58.95% และ 13.17% เกาหลีใต้ ไทยมีส่วนแบ่ง 9.19%
ขณะที่เวียดนามมีส่วนแบ่ง 50.67% มีเพียงญี่ปุ่นที่เป็นตลาดศักยภาพและไทยยังสามารถแข่งขันได้ดี โดยไทยมีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับสองในญี่ปุ่น อยู่ที่ 16.60% รองจากเวียดนาม 25.31%
นายพูนพงษ์กล่าวว่า ผลการศึกษาได้ชี้ช่องทางการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันสินค้ากุ้งไทยในตลาดโลกผู้ประกอบการควรมุ่งเน้นกลยุทธ์ที่หลากหลายและเชิงลึก ทั้งการรักษาตลาดเดิม เช่น สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ที่เป็นตลาดที่มีความต้องการสินค้ากุ้งไทยอย่างต่อเนื่อง และขยายตลาดส่งออกไปยังตลาดที่มีความต้องการกุ้งที่มีกำลังซื้อสม่ำเสมอ เช่น จีน ยุโรป เกาหลีใต้ และมาเลเซีย โดยปรับกลยุทธ์การตลาดและสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าอย่างใกล้ชิดกับประเทศดังกล่าว
ขณะเดียวกัน ต้องมุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์กุ้ง รวมทั้งส่งเสริมการขึ้นทะเบียนสินค้ากุ้งให้เป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เนื่องจากมีรสชาติเฉพาะ ซึ่งจะช่วยสร้างจุดเด่นให้กับสินค้าและทำให้สินค้ามีมูลค่าสูงขึ้น อาทิ กุ้งแปรรูปและกุ้งปรุงแต่ง เพื่อดึงดูดความสนใจจากตลาดที่มีกำลังซื้อสูง เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร หรือประเทศแถบตะวันออกกลาง เป็นต้น
ไทย ต้องพัฒนาและยกระดับมาตรฐานให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ ปัจจุบันเน้นมาตรฐานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน เพื่อให้ตรงตามมาตรฐานและข้อกำหนดของตลาดหลัก
นอกจากนี้ ต้องสำรวจและเข้าถึงตลาดใหม่ เนื่องจากปัจจุบันตลาดสำคัญสำหรับสินค้ากุ้งของไทย คือ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และจีน ไทยควรสำรวจตลาดใหม่ ๆ และขยายตลาดให้กว้างขึ้น โดยเฉพาะประเทศที่มีความต้องการรับประทานกุ้งอยู่แล้ว แต่ยังสามารถขยายตลาดได้เพิ่มเติม เช่น จีน ตะวันออกกลาง หรือเอเชีย เป็นต้นเพื่อเพิ่มโอกาสในการขยายตลาด และลดการพึ่งพาตลาดเดิม และควรจัดการต้นทุนการผลิตและการขนส่งอย่างมีประสิทธิภาพ และให้ความสำคัญกับการพัฒนาการผลิตอย่างยั่งยืน เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก
ส่วนการพัฒนาศักยภาพการค้าสินค้ากุ้งตลอดห่วงโซ่อุปทาน แยกเป็นด้านการผลิต ควรมุ่งยกระดับคุณภาพสินค้าในทุกกระบวนการ ตั้งแต่การจัดการผลผลิต การควบคุมโรคระบาด การจัดหาวัตถุดิบ การลดต้นทุนการผลิต ผ่านการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น พลังงานหมุนเวียน เพื่อสนับสนุนการผลิตอย่างยั่งยืน
ด้านการตลาด ควรส่งเสริมความร่วมมือกับค้าปลีกและค้าส่งในการรับซื้อสินค้า พร้อมเปิดโอกาสให้กลุ่มเกษตรกรรายย่อยมีช่องทางจำหน่ายสินค้ามากขึ้น รวมถึงการประชาสัมพันธ์กุ้งไทยทั้งในประเทศและต่างประเทศ การขยายตลาดไปยังตลาดส่งออกใหม่ เช่น ตะวันออกกลาง และแอฟริกา
เพื่อลดการพึ่งพาตลาดหลักเดิม พร้อมทั้งเจรจาข้อตกลงการค้าต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพทางการแข่งขัน และด้านการบริหารจัดการ ควรปรับปรุงกระบวนการผลิตให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เช่น มาตรฐานแรงงานและความยั่งยืน เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือในตลาดโลกและสนับสนุนการส่งออกอย่างมีประสิทธิภาพ
ในปี 2567 ไทยส่งออกสินค้ากุ้ง รวมทั้งสิ้น 1,240.06 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 6.79% ตลาดหลักที่ไทยส่งออกมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.สหรัฐฯ มูลค่า 312.95 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 25.24% ของมูลค่าการส่งออกกุ้งทั้งหมดของไทย 2.ญี่ปุ่น มูลค่า 308.36 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 24.87% 3.จีน มูลค่า 263.62 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 21.26% 4.เกาหลีใต้ มูลค่า 65.87 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 5.31% และ 5.ไต้หวัน มูลค่า 65.82 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 5.31%
อ่านข่าว:
“ทรัมป์” คืนบังลังก์ เขย่า “เทรดวอร์” สงครามการค้าสะเทือนทั่วโลก
“ชาติศิริ” ชี้มาตรการรัฐหนุน จีดีพีไทยโต 3% จับตา 3 ความท้าทายศก.ไทย