ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ตรุษจีนกับมลพิษทางอากาศ พลังของต้นไม้ในการลดฝุ่น PM 2.5

ไลฟ์สไตล์
27 ม.ค. 68
15:23
124
Logo Thai PBS
ตรุษจีนกับมลพิษทางอากาศ พลังของต้นไม้ในการลดฝุ่น PM 2.5
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ช่วงตรุษจีนฝุ่น PM 2.5 มักเพิ่มสูงขึ้น การลดการเผากระดาษเงินกระดาษทองและปลูกต้นไม้ในบ้านหรือพื้นที่สาธารณะ สามารถช่วยบรรเทาผลกระทบจากมลพิษได้ นอกจากสร้างสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนแล้ว ยังช่วยให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีขึ้นในระยะยาว

ตรุษจีนในกรุงเทพมหานครและชุมชนคนจีนหลายที่ทั่วประเทศ มักมาพร้อมกับกิจกรรมเฉลิมฉลอง ทั้งการเผากระดาษเงินกระดาษทอง การจุดประทัด และการจราจรที่หนาแน่น ซึ่งล้วนส่งผลให้ค่าฝุ่น PM 2.5 เพิ่มสูงขึ้นอย่างน่ากังวล ข้อมูลล่าสุดในเดือน ม.ค.2568 ระบุว่า ค่าฝุ่น PM 2.5 บางพื้นที่พุ่งสูงถึง 130 มค.ก./ลบ.ม ซึ่งอยู่ในระดับอันตรายต่อสุขภาพ

แม้ว่ามาตรการลดมลพิษ เช่น การจำกัดการจุดประทัดและการควบคุมยานพาหนะ จะเป็นสิ่งสำคัญ แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะจัดการกับปัญหาในระยะยาว การปลูกต้นไม้เพื่อดักจับฝุ่นละอองและฟอกอากาศจึงเป็นทางออกที่มีศักยภาพในการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อคุณภาพอากาศในช่วงเทศกาลและตลอดทั้งปี

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ปลูกต้นไม้ ลดฝุ่นได้จริงหรอ ?

ต้นไม้และพืชพรรณถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของระบบนิเวศในเมืองที่ช่วยบรรเทาปัญหามลพิษทางอากาศได้อย่างยั่งยืน หลักการทางวิทยาศาสตร์ระบุว่า ใบไม้ของพืชมีคุณสมบัติพิเศษในการดักจับฝุ่นละออง โดยเฉพาะฝุ่น PM 2.5 ที่เป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ ใบไม้ที่มีลักษณะพื้นผิวหยาบ มีขนเล็ก ๆ หรือมีรูพรุน เช่น ใบของไทร ไผ่ หรือเฟิร์น สามารถทำหน้าที่เป็น "ตัวกรองธรรมชาติ" ที่ดักจับฝุ่นในอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนั้น พื้นผิวของใบไม้ยังช่วยลดการฟุ้งกระจายของฝุ่นโดยการดักจับฝุ่นและเก็บสะสมไว้บนผิวใบ เมื่อฝุ่นสะสมบนใบไม้ มันจะไม่กลับเข้าสู่อากาศและจะถูกชะล้างออกไปเมื่อฝนตกหรือเมื่อมีการทำความสะอาดใบไม้ กระบวนการนี้ช่วยลดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศในระยะยาว

อีกหนึ่งกลไกสำคัญคือกระบวนการคายน้ำ (Transpiration) พืชจะปล่อยไอน้ำออกมาทางปากใบ ไอน้ำเหล่านี้ช่วยเพิ่มความชื้นในอากาศ ทำให้ฝุ่นละอองในบรรยากาศมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นและตกลงสู่พื้นดินได้ง่ายขึ้น ช่วยลดการฟุ้งกระจายของฝุ่นในอากาศ และยังเพิ่มความชื้นทำให้อากาศสดชื่นและลดความร้อนในพื้นที่โดยรอบ

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ต้นไม้ฟอกอากาศยังไง ?

นอกจาก "ใบไม้" จะมีบทบาทสำคัญในการดักจับฝุ่น "ราก" ของพืชยังทำหน้าที่ฟอกอากาศผ่านการดูดซับสารพิษที่สะสมในดิน ซึ่งสารพิษเหล่านี้มักมาจากการตกตะกอนของฝุ่นละอองหรือสารเคมีในบรรยากาศ ตัวอย่างของสารพิษที่พืชสามารถดูดซับได้ ได้แก่ ฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde) และเบนซีน (Benzene) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งและมักพบในเขตเมืองที่มีการใช้ยานพาหนะหรือการเผาไหม้

เมื่อสารพิษเหล่านี้เข้าสู่รากของพืช พืชจะใช้กระบวนการทางชีวเคมีในการสลายสารพิษให้กลายเป็นสารประกอบที่ไม่เป็นอันตราย การทำงานร่วมกันระหว่างรากและจุลินทรีย์ในดินช่วยให้ดินในบริเวณนั้นมีคุณภาพดีขึ้นและลดปริมาณสารพิษในสภาพแวดล้อม 

นอกจากนี้ กระบวนการสังเคราะห์แสง (Photosynthesis) ของพืชยังเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญที่ช่วยปรับปรุงคุณภาพอากาศ พืชจะดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จากอากาศและแปลงเป็นพลังงานที่ใช้ในการเจริญเติบโต ในระหว่างกระบวนการนี้ พืชจะปลดปล่อยออกซิเจน (O2) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการรักษาสมดุลของอากาศในเมือง

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

พื้นที่สีเขียวในไทย ต่ำกว่าเกณฑ์ WHO 

งานวิจัยเรื่อง การสังเคราะห์งานวิจัยเกี่ยวกับการบำบัดฝุ่น PM 2.5 ด้วยการปลูกพืชพรรณและพื้นที่สีเขียว จากวารสารสำนักงานป้องกันคุ้มครองโรคที่ 7 ขอนแก่น ระบุว่า การบำบัดฝุ่น PM 2.5 ด้วยพืชพรรณและพื้นที่สีเขียว พบว่าการปลูกพืชที่มีลักษณะใบเล็กหยาบ ใบสาก ใบมีขน หรือใบรูปหอก/รูปไข่ สามารถดักจับฝุ่น PM 2.5 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การเพิ่มพื้นที่สีเขียวด้วยการปลูกไม้ยืนต้น ไม้พุ่ม ไม้เถาวัลย์ ไม้เลื้อย และสนามหญ้า ยังช่วยลดผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 ได้อย่างมีนัยสำคัญ

อินเดีย มีการทดลองปลูกต้นไม้ในเมืองที่หนาแน่น เช่น สวนสาธารณะในเขตเมือง สามารถลด PM 2.5 ในพื้นที่ได้ถึงร้อยละ 40 ในช่วงเวลาเช้าตรู่ที่มีความชื้นสูงที่สุด

ขณะที่ในสหรัฐอเมริกา ข้อมูลในเมืองนิวยอร์กแสดงให้เห็นว่าพื้นที่ที่มีต้นไม้ครอบคลุมประมาณร้อยละ 24 ของเมือง สามารถกำจัดฝุ่นละอองในอากาศได้ถึง 1,821 เมตริกตัน/ปี

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ส่วนในประเทศจีน อีกหนึ่งประเทศที่ประสบปัญหามลพิษทางอากาศมากที่สุด รัฐบาลได้เริ่มโครงการ "ป่าในเมือง" ปลูกต้นไม้ยืนต้นในเขตเมืองเพื่อลดฝุ่นละอองและเพิ่มพื้นที่สีเขียว ผลการศึกษาในปักกิ่งพบว่าพื้นที่สีเขียวช่วยลด PM2.5 ได้ถึงร้อยละ 25 ในบริเวณใกล้เคียง

ในยุโรป เมืองมิลานของอิตาลีได้สร้างโครงการ "ป่าตึกสูง" (Vertical Forest) ซึ่งเป็นอาคารที่ปกคลุมด้วยต้นไม้กว่า 800 ต้น ช่วยลดมลพิษและเพิ่มออกซิเจน

ด้วยคุณสมบัติพิเศษเหล่านี้ พืชจึงเป็นเครื่องมือธรรมชาติที่ช่วยฟอกอากาศ ลดฝุ่นละออง และปรับปรุงคุณภาพชีวิตในเมืองที่กำลังเผชิญปัญหามลพิษทางอากาศอย่างรุนแรง
ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

พื้นที่สีเขียวที่หนาแน่น ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการลดฝุ่น ยิ่งพื้นที่สีเขียวครอบคลุมมากเท่าใด การดักจับฝุ่นละอองก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะที่มีรายงานว่าในกรุงเทพมหานครมีพื้นที่สีเขียวครอบคลุมประมาณ 5 ตร.ม./คน ซึ่งยังต่ำกว่ามาตรฐานของ WHO ที่แนะนำ 9 ตร.ม./คน

ปลูกต้นไม้ในบ้าน โซลูชันง่าย ๆ ของทุกคน

ประชาชนทั่วไปสามารถปลูกต้นไม้ในบ้านเพื่อลดฝุ่นในอากาศได้ พืชที่เหมาะสมสำหรับการปลูกในพื้นที่จำกัด เช่น ลิ้นมังกร ว่านหางจระเข้ และกวักมรกต ซึ่งเป็นพืชที่ต้องการการดูแลน้อยแต่ช่วยฟอกอากาศได้ดี

  • ไทรเกาหลี มีใบขนาดใหญ่และหนาแน่น ช่วยดักจับฝุ่นได้เป็นอย่างดี เหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่กว้าง
  • ลิ้นมังกร เป็นพืชที่ดูแลง่าย ทนทานต่อสภาพแวดล้อม สามารถดูดซับสารพิษต่าง ๆ ได้ดี
  • พลูด่าง มีใบขนาดใหญ่และแผ่กว้าง ช่วยดูดซับสารพิษและเพิ่มความชื้นในอากาศ
    ภาพประกอบข่าว

    ภาพประกอบข่าว

    ภาพประกอบข่าว

  • กล้วยไม้, เดหลี, เฟิร์น ช่วยดูดซับสารพิษ เช่น เบนซีน และฟอร์มาลดีไฮด์ และไซลีน
  • ว่านหางจระเข้ นอกจากสรรพคุณทางยาแล้ว ยังช่วยดูดซับสารพิษในอากาศได้ดีอีกด้วย
  • เศรษฐีเรือนใน ช่วยดูดซับสารพิษ เช่น แอมโมเนีย
  • กวักมรกต, เงินไหลมา ช่วยดูดซับสารพิษและเพิ่มความชื้นในอากาศ
ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ทั้งนี้ ประสิทธิภาพการดูดซับฝุ่นของพืชนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย

  • ชนิดของพืช ที่แต่ละชนิดจะมีลักษณะใบและโครงสร้างที่แตกต่างกัน ส่งผลต่อการดักจับฝุ่นได้ไม่เท่ากัน ขนาดและ
  • จำนวนของใบ ก็มีผลต่อการดักจับฝุ่นเช่นกัน พืชที่มีใบใหญ่และหนาแน่นจะดักจับฝุ่นได้มากกว่า
  • สภาพแวดล้อม แสงแดด อุณหภูมิ และความชื้น ก็มีส่วนสำคัญในการควบคุมการเจริญเติบโตของพืชและประสิทธิภาพในการดูดซับฝุ่น
  • การดูแลรักษาพืชอย่างเหมาะสม เช่น การรดน้ำ ปุ๋ย ตัดแต่งกิ่ง ทำความสะอาดใบพืชเป็นประจำ จะช่วยให้ใบสามารถดูดซับฝุ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี การใช้สารเคมีในการกำจัดแมลงหรือวัชพืชอาจส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการดูดซับฝุ่นของพืช
ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

"ต้นไม้" ไม่ได้เป็นเพียงสิ่งประดับในเมือง แต่เป็นฮีโร่เงียบที่ช่วยฟอกอากาศ ลดฝุ่น และปรับปรุงคุณภาพชีวิตของคนเมือง การปลูกต้นไม้ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ต้องการความใส่ใจและการจัดการที่ดี หากเริ่มต้นปลูกต้นไม้และดูแลพื้นที่สีเขียวอย่างจริงจัง เมืองของเราก็จะกลายเป็นสถานที่ที่น่าอยู่และมีอากาศบริสุทธิ์สำหรับทุกคน แต่อาจยังเจอข้อจำกัด เช่น การขาดพื้นที่เขตเมือง งบประมาณในการดูแลรักษา หรือความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาครัฐต้องจัดการ

อ่านข่าวเพิ่ม :

ดรามา "รถไฟฟ้าฟรี" ลดฝุ่นตัวเลขพุ่ง 1.63 ล้านคนต่อเที่ยว

"เอกนัฏ" จ่อคุย "พลังงาน" ซื้อ "กากอ้อย-ใบสด" ผลิตไฟฟ้า

27 ม.ค.นี้ "นายกรัฐมนตรี" หารือยกระดับแก้ฝุ่น PM 2.5 ในครม. 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง