ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"ทรัมป์" ถอนตัวข้อตกลงปารีส เป้าหมายกู้อุณหภูมิโลก 1.5 องศาฯ สะดุด?

สิ่งแวดล้อม
23 ม.ค. 68
10:48
135
Logo Thai PBS
"ทรัมป์" ถอนตัวข้อตกลงปารีส เป้าหมายกู้อุณหภูมิโลก 1.5 องศาฯ สะดุด?
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

"โดนัลด์ ทรัมป์" ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 47 สมัย 2 เข้าทำงานเพียงวันแรกก็เริ่มเคลื่อนไหวในประเด็นที่เวทีโลกจับตา ทั้งการออกคำสั่งประกาศให้การอพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายตามพรมแดนสหรัฐฯ-เม็กซิโกเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินระดับชาติ การเริ่มต้นกระบวนการถอนสหรัฐฯ ออกจากการเป็นสมาชิกองค์การอนามัยโลก

หนึ่งในนั้นคือการเดินหน้าถอนตัวจากข้อตกลงปารีส ข้อตกลงด้านสภาพภูมิอากาศที่เน้นความสมัครใจเป็นหลัก มุ่งลดภาวะโลกร้อน เป้าหมายหลักคือการควบคุมอุณหภูมิโลกในระยะยาวไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม หรือเป้าหมายถัดไปคือไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส ด้วยการลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกที่ทำให้โลกร้อน จากการใช้ถ่านหิน น้ำมัน และแก๊สธรรมชาติ

ทรัมป์เริ่มกระบวนการถอนตัวจากข้อตกลงนี้ ซึ่งต้องใช้เวลาหลักปี และนี่เป็นความพยายามครั้งที่สอง หลังก่อนหน้านี้ถูกขัดขวางจากการชนะเลือกตั้งของ "โจ ไบเดน"

เมื่อสหรัฐฯ พ้นจากข้อตกลงนี้ในปีหน้า จะเป็นสมาชิกสหประชาชาติเพียงไม่กี่ประเทศที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงปารีส เคียงข้างอิหร่าน ลิเบีย และเยเมน

ไม่เกินความคาดหมาย นโยบายทรัมป์ 2.0 ชัดเจนว่าจะออกจากข้อตกลงปารีส แต่ทุกประเทศยังห่วงกังวลถ้าสหรัฐฯ ไม่มีการลดก๊าซเรือนกระจกที่เร็วพอ

นายพิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ให้ความเห็นกรณีทรัมป์ถอนตัวจากข้อตกลงปารีส ว่า ไม่ใช่เรื่องที่เกินความคาดหมาย เพราะผู้นำสหรัฐฯ ประกาศชัดเจนก่อนเข้ารับตำแหน่งแล้ว และทุกภาคีสมาชิกเข้าใจตรงกัน

แต่หลายประเทศมีความกังวลว่าการถอนตัวในครั้งนี้ สวนทางกับเป้าหมายของสหรัฐฯ ในยุคโจ ไบเดน ที่ต้องการลดเรือนกระจก 61-66% ในปี 2035 เมื่อเทียบกับปี 2005 ที่เป็นประเทศปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงที่สุดในโลก และอาจกระทบภาพรวมการปล่อยก๊าซฯ ทั่วโลก ที่ตั้งเป้าจำกัดภาวะโลกร้อนให้อยู่ที่ 1.5 องศาเซลเซียส จนเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรง แปรปรวน และยากต่อการคาดเดา

ทรัมป์อาจเห็นว่าการอยู่ในข้อตกลงปารีส ไม่ได้ประโยชน์อะไร นอกจากต้องใส่เงินเข้าไปให้ประเทศอื่น ๆ

นายพิรุณ กล่าวว่า การตัดสินใจดังกล่าวส่งผลให้การสนับสนุนทางการเงินจากสหรัฐฯ หยุดชะงัก ยกตัวอย่างกองทุนภูมิอากาศสีเขียว ซึ่งเป็นกลไกทางการเงินภายใต้กรอบอนุสัญญาของยูเอ็น อุดหนุนเงินอยู่ที่ 30% หรือ 3,000 กว่าล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเงินในส่วนนี้ลดลง ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาต้องแข่งขันกันมากขึ้นเพื่อเข้าถึงกลไกทางการเงิน

สหรัฐฯ ในยุคของทรัมป์ ให้ความสนใจในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศลดลง โดยมุ่งเน้นการค้าและการลงทุนเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม การพัฒนาโซลาร์ฟาร์มขนาดใหญ่ ก็เป็นส่วนหนึ่งของความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ

ในช่วงของทรัมป์สมัยแรก ปี 2017-2021 แม้จะให้ความสำคัญกับเชื้อเพลิงฟอสซิล แต่ไม่ทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด และยังอยู่ในทิศทางขาลง ซึ่งความเข้มแข็งของเศรษฐกิจสหรัฐฯ คือ การพัฒนาโซลาร์ฟาร์มขนาดใหญ่

อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม มองว่า รัฐบาลของทรัมป์น่าจะดูนโยบายย้อนหลังทั้งหมดว่ากระทบผู้ลงทุนและเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มากน้อยเพียงใด รวมถึงกฎหมายการปรับลดอัตราเงินเฟ้อในสมัยอดีตประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่ยังบังคับใช้อยู่ และสนับสนุนการลงทุนที่มีการกักเก็บคาร์บอนใต้พื้นพิภพ

ขณะที่สหภาพยุโรปจะใช้โอกาสนี้เป็นผู้นำของศูนย์กลางทางการเงินด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว รวมถึงมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non- tariff barriers) เช่น CBAM หรือมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน ที่สหภาพยุโรป (EU) กำหนดขึ้น

ในปี 2026 จะมีการเก็บค่า CBAM หรือเอกสารรับรองการจ่ายค่าธรรมเนียมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตจากผู้นำเข้าสินค้า และไม่มีข้อยกเว้นให้ประเทศใดประเทศหนึ่ง รวมถึงสหรัฐฯ

ขณะนี้ยังต้องรอดูท่าทีของเอกชนขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ ทั้งแอมะซอน กูเกิล ไมโครซอฟท์ ที่มีนโยบาย net zero ภายในปี 2030-2040 เบื้องต้นยังไม่มีการประกาศยกเลิกนโยบายนี้

ถ้าสหรัฐฯ ผลิตสินค้าส่งไปอียูแล้วปล่อยคาร์บอนสูงกว่ามาตรฐานก็ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม

อย่างไรก็ตาม ไทยยังเดินหน้าการผลักดัน พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นเครื่องมือใหม่ ที่ทำให้ไทยมีความยืดหยุ่น และมีกลไกที่มีประสิทธิภาพในการตั้งรับแรงกดดันทางการค้าจากรัฐบาลประเทศต่าง ๆ เพื่อให้เศรษฐกิจยั่งยืน ควบคู่กับสังคมคาร์บอนต่ำ

อ่านข่าว : เมื่อ "ทรัมป์" ถอนตัว "ข้อตกลงปารีส" โลกจะเดือดขึ้นหรือไม่  

ไทยเดินหน้าขยายป่าชุมชน บรรลุเป้าหมาย "ข้อตกลงปารีส" ลดโลกร้อน 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง