ในยุคที่โลกเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและภัยธรรมชาติที่เพิ่มความซับซ้อน เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการวิเคราะห์และคาดการณ์สถานการณ์อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรับมือกับความท้าทายระดับโลก
การร่วมมือกันระหว่างสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) กับสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ในการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อเป็นการยกระดับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศไทย โดยมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาและบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบตั้งแต่ระดับประเทศจนถึงระดับชุมชน
ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
ข้อสรุปร่วมกัน 4 ด้าน
โดยเมื่อวันที่ 21 ม.ค.ที่ผ่านมา คณะผู้เชี่ยวชาญจาก MIT ในการหารือความร่วมมือโครงการ "AI for Water Management" โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศไทยด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI)
โดย น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ระบุว่าโครงการนี้จะไม่เพียงเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยและสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่ยังจะเป็นต้นแบบในการพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำที่ยั่งยืนให้กับนานาประเทศอีกด้วย
ทั้งนี้ทั้งสองฝ่ายได้ข้อสรุปการพัฒนางานใน 4 ด้านสำคัญ ได้แก่
• Human Resource Development: การพัฒนาทรัพยากรบุคคล
• System Schema: การออกแบบและวางระบบ
• Innovation and Technology to Support Water System: การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนระบบน้ำ
• Sustainability Development Loop: การสร้างวงจรการพัฒนาที่ยั่งยืน
รอยบุญ รัศมีเทศ ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ
เดินหน้าผลักดันความยั่งยืนด้วย AI
ดร.รอยบุญ รัศมีเทศ ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) เปิดเผยว่า สสน.ได้เริ่มความร่วมกับ MIT ตั้งแต่ปี 2541 โดยมุ่งเน้นการพัฒนาข้อมูลและระบบบริหารจัดการพื้นที่เจ้าพระยาตอนล่าง ซึ่ง MIT มองเห็นถึงความสำเร็จของรูปแบบการทำงานของ สสน. ที่สามารถนำมาปรับใช้และพัฒนาต่อยอดในประเทศไทยได้อย่างครบวงจร
ความร่วมมือดังกล่าวไม่เพียงแค่การถ่ายทอดองค์ความรู้ แต่เป็นการเรียนรู้และพัฒนาร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) และวิทยาการด้านระบบเข้ามาเสริมประสิทธิภาพ ตั้งแต่การวางแผนต้นทางจนถึงปลายทาง รวมถึงการเชื่อมโยงเรื่องการค้าขายและความยั่งยืน
ทั้งสององค์กรยังมุ่งเน้นการผลักดันแนวคิด การพัฒนาจากข้างบนลงล่างและข้างล่างขึ้นบน สร้างความพร้อมทุกระดับ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม และมองเรื่องการเรียนรู้ และพัฒนาร่วมกัน รวมทั้ง MIT ใช้ไทยเป็นฐานเพื่อขยายผลในภูมิภาคด้วย
Prof. Retsef Levi
AI กับบริหารจัดการน้ำ
ปัญหาฝุ่น PM2.5 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และการจัดการน้ำ เป็นประเด็นที่มีความเชื่อมโยงและไม่สามารถแยกออกจากกันได้อย่างเด็ดขาด การแก้ไขปัญหาเหล่านี้จำเป็นต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์ในทุกมิติ เพื่อพัฒนาแนวทางบริหารจัดการทรัพยากรที่ตอบโจทย์อย่างยั่งยืน
ดร.รอยบุญ ระบุว่า การนำ AI มาช่วยเพื่อร่นระยะเวลาในการวิเคราะห์ข้อมูล รวมถึงการบันทึกและวิเคราะห์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในระบบน้ำของพื้นที่ การใช้ AI ช่วยทำให้กระบวนการทำงานมีความรวดเร็วและให้การคาดการณ์ถูกต้องแม่นยำมากขึ้น ซึ่งสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง รวมถึงลดความเสียหาย หากสามารถเตรียมการรับมือได้ล่วงหน้า
วิเคราะห์ผังน้ำลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ
จากความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการคาดการณ์สถานการณ์น้ำให้มีความแม่นยำสูงขึ้น ทั้งข้อมูลปริมาณน้ำฝนและระดับน้ำ รวมถึงการวิเคราะห์สมดุลน้ำและผังน้ำอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะนำไปสู่การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติทางน้ำ และการวางรากฐานความมั่นคงด้านทรัพยากรน้ำของประเทศในระยะยาว
การนำเทคโนโลยี AI มาประยุกต์ใช้ในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทยสู่มาตรฐานสากล สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนและการเสริมสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้แก่ประชาชนในทุกภาคส่วน
คาดการณ์น้ำปี 2568 ที่ต้องรับมือ
การคาดการณ์ปริมาณฝนปี 2568 ประเทศไทยจะมีปริมาณฝนมากกว่าปกติประมาณร้อยละ 9 มีลักษณะใกล้เคียงกับปี 2542 ทั้งนี้ พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศจะมีฝนมากกว่าปกติ ยกเว้นบางพื้นที่ในภาคเหนือ ด้านตะวันออกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้บริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานี กระบี่ และ นครศรีธรรมราช อาจจะมีปริมาณฝนน้อยกว่าปกติ
สำหรับคาดการณ์สถานการณ์ฝนในปี 2568 ช่วงเดือน มี.ค.-พ.ค.จะมีฝนตกตามปกติและมีโอกาสเกิดฝนตกหนักในบางพื้นที่ อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันได้บางแห่ง
ขณะที่อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในภาคอีสานตอนล่างอาจมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอ และอาจเกิดฝนทิ้งช่วง ก.ค.-ส.ค. ก่อนที่ฝนจะกลับมาตกในช่วงปลาย ก.ย. หลังจากนั้นช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค.ฝนจะตกหนักมากกว่าค่าปกติ อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ในบางแห่ง
อ่านข่าว :
ไขคำตอบ! กทม.จมฝุ่นพิษเร็ว อากาศปิด-เผาพื้นที่เกษตร
ติดกล้องดูพฤติกรรม-ปรับแผนให้อาหาร "เสือโคร่ง" ขาเจ็บติดบ่วง