ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“อดีต ส่งผล ปัจจุบัน” นักจิตวิทยาบำบัด ช่วย “สร้างพื้นที่ปลอดภัย”

สังคม
22 ม.ค. 68
15:33
123
Logo Thai PBS
“อดีต ส่งผล ปัจจุบัน” นักจิตวิทยาบำบัด ช่วย “สร้างพื้นที่ปลอดภัย”
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

การที่คนคนหนึ่งตัดสินใจจะจบชีวิต ไม่ใช่เรื่องสารเคมีในสมองหลั่งผิดปกติ แต่เพราะไม่สามารถจัดการอารมณ์ความรู้สึกได้ ที่นั่น ไม่มีโรคแพนิค โรคซึมเศร้า หรือโรควิตกกังวล จึงไม่มีการจ่ายยาให้กิน แต่แพทย์มักจะให้ผู้มีอาการดังกล่าว เข้าพบนักจิตวิทยาบำบัด Psychotherapist หรือ therapy

“มีเคสหนึ่ง โทรเข้ามา บอกจะฆ่าตัวตายด้วยน้ำเสียงชิลล์มาก ๆ ประเมินความเสี่ยงอยู่ในระดับสูง ไม่อยากเดินข้ามสะพานลอย ทุกครั้งที่ก้าวขึ้น จะมีความรู้สึก อยากกระโดดลงมา ก่อนหน้านี้เคยพยายามฆ่าตัวตาย ด้วยการกินยาในระดับ over dose ทั้ง ๆ ที่มีลูกเล็กวัย 3 ขวบ เชื่อว่าไม่มีเธอลูกอยู่ได้ เพราะมีพ่อดูแล และลูกเก่งสามารถใช้ไมโครเวฟ อุ่นอาหารได้ ” ลลิดา พึ่งคล้าย นักจิตวิทยาบำบัด ประจำองค์กรการกุศลที่ชื่อว่า Supporting Victims of Sexual Violence - SV2 ที่เมือง Derby และ Nottingham ที่ประเทศอังกฤษ เล่าประสบการณ์ในต่างแดน

เสี่ยงจบชีวิต-คิดสั้น ทำอย่างไร ? ให้อยู่ต่อ

เคสนี้ ต้องใช้เวลาพูดคุยกว่า 2 ชั่วโมง กว่าจะพบจุดพีคของชีวิต และเมื่อสามารถปลดล็อคและฟื้นฟูความฝันในวัยเด็ก ทำให้เคสรู้สึกอยากกลับไปสร้างสิ่งที่เคยหายไปให้กลับคืนมา และล้มเลิกความคิดฆ่าตัวตาย

“ตอนนั้นคิดอย่างเดียว ต้องชวนเขาให้คุยต่อไปเรื่อย ๆ ทั้งที่ในใจมีคำถามว่า เด็ก 3 ขวบจะอยู่อย่างไร หากไม่มีแม่ หากเขายังมีแพลนเดิม ต้องทำยังไงเพื่อไม่ให้เขาวางหู และสร้างความมั่นใจให้เราว่า หากวางหูไปแล้วเขาจะไม่คิดฆ่าตัวตายอีก เลยถามต่อว่า อะไรคือสิ่งที่จะทำให้เขาอยู่ เช่น อะไรคือความฝันของเขาที่ยังไม่ได้ทำ”

เคสบอกว่าเคยฝันอยากเป็นหมอทางด้านนิติเวช เวลามีเหตุการณ์เกิดขึ้นอยากไปชันสูตรพลิกศพไปถึงที่คนแรก ก็ถามอีกว่า ขณะนี้ความฝันของคุณเป็นอย่างไร เขาเล่าให้ฟังว่าเคยไปเช็คคอร์สจนผ่าน แต่หลังจากมีลูก ความฝันนั้นก็ถูกทิ้งไปเลย

จึงถามว่า ขณะนี้เราคุยกันเรื่องความฝัน ในใจรู้สึกอย่างไร? เขาตอบว่า ไม่ได้คิดมานานแล้ว แต่เมื่อพูดถึงอีกก็ครั้งรู้สึกใจฟู แล้วก็ตื่นเต้น ...เพราะช่วงนั้นไม่มีเงินที่จะไปเรียน ต้องซื้อหนังสือมาอ่านเอง พอสอบผ่านก็ดีใจมาก

ชวนคุยต่อ ตอนนี้หนังสือเล่มนี้อยู่ที่ไหน ? เขาบอกว่า ตอนนี้เก็บอยู่ในห้องเก็บของต้องไปหา แล้วก็พูดว่า หนังสือเล่มนี้เป็นตัวจุดประกายความฝัน จับแล้วรู้สึกดี ๆ มันเต็มไปด้วยประสบการณ์ มันไม่ใช่แค่หนังสือแต่ คือ เรื่องราวที่ทำให้ภูมิใจ

ลองไปหาหนังสือเล่มนั้นไหมว่า มันอยู่ตรงไหน ? เขาบอกว่า ได้เดี๋ยวฉันจะไปหา ก็เลยบอกกับเขาว่า ไปหาสิจะรอสาย สักพักเขาก็กลับมา บอกเจอแล้ว ...
ชวนเขาคุยอีกว่า ซื้อมาเมื่อไหร่ ?

คุยไปเรื่อย ๆ แล้วจู่ ๆ เขาก็พูดขึ้นมาว่า เออ ! ฉันไม่ได้พูดถึงความฝันมานาน และพอหยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาดูแล้ว ทำให้รู้สึกว่า อยากอยู่ต่อ

ต่อมาเมื่อคุยถึงเรื่องความตาย เขาก็บอกว่า เฮ้ย ! อย่างนั้น ฉันยังไม่ไปดีกว่า ...เราก็โอ้ย โล่งเหมือนยกภูเขาออกจากอก …เป็นเคสที่เจอ แต่ยังไม่เคยพบประเภทที่โทรมาคุยวางหูเสร็จ แล้วก็ไปฆ่าตัวตาย หากเจอเคสแบบนี้ก็คงต้องโทรแจ้งตำรวจและ ambulance ให้ไปรอหน้าบ้าน

อาการทางจิต “ไม่ใช่โรค” ผู้รับการบำบัด ไม่ใช่ผู้ป่วย

ลลิดา วัย 30 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีประสบการณ์สอนจิตวิทยาให้คำแนะแนว โรงเรียนนานาชาติ 3 แห่ง ก่อนจะไปศึกษาในระดับปริญญาโทสาขาจิตวิทยาบำบัดที่มหาวิทยาลัยดาร์บี้ ( University of Derby ) จบการศึกษา The MSc in Integrative Counselling and Psychotherapy

ก่อนจบการศึกษาเคยฝึกงานอยู่ที่มูลนิธิช่วยเหลือเหยื่อที่ถูกคุกคามทางเพศ และรพ.แห่งหนึ่งที่อยู่ในเมืองดาร์บี้และเบอร์มิงแฮม โดยการให้คำปรึกษาผู้ที่เข้ารับบริการจะถูกนับเป็นรายชั่วโมง หนึ่งคนจะสามารถคุยได้ครั้งละ 50 นาที หรือ 1 ชั่วโมง

ลลิดา เล่าว่า การเข้าขอรับคำปรึกษาจากนักจิตวิทยาที่ประเทศอังกฤษ ไม่ง่าย ต้องลงทะเบียนจองคิวเข้ามาก่อน เพราะอาการทางจิต ไม่ใช่โรคและผู้ที่มาพบไม่ใช่ผู้ป่วย บางรายมาพบแพทย์ แต่แพทย์มักจะให้คุยกับนักจิตวิทยาก่อน เนื่องจากปัญหาเกิดขึ้นเกี่ยวกับอารมณ์และความรู้สึกที่ไม่สามารถจัดการได้

“บางครั้ง การที่ใครคนหนึ่งมีอารมณ์ปรี๊ดขึ้นมา อาจจะรู้สึกว่า ตัวเองผิดปกติจึงต้องการพบแพทย์ แต่แพทย์มักจะ refer ว่าให้ไปพบ therapist ก่อนสัก 10-20 ครั้ง แล้วลองดูว่าอาการดีขึ้นหรือไม่ ยังไม่ดีขึ้น ในครั้งต่อไปจึงค่อยนัดแพทย์ ซึ่งหมอที่อังกฤษ ส่วนใหญ่เป็นชาวอินเดีย เราแทบจะไม่พบหมอที่เป็นชาวอังกฤษเลย”

การเข้ารับคำปรึกษาจากนักจิตวิทยาบำบัดในต่างประเทศเป็นเรื่องปกติ ไม่ว่าจะเป็นสถานบำบัดของรัฐหรือเอกชน จะมีผู้ลงทะเบียนรอคิวจำนวนมาก ไม่มีการให้กินยา ในทางจิตวิทยา เชื่อทุกสิ่งที่เกิดในอดีตทำให้คุณเป็นแบบนี้ ดังนั้นการกินยา จึงไม่ใช่คำตอบ ทุกคนต้องการการปลดปล่อย ความเข้าใจ และพื้นที่ปลอด ภัย

ปัญหาการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ทั่วโลก ไม่ได้มีเฉพาะการข่มขืน จับก้น แอบจูบ หรือการใช้วาจาคุกคาม เท่านั้น แต่การเปิดภาพลามกให้ดูก็เข้าข่ายแล้ว ยังไม่รวมอาการภาวะทางจิต เช่น แพนิค วิตกกังวล ซึมเศร้า ที่พบมากขึ้น

การเดินเข้ามาขอคำปรึกษาจาก therapy หรือ Psychotherapist ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะต้องคุยแบบเปิดอก และสาเหตุของอาการซึมเศร้า ไม่ได้เกิดจากสารเคมีในสมองผิดปกติ จากเคสที่เคยเข้ารับคำปรึกษา มีทฤษฎีที่ใช้อธิบาย

“คนไทยอาจมีทางออก ไปวัด นั่งสมาธิ สวดมนต์ แต่นักจิตบำบัดจะใช้สิ่งที่เรียกว่า window of tolerance อธิบายให้เขาฟัง ไม่ใช่การอดทน มันคือ การข่มใจ สามารถแสดงความโกรธได้ และมีเหตุผลอธิบายได้กับสิ่งที่เกิดขึ้น ในช่วงอารมณ์หนึ่งที่ยังรู้สึกว่ามีพื้นที่รองรับได้ แต่หากรู้สึกว่า อารมณ์กำลังจะหลุด ก็มีสิทธิ์ที่จะให้ตัวเองออกจากตรงนั้น ไม่บังคับให้ทำในสิ่งที่ร่างกายและจิตใจไม่พร้อม”

ความคิด พฤติกรรม “วัยเด็ก” ส่งผลกระทบอนาคต

การทำงานของนักจิตวิทยาบำบัดทั่ว ๆ ไปจะนำทฤษฎีที่เรียนมาใช้ไม่ต่างกัน หลัก ๆ ที่ใช้บ่อยครั้งในช่วงเก็บเวลาเรียน คือ CBT Cognitive Behavioral Therapy หรือการบำบัดความคิดและพฤติกรรม เป็นหนึ่งในวิธีจิตบำบัดที่นำมาใช้กับผู้มีอาการ ซึมเศร้า วิตกกังวล เครียด หรือว่าแพนิค การรับมือเมื่ออยู่ในสภาวะตึงเครียด และอื่น ๆ

ตามทฤษฎีนี้ ทางจิตวิทยา มองว่า ความคิดและพฤติกรรมส่งผลต่อทุกอย่าง ความเชื่อ ว่า เป็นคนอย่างไร เช่น คิดว่า เราไม่ดีพอ ก็จะทำให้มีพฤติกรรมนั้น ๆ ความคิด ความรู้สึก พฤติกรรม และร่างกายเชื่อมต่อกันหมด รู้สึกแย่กับตัวเอง ทุกอย่างจะเป็นไปตามนั้น

Person centered therapy เป็นทฤษฎีที่ยึดบุคคลเป็นศูนย์กลางการ บำบัดรักษาซึ่งนักจิตวิทยาทั่วโลกจะใช้ทฤษฎีนี้ สร้างพื้นที่ให้เขาตัดสินใจเอง โดยที่เราไม่ยัดเยียด การตัดสินใจ ไม่มีถูกผิด แต่จะเป็นการสร้าง safe zone พื้นที่ปลอดภัยให้เขาตัดสินใจเอง

และทฤษฎีความผูกพัน (Attachment theory ) ซึ่งยังแยกย่อยออกได้ 4 ประเภท มีทั้งกลุ่มที่พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (Dismissive-Avoidant) เขาจะไม่มั่นใจในความสัมพันธ์ และสิ่งที่แสดงออก คือ จะเก็บตัว เมินเฉย ไม่ยึดติด และไม่ผูกพันกับใครในระดับลึกซึ้ง

กลุ่มหวาดกลัว-หลีกเลี่ยง (Fearful-Avoidant) เช่น เคยมีประสบการณ์ไม่ดีตั้งแต่วัยเด็ก ถูกทำร้ายจากคนที่เคยเลี้ยงดู ไม่ไว้ใจใครเลย แต่ก็โหยหาความรัก รู้สึกไร้ค่า ไม่แน่ใจในความสัมพันธ์ พวกนี้จะมีพฤติกรรม แบบขอบจับผิดเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่แน่นอน ไม่เชื่อใครกลัวถูกหักหลัง

และทฤษฎีที่เรียกว่า (Anxious Attachment) คนกลุ่มนี้ในวัยเด็กอาจถูกทอดทิ้ง ลำบาก เมื่อโตขึ้นจึงมีพฤติกรรมแสดงออก ด้วยการเสียสละ ยอมให้ตนเองลำบากเพื่อเอาอกเอาใจคนอื่น เพราะกลัวจะถูกทิ้ง เลยยอมแลกสิ่งที่มีเพื่อรักษาความสัมพันธ์เอาไว้

และกลุ่มที่เรียกว่า (Secure Attachment) เป็นคนที่มีความรู้สึกมั่นคง ได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีจากครอบครัว จึงมีลักษณะเปิดเผย ปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ ขณะเดียวกันก็ดูแลความสัมพันธ์ของตนเองได้

หน้าที่นักจิตวิทยา “บำบัด” สร้างพื้นที่ปลอดภัย

ลลิดา บอกว่า ทั้งหมดเป็นทฤษฎีที่นักจิตวิทยาบำบัดทั่วโลกใช้กัน เพราะแต่เคสที่เข้ามามักจะมีปัญหาต่างกัน บางคนมาเป็นคู่ เช่น เป็นแฟนกัน ทะเลาะกันบ่อย แต่ไม่อยากเลิกกัน ก็ต้องแยกเข้ารับการปรึกษา หรือสามารถปรึกษานักจิตวิทยาคนเดียวกันก็ได้ ซึ่งแต่ละคนจะมีเทคนิค เวลาทำงานกับคนสองคนในห้องเดียวกันจะทำอย่างไร ส่วนใหญ่ COUPLE THERAPHY ก็หาได้ทั้ง 2 ประเภท

หรือบางรายเคยถูกคนในครอบครัวคุกคามทางเพศ มีเคสหนึ่งเป็นชายวัย 50 ปี เข้ามาขอคำปรึกษา และบอกว่า ไม่ได้คาดหวังว่า สิ่งที่อยู่ในใจที่หลอกหลอนเขามานานกว่า 30 ปี จะถูกปลดปล่อย

“คำหนึ่งที่เขาพูด บ่อย ๆ คือ I Heat myself เขาล่วงละเมิดจากคนในครอบ ครัว ตั้งแต่อายุ 7 ขวบ ถึง 18 ปี ทุกอย่างเป็น Trigger สำหรับเขาเพราะถูกกระทำในห้องน้ำ มีภาพจำซ้ำซาก เขาไม่สามารถใช้สบู่ได้ ไม่อยากอาบน้ำ และบอกตัวเองว่า เชื่อใจใครไม่ได้ เพราะคนที่กระทำเขาคือคนใกล้ชิด จึงทำให้มีปัญหาความสัมพันธ์กับภรรยา”

เขาระบายว่า การเติบโตของเด็กคนหนึ่งที่ควรจะได้คือ ความรักและความใส่ใจจากครอบครัว แต่เขากลับได้สิ่งที่น่าอดสู เหยื่อที่ถูกกระทำทางเพศจะรู้สึกว่าโลกไม่ยุติธรรม แต่หลังจากผ่านการบำบัดไปกว่า 20 ครั้ง ก็ยอมรับความจริงได้ว่า ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตมนุษย์ไม่สามารถลบให้หายไปจากชีวิตได้ และเข้าใจได้ว่าอะไรทำให้เป็นแบบนี้ ตอนนี้ รู้สึกรักตัวเอง มีการเปลี่ยนทัศนคติในการมองตัวเอง ทำให้เขาใช้ชีวิตได้อย่างเข้าใจ

“เคสบอกในภายหลังว่า ครั้งแรกที่เดินเข้ามา ไม่ได้คาดหวังอะไรเลย เพราะเราเป็นคนไทย และยังดูเด็ก แต่เมื่อจบคอร์ส เขาบอกว่า เกินกว่าที่คิดไว้มาก และได้รับคำชมว่า อนาคตทางด้านนี้ของคุณจะไปอีกไกล”

ในต่างประเทศ การเดินไปขอคำปรึกษานักจิตวิทยา จะไม่มีคำถามว่า เป็นอะไร ป่วยหรือไม่ ที่นั่นไม่มีโรคแพนิค เพราะแพนิค คือ ภาวะอาการ เช่น กำลังจะสอบสัมภาษณ์ จะมีอาการมือเท้าเย็น ใจสั่น คือ อาการวิตกกังวลของคนปกติทั่วไป และเขาอาจไม่มีวิธีจัดการกับอาการวิตกกังวล จึงต้องให้นักจิตบำบัดช่วย

โดยสถาบันหลักที่เรียกว่า NHS (National Health Service) ซึ่งเป็นของรัฐจะให้บริการฟรีทั้งหมด แต่ผู้ป่วยจะต้องไปลงทะเบียนเข้าคิวจอง และเข้าพบนักจิตวิทยาเพื่อรับการบำบัดทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยให้ผู้รับบริการเลือกว่าจะพูดคุยกี่ครั้ง ปกติจะอยู่ที่ 3-25 ครั้ง

ในระยะยาว นักจิตวิทยาจะต้องมีการวางแผนเพื่อประเมินความเสี่ยงของบุคคลนั้น ๆก่อน ว่าเข้าข่ายในลักษณะไหน เสี่ยงมาก น้อย ต่ำ เป็นอย่างไร และจะพบกันกี่เดือน โดยเฉพาะเคสที่จะฆ่าตัวตาย ก็ต้องประเมินว่า ผู้เข้ารับการบำบัด เคยอยู่ในระดับใด เคยคิด เคยพยายาม หรือว่า เคยทำมาแล้ว บางคนอาจเคยคิด พยายาม หรือตั้งใจ ก็จะต่างกัน และในกรณีต้องการปรึกษาส่วนตัวก็ทำได้เช่นกัน แต่ผู้รับบริการต้องจ่ายเอง

ลลิดา บอกว่า ปัจจัยที่ทำให้คนในยุคนี้ มีอาการซึมเศร้าหรือมีอาการแปลกๆ นั้น สื่อโซเชียลมีเดียอาจจะมีผลบ้าง แต่เหตุผลหลักอาจเกิดจาก ผู้คนตระหนักถึงสุขภาพจิตเพิ่มขึ้น ซึ่งเมื่อ 20 ปีที่แล้ว อาการแบบนี้ใคร ๆ เขาก็เป็น ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ แต่ปัจจุบันคนเริ่มใส่ใจตัวเองและเปิดกันมากขึ้น รู้ว่า สิ่งนี้เรียกวิตกกังวล แบบนี้เรียกดีเพรสชั่น

“นักจิตบำบัด มีหน้าที่สร้างพื้นที่ปลอดภัย ให้ระบายความรู้สึก และโบนัสที่ได้กลับมา คือ เทคนิคในการใช้ชีวิต จากการพูดคุยหรือให้คำปรึกษา ทำให้รู้ว่า หากปัญหาลักษณะนี้เกิดขึ้นกับเรา จะจัดการอย่างไร แทนที่จะโกรธและเหวี่ยงวีน ซึ่งไม่ได้ทำอะไรให้ดีขึ้น ก็จะรู้ด้วยตัวเอง ...เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงใครได้ แต่ต้องมองเขาด้วยความเข้าใจ...”ลลิดา ทิ้งท้าย

อ่านข่าว

พิษฝุ่น PM 2.5 ทำผิวแก่เร็ว โรคผิวหนังกำเริบ

ชำแหละวาทกรรม “ทักษิณ ชินวัตร ” อหังการ 17 ปี ไม่เคยเปลี่ยน

“ทรัมป์” คืนบังลังก์ เขย่า “เทรดวอร์” สงครามการค้าสะเทือนทั่วโลก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง