ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เหตุเกิดที่ “มหาสารคาม” จังหวัดมีตำนานของ “ทักษิณ”

การเมือง
22 ม.ค. 68
14:57
99
Logo Thai PBS
เหตุเกิดที่ “มหาสารคาม” จังหวัดมีตำนานของ “ทักษิณ”
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

แม้จะเป็นเพียงการโยนขวดน้ำกับพุทราขึ้นไปบนเวที ระหว่างนายทักษิณ ชินวัตร ปราศรัยหาเสียง แต่ก็ทำเอาเหวอชูมือตาค้างไปตามๆ กัน เพราะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นปัจจุบันทันด่วนแบบไม่มีใคคาดคิด แม้แต่นายทักษิณ ก็ชะงักชูมือค้างไปชั่วครู่ แต่เพราะผ่านประสพการณ์มามาก จึงเรียกสติได้เร็ว และพูดกลบบรรยากาศที่ชวนตื่นเต้นได้ทันควันว่า “ไม่เป็นไร คนไทยต้องให้อภัยกัน”

เหตุการณ์โยนขวดน้ำและผลพุทราขึ้นบนเวทีที่ จ.มหาสารคาม ระหว่างนายทักษิณ ชินวัตร ผู้ช่วยหาเสียงพรรคเพื่อไทย กำลังทำหน้าที่ปราศรัยช่วยผู้สมัคร อบจ. แม้จะไม่ถือว่าเป็นเหตุการณ์รุนแรง หรือหวังทำร้ายใด ๆ

แต่คำพูดของ “ป้าสาย” ที่เป็นคนลงมือ และถูกชุดรปภ.ของนายทักษิณกับตำรวจนำตัวออกจากหน้าเวที นำตัวไปปรับ 100 บาท ที่สถานีตำรวจ พร้อมวลี “สองร้อย” ก็ไม่ได้ กลายเป็นประเด็นให้คอการเมือง นำไปถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ตามสภากาแฟว่า หมายถึงอะไร

หรือถูกว่าจ้างไปฟังปราศรัย ด้วยเงิน 200 บาท จากหัวคะแนนในพื้นที่ แต่มียอดคนไปฟังมาเกิน เลยต้องชวดเงิน 200 หรือไม่ และยังถูกขยายผลเพิ่มเติมว่า อาจรวมถึงเวทีหาเสียงอื่น ๆ ก่อนหน้านี้ด้วยหรือไม่

เพราะการปราศรัยของนายทักษิณ มีการเปิดตัวเลขจำนวนผู้จะร่วมฟังมาตั้งแต่ที่ จ.อุดรธานี และมีจากหลายอำเภอ ไม่ใช่เฉพาะอำเภอที่เปิดเวทีปราศรัย กกต.ที่ดูแลและจัดเลือกตั้ง จึงต้องสืบ และสอบหาข้อเท็จจริง เพราะเป็นเรื่องผิดกฎหมายเลือกตั้ง

สำหรับการชิงนายก อบจ.มหาสารคาม ครั้งนี้ นับเป็นศึกใหญ่สำหรับพรรคเพื่อไทย และเป็นปัญหาของบ้านใหญ่ ตระกูลจรัสเสถียร ของนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร หรือ “โจ้” อดีต สส.3 สมัย ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี

เพราะเก้าอี้นายก อบจ. ถูกยึดครองต่อเนื่องถึง 3 สมัยจาก “คนบ้านใหญ่” ระดับท้องถิ่นตัวจริง อย่างตระกูล “อุดรพิมพ์” ตั้งแต่นายยิ่งยศ อุดรพิมพ์ ผู้เป็นสามี และต่อเนื่อง ภรรยา นางคมคาย อุดรพิมพ์ อีก 2 สมัยถัดมา โค่นผู้ท้าชิงจากค่ายสีแดงจากตระกูลเจริญศิริ ของนายศรีเมือง เจริญศิริ อดีต สส.พรรคพลังประชาชน และอดีตรัฐมนตรี ที่ผลัดเปลี่ยนคนไม่ซ้ำหน้ามาสู้ แต่แพ้ทุกครั้ง

ครั้งนี้ เปลี่ยนผู้ท้าชิงเป็นน้องชายนายยุทธพงศ์ จึงเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่นายทักษิณต้องขึ้นไปช่วยปราศรัยให้ถึง 3 เวที เพราะความผูกพันที่มีมาตั้งแต่รุ่น “กำนันตง” หรือ นายศุภกร จรัสเสถียร เจ้าของโรงสีข้าวรายใหญ่ บิดาของนายยุทธพงศ์ ที่เปิดสาขาพรรคให้ทันที ตั้งแต่นายทักษิณ ตั้งพรรคไทยรักไทย เมื่อปี 2542 และ “กำนันตง” ยังทำหน้าที่เป็นคนขับรถพานายทักษิณ ไปแนะนำตัวและหาเสียงใน จ.มหาสารคาม ตั้งแต่ยังไม่ถึงการเลือกตั้ง

แม้ต่อมานายยุทธพงศ์ จะแจ้งเกิดเป็น สส.มหาสารคาม กับพรรคประชาธิปัตย์ ปี 2544 ภายใต้การสนับสนุนของ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เลขาธิการพรรค และรมว.มหาดไทย ในขณะนั้น นายยุทธพงศ์ได้ไปสร้างผลงานเรื่องตรวจสอบการจัดซื้อเรือและรถดับเพลิงของ กทม. จนกลายเป็นคดีใหญ่ในเวลาต่อมา จึงเริ่มเป็นที่รู้จักของผู้คน

ปี 2554 “โจ้” ย้ายเข้าพรรคเพื่อไทย ได้เป็น สส.สมัยที่ 2 และเป็นหนึ่งในคนของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ถูกดึงตัวมาอยู่ค่ายสีแดง พร้อมมอบโบนัสก้อนโตให้เป็น รัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ แต่ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายยุทธพงศ์ เป็นฝ่ายค้าน แต่มีบทบาทสำคัญในการตอบโต้รัฐบาลขณะนั้นหลายเรื่อง ทั้งจำนำข้าวและซื้อเรือดำน้ำส่อทุจริต 3 พันล้านบาท จึงน่าเป็นเหตุผลให้ “นายใหญ่” ต้องช่วยเต็มที่ สำหรับศึกชิงนายก อบจ.ครั้งนี้

จ.มหาสารคาม ยังมีความเกี่ยวพันกับนายทักษิณโดยตรง กับ สส.หลายสมัย รุ่นอาวุโส รวมทั้งปัจจุบัน และเป็นอดีตรัฐนตรีหลายกระทรวง นายประยุทธ์ ศิริพานิช เมื่อครั้งรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ชินวัตร ผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ปี 2556 นายประยุทธ์ ในฐานะรองประธานกรรมาธิการ ได้เดินหน้าเต็มที่ จนมีการแก้ไขกฎหมายนิรโทษกรรม จากกลางซอยไปกระทั่งสุดซอย คือหวังจะให้นิรโทษกรรมแก่ทุกฝ่ายทุกคนที่เกี่ยวข้อง

ทำให้ ร่างกฎหมาย “นิรโทษกรรมสุดซอย” ถูกคัดค้านจากหลายฝ่ายว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้นายทักษิณ และเป็นจุดเริ่มต้นนำไปสู่การลงท้องถนนของม็อบ กปปส. ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นแกนนำ กระทั่งเป็นจุดจบของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ในที่สุด

“มหาสารคาม” จึงเป็นพื้นที่ตำนานหลายอย่างที่นายทักษิณ คงต้องจดจำ

วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา บรรณาธิการอาวุโส

อ่านข่าว : ชิงนายก อบจ.โคราช “มาดามหน่อย” โอกาสสูง พรรคใหญ่ไม่ส่งคนลงสู้

ศึกชิงนายก อบจ.เชียงใหม่ วัดพลัง พรรคเพื่อไทย-พรรคประชาชน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง