ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งความเปลี่ยนแปลง เมื่อกฎหมายสมรสเท่าเทียมกำลังจะถูกบังคับใช้ในวันที่ 23 ม.ค.2568 การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่เพียงช่วยให้คู่รักเพศหลากหลายได้รับสิทธิทางกฎหมาย แต่ยังสร้างผลกระทบเชิงบวกในมิติต่าง ๆ ของสังคม โดยเฉพาะในด้านครอบครัว สุขภาพจิต และการลดการเลือกปฏิบัติในสังคม
เซฟ เดอะ ชิลเดรน (Save the Children Thailand) ชี้ถึงผลกระทบเชิงบวกใน 3 มิติหลักจากกฏหมายสมรสเท่าเทียมที่สังคมควรตระหนักรู้และร่วมกันสนับสนุนความเท่าเทียมทางสังคมอย่างรอบครอบ ได้แก่
1. ลดปัญหาสุขภาพจิตในเด็กและเยาวชน LGBTQI+
รายงาน "สุขภาพจิตและสุขภาวะของเด็กและเยาวชนหลากหลายทางเพศในประเทศไทย" ปี 2566 โดย เซฟ เดอะ ชิลเดรน ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ที่ทำการสำรวจจากเด็กและเยาวชนอายุ 15-24 ปี จำนวนกว่าสามพันคนทั่วประเทศ
ข้อมูลจากการสำรวจเด็กและเยาวชน LGBTQI+ จำนวน 3,094 พบว่า
- 71% ของเด็กและเยาวชน LGBTQI+ ที่ทำการสำรวจมีอาการซึมเศร้า (18% อยู่ในระดับซึมเศร้ารุนแรง)
- 78% มีความวิตกกังวล (21% มีความวิตกกังวลรุนแรง)
- 25% มีพฤติกรรมทำร้ายตัวเอง
- 15% เคยพยายามฆ่าตัวตาย
เนื่องจากต้องเผชิญกับความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ ความกดดันจากสังคม และการถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ กฎหมายสมรสเท่าเทียมจะช่วยส่งเสริมการยอมรับในเพศหลากหลายที่เปิดกว้างมากขึ้นในสังคม ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรและปลอดภัยให้เด็กและเยาวชน LGBTQI+ ได้มากขึ้น
นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครที่ร่วมโครงการกับ เซฟ เดอะ ชิลเดรน หลายคนมองว่าสมรสเท่าเทียมช่วยลดการกดดันทางสังคมที่มีต่อ LGBTQI+ และทำให้พวกเขากล้าที่จะแสดงตัวตนออกมาในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยขึ้น อีกทั้งยังเน้นว่าการสนับสนุนจากกระทรวงศึกษาธิการ เช่น การปรับระเบียบทรงผมและเครื่องแบบนักเรียน จะช่วยส่งเสริมความเท่าเทียมและความมั่นใจในตัวเองของเด็กในโรงเรียน
2. สร้างความมั่นคงให้ครอบครัว LGBTQI+
กฎหมายสมรสเท่าเทียมช่วยรับรองสิทธิหลายๆ ข้อ เช่นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินมรดก ซึ่งเด็กในครอบครัว LGBTQI+ จะได้รับความคุ้มครองในเรื่องทรัพย์สินและมรดกในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันกับผู้ปกครอง ในเรื่องการตัดสินใจทางการแพทย์ โดยคู่สมรสสามารถตัดสินใจเรื่องสุขภาพและการรักษาพยาบาลของลูกได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยไม่ติดปัญหาเรื่องสถานะของผู้ปกครอง และในเรื่องการดูแลเด็ก
เช่น ในกรณีที่มีการแยกทางกัน กฎหมายสามารถกำหนดสิทธิและหน้าที่ของผู้ปกครองในด้านการดูแลเด็กได้อย่างชัดเจน ลดความซับซ้อนในกระบวนการทางกฎหมาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะ ส่งผลให้ครอบครัวมีสภาพแวดล้อมที่มั่นคง และช่วยให้เด็กเติบโตอย่างมีคุณภาพ
ในส่วนของผู้ปกครอง มีมุมมองที่หลากหลาย ส่วนหนึ่งมองว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะทุกคนควรมีสิทธิ์ที่จะเลือกทางเดินชีวิตของตัวเองและมีความสุขในสิ่งที่ตัวเองเป็น โดยเห็นว่ากฎหมายนี้จะช่วยเสริมสร้างความเข้าใจและความสัมพันธ์ในครอบครัว อย่างไรก็ตามยังมีครอบครัวที่อาจไม่สามารถยอมรับในสิ่งที่บุตรหลานเป็นได้ จึงต้องมีการให้ความรู้และสร้างความเข้าใจกับผู้ปกครองในทุกครอบครัวอย่างเร่งด่วน อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงนี้ยังไม่ส่งผลชัดเจนต่อเด็กในบางพื้นที่เพราะ
“เด็กบางคนยังคงบูลลี่กันเพราะมองว่าเป็นเรื่องสนุก แสดงให้เห็นว่าสังคมยังต้องพยายามผลักดันการยอมรับความหลากหลายอย่างจริงจัง การเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายไม่เพียงพอ แต่ต้องมีการบังคับใช้และการสร้างความเข้าใจในทุกระดับ” ผู้ปกครองของเด็กนักเรียนชั้นมัธยมรายหนึ่งกล่าว
3. ลดการเลือกปฏิบัติและส่งเสริมความเท่าเทียมในสังคม
กฎหมายสมรสเท่าเทียมสามารถลดการเลือกปฏิบัติในสังคมโดยเฉพาะในโรงเรียนและสถานที่ทำงาน จากรายงานข้างต้นระบุว่า 75% ของเยาวชน LGBTQI+ เคยถูกล้อเลียน และ 36% ถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียน กฎหมายสมรสเท่าเทียมช่วยเปลี่ยนทัศนคติของสังคม ลดการตีตรา และสร้างการยอมรับความหลากหลายรวมถึงการสร้างความเท่าเทียมในโรงเรียนและที่ทำงาน ลดการเลือกปฏิบัติและสร้างวัฒนธรรมที่ยอมรับความแตกต่างหลากหลายมากขึ้น
นายจตุพร กุลบุตร คุณครูชั้นมัธยมศึกษาของโรงเรียนในภายใต้สำนักงานเขตประเวศ สังกัดกรุงเทพมหานคร มองว่ากฎหมายสมรสเท่าเทียมที่กำลังจะถูกบังคับใช้นั้น แม้จะดูเหมือนเป็นเรื่องใหม่ แต่ความจริงแล้วแนวคิดนี้ได้แทรกซึมอยู่ในบริบทของสังคมไทยมานาน เพียงแต่ยังไม่เคยได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการ ถือเป็นโอกาสที่ดีในการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนเรียนรู้ถึงคุณค่าของความรักที่ไม่มีข้อจำกัดทางเพศ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการสร้างสังคมที่ยอมรับความหลากหลายและความเท่าเทียมในอนาคต
คุณพอร์ช-อภิวัฒน์ อภิวัฒน์เสรี และ คุณอาม-สัพพัญญู ปนาทกูล คู่รักนักแสดงซีรีส์วายชื่อดัง ซึ่งเป็นหนึ่งในคู่รักที่ได้เข้าพิธีสมรสกันไปเมื่อต้นเดือน ม.ค.ที่ผ่านมาได้ให้ความเห็นว่า
“สังคมจะเกิดการยอมรับและเปิดโอกาสให้คนทุกคนได้สามารถมีความรักอย่างปลอดภัยและเต็มภาคภูมิในความหลากหลายของความรักที่มีกฎหมายรับรองว่ามีคุณค่าเสมอกัน และจะค่อยๆเปลี่ยนทัศนคติและการปฏิบัติที่มีต่อเด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูในครอบครัว LGBTQI+ เด็กก็จะเติบโตขึ้นมาได้อย่างอบอุ่นและปลอดภัย ถึงแม้ครอบครัวจะมีรูปแบบที่แตกต่างไป แต่มีสิทธิ์และศักดิ์ศรีไม่ต่างกัน
และหลังจากมีกฎหมายสมรสเท่าเทียม เราหวังว่า โรงเรียนและชุมชน จะปฏิบัติต่อเด็กจากครอบครัว LGBTQI+ อย่างเท่าเทียมกับเด็ก ๆ คนอื่น ด้วยความรู้ความเข้าใจ และการยอมรับว่า ครอบครัวที่มีความพร้อมทุกครอบครัวสามารถเลี้ยงดูเด็กให้เติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพได้ โดยไม่เกี่ยวกับปัจจัยเรื่องเพศสภาพของบุพการี โดยมีกฎหมายคอยดูแลและโอบอุ้มอย่างเท่าเทียมกัน”
กีโยม ราชู ผู้อำนวยการบริหาร เซฟ เดอะ ชิลเดรน
คุณกีโยม ราชู ผู้อำนวยการบริหาร เซฟ เดอะ ชิลเดรน กล่าวว่า “ความท้าทายสำคัญหลังจากการบังคับใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมในไทย คือการผลักดันให้สังคมปรับตัวและยอมรับความหลากหลายอย่างแท้จริง การบังคับใช้กฎหมายเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะเปลี่ยนแปลงทัศนคติและพฤติกรรมในระดับสังคม เราต้องสนับสนุนให้เกิดมาตรการเสริม
เช่น การอบรมครู นักเรียน และผู้ปกครองเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ เพื่อให้ทุกคนมีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถเคารพในสิทธิของกันและกัน นอกจากนี้ การปรับเปลี่ยนระเบียบ เช่น การแต่งกายของนักเรียนและการลดการเลือกปฏิบัติในสถานศึกษาและที่ทำงาน จะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่เท่าเทียมมากขึ้น ทั้งหมดนี้ต้องมาจากความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐ โรงเรียน และภาคประชาสังคม เพื่อให้กฎหมายสมรสเท่าเทียมสร้างผลกระทบเชิงบวกได้จริงในชีวิตประจำวันของเด็กและครอบครัว”
กฎหมายสมรสเท่าเทียมเป็นมากกว่าการปรับเปลี่ยนในเชิงโครงสร้างทางกฎหมาย แต่เป็นการสร้างรากฐานของการยอมรับความหลากหลาย และส่งเสริมให้ครอบครัวทุกแบบสามารถเติบโตในสังคมที่เท่าเทียมและเคารพในคุณค่าของกันและกัน ทั้งนี้ การสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับชีวิตประจำวันยังคงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อให้ความเท่าเทียมที่แท้จริงเกิดขึ้นในทุกมิติของสังคมไทย
ทั้งนี้ เซฟ เดอะ ชิลเดรน ตระหนักถึงข้อจำกัดและความแตกต่างทางความเชื่อในบางพื้นที่ที่ยังไม่ยอมรับเรื่องความหลากหลายทางเพศ องค์กรยังคงเชื่อมั่นในความสำคัญของกฎหมายสมรสเท่าเทียม และมุ่งมั่นดำเนินงานด้วยความเคารพต่อวัฒนธรรมและความเชื่อที่หลากหลายในแต่ละชุมชน พร้อมประยุกต์แนวทางที่เหมาะสมเพื่อสนับสนุนความเท่าเทียมในสังคมอย่างสร้างสรรค์และรอบคอบ
อ่านรายงานการศึกษา "สุขภาพจิตและสุขภาวะของเด็กและเยาวชนหลากหลายทางเพศในประเทศไทย"
สำหรับ เซฟ เดอะ ชิลเดรน (Save the Children Thailand) เป็นส่วนหนึ่งขององค์กรเพื่อเด็กแห่งแรกของโลกทำงานเพื่อเด็กมานานกว่า 100 ปี และทำงานในประเทศไทยมาตั้งแต่ พ.ศ. 2522 เป็นเวลากว่า 46 ปี เพื่อให้เด็กทุกคนที่อยู่ในประเทศไทยได้รับสิทธิในด้านต่าง ๆ เช่น สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองจากความรุนแรง สิทธิที่จะได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ และสิทธิที่จะได้รับการดูแลรักษาสุขภาพทั้งกายและใจ เพราะเราเชื่อว่าเด็กทุกคนสมควรที่จะมีอนาคตที่สดใส
อ่านข่าว :
เลี้ยงลูกฉบับ LGBTQ+ พ่อแม่ยุคใหม่ต้องเปิดใจ เน้นทักษะชีวิตสู่โลกอนาคต
ดีเดย์ 23 ม.ค.68 จดทะเบียนสมรสเท่าเทียม เช็กใช้เอกสารอะไรบ้าง