หลัง "โดนัลด์ ทรัมป์" ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯครั้งล่าสุด และเข้าพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ และนี่คือการกลับมานั่งเก้าอี้ผู้นำสหรัฐอีกครั้งของผู้นำวัย 78 ปี
โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา
แต่เมื่อย้อนกลับไปในปี 2016 ที่ "ทรัมป์" ชนะการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พ.ย.2016 โดยชนะฮิลลารี คลินตัน คู่แข่งจากพรรคเดโมแครต และก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำสหรัฐ ซึ่งมีผลงานที่สร้างความสนใจไปทั่วโลกเมื่อปี 2017
- เปิดกำหนดการ-คำสาบานตน "โดนัลด์ ทรัมป์" รับตำแหน่ง ปธน.สหรัฐฯ
- นิตยสารไทม์ยกให้ "โดนัลด์ ทรัมป์" เป็นบุคคลแห่งปี 2024
สร้างกำแพงกั้นชายแดน สหรัฐฯ – เม็กซิโก
"ทรัมป์" ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 45 ในช่วงปี 2017 – 2021 โดยเขาได้ประกาศจะสร้างแนวกำแพงตลอดแนวชายแดนสหรัฐฯ – เม็กซิโก เพื่อป้องกันการข้ามแดนผิดกฎหมาย หลังสหรัฐฯ เผชิญปัญหาผู้ลักลอบข้ามแดนมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง "ทรัมป์" ได้ประกาศว่าจะสร้างกำแพงความยาวประมาณ 2,000 ไมล์ แต่สามารถสร้างกำแพงได้บางส่วน หรือราว 600 ไมล์ ข้อมูล BBC (31 ต.ค.2020)
กำแพงกั้นเขตแดนระหว่างสหรัฐฯ และ เม็กซิโก
จัดตั้ง “กองทัพอวกาศสหรัฐ”
นอกจากนี้ อีกนโยบายที่สำคัญของ "ทรัมป์" ก็คือ การสถาปนา
กองทัพอวกาศสหรัฐ หรือ The United States Space Force (USSF) โดยเป็นกองกำลังที่ 6 ภายใต้การดูแลของกองทัพ นอกเหนือจากกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ หน่วยนาวิกโยธิน และหน่วยยามชายฝั่ง ซึ่ง "ทรัมป์" มองว่า อวกาศ คือ แนวรบใหม่ในอนาคตและเป็นฐานที่มั่นสำคัญที่ต้องควบคุมไว้ให้ได้
โดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อประกาศตั้งกองทัพอวกาศสหรัฐฯ
ขณะที่ ภารกิจสำคัญในเบื้องต้นของกองกำลังอวกาศ คือ การปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐฯในอวกาศ ทั้งดาวเทียม รวมถึงการสอดแนมข่าวสารต่าง ๆ
กองทัพอวกาศสหรัฐ ถูกตั้งขึ้นมาอีกครั้งในยุคของทรัมป์ที่ดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯสมัยแรก (2017)
อย่างไรก็ตาม กองบัญชาการอวกาศ สหรัฐฯ มีมาแล้วเมื่อปี 1985 ในช่วง "สงครามเย็น" โดยทำหน้าที่ประสานการทำงานด้านความมั่นคง จนต่อมาในปี 2002 กองบัญชาการอวกาศ ถูกยุบรวมกับกองบัญชาการยุทธศาสตร์ ที่ดูแลการบุกอัฟกานิสถานของกองกำลังพันธมิตรที่นำโดยสหรัฐในปี 2001
"ทรัมป์ – คิม" พบปะ 3 หน หวังปลดอาวุธ นิวเคลียร์
ขณะที่ ปรากฏการณ์ครั้งสำคัญของการเมืองโลก ที่เกิดขึ้นในยุคของ "ทรัมป์" อีกเหตุการณ์หนึ่งที่จะลืมไปไม่ได้ก็คือ การพบปะกับ "คิม จอง อึน" ผู้นำเกาหลีเหนือ
โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.2019 ซึ่งเป็นครั้งล่าสุดที่ ที่ "ทรัมป์" เดินทางไปเยือนเขตปลอดทหาร (Demilitarized Zone - DMZ) ระหว่างเกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้ เพื่อพบปะกับ "คิม จอง อึน"
ทั้งนี้ในยุคของทรัมป์ เขาได้พบปะกับ "คิม" ทั้งหมด 3 ครั้ง ในช่วงเวลาราว 1 ปี โดยการพบของ 2 ผู้นำอีก 2 ครั้ง เกิดขึ้นเมื่อเดือน มิ.ย.2018 ในการประชุมสุดยอดที่สิงคโปร์ ซึ่งเป็นการเจรจาเพื่อปลดอาวุธนิวเคลียร์ในคาบสมุทรเกาหลี
ทรัมป์ เยือน เขตปลอดทหาร และพบกับ คิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ
ครั้งต่อมาในเดือน ก.พ.2019 ทั้งคู่พบกันในการประชุมสุดยอด ครั้งที่ 2 ที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ซึ่งขณะนั้นมีความหวังว่า จะมีการบรรลุข้อตกลงที่เกาหลีเหนือจะปลดอาวุธนิวเคลียร์เพื่อยกเลิกการถูกคว่ำบาตร
แต่สุดท้ายก็ไม่บรรลุผล เนื่องจากเกาหลีเหนือยินยอมจะปลดอาวุธนิวเคลียร์ในบางพื้นที่เท่านั้น ซึ่งไม่ใช่พื้นที่สำคัญ เพื่อแลกกับการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทั้งหมด ทำให้สหรัฐยังไม่ยอมรับข้อเสนอของเกาหลีเหนือ จึงทำให้ยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายปลดอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือได้
อย่างไรก็ตาม นายรี อิล กิว อดีตนักการทูตอาวุโสของเกาหลีเหนือที่ขณะนี้หันมาอยู่เกาหลีใต้ เคยให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์เมื่อเดือน ส.ค.2024 โดยมองว่า เกาหลีเหนือพร้อมที่จะเปิดเจรจากรณีปลดอาวุธนิวเคลียร์เพื่อแลกกับการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร อีกครั้ง หาก "ทรัมป์" ชนะการเลือกตั้ง ซึ่งขณะนี้ "ทรัมป์ ได้ชนะการเลือกตั้งและกำลังก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯอีกครั้ง จึงต้องจับตาดูต่อไป
ถอนตัว "ข้อตกลงปารีส - ยูเนสโก"
นอกจากนี้ ยังมีอีกผลงานของ "ทรัมป์" ที่สะเทือนวงการสิ่งแวดล้อมโลก เมื่อในปี 2017 "ทรัมป์" ได้ถอนตัวจากข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) หรือ ความตกลงว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อกำหนดมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส โดยยึดหลักความเป็นธรรม และ การรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่ต่างกัน
ทั้งนี้ การถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีส ถือเป็นหนึ่งในนโยบายที่ "ทรัมป์" ได้เคยประกาศไว้ตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งนั้น (2016) ต่อมา ในวันที่ 4 พ.ย.2020 สหรัฐฯได้ถอนตัวจากข้อตกลงปารีสอย่างเป็นทางการ ก่อนที่ต่อมาในปี 2021 ในยุคของ "โจ ไบเดน" เขาก็ได้นำสหรัฐฯกลับเข้าสู่ข้อตกลงปารีสอีกครั้ง
ทรัมป์ ประกาศ นำสหรัฐฯ ออกจาก ข้อตกลงปารีส
นอกจากนี้ ในปี 2018 "ทรัมป์" ยังได้นำสหรัฐฯถอนตัว จากองค์การสหประชาชาติเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม (UNESCO) โดยสหรัฐฯต้องการให้ยูเนสโกปฏิรูปองค์กร
แต่การถอนตัวของสหรัฐ ออกจากยูเนสโกไม่ใช่ครั้งแรก โดยในปี 1987 สมัยอดีตประธานาธิบดี "โรนัลด์ เรแกน" สหรัฐได้เคยถอนตัวมาแล้ว และได้กลับเป็นสมาชิกอีกครั้งในปี 2003 ซึ่งสหรัฐ
ภายหลังการถอนตัวออกจากยูเนสโกในยุคของ "ทรัมป์" ต่อมาในยุคของ "โจไบเดน" ก็ได้นำสหรัฐฯกลับเข้ามาเป็นสมาชิกยูเนสโกอีกครั้งในปี 2023
นอกจากนี้ ในยุคการบริการประเทศของ "ทรัมป์" ในปี 2020 "ทรัมป์" ก็เตรียมจะนำสหรัฐถอนตัวออกจากองค์การอนามัยโลก (WHO) เพราะมองว่า จีนปิดบังข้อมูลเกี่ยวกับการระบาดของ Covid-19 และในการกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯครั้งนี้ "ทรัมป์" ก็เตรียมที่จะนำสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากองค์การอนามัยโลกอีกครั้ง
ชาวอเมริกันประท้วงการถอนตัวจากข้อตกลงปารีสของสหรัฐฯ
ดังนั้น ผลงาน 4 ปีในการบริหารประเทศของ "ทรัมป์" ในสมัยแรก ก็ได้สร้างความแปลกใจในหลายครั้ง และอีก 4 ปีจากนี้ไป ก็มีความเป็นไปได้ว่าจะมีผลงานและท่าทีที่ต้องจับตาอย่างกระชั้นชิดจากผู้นำสหรัฐที่ชื่อ "โดนัลด์ ทรัมป์" ในการครองตำแหน่งผู้นำสหรัฐสมัยที่ 2 ในครั้งนี้
อ่านข่าว : พิธีสาบานตน "โดนัลด์ ทรัมป์" บอกนัยอะไรให้กับโลก?
สหรัฐฯ ยกระดับความปลอดภัยรับพิธีสาบานตน "ทรัมป์"
"แจ็ค สมิธ" อัยการพิเศษ ชิงลาออกก่อน "ทรัมป์" รับตำแหน่ง ปธน.