ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เพิกถอนกรรมสิทธิ์ “ยืดเยื้อ” สนามกอล์ฟ “อัลไพน์” โยง “ชินวัตร”

การเมือง
16 ม.ค. 68
15:56
412
Logo Thai PBS
เพิกถอนกรรมสิทธิ์ “ยืดเยื้อ” สนามกอล์ฟ “อัลไพน์” โยง “ชินวัตร”
เมื่อนางเนื่อม ชำนาญชาติศักดา บริจาคที่ดิน 924 ไร่กว่าๆ ที่อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ให้กับวัดธรรมิการามฯ เมื่อปลายปี 2512 หากไม่มีใครไปเล่นแร่แปรธาตุ คงไม่มีมหากาพย์เรื่องสนามกอล์ฟอัลไพน์ เกิดขึ้น

ด้วยการประสานร่วมมือหลายฝ่าย โดยไม่กลัวบาปบุญคุณโทษ เดือนสิงหาคม ปี 2533 ที่ธรณีสงฆ์แปลงดังกล่าว ถูกขายในราคา 130 ล้านบาท และโอนให้กับบริษัท อัลไพน์ เรียลเอสเตท และบริษัท อัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ต คลับ ที่มีผู้ถือหุ้นชื่อ นายชูชีพ หาญสวัสดิ์ นักการเมืองชื่อดังของ จ.ปทุมฯ และอดีตรัฐมนตรี กับ นางอุไรวรรณ เทียนทอง ภริยาของนายเสนาะ เทียนทอง นักการเมืองชื่อดัง หัวหน้ากลุ่มวังน้ำเย็น และขณะนั้นเป็น รมช.มหาดไทย ดูแลกรมที่ดิน

ต่อมาในปี 2540 ที่ดินแปลงนี้ถูกขายต่อในราคา 500 ล้านบาท ให้กับคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (ยศในขณะนั้น) ก่อน พ.ต.ท.ทักษิณ จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีในอีก 4 ปีต่อมา

จากที่ดินยกให้วัดเปล่าๆ กลายเป็นที่ดิน และทรัพย์สินมูลค่า 500 ล้านบาท และเริ่มต้นของตำนานมหากาพย์ ที่มีผู้คนไปเกี่ยวข้องมากมาย มีทั้งการร้องเรียนความไม่ชอบมาพากล เรื่องนำที่ธรณีสงฆ์ ไปขายให้ฝ่ายการเมือง ผู้มีอำนาจ มีข้าราชการเข้าไปเกี่ยวข้อง

มีอธิบดีที่ดิน (ขณะนั้น) ออกคำสั่งยกเลิกโฉนดที่ดินในโครงการ แต่ถูกรองปลัดมหาดไทย นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ ในฐานะรักษาราชการปลัดกระทรวงมหาดไทย ออกคำสั่งยกเลิกคำสั่งเพิกถอนดังกล่าวอีกชั้นหนึ่ง

อ่านข่าว : "อนุทิน" รับ​ "ชาดา" ​เซ็นจริง แต่อำนาจเพิกถอนที่ดินอัลไพน์เป็นของรองปลัด มท.

ต่อมา นายยงยุทธ์ ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรง และตามด้วยคำพิพากษาศาลจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา และศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง ไม่อนุญาตให้นายยงยุทธ์ จำเลยฎีกา และยังมีกรณีศาลฎีกาสั่งยกฟ้องคดีทุจริตที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ เนื่องจากคดีหมดอายุความ ก่อน ป.ป.ช.จะส่งสำนวนฟ้องนายเสนาะได้

ผ่านไป 35 ปี นับตั้งแต่เอาที่ธรณีสงฆ์ขายให้เอกชน และ 23 ปีแล้ว นับตั้งแต่มีคำสั่งรักษาราชการปลัดกระทรวง ออกคำสั่งเพิกถอนคำสั่งอธิบดีที่ดิน ที่ให้ยกเลิกโฉนดที่ดินในโครงการ และเข้าสู่ปีที่ 6 นับตั้งแต่ศาลอาญาคดีทุจริตฯ อ่านคำพิพากษาอุทธรณ์ ยืนตามศาลชั้นต้นว่า จำเลยออกคำสั่งโดยมิชอบ จงใจละเลยข้อเท็จจริง ไม่ทำตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิชอบด้วยกฎหมายแก่ผู้อื่น และก่อให้เกิดความเสียหายแก่วัดธรรมิการามฯ มีความผิดตามฟ้อแง ให้จำคุก 2 ปีโดยไม่รอลงอาญา

แต่กระบวนการเพิกถอนคำสั่งหรือ “คำวินิจฉัยอุทรณ์เดิม” และให้ “วินิจฉัยอุทธรณ์ใหม่” ของกระทรวงมหาดไทย ยังไปไม่ถึงไหน

จากการเกาะติดและนำเสนออย่างละเอียด ของสำนักข่าวอิศรา พบว่า หากตัดตอนตั้งแต่ปี 2555 มีการออกหนังสือประเภท “ลับ” ส่งไปมาหลายหน่วยงานหลายครั้งมาก ทั้งกระทรวงมหาดไทย คณะกรรมการกฤษฎีกา หัวหน้าฝ่ายกฎหมาย คสช. รัฐมนตรีที่ดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนา

กระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขณะเป็นนายกฯ เคยออกคำสั่งตั้งกรรมการยกร่างกฎหมายเพื่อแก้ปัญหาโอนกรรมสิทธิ์ที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย หมายถึงการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในโครงการ และการออกหนังสือ “ลับ” เรื่องนี้ ยังมีต่อเนื่องถึงรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน

กระทั่งสำนักข่าวอิศรา เปิดประเด็นล่าสุด ระบุว่า นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย มีบันทึกลงวันที่ 3 ก.ย.2567 หรือ 3 วันก่อนนายชาดาจะพ้นตำแหน่ง ไปยังปลัดกระทรวงมหาดไทย ให้พิจารณาเพิกถอนคำสั่งหรือคำวินิจฉัยอุทธรณ์เดิมของนายยงยุทธ

และให้กระทรวงมหาดไทย วินิจฉัยอุทธรณ์ใหม่ ให้คำสั่งอธิบดีกรมที่ดินที่ให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดิน กลับมามีผลบังคับใหม่ โดยอ้างถึงความเห็นกฤษฎีกาและศาลได้มีคำวินิจฉัยว่า ที่ดินเป็นที่ธรณีสงฆ์ ซื้อขายไม่ได้

นำไปสู่การออกโรงมาปฏิเสธและไม่เห็นคำสั่งดังกล่าว ทั้งจากปลัดกระทรวงมหาดไทย และอธิบดีกรมที่ดิน คนปัจจุบัน และอ้างว่า เรื่องยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่ได้รับมอบหมาย แต่ไม่ได้ชี้แจงอธิบายว่า เหตุใดเรื่องนี้ จึงยืดเยื้อคาราคาซังยาวนาน

อ่านข่าว : "แพทองธาร" ขันน็อตรายกระทรวงแก้ฝุ่น PM2.5 รายงานตรง

ขณะที่รองปลัดกระทรวง นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราว่า เพราะมีการปรับเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ เปลี่ยนครม.ใหม่ และเปลี่ยน “มท.3” จากนายชาดา เป็นนายทรงศักดิ์ ทองศรี แต่ย้ำว่า ได้ทำหนังสือถึงนายทรงศักดิ์ว่า จะยืนตามคำสั่งนายชาดาหรือไม่ และได้รับคำตอบแล้วว่า “ให้ยืนตาม” จึงทำให้ต้องเสียเวลาไปในช่วงเปลี่ยนผ่าน เท่ากับยังต้องรอต่อไป ขณะที่นายกรัฐมนตรี ตอบคำถามสื่อเรื่องนี้สั้นๆ ว่า ทำให้ถูกต้องตามกฎหมายพอ

สำหรับสนามกอล์ฟอัลไพน์ เกี่ยวพันกับคนในตระกูลชินวัตร อย่างปฏิเสธไม่ได้ เพราะนอกจากจะมีการขายต่อให้คุณหญิงพจมาน 500 ล้านบาทในปี 2540 แล้ว

ในเวลาต่อมา รายชื่อผู้ถือหุ้นเป็นทายาททั้ง 3 คนในตระกูลชินวัตร รวมทั้ง น.ส.แพทองธาร ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อ 18 ส.ค.2567 โดยหุ้นที่ถืออยู่ในนามบริษัท อัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ จำกัด 22,410,000 หุ้น มูลค่าตามทุนจดทะเบียน 224.1 ล้านบาทนั้น ได้โอนหุ้นดังกล่าวให้ คุณหญิงพจมาน ผู้เป็นมารดาแล้ว

ขณะที่นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันอิศรา ออกมาตั้งคำถามเรื่องนายกฯโอนหุ้นดังกล่าวให้มารดา ถือเป็นการซื้อขายเหมือนกับที่อ้างว่า ได้ซื้อหุ้น 9 บริษัท มูลค่ากว่า 4,400 ล้านบาทจากมารดา และเครือญาติ 5 คน ตามที่ได้แจ้งแสดงบัญชีทรัพย์สินหนี้สินตอนรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือไม่ มีกำไรจากการขายหุ้น และเสียภาษีถูกต้องหรือไม่

เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่กรมสรรพากรควรต้องตรวจสอบให้กระจ่าง

วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา บรรณาธิการอาวุโส

อ่านข่าว : เบื้องหลังลงดาบ "ปิดโรงงานหีบอ้อย" รับซื้ออ้อยเผาเกินลิมิต

ข่าวที่เกี่ยวข้อง