"เด็ก" หนึ่งในกลุ่มเปราะบาง ที่ผู้ก่อเหตุมักใช้ช่องโหว่ทางออนไลน์เข้าหาเด็ก ๆ ผ่านทางโทรศัพท์มือถือและแท็บเล็ต ทั้งล่อลวงถ่ายรูป-คลิปโป๊เปือยแลกเติมเงินเกม ล่วงละเมิดทางเพศ หรือหลอกซื้อของออนไลน์
ในวันเด็กแห่งชาติ 2568 มาสร้างความรู้ เสริมภูมิคุ้มกันให้น้อง ๆ ไม่ตกเหยื่อภัยออนไลน์
พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า เด็กอาจยังไม่มีวิจารณญาณเพียงพอ และถูกหลอกลวงจากภัยออนไลน์ได้ จึงแนะนำให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง พูดคุยกับลูก และติดตามพฤติกรรมการใช้อินเตอร์เน็ตของบุตรหลาน แม้จะเป็นเรื่องส่วนตัว แต่บางอย่างต้องมีมาตรการดูแล ยกตัวอย่างบางบ้านกำหนดช่วงเวลาเล่นอินเทอร์เน็ต หรือนั่งเล่นด้วยกันในห้องรับแขก และไม่ควรปล่อยเด็กเล่นอินเทอร์เน็ตอย่างอิสระเกินไป
นอกจากนี้ ให้เปิดใช้งานเครื่องมือในการกรองเนื้อหาสำหรับเด็กในแอปพลิเคชัน หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อความปลอดภัย รวมไปถึงการให้ความรู้กับเด็กและเยาวชนเกี่ยวกับอาชญากรรมออนไลน์ เพื่อให้รู้เท่าทันและไม่ตกเป็นเหยื่อ
5 ภัยออนไลน์
- ล่อลวงออนไลน์ ผู้ก่อเหตุมักสร้างความไว้วางใจกับเด็ก ผ่านเกมหรือสื่อสังคมออนไลน์ แล้วพยายามนัดพบตัวจริง เพื่อล่วงละเมิดทางเพศ
- หลอกถ่ายคลิปลามก ผู้ก่อเหตุมักหลอกล่อเด็กให้ถ่ายภาพหรือคลิปลามกส่งให้ จากนั้นนำภาพหรือคลิปลามกไปขาย หรือนำมาแบล็กเมล์ เรียกเอาเงินจากผู้ปกครอง
- กลั่นแกล้งทางออนไลน์ การที่เด็กถูกกลั่นแกล้งในสื่อสังคมออนไลน์จากการโพสต์ข้อความหรือรูปภาพที่ทำให้เสียหาย
- หลอกลวงซื้อขายสินค้า ผู้ก่อเหตุหลอกลวงให้เด็กโอนเงินซื้อสินค้าผ่านเกมหรือสื่อสังคมออนไลน์แล้วไม่ส่งของให้
- การเข้าถึงเนื้อหาไม่เหมาะสม เช่น ความรุนแรง ภาพลามก การพนันออนไลน์ ซึ่งมักจะเกิดจากการคลิกโฆษณา หรือการค้นหาโดยไม่ตั้งใจ
ขณะที่หนึ่งในภัยออนไลน์ต่อเด็กที่สร้างความบอบซ้ำทั้งทางร่างกายและจิตใจอย่างรุนแรง คือ การล่วงละเมิดทางเพศเด็กทางอินเทอร์เน็ต พบสถิติตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-31 ธ.ค.2567 จำนวน 346 คดี ในจำนวนนี้เด็กหญิงอายุ 8-14 ปี ตกเป็นผู้เสียหายมากสุด 118 คน รองลงมาอายุ 15-17 ปี 74 คน และเด็กชายอายุ 8-14 ปี 7 คน
หลอกจะให้เงิน เชิญเป็นดารา ชวนให้แก้ผ้า ท้าให้เปิดกล้อง
พ.ต.อ.รุ่งเลิศ คันธจันทร์ ผกก.กลุ่มงานต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต (บก.ตอท.) กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) อธิบายถึงแผนประทุษกรรมของผู้ก่อเหตุ มักเข้าหาเด็กจากสิ่งที่พวกเขาชอบ ทั้งเกม การเติมเงินเกม ทำให้เด็กเกิดความไว้ใจ และหาโอกาสล่วงละเมิดทางเพศ แตกต่างจากสมัยก่อนที่ผู้ก่อเหตุมักเป็นคนใกล้ชิด หรือผู้ที่สามารถเข้าถึงตัวเด็กได้ง่าย
ทั้งนี้ เด็กจะถูกหลอกให้ถ่ายภาพ หรือส่งภาพไม่เหมาะสมไปให้ผู้ก่อเหตุ โดยจะนำไปใช้แบล็กเมล์ ข่มขู่ว่าจะนำไปเผยแพร่ หรือบอกพ่อแม่ ผู้ปกครอง และเพื่อน รวมถึงกรณีใช้เรียกเงินผู้ปกครอง
พฤติการณ์ "หลอกจะให้เงิน" มาเป็นอันดับ 1 ผู้ก่อเหตุจะขอให้เด็กถ่ายรูปหน้าอก หรือถ่ายภาพโป๊ส่งมาให้เพื่อแลกกับเงิน หรือล่อลวงด้วยไอเท็มในเกม ทั้งเพชร ตัวการ์ตูน ส่วนเด็กหน้าตาดี จะใช้มุก "เชิญเป็นดารา" ชักชวนเข้าวงการบันเทิง และให้ถ่ายรูปสำหรับใช้แคสติ้งงาน หากเป็นเด็กผู้ชายจะขอให้สวมเพียงกางเกงใน ล่อลวงจนเด็กยอมถอดออก และบันทึกภาพหน้าจอไว้เพื่อนำกลับมาแบล็กเมล์
"ชวนให้แก้ผ้า ท้าให้เปิดกล้อง" ผู้ก่อเหตุจะใช้โปร์ไฟล์ปลอมเป็นภาพสาวสวย ทำทีพูดคุยสร้างความสนิทสนมกับเด็กผู้ชาย กระทั่งขอให้สำเร็จความใคร่ หรือชวนกันแลกกล้อง และใช้คลิปเหล่านั้นนำไปแสวงหาประโยชน์
พ.ต.อ.รุ่งเลิศ กล่าวว่า แม้ในปี 2567 ตัวเลขคดีล่วงละเมิดทางเพศเด็กทางอินเทอร์เน็ตจะลดลงจากปี 2567 จาก 540 คดี เหลือ 346 คดี แต่ตำรวจยังคงร่วมมือกับ NGO และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เข้าไปอบรบให้ความรู้กับเด็กในโรงเรียน เพื่อให้รู้เท่าทันภัยออนไลน์
ยกตัวอย่างเคสล่าสุด เจ้าหน้าที่จับกุมผู้ก่อเหตุแรงงานชาวเมียนมา และช่วยเหลือพี่น้องเด็กชาย 2 คนที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ โดยผู้ก่อเหตุหลอกผู้ปกครองเด็กว่าจะพาไปทำงาน สุดท้ายอาศัยจังหวะที่อยู่เพียงลำพังล่วงละเมิดเด็กและนำคลิปไปขายในกลุ่มลับ พร้อมขู่เด็กว่าห้ามบอกใคร จนเด็กเกิดความกลัวและอับอาย
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่จำกัดเพศและวัย ส่วนใหญ่พบว่าผู้ก่อเหตุเป็นโรคใคร่เด็ก สร้างบาดแผลและภาพจำให้ผู้เสียหาย เราคุยกับเด็กก็รู้สึกสลด เขาบอกว่าเจ็บ กลัวจึงไม่ได้ขอความช่วยเหลือ แต่ดีใจที่ผู้ก่อเหตุถูกจับ ทำให้เขาหลุดพ้นจากตรงนี้
อ่านข่าว : รวบ "หนุ่มเมียนมา" ลวงเด็กล่วงละเมิดทางเพศ-ขายคลิปในกลุ่มลับ
ใช้โซเชียลฯ เลี้ยงลูก จิตแพทย์เตือนเสี่ยงเหมือนเปิดประตูบ้านทิ้งไว้