วันนี้ (3 ม.ค.2567) สำนักข่าว Yonhap รายงานว่า หน่วยงานปราบปรามการทุจริตของรัฐ ระงับการดำเนินการตามหมายจับ ยุน ซอก-ยอล ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ที่ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง หลังเกิดการเผชิญหน้ากันนานหลายชั่วโมง ระหว่างเจ้าหน้าที่สำนักงานสอบสวนการทุจริตสำหรับเจ้าหน้าที่ระดับสูง (CIO) และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของประธานาธิบดี
CIO กล่าวกับสื่อมวลชนว่า ได้ระงับการดำเนินการตามหมายจับเมื่อเวลา 13.30 น.(ตามเวลาท้องถิ่น) ประมาณ 5 ชั่วโมงหลังจากเจ้าหน้าที่สอบสวนไปถึงบ้านพักประธานาธิบดี เพื่อควบคุมตัวยุน
พร้อมระบุอีกว่า การดำเนินการตามหมายจับแทบจะเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากยังคงมีการเผชิญหน้ากันอย่างต่อเนื่อง จึงได้ระงับการดำเนินการดังกล่าวเพราะกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ ขณะที่ยุนมีพฤติกรรมปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามขั้นตอนกฎหมาย แต่อย่างไรก็ตามมีการวางแผนตัดสินใจเกี่ยวกับขั้นตอนต่อไปหลังจากการตรวจสอบข้อเท็จจริง
- "ยุน ซอก-ยอล" ประกาศสู้จนถึงที่สุดหลังถูกออกหมายจับ
- จนท.นำกำลังบุกจับ "ยุน ซอก-ยอล" ถึงบ้านพัก กลุ่มสนับสนุนขวาง
เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของประธานาธิบดียุน ซอก-ยอล ปิดกั้นประตูทางเข้าบ้านพักประธานาธิบดีในกรุงโซล เมื่อวันที่ 3 ม.ค.2025
เจ้าหน้าที่ CIO ระบุเพิ่มเติมว่า เจ้าหน้าที่สืบสวนได้เข้าไปใกล้ตัวอาคารที่พักอาศัยในระยะ 200 เมตร แต่ถูกขัดขวางไม่ให้เข้าไปใกล้กว่านี้ โดยมีการนำรถบัสหรือรถยนต์มากกว่า 10 คันมาขวางทาง รวมถึงมีคนอีกราว 200 คนจากหน่วยงานความมั่นคงของประธานาธิบดี จึงทำให้ไม่สามารถผ่านไปได้ ขณะที่ทีมที่ดำเนินการตามหมายจับมีเจ้าหน้าที่จาก CIO จำนวน 20 คนและเจ้าหน้าที่ตำรวจ 80 นาย
ทั้งนี้ CIO มีเวลาถึงวันที่ 6 ม.ค.นี้ ในการดำเนินการตามหมายจับกับยุน ในข้อหาก่อกบฏและใช้อำนาจในทางมิชอบ ซึ่งเชื่อมโยงกับการประกาศกฎอัยการศึกเมื่อวันที่ 3 ธ.ค.2024
ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ CIO และตำรวจบุกเข้าไปในบริเวณบ้านพักของประธานาธิบดีเกาหลีใต้ในกรุงโซล โดยมีรายงานว่าไม่สามารถเข้าไปด้านในได้ เนื่องจากถูกทีมอารักขาของประธานาธิบดีปฏิเสธที่จะให้เข้าพื้นที่
ทีมรักษาความปลอดภัยของยุน ซอก-ยอล ขัดขวางแผนการจับกุม ด้วยการนำรถบัสมาปิดกั้นไม่ให้ จนท.สอบสวนของเกาหลีใต้เข้าไปในบ้านพักประธานาธิบดีในกรุงโซล เมื่อวันที่ 3 ม.ค.2025
ทางการเกาหลีใต้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่เพื่อเตรียมเข้าจับกุมตัวยุน ตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมาตามเวลาท้องถิ่น ตามหมายจับของศาล เนื่องจากยุนปฏิเสธเข้าให้การตามหมายเรียกของเจ้าหน้าที่ในคดีก่อกบฏ ขณะที่ทนายความของยุน ระบุว่า การออกหมายจับดังกล่าวไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากหน่วยงานที่ยื่นขอออกหมายจับไม่มีอำนาจในการดำเนินการ
ปัจจุบัน ยุนต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวในระหว่างที่รอการพิจารณามติถอดถอนของศาลรัฐธรรมนูญ หลังจากสภาผ่านมติดังกล่าวไปเมื่อเดือน ธ.ค.2024 ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญเห็นชอบตามมติของสภา ก็จะส่งผลให้ยุนต้องลงจากตำแหน่งและจะต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 60 วัน
ขณะนี้ทางการเกาหลีใต้จับกุมตัวผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประกาศกฎอัยการศึกไปแล้วบางส่วน ซึ่งรวมถึง คิม ยง-ฮยอน อดีตรัฐมนตรีกลาโหม และ พัค อัน-ซู เสนาธิการทหารบกเกาหลีใต้ ซึ่งมีสถานะเป็นผู้บัญชาการกฎอัยการศึกในขณะนั้น
อ่านข่าว
สหรัฐฯ เป้าหมายใหม่ไอเอส ? โยงรถยนต์ก่อเหตุรุนแรง 2 ครั้งซ้อน