วันนี้ (3 ม.ค.2568) นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ผู้จัดการศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) เปิดเผยว่า หลังเที่ยงคืนของวันที่ 3 ม.ค.2568 ตั้งแต่เวลา 02.00 น. เป็นต้นไป จนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 4 ม.ค.จะเกิดปรากฏการณ์ “ฝนดาวตกควอดรานติดส์” ศูนย์กลางการกระจายอยู่ระหว่างกลุ่มดาวเฮอร์คิวลีส (Hercules) กลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์ (Boötes) และกลุ่มดาวมังกร (Draco)
- รวมไว้แล้วห้ามพลาด ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ 10 เรื่อง ที่น่าติดตามในปี 2568
- ดีเดย์ 23 ม.ค.68 จดทะเบียนสมรสเท่าเทียม เช็กใช้เอกสารอะไรบ้าง
เริ่มสังเกตได้ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ คาดว่าจะมีอัตราการตกสูงสุด 80 ดวงต่อชั่วโมงและไร้แสงจันทร์รบกวน เหมาะแก่การสังเกตการณ์ โดยสามารถชมด้วยตาเปล่าได้ทั่วประเทศ พร้อมแนะนำให้ชมในสถานที่ท้องฟ้ามืดสนิท ไม่มีแสงไฟรบกวน
ฝนดาวตกควอดรานติดส์ เป็นฝนดาวตกที่เกิดขึ้นเป็นประจำในช่วงวันที่ 28 ธ.ค. - 12 ม.ค.ของทุกปี และมักมีอัตราการตกสูงสุดในช่วงวันที่ 3-4 มก.ค. สาเหตุเกิดจากโลกเคลื่อนที่ตัดเข้ากับสายธารเศษอนุภาคที่ดาวเคราะห์น้อย 2003 EH1 เหลือทิ้งไว้ขณะเดินทางผ่านเข้ามาในระบบสุริยะชั้นในทุก 5.5 ปี เมื่อโลกโคจรผ่านเส้นทางดังกล่าว แรงดึงดูดของโลกจะดึงฝุ่นและหินเข้ามาเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศโลก เกิดเป็นลำแสงวาบที่คนบนโลกเรียก “ดาวตก”
ฝนดาวตกแตกต่างจากดาวตกทั่วไป คือ เป็นกลุ่มดาวตกที่มีทิศทางเหมือนมาจากจุดๆ หนึ่งบนท้องฟ้า เรียกว่า จุดศูนย์กลางการกระจาย (Radiant) เมื่อจุดศูนย์กลางการกระจายตรงหรืออยู่ใกล้เคียงกับกลุ่มดาวใด ก็จะเรียกชื่อฝนดาวตกตามกลุ่มดาวนั้นๆ
สำหรับชื่อของฝนดาวตกควอดรานติดส์ ตั้งชื่อตามกลุ่มดาวควอดแดรนส์ มูราลิส (Quadrans Muralis) หรือกลุ่มดาวเครื่องมือเดินเรือ เป็นกลุ่มดาวที่ปรากฏในแผนที่ดาวในช่วงศตวรรษที่ 19 ซึ่งปัจจุบันยกเลิกไปแล้ว หากเทียบกับแผนที่ดาวปัจจุบันจะอยู่ระหว่างกลุ่มดาวเฮอร์คิวลีส กลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์และกลุ่มดาวมังกร
อ่านข่าว
ฝุ่น PM 2.5 กทม.เกินค่ามาตรฐาน 61 พื้นที่ มากสุด "หนองแขม"
กรมธนารักษ์เปิดจองเหรียญฯที่ระลึก150 ปี รัชกาลที่ 5 เริ่ม 6 ม.ค.นี้
สิ้น "อักเนส เคเลติ" นักกีฬาเหรียญทองโอลิมปิกอายุมากสุด 103 ปี