กรณีอดีต สส. และสมาชิกพรรคเพื่อไทยปัจจุบัน 2 คน นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ และนายพายัพ ปั้นเกตุ ออกโรงวิจารณ์นายชวน หลีกภัย อดีตนายกฯ และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่วิพากษ์นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ทำให้บ้านเมืองปั่นป่วนโดยไม่มีหน้าที่ และเตือนอย่าประมาทคิดว่าคุมได้หมด เพราะประชาชนรู้อะไรเป็นอะไรดี
นอกจากศิษย์เก่าประชาธิปัตย์ อย่างนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตรัฐมนตรี และอดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์หลายสมัย ที่ “จัดหนัก” ตอบโต้คืนแบบไม่ให้ราคา เพราะเป็นโฆษะบุรุษ เทียบชั้นไม่ได้กับนายชวน
อีกคนที่ออกมาทำหน้าที่นี้ คือ นายราเมศ รัตนะเชวง อดีต สส. และอดีตโฆษกพรรค ที่อัดกลับคืนพรรคเพื่อไทย ว่ากล่าวให้ร้ายนายชวน ไล่ให้ไปตักน้ำใส่กะโหลกดูเงาเจ้านายตัวเองก่อน
ถือเป็นเรื่องที่ผิดปกติอย่างยิ่ง เพราะหากย้อนกลับไป 10-20 ปีก่อน หากมีใครหน้าไหนโผล่วิจารณ์หรือแตะนายชวน ที่ถูกยกย่องเป็นปูชนียบุคคลของพรรค คงต้องเจอกับ “องครักษ์” จากพรรคค่ายสีฟ้าที่ต้องพิทักษ์ปกป้องอย่างปฏิเสธไม่ได้
แต่ สส.25 คนของ ปชป. กลับพร้อมใจกันสวมบท “เงียบ” ไม่หือไม่อือ
ทำให้ปฏิเสธไม่ได้ถึงคำถาม ต่อบารมีในพรรคประชาธิปัตย์ของนายชวน ว่ายังมีอยู่หรือไม่ หรือเป็นเพราะเป็น “น้ำท่วมปาก” เนื่องจากตอนนี้ยกพรรคไปร่วมรัฐบาลพรรคเพื่อไทย หนุน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีไปแล้ว หรืออาจเป็นเพราะกริ่งเกรงผู้บริหารพรรคชุดปัจจุบัน เกรงจะไม่ปลื้มและโดนตำหนิ สู้ทำตัวเฉยๆ ดีกว่า
เป็นส่วนหนึ่งในมุมมองของ รศ.เอกรินทร์ ต่วนศิริ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ที่ชี้ชัดว่า บารมีในพรรคประชาธิปัตย์ของนายชวน “เริ่มหายไป” การไม่มีใครกล้าออกมาทำหน้าที่ปกป้อง ทั้งที่ถือว่าเป็นการให้เกียรตินายชวน สะท้อนถึงความสำคัญในพรรคประชาธิปัตย์ของอดีตนายกฯ 2 สมัยในสมัยปัจจุบันได้เป็นอย่างดี
การเลือกตั้งปี 2570 นายชวนอาจจะไม่มีชื่อเป็นผู้สมัคร สส.ในนามของพรรคประชาธิปัตย์ด้วยซ้ำ เท่ากับเป็นการปิดฉากกับพรรคประชาธิปัตย์ของนายชวน ที่ยังมีแนวคิดไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และจากการเมืองสมัยก่อน
ทั้งในเรื่องรัฐบาลสมัยพรรคไทยรักไทยปี 2544 และ 2548 ไม่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ รวมทั้งพฤติการณ์ของนายทักษิณ ที่ได้รับสิทธิพิเศษแตกต่างจากคนอื่นจากการเดินทางกลับประเทศไทย อ้างเพื่อกลับมารับโทษ แต่ในทางปฏิบัติกลับตรงข้ามกับที่คาดหวังและเป็นจริง
ไม่เพียงเท่านั้น รศ.เอกรินทร์ ยังเชื่อด้วยว่า พรรคประชาธิปัตย์ จะไม่มีวันย้อนกลับไปเป็นพรรคใหญ่ที่เป็นพรรคทางเลือกของประเทศ ได้อีก โดยปัจจุบันเป็นพรรคขนาดกลาง และจะมีแนวโน้มเป็นพรรคขนาดเล็กในลำดับต่อไป
ทั้งยังจะส่งผลถึงการเลือกตั้งท้องถิ่น ระดับนายก อบจ.และส.อบจ.ในพื้นที่ภาคใต้อย่างชัดเจน ไม่ต่างจากเลือกตั้งนายก อบจ.นครศรีธรรมราช ที่ผ่านมา ซึ่งแชมป์เก่า “บ้านใหญ่” ตระกูลเดชเดโช ในสายพรรคประชาธิปัตย์ ต้องแพ้ให้กับขั้วการเมืองใหม่กว่า 2 หมื่นคะแนน ตกเก้าอี้
นี่จึงอาจเป็นสัญญาณเตือน สส.หรือกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ให้ได้ตระหนักว่า บริบททางการเมือง แม้แต่ในพื้นที่ภาคใต้ ที่เคยเป็นฐานเสียงที่สำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ ทุกวันนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว
ผลจากนิด้าโพล ไตรมาส 4/67 พรรคประชาธิปัตย์ อยู่ในอันดับที่ 6 ได้คะแนนนิยมเพียง 3.4 % ขณะที่คะแนนหัวหน้าพรรค นายเฉลิมชัย อยู่อันดับ 8 มีคะแนนนิยมเพียง 1.05 %
จึงอิหลักอิเหลื่อที่จะออกมาปกป้องนายชวนหรือพูดอะไร เพราะอาจได้ไม่คุ้มเสีย
นายชวนทุกวันนี้ จึงไม่ใช่นายชวนในอดีต ที่คนในพรรคประชาธิปัตย์พร้อมจะออกมาปกป้องทันทีที่ถูกแตะต้องหรือพาดพิงในเชิงลบอีกแล้ว
วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา บรรณาธิการอาวุโส
อ่านข่าว : TDRI ชี้เศรษฐกิจไทยปี68 “ไม่ตายแต่ไม่โต” มรสุมการค้า-สงครามทำโลกปั่นป่วน
มติ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด 3 อดีต สส.เสียบบัตรแทนกัน
กระบะพุ่งชนต้นไม้ เสียชีวิตยกคัน 7 คน ห่างจุดรถทัวร์คว่ำ 4 กม.