ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ภูมิรัฐศาสตร์ "ภูมิภาค-เพื่อนบ้าน" ความท้าทายการทูตไทย 2025

ต่างประเทศ
27 ธ.ค. 67
15:05
124
Logo Thai PBS
ภูมิรัฐศาสตร์ "ภูมิภาค-เพื่อนบ้าน" ความท้าทายการทูตไทย 2025
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

การปกป้องอธิปไตยแห่งดินแดนและการจัดการชายแดนไทย ที่มีความยาวถึง 5,656 กิโลเมตร เป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลแพทองธาร ต้องแก้ ไข ที่ผ่านมาไทยมีความหละหลวมในการดูแลเขตแดนรอบประเทศ

ในขณะนี้ เส้นเขตแดนไทย-เมียนมา ซึ่งมีความยาว 2,401 กิโลเมตร เป็นปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลต้องเผชิญ เนื่องจากไม่ได้ใช้นโยบายความมั่นคงต่อเนื่องจากรัฐบาลชุดก่อน ทำให้เกิดช่องโหว่ทางด้านนโยบายและการปฏิบัติด้านความมั่นคงและการปกป้องอาณาเขตอย่างชัดเจน ฝ่ายตรงข้ามทั้งภาครัฐ กลุ่มและพลเรือนสามารถใช้ประโยชน์จากช่องโหว่นี้ได้

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเพื่อนบ้านมีความสำคัญอย่างมาก สามารถเพิ่มหรือลดความมั่นคงของไทยได้ ในอดีตไทยเคยมีปัญหากับลาวและกัมพูชาในเรื่องการจัดการชายแดน ซึ่งรวมถึงการปักเขตแดน นอกจากนี้ยังมีปัญหาที่เกี่ยวข้องมากมาย เช่น การค้า วัฒนธรรม และสังคม และอื่น ๆ รวมถึงอาชญากรรมข้ามชายแดน ทำให้เกิดการใช้อาวุธเป็นครั้งคราว

สถานการณ์ภาคใต้กลุ่มต้องการแยกดินแดน ต้องใช้มาตรการการทูตรวมทั้งสัมพันธ์ที่เข้ามาเกื้อหนุน ทางด้านตะวันตก ควรระวังไม่ให้กรณีกลุ่มว้าแดงเป็นชนวนให้ไทยกับเมียนมาเกิดความขัดแย้ง

รัฐบาลชุดนี้ไม่ได้ให้ความสำคัญกับด้านความมั่นคงเท่าที่ควร มุ่งเน้นแต่เรื่องนโยบายเศรษฐกิจ แม้ว่าความมั่นคงทางเศรษฐกิจจะสำคัญต่อเอกราชและอธิปไตย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าความมั่นคงในลักษณะดั้งเดิมจะลดความสำคัญลง ขณะนี้ ความไม่แน่นอนในภูมิรัฐศาสตร์ทั้งในประเทศเพื่อนบ้านและภูมิภาคทำให้ต้องประเมินและเพิ่มความเข้มข้นทางด้านนโยบายและการปฏิบัติในพื้นที่

ปี 2025 จะเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงในเวทีการเมืองโลกมหาศาล โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ส่งสัญญาณให้ประชาคมโลกรับรู้ว่า ผลประ โยชน์ของสหรัฐอเมริกาต้องมาก่อน ตามนโยบาย “อเมริกา เฟิร์ส” ไทยต้องเตรียมรับมือในทุกด้าน

แม้ว่าเราจะอยู่ปลายแถว ทรัมป์ต้องการพุ่งเป้าไปที่จีน ยุโรป และเพื่อนบ้าน ทั้งด้านการค้าและความมั่นคง ส่วนทรัมป์ต้องการสกัดอิทธิพลจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

ในช่วงเจ็ดทศวรรษที่ผ่านมา ไทยเป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีประโยชน์สูงสุดในช่วงสงครามเย็นเพื่อต่อต้านระบอบคอมมิวนิสต์ หลังจากกำแพงเบอร์ลินล้มลงในปี 1990 การทูตไทยกับสหรัฐอเมริกาไม่ได้มีพลวัตรแบบเดิม ขณะนี้มุ่งรักษาผลประโยชน์แห่งชาติทางด้านการค้า ทุก ๆ สี่ปี สหรัฐอเมริกามักจะกดดันคู่ค้าทั่วโลกให้เปิดตลาดมากขึ้นหรือเพิ่มกำแพงภาษีเพื่อช่วยธุรกิจในประเทศและเพิ่มคะแนนเสียงให้ชนะการเลือกตั้ง

อ่านข่าว "โดนัลด์ ทรัมป์" ทางเลือกใหม่ ? ชาวอเมริกันผิวสี

ไทยอยู่ตรงกลางของการแข่งขันระหว่างสองมหาอำนาจนี้ โอกาสที่จะได้รับผลกระทบมีแล้วแต่กรณี แต่ถ้าไทยมีการเตรียมยุทธศาสตร์ระยะยาว อาจจะได้รับผลกระทบน้อยลง

ตอนนี้ความสัมพันธ์ไทยกับจีนถือว่าดีมาก ปี 2025 จะฉลองครบรอบ 50 ปี ทั้งสองฝ่ายต้องปรับตัวหากันทั้งนโยบายและทัศนคติต่อกันอย่างมากถ้าจะให้มิตรภาพมีคุณภาพที่ดีกว่าเหนียวแน่นกว่านี้

ในอนาคตจีนจะเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งที่มีทุนและเทคโนโลยีที่โลกกำลังพัฒนาต้องการ มีทางเลือกมากขึ้นในเวทีการเมืองต่างประเทศ

ส่วนคนไทยควรเพิ่มความรู้เกี่ยวกับจีนด้วยภูมิปัญญาไทยและภูมิภาค ไม่ควรลอกเอาความคิดฝรั่งทั้งหมด ความคิดแบบเก่าของข้าราชการและคนไทยนั้นล้าสมัย ต้องปรับ ควรพัฒนามิตรภาพและความร่วมมือไปสู่หลายมิติและสมดุลให้มากขึ้น

อ่านข่าว ยุทธศาสตร์เหนือเมฆ อันวาร์ ตั้ง “ทักษิณ-ฮุน เซน” ที่ปรึกษาส่วนตัว

สิ่งที่น่าเป็นห่วงใย ในปี 2025 คือ บทบาทของ ทักษิณ ชินวัตร ทางด้านการต่างประเทศ ที่ได้ประกาศอย่างโจ่งแจ้งว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาท้าทายที่การทูตไทยเผชิญ แต่จริง ๆ แล้ว การทูตไทยไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ผลประโยชน์แห่งชาติไม่ใช่ผลประโยชน์ส่วนตัว การพูดเช่นนี้ไม่เหมาะสม

รัฐบาลจำเป็นต้องชี้แจงและตำหนิทักษิณที่ทำตัวแบบพระเอกหนังคาวบอยเช่นนี้ ไม่ควรเลียนแบบ โดนัลด์ ทรัมป์ เขาสามารถพูดและทำอะไรก็ได้ ในฐานะมหา อำนาจสามารถเปลี่ยนระเบียบโลกได้ด้วยประเทศของเขาเอง โดยไม่ต้องสนใจใคร

แต่ไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกอาเซียน ไม่มีพลังอำนาจทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ มิฉะนั้น นายกรัฐมนตรีแพทองธารจะไม่มีใครให้เกียรติ หรือร่วมมือในเวทีการเมืองโลก ควรพูดคุยส่วนตัวกับทักษิณจะดีกว่า

อ่านข่าว นิตยสารไทม์ยกให้ "โดนัลด์ ทรัมป์" เป็นบุคคลแห่งปี 2024

ประเด็นการทูตไทยต่อตะวันออกกลางเป็นเรื่องใหม่ที่ไทยต้องมีนโยบายชัดเจน การเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันในตะวันออกมีผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ไทยยังต้องส่งแรงงานไปประเทศที่เป็นทั้งมิตรและศัตรู เช่น อิสราเอล และซาอุดีอาระเบีย ในอนาคต ความมั่นคงทางพลังงานจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ไทยปรับนโยบายให้มีมิติทางยุทธศาสตร์มากขึ้น

ท้ายที่สุด เสาหลักของการทูตไทยยังคงอยู่ที่อาเซียน ในฐานะหนึ่งในผู้ก่อตั้ง มันเป็นดีเอ็นเอของไทยไปแล้ว และไทย คือ ดีเอ็นเอของอาเซียน ไทยมีนโยบายต่ออาเซียนที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง มีแต่เพิ่มความส่งเสริมและทำให้เข้มข้นขึ้น

มองเทศคิดไทย โดย: กวี จงกิจถาวร สื่อมวลชนอาวุโส

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง