ภาพจำ “ตำรวจสายสืบ” ในภาพยนตร์ และของคนทั่วไป คงหนีไม่พ้น ชายคนบ้า สติไม่ดี ผมเผ้ารุงรัง, คนขี่ซาเล้งเก็บขยะ, คนเร่ร่อนอาศัยนอนตามวัด หรือป้ายรถประจำทาง บางคนอาจเข้าไปคลุกคลีกับกลุ่มผู้ค้ายาเสพติด แต่ปัจจุบันภาพลักษณ์ของตำรวจนักสืบได้เปลี่ยนไปแล้ว แถมยังมีลูกเล่นแพรวพราวจนกลายเป็นขวัญใจมหาชน
โดยเฉพาะ “สารวัตรแจ๊ะ” พ.ต.ต.ธัญพีรสิษฐ์ จุลพิภพ ผู้มีบุคลิกเฉพาะตัว สวมหมวกไหมพรม ใส่แว่นตา สวมหน้ากากอนามัย เพื่อเปิดบังใบหน้า เจ้าของฉายา “อย่าเล่นกับระบบแจ๊ะ” ศิษย์ก้นกุฏิของ “ผู้การจ๋อ” พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์” ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล (IDMB)
“รายการคุยนอกกรอบ กับ สุทธิชัย หยุ่น” นัดเปิดอกคุยกับ โคนันนคร บาล “ผู้การจ๋อ” พล.ต.ต.ธีรเดช ปรมาจารย์ด้านสืบสวนนครบาล ผู้อยู่เบื้องหลังการสร้างตำรวจนักสืบเพื่อประชาชน จนได้รับการยอมรับทั่วประเทศ ไม่เฉพาะประชาชนเท่านั้น แต่ยังเป็นขวัญใจของลูกเล็กเด็กแดงอีกด้วย
“เชอร์ล็อค โฮมส์”จุดเริ่มต้น “ตำรวจนักสืบ”
พล.ต.ต.ธีรเดช เล่าถึงแรงบันดาลใจที่เป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นนักสืบว่า เกิดจากการอ่านหนังสือแนวสืบสวนเรื่อง “เชอร์ล็อค โฮมส์” นักสืบชาวลอนดอน ตัวละครเอกในนวนิยายสืบสวนในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 – ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ผู้ปราดเปรื่องมีชื่อเสียงโด่งดังด้านทักษะการประมวลเหตุและผล มีทักษะด้านนิติวิทยาศาสตร์ ต่อมากลายเป็นต้นแบบให้กับตำรวจนักสืบหลายคน
สำหรับเชอร์ล็อค โฮมส์ ไม่ใช่แค่นวนิยาย แต่ผู้เขียนบทประพันธ์มีความรู้ในการแก้ไขปมคดี ทำให้คนอ่านได้เกิดการวิเคราะห์หาข้อเท็จจริง และนำมาปรับใช้ในการทำงานของตำรวจได้ ขณะที่แนวทางการเรียนการสอนของตำรวจ ในอดีตจะมีแค่ในตำรา การสอนจากครู และเมื่อนักเรียนตั้งคำถามกลับ จะทราบว่าผู้สอนก็ไม่เคยปฏิบัติมาก่อนเหมือนกัน มีเพียงแค่หลักการเท่านั้น
“อยู่ในโรงเรียนอาจารย์ที่จะมาสอนก็ยึดกฎระเบียบ เขาจะเอาเรื่องที่เป็นคดีที่จบแล้ว ซึ่งล้าสมัยมาก พอเราตั้งคำถาม รู้เลย อาจารย์ไม่ได้ทำ อาจารย์อ่านหนังสือแล้วมาสอน แต่การเป็นตำรวจฝ่ายสืบสวนมันไม่ได้”
ผู้การจ๋อ บอกว่าจุดหักเหของชีวิต หลังจากเป็นตำรวจแล้ว ได้ มีโอกาสไปเรียนต่อด้านจิตวิทยาที่สหรัฐอเมริกา มีการใช้วิธีซักถามเชิงจิตวิทยา และการสอนในลักษณะเอาโจทย์ หรือคดีที่ผิดพลาดมาให้แก้ปัญหาใหม่ ทำให้รู้จักคิดมากขึ้น ต่างจากการเรียนในไทยที่ผู้สอนมักจะพูดเฉพาะคดีที่ประสบความสำเร็จ นักเรียนไม่ทราบการแก้ปัญหา ดังนั้นในปัจจุบันจึงได้นำวิธีการสอนในลักษณะนี้มาใช้กับโรงเรียนสืบสวนของตำรวจไทย
ในขณะที่มีตำแหน่ง ร.ต.ท. “ผู้การจ๋อ” เล่าว่า ได้ทำงานอยู่ในทีม 30 นักสืบ โดยเข้ารับการอบรมการเป็นตำรวจนักสืบ (สืบเหนือ สืบใต้ สืบธน) เรียนรู้จากสุดยอดนักสืบระดับตำนานหลายคน และถูกสอนว่า เป็นนักสืบอย่าเกลียดตำรา จึงจดจำตำราที่สำคัญ ๆ ไว้เพื่อเป็นแนวทาง ประกอบกับได้ทุนไปเรียนต่างประเทศจึงได้นำแนวทางไปผสมผสานกัน
“บางสิ่งที่เรียนรู้จากอเมริกาเอามาใช้ในประเทศไทยไม่ได้ เช่น เทคโนโลยีบางอย่างเขามี แต่เราไม่มี สมัยนั้นเขามีกล้องวงจรปิดที่สามารถสแกนใบหน้าได้ แต่ของเราไม่มี จริง ๆ ต้องบอกว่า ตำรวจไทยเราก็มีความพยายามในการจับคนร้ายสูงมากกว่าเขาเยอะ เพราะเทคโนโลยีเราไม่มี”
“คดีในความทรงจำ” เหยื่อเปลี่ยนใจ ไม่คิดปลิดชีพตัวเอง
“คดีข่มขืนนักศึกษา” พฤติการณ์คนร้ายจะออกไปล่าเหยื่อ ตามห้างสรรพสินค้า โดยคนร้ายคนแรกจะเดินตามเหยื่อผู้หญิงหน้าตาดี ขับรถมีฐานะ ตั้งแต่ลงรถเข้าห้าง ส่วนคนร้ายคนที่สองจะใช้เหล็กแหลมเจาะยางรถยนต์ แต่จะมีวิธีไม่ให้ยางแบน เมื่อเหยื่อกลับมาที่รถและขับออกไป คนร้ายจะคำนวณเวลา ให้ตรงกับช่วงยางรถแบนในย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
จากนั้นจะขับรถตามมาห่าง ๆ แล้ว แสดงตัวเป็นพลเมืองดีช่วยเปลี่ยนยาง พร้อมออกอุบายให้ผู้เสียหายไปซื้อเครื่องดื่ม และอาศัยจังหวะที่ผู้เสียหายเผลอใส่ยาลงไปในน้ำให้ดื่ม ก่อนจะนำเหยื่อไปข่มขืน
“ผู้การจ๋อ” บอกว่า ความยากในยุคนั้น คือ ไม่มีกล้องวงจรปิด การจะทราบตัวคนร้ายต้องได้ข้อมูลจากตัวผู้เสียหาย แต่เหยื่อก็ไม่มีสภาพที่จะให้ข้อมูลอะไรได้ และสมัยนั้นไม่มีนักสืบที่เป็นตำรวจผู้หญิง ไม่มีจิตวิทยาในการคุยกับเหยื่อ นับเป็นเคสแรกหลังกลับมาจากต่างประเทศ และทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติเรียกใช้งาน จึงทำให้ได้ใช้สิ่งที่เรียน และปฏิบัติหน้าที่ได้จนได้ข้อมูลจากเหยื่อ คดีนี้ใช้เวลากว่า 6 เดือนกว่าจับกุมคนร้ายได้ ในขณะที่กำลังจะก่อเหตุซ้ำ แต่เนื่อง จากคนร้ายมีอาวุธและต่อสู้ จึงถูกตำรวจวิสามัญที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง
“คดีนี้ที่อยู่ในความทรงจำของผม ไม่ใช่เรื่องการจับคนร้าย แต่เป็นเรื่องหลังจากจบคดีที่ได้รับ ทราบจากน้องที่เป็นเหยื่อว่า ถ้าไม่ได้คุยกับผม น้องคิดจะคิดสั้น ผมเลยตัดสินใจว่า เราเจอเทคนิคที่มาถูกทางแล้วในการพูดคุยเชิงจิตวิทยา”
ผู้การจ๋อ บอกว่า ตรงนี้คือสาเหตุที่ทำให้ตำรวจไม่ค่อยอยากเป็นนักสืบ เพราะระหว่างเส้นทางการสืบสวน ไม่เคยได้กินข้าวอิ่ม นอนหลับ เนื่องจากมีความรู้สึกว่า ยังจับกุมคนร้ายไม่ได้ มันเหมือนคาใจ แม้ขนาดนอนยังฝันเลย ฝันว่าคนร้ายกำลังทำอะไรอยู่”
ยึด“คัมภีร์รวย”ทลายรังคอลเซ็นเตอร์
การไขปมคดี ในยุคก่อน ไม่เกินความสามารถของตำรวจ คดีที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่หากไม่ใช่คดีฆาตกรรม ก็จะเป็นคดี ลัก วิ่ง ชิง ปล้น แต่ปัจจุบันการก่อคดีเปลี่ยนตามเทคโนโลยี มีแก๊ง “คอลเซนเตอร์” คนร้ายใช้ระบบ 5G แล้ว ตำรวจยังตามไม่ทัน เปิดคอมพิวเตอร์ไม่ได้ พล.ต.อ. สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ” จึงให้สร้างทีมสืบสวนถือเป็นจุดเริ่มต้นในการคัดหาตำรวจที่เก่งด้านเทคโนโลยี เพื่อผสมผสานกับตำรวจสืบสวน โดยใช้ชื่อทีมว่า “PCT5”
“ถ้าถามว่าเริ่มต้นจับคดีคอลเซ็นเตอร์แรก ๆ อย่างไร.. ต้องบอกว่าคอลเซ็นเตอร์ จะมีรูปแบบเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ เหมือนยาเสพติด เพียงแต่หน่วยงานในประเทศยังตามไม่ทัน ขบวนการเหล่านี้จะตั้งบริษัทอยู่ตามประเทศเพื่อนบ้าน แต่ก็จะใช้คนไทยในการเป็นพนักงานคอลเซ็นเตอร์เพื่อพูดคุยหลอกผู้เสียหาย ดังนั้นจึงไปทำความรู้จักกับเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายในประเทศเพื่อนบ้านก่อน”
แน่นอน ผู้การจ๋อ ต้องส่ง “สารวัตรแจ๊ะ” ตำรวจสายสืบให้แฝงตัวสมัครเข้าไปทำงานตามขั้นตอน และเดินไปทางยังจุดที่มีคนมารับข้ามแดนไปทำงาน โดยใช้เวลาแฝงตัวนาน 15 วัน เพื่อเก็บพยานหลักฐาน ก่อนนำกำลังเข้าจับกุมผู้ต้องหาได้ 50 คน เป็นการทลายรังคอลเซ็นเตอร์ที่ใหญ่สุด และเป็นครั้งเดียวที่จับกุมได้เนื่องจากขบวนการดังกล่าวระวังตัวมากขึ้น
มีชาวไต้หวันเป็นหัวหน้าใหญ่ และใช้คนไทยเป็นล่ามในการโทรศัพท์หลอกผู้เสียหาย ในการเข้าจับกุมได้ยึด“คัมภีร์” ที่หน้าปกเขียนว่า “ตำรารวย” พออ่านแล้วต้องทึ่ง เพราะอาชญากรเขาเรียนด้านจิตวิทยา อาชญาวิทยา ในการเอามาสอนคนร้อยพ่อพันแม่ ที่ทำให้คนจบ ป.4 สามารถโทรหลอกอดีตนายแพทย์ได้
“หัวใจนักสืบ” ต้องยุติธรรม-มีศีลธรรม
“การคัดคนของผมมาเป็นตำรวจนักสืบจะต้องมีศีลธรรม มีความยุติธรรม โดยสังเกตจากวิธีการทำงานของแต่ละคน ที่จะมีสัมผัสพิเศษสามารถบอกได้ว่าเป็นอย่างไร ผมจึงพยายามจะสร้างสถาบันที่สืบนครบาล พยายามคัดน้อง ๆ พวกนี้”
ช่วงเริ่มต้น ผู้การจ๋อบอกว่า ถูกกระแสต่อต้านสูง เพราะหลายหน่วยจะต้องถูกเปลี่ยน ครูฝึกต้องเหนื่อยและรับผิดชอบเพิ่มขึ้น จึงใช้เวลาปรับพอสมควรกว่าจะได้การยอมรับ
“จริง ๆ จะทำอะไร มันต้องเอาประชาชนเป็นตัวตั้ง เอาความเดือดร้อนของผู้เสียหายเป็นหลัก เราผลิตตำรวจ แต่ไม่ได้ดูเลยว่าวันนี้ประชาชนต้องการอะไร ประชาชนไม่ได้มองว่าตำรวจต้องเก่ง แต่ต้องการตำรวจที่เข้าใจ เมื่อก่อนการเป็นตำรวจ คือ จับคนร้ายได้และคนร้ายถูกลงโทษ แต่วันนี้ผมมองว่า เป็นตำรวจแล้วจับคนร้าย 10 คน เปลี่ยนคนร้ายให้เป็นคนดีได้สักคน ถือว่าประสบความสำเร็จ”
“ผู้การจ๋อ” บอกว่า พยายามสอนนักสืบรุ่นใหม่ ไม่ใช่แค่จับคนร้ายได้ แต่ต้องเข้าใจคนร้ายด้วย รวมทั้งเข้าใจผู้เสียหายด้วย ซึ่งวันนี้ผมมีเพจสืบนครบาล ส่งผลให้ในตอนนี้ที่ไปจับคนร้ายที่ไหน ทุกคนเป็นแฟนเพจหมดเลย เพราะเขาอ่านเพจและติดตามตลอด สิ่งที่ได้มาก็คือ วันนี้ไม่ต้องใช้จิตวิทยาแล้ว เพราะพอเขารู้จักผมเขาพร้อมที่จะเล่าให้ฟังว่าใครจ้างให้เขาทำ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมาก ๆ
“วันนี้ตำรวจไม่ได้เอาเทคโนโลยีมาประชาสัมพันธ์หน่วยอย่างเดียว แต่ต้องใช้เตือนภัยให้กับคนดีและคนไม่ดี คนไม่ดี หมายความว่า คิดจะทำผิดก็ให้คิดให้ดี หรือคนที่ทำไปแล้วก็ให้สารภาพ มอบตัว บางครั้งผู้เสียหายเข้ามาเขียนในคอมเม้นท์ว่า เขามีความรู้สึกอย่างไร พออ่านแล้วมันทำให้ทุกคนมีกำลังใจ”
โรงเรียนในฝัน “สถาบัน”เพาะเมล็ดพันธ์ุนักสืบ
การเป็นนักสืบสวนสวนมืออาชีพ โดยเฉพาะตำรวจหลายประเทศมีโรงเรียน หรือสถาบันด้านสืบสวนโดยเฉพาะ ขณะที่หลักสูตรของตำรวจไทยมีเพียงหลักสูตรสืบสวนของกองบัญชาการศึกษา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในแต่ละปีสามารถรับนักเรียนได้ครั้งละ 30 คน ใช้เวลาฝึก 4 เดือน โดยภายใน 15 วัน สายสืบชุดนี้จะต้องมาฝึกกับพล.ต.ต.ธีรเดช
ผู้การจ๋อบอกว่า แม้จะระยะเวลาสั้น ๆ 15 วัน แต่มีความพร้อมจะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยใช้งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด เพราะการสร้างคน คือ สิ่งสำคัญ จึงตั้งชื่อว่า “เพาะเมล็ดพันธุ์นักสืบ” เมื่อสร้างเขาเสร็จแล้วก็กระจายไปอยู่ตามหน่วยทั่วประเทศ มันได้ประโยชน์ ดีกว่าให้เราเก่งอยู่แค่หน่วยเดียว จึงให้ความสำคัญกับหลักสูตรนี้เป็นลำดับหนึ่ง
“อยู่มาสองปีผลิตนักสืบออกไป เขาจะรายงานกลับมาว่า วันนี้ได้นำวิชาที่ได้มาไปช่วยประชาชนจับคนร้ายในพื้นที่ต่างจังหวัดได้”
พล.ต.ต.ธีรเดช เล่าว่า ปัจจุบันมีประชาชน อินบ๊อกขอความช่วยเหลือเข้ามาจำนวนมาก ซึ่งการเลือกคดีต้องเป็นคดีในพื้นที่ที่ตัวเองรับผิดชอบก่อน และคดีที่เกิดความสูญเสีย ทำให้ประชาชนที่คาดหวังมีความรู้สึกว่า ช้าไป วันนี้ต้องบอกว่าทั้งทีมพวกเราทำงานหนักมาก
ถามว่า ทำไมไม่กระจายงานให้หน่วยงานตำรวจอื่น ๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัด… “ผู้การจ๋อ” ยอมรับว่า การทำคดีไม่เหมือนที่ได้ลงมือทำเอง อีกทั้งตำรวจไม่ได้มีองค์ความรู้เหมือนกันทุกคน โดยเฉพาะในเรื่องของการทำคดีสืบสวน
“ไม่ใช่ว่าเขาทำไม่ได้ แต่เขาไม่มีความรู้ ไม่ได้รับการฝึกฝนมาทางนี้ ก็จะมีปัญหา บางคนไม่รู้ตัวว่าเหมาะกับตำแหน่งนี้หรือไม่ จึงอยากจะเว้นในตำแหน่งสืบสวนสอบสวนให้กับคนที่เขามีความชำนาญจริง ๆ เพื่อเป็นประโยชน์กับสังคม”
หากมองโลกในปัจจุบันอาชญากรที่เป็นผู้หญิงเพิ่มขึ้น แต่ตำรวจสืบสวนหญิงแทบไม่มี รวมถึงตำรวจสืบสวนชาย อาจเป็นเพราะตำแหน่งไม่เติบโต จึงอยากจะบอกกับตำรวจทุกคนว่า ถ้าการเป็นตำรวจแล้วจะต้องเติบโต เป็นแล้วมันจะได้อะไร จะเครียดเปล่าๆ
แต่ถ้าเราคิดว่าเป็นตำรวจแล้วเรามาจับโจร มาดูแลพี่น้องประชาชน จึงเหมาะที่จะเป็นนักสืบ เพราะการที่ประชาชนเดินเข้ามาแจ้งความกับตำรวจ ไม่ว่าโรงพักใดก็ตาม สิ่งแรกที่เขาต้องการ คือ อยากรู้ว่า ตำรวจจะตามจับคนร้าย หรือตามทรัพย์สินกลับคืนมาได้หรือไม่ แต่วันนี้ตำรวจทำได้เพียงแค่รับแจ้งอย่างเดียว แต่จับไม่ได้ จึงมีเสียงเรียกร้องให้ปฏิรูปตำรวจ
ผู้การจ๋อทิ้งท้ายว่า ถ้ามีโอกาส อยากจะฝากถึงผู้หลักผู้ใหญ่ว่า ตำรวจจะมาฝึกแบบทหารร้อยเปอร์เซนต์ไม่ได้ จริง ๆ ตำรวจต้องฝึกเทคนิคในการทำงานที่ที่ต้องเอาไปใช้ในหน้าที่ ในการปราบปรามอาชญากรรม
พบกับรายการ :คุยนอกกรอบกับสุทธิชัย หยุ่น ทุกวันพฤหัสบดี เวลา 21.30-22.00 น.ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส