ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“สีส้ม” วูบเหลือจะเชื่อ “นายใหญ่” ซัดซ้ำขี้จุ๊ ขี้ขอย ยะบ่จ้าง

การเมือง
24 ธ.ค. 67
15:12
291
Logo Thai PBS
“สีส้ม” วูบเหลือจะเชื่อ “นายใหญ่” ซัดซ้ำขี้จุ๊ ขี้ขอย ยะบ่จ้าง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ตั้งแต่มีผู้สมัครในนามอิสระ แต่เป็นที่รับทราบดีว่า มีส่วนเกี่ยวโยงกับพรรคก้าวไกลไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และใช้สีส้มเป็นสัญลักษณ์ในการหาเสียง จนถึงส่งผู้สมัครในนามพรรคประชาชน ตั้งแต่ สนาม อบจ.ราชบุรี เป็นต้นมา กระทั่งถึงชิงนายก อบจ.อุบลฯ พรรคสีส้ม ยังไม่สามารถปักธงแจ้งเกิดได้เลย

แม้จะระดมทั้งผู้บริหารพรรค ผู้นำความคิด ผู้นำสัญลักษณ์ของพรรค ตั้งแต่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ น.ส.พรรณิการ์ วาณิช นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หรือตัวตึงอย่างนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ แม้บางจังหวัด จะได้คะแนนเพิ่มมากขึ้นกว่าเมื่อครั้งส่งในนามคณะก้าวหน้า

ทำให้การชิงนายกฯ 1 ก.พ.2568 จะกลายเป็นศึกใหญ่ที่ท้าทาย และเป็นแรงกดดันสำหรับพรรคประชาชน โดยเฉพาะใน 4 จังหวัดที่คาดหวังสูง คือ สมุทรปราการ สมุทรสาคร ระยอง และ ตราด รวมทั้งจังหวัดเชียงใหม่ ที่สามารถยึดเมืองได้เกือบทั้งหมดในการเลือกตั้ง สส.ปี 2566 ทั้งที่เป็นเมืองหลวงของพรรคเพื่อไทย

กระทั่งนายทักษิณ ต้องรีบบินด่วนไปเปิดตัวช่วยหาเสียงให้นายพิชัย เลิศพงษ์อดิศร หรืออดีต สว.ก๊อง ที่นายทักษิณ เคยส่งจดหมายน้อยอ้อนให้ชาวเชียงใหม่เลือกเมื่อปี 2563 ขณะยังลี้ภัยในต่างประเทศ และลงสมัครรักษาเก้าอี้อีก 1 สมัย

ไล่เลี่ยกับนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไปช่วยหาเสียงให้ นายนายพันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้สมัครจากค่ายสีส้ม ขณะที่กูรูการเมืองในพื้นที่บางคนเห็นว่า หากเลือกตั้งนายก อบจ.เชียงใหม่ วันนี้ พรรคสีส้ม มีโอกาสชนะสูง เพราะเปิดตัวและเคลื่อนไหวในพื้นที่มานาน แต่เมื่อวันเลือกตั้งจริง เป็นวันที่ 1 ก.พ.2568 สถานการณ์จึงอาจเปลี่ยนแปลงได้

เนื่องจากนายทักษิณกำลังมั่นใจและฮึกเหิม ในฐานะผู้ช่วยหาเสียง หลังจากช่วยผู้สมัครค่ายสีแดงเข้าวินทั้ง 2 จังหวัด ที่เขาไปช่วยหาเสียงให้ ทั้งที่ จ.อุดรฯ และ จ.อุบลฯ การขึ้นเวที จ.เชียงใหม่

จึงได้เห็นการจัดหนักจัดเต็มใส่ค่ายสีส้มแบบจุกๆ ไม่ว่าจะเป็น “พรรคที่พูดเก่งอย่างเดียว แต่ยะบ่จ้าง และยังบ่ได้ยะ” แปลภาษาคำเมืองเป็นภาษากลางว่า “เก่งแต่พูด ทำงานไม่เป็น และยังไม่เคยได้ทำงานจริง” ประเภทขี้โม้ หรือขี้จุ๊ ในภาษาคำเมือง

แถมยังขี้ขอย แปลว่า ชอบอิจฉาริษยา ทั้งยังสำทับว่า เลือกครั้งนี้ ไม่ต้องกั๊กหรือแบ่งให้ใคร เทให้พรรคเพื่อไทย ทั้งหมด เพราะไม่ต้องไปใช้ใคร ให้ใช้นายทักษิณกับลูกนายทักษิณก็พอแล้ว

ถือเป็นการวาดลวดลายครั้งแรก หลังจากรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ได้รับฉายาประจำปี ว่า “รัฐบาล (พ่อ) เลี้ยง” จากผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบ ด้วยเหตุที่นายทักษิณผู้พ่อ ทั้งปกป้อง เลี้ยงดู อุ้มชู ปูทาง และครอบครอง จนลูกสาวคนเล็กก้าวขึ้นเป็นผู้นำประเทศ มี DNA เดียวกัน จนเป็นรัฐบาล “พ่อคิด ลูกทำ” แถมยังเป็นพ่อเลี้ยง “ใจป๋า” เลี้ยงบะหมี่พรรคร่วมรัฐบาลที่บ้านจันทร์ส่องหล้าด้วย

ประกอบกับเชียงใหม่ ถือเป็นฐานไข่แดงพรรคเพื่อไทย ตั้งแต่สมัยพรรคไทยรักไทย ที่ผ่านมา ตระกูลใหญ่แบบบ้านใหญ่สไตล์ล้านนา ใน จ.เชียงใหม่ ที่มีบทบาททางการเมืองจริง ๆ มีไม่กี่ตระกูล

โดยก่อนหน้านี้ เป็นตระกูล “ณ เชียงใหม่” ของ “เจ้าหนุ่ย” นายธวัชวงศ์ ณ เชียงใหม่ คุมทั้งการเมืองระดับชาติและท้องถิ่น ก่อนจะถูกท้าทายและถูกเบียดตกข้างทาง โดยตระกูล “บุรณุปกรณ์” และตระกูล “อมรวิวัฒน์” ของนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ โดยเฉพาะช่วงเป็นหัวหน้ากลุ่ม 16 ที่มี สส.กลุ่มยังเติร์ก ขณะนั้นมีบทบาททางการเมืองไทยหลายคน

แต่ในเวลาต่อมา เมื่อนายทักษิณตั้งพรรคไทยรักไทย ทั้ง 2 ตระกูล บุรณุปกรณ์และอมรวิวัฒน์ ก็ยินยอมอยู่ใต้ชายคา และให้การสนับสนุนนายทักษิณนับแต่นั้น

แม้ต่อมา น.ส.ทัศนีย์ บุรณูปกรณ์ อดีต สส.พรรคเพื่อไทย จะไปอยู่พรรคก้าวไกล ด้วยหวังจะได้เป็นตัวเลือกลงชิงนายก อบจ.เชียงใหม่ แต่อกหัก เมื่อพรรคสีส้มเลือกนายพันธุ์อาจ ชัยรัตน์ เป็นผู้สมัครแทน แต่กูรูการเมืองในเชียงใหม่ ยืนยันตรงกันว่า “บุรณุปกรณ์” ส่วนใหญ่และดั้งเดิม ยังเป็นสายตรงนายทักษิณไม่เปลี่ยน

แม้จะเกิดปมขัดแย้งในการเลือกนายก อบจ.เชียงใหม่ปี 2563 ที่นายบุญเลิศ บุรณุปกรณ์ ดึงนายจตุพร พรหมพันธุ์ ไปเป็นผู้ช่วยหาเสียง จนกลายเป็นจุดแตกหักระหว่างนายจตุพร กับพรรคเพื่อไทย นับแต่นั้น

และแม้ “บุรณูปกรณ์” จะประกาศวางตัวเป็นกลาง แต่เชื่อว่าไม่กล้าหักนายทักษิณอยู่ดี แม้จะมีความพยายามตีข่าวโหมกระพือว่า “บุรณุปกรณ์” จะไปร่วมมือกับค่ายสีส้ม เพื่อยึด อบจ.เชียงใหม่ แต่ในทางปฏิบัติ เป็นไปได้น้อยมาก

เมื่อบริบทการเมืองเชียงใหม่ ยังอยู่ใต้การคอนโทรลของนายทักษิณ โดยมีเป็นเป้าหมายสำคัญหวังต้องยึดทั้งท้องถิ่นและระดับชาติกลับคืนมาเป็นของเพื่อไทย โดยใช้ทั้งบารมีและคอนเน็คชั่น ไม่ว่าจะกับฝ่ายการเมือง หรือกลุ่มพลังที่ไม่ใช่ฝ่ายการเมือง แต่มีบทบาทสามารถชี้นำหรือกำหนดสิ่งที่ต้องการได้

โดยต้องไม่ลืมว่า ช่วงหลังๆ 20 กว่าปีมานี้ มีระดับ “บิ๊ก” ที่เป็นอดีตข้าราชการระดับสูง และคนมีสีระดับนายพล ไปลงหลักปักฐาน และขยายธุรกิจในเชียงใหม่จำนวนไม่น้อย เชื่อกันว่า นายทักษิณมีคอนเน็คชั่นถึงคนเหล่านี้ได้

จึงกลายเป็น “งานหิน” สำหรับพรรคสีส้ม สำหรับความหวังจะยึดเชียงใหม่ให้เป็นของค่ายสีส้ม ในช่วงจังหวะที่ถูกล้อเลียนว่า “หัวคะแนนธรรมชาติยังไม่ตื่น” แต่ใช่ว่า จะสิ้นหวังทั้งหมด ยังมีโอกาสได้ลุ้นแม้จะน้อย

แต่สำหรับเลือกตั้งสส.ครั้งหน้า ปี 70 “บ้านใหญ่” จะแตกทัพเพราะต่างต้องรับออร์เดอร์จากหลายพรรคการเมืองในส่วนกลางสำหรับสู้ศึกเลือกตั้ง และเมื่อนั้น จะเป็นโอกาสอีกครั้งสำหรับพรรคประชาชน

วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา บรรณาธิการอาวุโส

อ่านข่าว : มติ ครม.แจกเงิน 10,000 บาทเฟส 2 ผู้สูงอายุ 60 ปี ม.ค.2568

กว่าจะถึงวัน ปรับขึ้น "ค่าแรง" วันละ 400 บ. รัฐบาลเพื่อไทย

"กัญจนา" บริจาค 40 ล้าน ให้คณะสัตวแพทย์ มช. สร้าง รพ.ช้าง อุทิศให้ "พังกันยา"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง