ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ปิดด่านไทย-เมียนมา อหิวาตกโรคระบาดเมียวดี ป่วย 300 ตาย 2 คน

ต่างประเทศ
21 ธ.ค. 67
12:02
4,784
Logo Thai PBS
ปิดด่านไทย-เมียนมา อหิวาตกโรคระบาดเมียวดี ป่วย 300 ตาย 2 คน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
การระบาดของอหิวาตกโรค ในเมืองชเวโก๊กโก๋ ประเทศเมียนมา ยังคงน่าห่วง ล่าสุดมีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 1 คน และ ขณะที่ รพ.ชเวโก๊กโก๋ ขอความช่วยเหลือด้านการแพทย์ มายัง รพ.แม่ระมาด จ.ตาก

วันนี้ (21 ธ.ค.2567) บรรยากาศชายแดน อ.แม่สอด และ อ.แม่ระมาด จ.ตาก เงียบเหงา หลังทหารหน่วยเฉพาะกิจราชมนู อ.แม่สอด จ.ตาก เพิ่มความเข้มงวดในการลาดตระเวนเพื่อป้องกันการลักลอบข้ามแดนโดยผิดกฎหมาย หลังได้รับรายงานว่าเกิดการระบาดของโรคอหิวาตกโรค ในพื้นที่เมืองชเวโก๊กโก๋ จ.เมียวดี ประเทศเมียนมา ตรงข้ามบ้านวังผา ต.แม่จะเรา อ.แม่ระมาด จ.ตาก

มีรายงานว่า ผู้ป่วยที่ถูกส่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลชเวโก๊กโก๋มีจำนวนกว่า 300 คน ในจำนวนนี้ มีอาการรุนแรง 56 คน ล่าสุดมีผู้เสียชีวิตอีก 1 คน รวมเป็น 2 คน แต่ผู้ป่วยยังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และทาง รพ.ชเวโก๊กโก๋ ได้ประสานขอการสนับสนุนด้านการแพทย์มายัง รพ.แม่ระมาด โดยแจ้งว่าถ้าไม่สามารถส่งผู้ป่วยมาที่ รพ.แม่ระมาดได้ จะขอรับการสนับสนุนยา และ เวชภัณฑ์ เพื่อรักษาผู้ป่วย และ ป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่ ซึ่งทาง รพ.แม่ระมาด ได้ให้การสนับสนุนยา และ เวชภัณฑ์ ไปบางส่วนแล้ว

โรคระบาดที่เกิดขึ้น ทำให้ทหารหน่วยเฉพาะกิจราชมนู ซึ่งรับผิดชอบชายแดนไทย-เมียนมา ขอให้ประชาชนทั้ง 2 ฝั่ง งดการเดินทางผ่านช่องทาง ท่าข้าม และ ช่องทางธรรมชาติ เป็นเวลา 1 เดือน หรือ จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย

ส่วนกำลังพลที่ปฏิบัติภารกิจในพื้นที่ชายแดน ให้สวมหน้ากากอนามัย, ถุงมือทางการแพทย์, การล้างชำระร่างกาย หรือ มือ หลังจากสัมผัสสิ่งของ ตลอดจนรักษาสุขอนามัยในการบริโภคอาหาร และน้ำดื่ม รวมทั้ง ประชาสัมพันธ์ผู้ประกอบการขนส่งสินค้า, ผู้ประกอบการท่าข้าม ให้เพิ่มความเข้มงวดการรักษาสุขอนามัยของผู้ขับขี่รถขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ

สธ.เข้มเฝ้าระวังป้องกัน "อหิวาต์" พื้นที่ชายแดน 

ล่าสุด นพ.สุภโชค เวชภัณฑ์เภสัช รักษาการผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 2 เปิดเผยว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตาก ได้รับรายงานจากโรงพยาบาลแม่ระมาดเกี่ยวกับการระบาดของอหิวาตกโรคในเมืองชเวโก๊กโก๋ โดยข้อมูลล่าสุดระบุว่ามีผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาล 56 คน และผลตรวจเบื้องต้นด้วยชุดตรวจแบบเร็ว (Rapid Test) ยืนยันว่าเป็นอหิวาตกโรค

ในเบื้องต้น รพ.แม่ระมาด ได้สนับสนุนยาและเวชภัณฑ์บางส่วนเพื่อช่วยเหลือและควบคุมโรคในพื้นที่ระบาด นอกจากนี้ ทีมสอบสวนโรคจาก อ.แม่ระมาด และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตาก ได้ลงพื้นที่เพื่อเฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมรับมือ หากเกิดการระบาดในฝั่งไทย

มาตรการป้องกันที่สำคัญ ได้แก่

  • เฝ้าระวังผู้ป่วยอุจจาระร่วง โดยสถานบริการสาธารณสุขทุกแห่งต้องเก็บตัวอย่างอุจจาระส่งตรวจ พร้อมสำรองยาและเวชภัณฑ์ให้เพียงพอ
  • ให้ความรู้แก่ประชาชน ผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น หอกระจายข่าว แอปพลิเคชัน และโรงเรียน โดยเน้นย้ำมาตรการ "กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ" และจัดหาน้ำดื่มสะอาด
  • ตรวจสอบสิ่งแวดล้อม เช่น สุขาภิบาลอาหาร น้ำประปา และร้านอาหารในชุมชน โดยเพิ่มระดับคลอรีนในน้ำประปาให้อยู่ที่มาตรฐาน 0.2 มิลลิกรัมต่อลิตร
  • เฝ้าระวังในพื้นที่เสี่ยง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ข้ามมารักษาในฝั่งไทย และเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้นำชุมชน อสม. และโรงเรียนที่มีเด็กจากฝั่งเมียนมา

นพ.สุภโชค กล่าวเพิ่มเติมว่า การระบาดในฝั่งเมียนมายังมีแนวโน้มต่อเนื่อง หากไม่มีมาตรการควบคุมที่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขย้ำให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ชายแดนเฝ้าระวังโรคอย่างเข้มข้น และให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการสุขอนามัยอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ หากพบอาการอุจจาระร่วงหรือมีอาการผิดปกติ ให้รีบเข้าพบแพทย์ทันที เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคและรักษาได้อย่างทันท่วงที

"อหิวาตกโรค" ภัยเงียบที่ยังคงคุกคาม

โรคอหิวาตกโรค หรือที่หลายคนคุ้นเคยในชื่อ "โรคห่า" ยังคงเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพของประชาชนทั่วโลก โรคนี้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Vibrio cholerae มักจะแพร่กระจายผ่านการบริโภคน้ำหรืออาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ

อาการของโรคที่เด่นชัดคือ ท้องเสียรุนแรง ถ่ายเหลวเป็นน้ำใสคล้ายน้ำซาวข้าว อาเจียนรุนแรง และร่างกายขาดน้ำอย่างรวดเร็ว หากไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงที อาจนำไปสู่ภาวะช็อกและเสียชีวิตได้ การรักษา มุ่งเน้นไปที่การแก้ไขภาวะขาดน้ำและการรักษาอาการอื่น ๆ ที่เกิดขึ้น โดยวิธีการรักษาที่สำคัญคือ การให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำเพื่อทดแทนน้ำและเกลือแร่ที่สูญเสียไป และการให้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย

สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการบริโภคอาหารหรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีสุขอนามัยไม่ดี แหล่งน้ำเสีย อาหารทะเลดิบ และการจัดการอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ การแพร่ระบาดมักเกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนาที่ขาดแคลนทรัพยากรและมีระบบสาธารณสุขที่ไม่ครอบคลุม โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนที่สภาพแวดล้อมเอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย

การป้องกันโรค สามารถทำได้โดยการรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลให้ดี ล้างมือบ่อย ๆ โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ ดื่มน้ำสะอาดที่ผ่านการต้มหรือกรอง บริโภคอาหารที่ปรุงสุกใหม่ และหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารดิบหรือสุกๆ ดิบๆ นอกจากนี้ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคอหิวาตกโรคก็เป็นอีกหนึ่งวิธีในการป้องกันโรคได้

อ่านข่าวอื่น :

ทอ.ส่ง F-16 บินพิสูจน์-สกัดอากาศยานไม่ทราบฝ่าย ชายแดนไทย-เมียนมา

รวมวลีเด็ดโซเชียล 2567 "ติดแกลม-ล่าแบ้" เปิดความหมายและที่มา

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง