ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เฝ้าระวัง "โบคาไวรัส" เชื้อก่อโรคทางเดินหายใจในเด็ก

สังคม
19 ธ.ค. 67
12:12
16,485
Logo Thai PBS
เฝ้าระวัง "โบคาไวรัส" เชื้อก่อโรคทางเดินหายใจในเด็ก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมการแพทย์ ชี้ "โบคาไวรัส" เชื้อก่อโรคทางเดินหายใจในเด็กต่ำกว่า 5 ปีพบได้น้อย อาการคล้ายไข้หวัด ไอน้ำมูก มีไข้ พบการติดเชื้อได้น้อยอาการมักไม่รุนแรง แต่ช่วง PM2.5 สูงอาจส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ

วันนี้ (19 ธ.ค.2567) นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โบคาไวรัส เป็นเชื้อไวรัสที่พบได้ไม่บ่อยนัก โดยมักพบในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี สามารถก่อให้เกิดการติดเชื้อได้ทั้งในระบบทางเดินหายใจ และทางเดินอาหาร

อาการที่พบได้บ่อยคือ ไอ น้ำมูก มีไข้ และบางคนอาจมีอาการท้องเสียร่วมด้วย ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรงและหายได้เอง ในช่วงที่มีปัญหาฝุ่น PM2.5 เพิ่มสูงขึ้น อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงขึ้นได้ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง

อ่านข่าว ยาฟรีภาษีเรา! เสี่ยงผิดใช้สิทธิบัตรทองรับยาโพสต์ขายราคาถูก

จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคติดเชื้อทางเดินหายใจของสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ร่วมกับกรมควบคุมโรค และองค์กรที่เกี่ยวข้อง โรคหลักในไทย ยังคงเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ รองลงมาคือเชื้อ Rhinovirus/Enterovirus และ COVID-19

สำหรับโบคาไวรัส พบได้น้อย และอาจตรวจพบได้เมื่อทำการส่งตรวจหาเชื้อกรณีพิเศษเช่น การตรวจเชื้อทางเดินหายใจหลายสายพันธุ์ในเวลาเดียวกัน โดยพบในช่วงร้อยละ 1.8–3 จากการสำรวจเก็บตัวอย่างจากหลายภูมิภาคของไทย สำหรับสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี พ.ศ.2566 พบร้อยละ 9 และปี 2567 พบร้อยละ 5

อ่านข่าว กรมอนามัยยัน "โนโรไวรัส" ระบาดในระยองเป็น "ข่าวปลอม"

นพ.อัครฐาน จิตนุยานนท์ ผอ.รสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กล่าวว่า การรักษาเป็นการรักษาตามอาการ เน้นการดูแลประคับประคอง ให้ยาลดไข้ ยาแก้ไอ และดื่มน้ำให้เพียงพอ ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

สำหรับการป้องกัน เนื่องจากโบคาไวรัสเป็นเชื้อที่ไม่มีเยื่อหุ้มไขมัน (non-enveloped virus) จึงทนทานต่อแอลกอฮอล์ล้างมือ การล้างมือด้วยสบู่และน้ำสะอาดจึงมีประสิทธิภาพในการกำจัดเชื้อได้ดีกว่า

นอกจากนี้ ควรสวมหน้ากากอนามัยโดยเฉพาะในช่วงที่มีฝุ่น PM2.5 สูง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และพักผ่อนให้เพียงพอ และควรได้รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่และปอดอักเสบตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อและการเกิดภาวะแทรกซ้อน

อ่านข่าว 

กทม.ฝุ่น PM2.5 เกินเกณฑ์ 2 พื้นที่ หนองแขม-ทวีวัฒนา

ดรามา! เฮลิคอปเตอร์บินไล่ "สีดอดำ" ช้างป่าภูกระดึงตกใจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง