จบไปแล้ว มหากาพย์คดี "ยุน ซอก-ยอล" หลังจากฝ่ายค้านเตรียมการเอาผิดฐานประกาศ "กฎอัยการศึก" แต่สมาชิกพรรคพลังประชาชน (People Power Party) ได้วอล์กเอาท์จึงถือว่า โมฆะ แต่การลงมติครั้งที่สอง กลับสามารถยื่นถอดถอนอดีตอัยการสูงสุดผู้นี้ ออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งเกาหลีใต้สำเร็จ ด้วยจำนวน 204 เสียง
หลายคนมักคิดว่า การที่สภาลงมติยื่นถอดถอน คือ ยุนออกจากตำแหน่ง หมายถึงการทำให้ยุน ต้องติดคุก และปิดเกม แต่ข้อเท็จจริงไม่ใช่เช่นนั้น เนื่องจากขั้นต่อไปต้องให้ "ศาลรัฐธรรมนูญ" เป็นผู้ชี้ขาดว่า ที่สุดแล้ว อดีตอัยการสูงสุดผู้นี้ จะนั่งในตำแหน่งจนครบวาระ หรือติดคุกตาม พัค กึน ฮเย อดีตประธานาธิบดีหญิงคนแรกของเกาหลีใต้ โดยมีระยะเวลา 6 เดือนหรือ 180 วันในการไต่สวนและสืบพยานทั้งหมด เปิดโอกาสให้ยุนได้หายใจอีกเฮือกหนึ่ง
แม้ศาลรัฐธรรมนูญในเกาหลีใต้ จะมีชื่อเหมือนกับประเทศไทย แต่ที่น่าสนใจ คือ ศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ ถือเป็น "ที่พึ่งของประชาชน" ทุกชนชั้น และไม่ว่า ข้าราชการประจำ ข้าราชการการเมือง หรือแม้แต่สายงานยุติธรรม ต่างให้ความเคารพในการทำหน้าที่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น ทั้งที่ความเป็นจริง อำนาจที่ได้มา ไม่เกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์กับ "ประชาชน" ผู้เป็นเจ้าของประเทศแต่อย่างใด
ศาลรัฐธรรมนูญ "อำนาจเหนือการเมือง" เกาหลีใต้
ThaiPBS Online สัมภาษณ์ ศ.ดร.นภดล ชาติประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ และกรรมการประจำสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ว่าที่ร้อยตรี เสกสรร อานันทศิริเกียรติ ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ สมาคมไทยคดีศึกษาแห่งสาธารณรัฐเกาหลี (Korean Association of Thai Studies : KATS) ในประเด็นดังกล่าว
ศ.ดร.นภดล ให้ข้อมูลว่า การเกิดขึ้นของศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ ยุคแรกเพื่อไล่เช็กบิล "กฎหมายอยุติธรรม" ที่เป็นมรดกตกทอดมาจาก "รัฐธรรมนูญยูชิน (Yushin Constitution)" ที่ผู้นำอำนาจนิยมสุดยิ่งใหญ่นาม พัค ช็อง-ฮี รวมถึง ช็อน ทู-ฮวัน ให้มีผลเป็นโมฆะ ส่งผลให้บรรดานักโทษการเมือง นักเคลื่อนไหว หรือผู้ชุมนุม ได้รับการอภัยโทษแบบอัตโนมัติ
โดยศาลรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย ตุลาการ 9 คน แบ่งตาม "โควตา" การแต่งตั้งโดยมีฝ่ายอำนาจละ 1 ใน 3 เพื่อให้เกิดความสมดุล คือ โควตาจากประธานาธิบดีแต่งตั้ง 3 ตำแหน่ง (อำนาจบริหาร) โควตาจากสมัชชาแห่งชาติ 3 ตำแหน่ง (อำนาจนิติบัญญัติ) และโควตาจากศาลฎีกา 3 ตำแหน่ง โดยกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งและพ้นจากตำแหน่งไม่เท่ากัน
ขณะที่ ว่าที่ร้อยตรี เสกสรร ชี้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ คือ "ประดิษฐกรรมทางการเมือง" ที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุดของดินแดนพยัคฆ์คำรน เพราะเป็นองค์กรอิสระ ฐานอำนาจไม่ได้มาจากประชาชน แต่ชาวเกาหลีใต้กลับเลื่อมใสและให้ความเคารพ ในการทำหน้าที่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอย่างมาก
ศาลในเกาหลีใต้ จัดตั้งเพื่อพิจารณาคดีเฉพาะเรื่อง แต่ศาลรัฐธรรมนูญ พิเศษกว่า จัดตั้งเพื่อรับรองและวินิจฉัยกฎหมายสูงสุดของประเทศ วินิจฉัยความผิดหากมีการกระทำที่เป็นปฎิปักษ์ต่อการปกครอง หรือยุบพรรคการเมือง ถือว่าอำนาจสูงมาก และประชาชนให้ความยำเกรงและน้อมรับ เรียกได้ว่า เป็นสิ่งที่มหัศจรรย์มาก
แต่ประเด็นที่เป็นจุดสำคัญมากในปัจจุบัน คือ อำนาจวินิจฉัยและการยื่นถอดถอน (Impeachment) ประธานาธิบดี ตามประวัติศาสตร์ของประเทศ มีการชี้มูลความผิดในประเด็นดังกล่าวมาแล้วจำนวน 3 ครั้งด้วยกัน
ครั้งแรก เป็นการตัดสิน Impeachment "โน มู-ฮยอน" ในคดีให้ความช่วยเหลือสมาชิกพรรคหาเสียงเลือกตั้ง โดยตุลาการชี้มูลว่า "ไม่มีความผิด" ตามกฎหมาย แต่ผิดมารยาททางการเมือง
ครั้งที่สอง เป็นการตัดสิน Impeachment "พัค กึน-ฮเย" ในคดีปล่อยปละละเลยและเปิดช่องทางให้ผู้ใกล้ชิดทำทุจริต ตุลาการชี้มูลว่า "มีความผิด" ต้องลงจากตำแหน่งผู้นำประเทศ และติดคุกในบั้นปลาย
ส่วนครั้งที่สาม "ยุน ซอก-ยอล" กำลังอยู่ในกระบวนการ Impeachment
โดยประเด็นดังกล่าว หากใช้กระบวนการยุติธรรมแบบปกติ จะไม่สามารถเอาผิดผู้นำได้ เนื่องจากเอกสิทธิ์ทางกฎหมาย ตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา 84 ระบุว่า ประธานาธิบดีเกาหลีใต้จะได้รับการป้องกันจาก "คดีอาญา" หากยังคงการดำรงตำแหน่ง ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญถือเป็น "ที่พึ่งสุดท้าย" ของทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ หรือประชาชน ที่พอจะ "สอย" ประธานาธิบดีให้หล่นจากตำแหน่งได้
ว่าที่ร้อยตรี เสกสรร ชี้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้เป็น "ผู้ตัดสินเหนือการเมือง (Political Referee)" เพราะเวลาตัดสินคดี ไม่มีหลักลอย มั่วซั่ว เลอะเทอะ แต่จะอิงอยู่กับรัฐธรรมนูญเป็นหลัก โดยสิ่งที่ตุลาการจะกล่าวเมื่อเปิดคำวินิจฉัยเสมอมา คือ "อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน" และ "ธำรงไว้ซึ่งหลักประชาธิปไตยขั้นพื้นฐาน"
ดังกรณียกตัวอย่าง เช่น การยุบพรรค Unified Progressive Party (UPP) ที่ฝักใฝ่เกาหลีเหนือ แม้ตุลาการจะตัดสินยุบพรรคด้วยคำวินิจฉัยที่ค่อนข้างแรง คือ ล้มล้างการปกครอง และมีใจปฏิพัทธ์ต่อคอมมิวนิสต์ เป็นอันตรายต่อประเทศ แต่ไม่ได้ตัดสิทธิ์ทางการเมืองสมาชิกพรรค เพราะถือว่าไม่เกี่ยวกัน ไปหาพรรคใหม่สังกัดได้
หมายความว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ สนใจเรื่องของหลักยึดมั่นทางกฎหมาย มากกว่าเจตจำนงของปัจเจก คือ สนใจเพียงว่า สถาบันการเมืองทำลายระบอบ แต่ผู้คนไม่เกี่ยวข้องกับการทำลายระบอบ ยังคงเป็นองค์ประกอบของอำนาจอธิปไตย เพราะไม่อย่างนั้น ตุลาการต้องยื่นเรื่องให้ออกหมายจับไปแล้ว
ศาลรธน. วินิจฉัยคดี "ดี-ไม่ดี" อยู่ที่ "ใครได้-เสียประโยชน์"
แม้จะเข้าใจได้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้มี "หลักการพื้นฐาน" ในการวินิจฉัยทุกครั้ง แต่หลายต่อหลายครั้ง ตุลาการมักตัดสิน "โน้มเอียง" ไปทางประชาชน ซึ่งไม่แปลก แต่โน้มเอียงไปทาง สมัชชาแห่งชาติ เจ้าของอำนาจนิติบัญญัติ ถือว่า แปลกมาก เพราะเป็นที่ครหาว่า ท้ายที่สุดแล้ว องค์กรอิสระแห่งนี้ เป็นเพียง "อัศวินประชานิยม (Guardian of Populism)" ปกปักเสียงข้างมาก และ "บอนไซ" อำนาจบริหารบ่อยครั้ง
ข้อมูลจากงานวิจัย Constitutional Court of Korea: Guardian of the Constitution or Mouthpiece of the Government? เขียนโดย แชฮัก ฮัม (Chaihark Hahm) ศาสตราจารย์ด้านรัฐธรรมนูญเปรียบเทียบ มหา วิทยาลัยยอนเซ เสนอว่า ศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ โดยอำนาจหน้าที่แล้ว เป็นองค์กรภายใต้รัฐธรรมนูญที่ได้รับการวางอำนาจหน้าที่เป็น "ผู้ตัดสินทางการเมือง" ในประเด็นที่สถาบันทางการเมืองปกติไม่สามารถหาทางออกได้ หรือมีสถานะ "อยู่พ้นไปจากการเมือง" หรือ "Metapolitics"
ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีความเป็นอิสระในการตัดสินใจ และทุกการตัดสินใจนั้นอยู่ภายใต้กฎหมายสูงสุดของประเทศเป็นหลัก แน่นอน จะให้ถูกอกถูกใจทุกฝ่ายคงเป็นไปไม่ได้ แต่ส่วนใหญ่แล้ว หากว่าตัดสิน "ไม่ถูกใจ" ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง มักจะได้รับครหาว่า "เอนเอียง" เช่น หากตัดสินเข้าข้างฝ่ายบริหาร จะได้รับการตั้งแง่จากประชาชนว่าเป็น "กระบอกเสียงรัฐบาล" กลับกัน หากตัดสินเข้าข้างประชาชน ฝ่ายบริหารจะตั้งแง่ว่าเป็น "อัศวินประชานิยม" ซึ่งเป็นเรื่องที่ตลกอย่างมาก
ขณะที่ ศ.ดร.นภดล และ ว่าที่ร้อยตรี เสกสรร เห็นสอดคล้องว่า หากพิจารณาประวัติศาสตร์ Impeachment แล้ว ตุลาการไม่ได้ตัดสินเข้าข้างประชาชนหรือนิติบัญญัติเสมอไป เห็นได้จากกรณี โน มู-ฮยอน ที่ก็รอดจากการกล่าวหาเรื่องช่วยหาเสียง หรือ คำวินิจฉัยกรณีอื่น ๆ เช่น การยื่นถอดถอน ยุน ซอก-ยอล ในกรณี "เหยียบกันตายที่อิแทวอน" ตุลาการชี้มูลว่า เป็นเรื่องสุดวิสัย ไม่ควรมายื่น Impeachment พร่ำเพรื่อ ไม่อย่างนั้นใครจะบริหารประเทศ
หรือกรณีวินิจฉัยแก้ไขกฎหมายการเลือกตั้งท้องถิ่น ว่าที่ร้อยตรี เสกสรร ชี้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินได้ "น่าเลื่อมใส" ที่สุด เพราะได้ชี้มูลว่า การที่ผู้สมัครสมาชิกสภาท้องถิ่นที่ไม่สังกัดพรรค ต้องจ่ายเงินหาเสียงเยอะกว่าผู้สมัครแบบสังกัดพรรค ถือว่าเป็นสิ่งที่ขัดกับรัฐธรรมนูญว่าด้วย "ความเสมอภาคของประชาชน"
คุณภาพของการวินิจฉัย คนละเรื่องกับ ผลลัพธ์คำวินิจฉัย หากตุลาการยืนอยู่บนหลักการบางอย่างเป็นบรรทัดฐาน ในที่นี้คือรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะวินิจฉัยอย่างไร ย่อมสะท้อนคุณภาพ … แต่หากผลลัพธ์ออกมาไม่ถูกใจฝ่ายตน ส่วนใหญ่ตีโพยตีพายทั้งนั้น หากตัดสินได้ถูกใจ คือ เงียบกริบ … ซึ่งไม่เป็นประเด็นใด ๆ
ทั้งนี้ ว่าที่ร้อยตรี เสกสรร ย้ำว่า กระบวนการยุติธรรมทั่วทั้งโลกยึดหลัก "ตัดสินใจโดยอิสระ (Independent Decision)" เป็นแก่นของตนเอง หมายความว่า อำนาจของศาลจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อตัดขาดตนเองออกจากอำนาจนิติบัญญัติและบริหารอย่างสมบูรณ์ ดังนั้น ศาลเกาหลีใต้ส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะ "ตัดสินตามเสียงประชาชน" เพราะถือเป็นฐานอำนาจที่ "ไม่สามารถแทรกแซงทางการเมือง" ต่อพวกเขาได้
อำนาจตุลาการ คือ การจำกัดอำนาจรัฐ ต้องไม่ให้ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารมีอำนาจมากเกินไป ประชาชนคือรากฐานที่จำกัดอำนาจรัฐได้อย่างชอบธรรมมากที่สุด ศาลรัฐธรรมนูญจึงเลือกเห็นใจผู้คนเป็นหลัก
"หมากตุลาการ" ทางรอดสุดท้าย "ยุน"
อย่างไรก็ตาม แม้ศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ จะแน่นในหลักการแล้ว ยังยึดมั่นในแก่นของตนเอง คือ จำกัดอำนาจรัฐ ส่งผลให้คำวินิจฉัยมักจะออกมาแนวเข้าข้างประชาชน ซึ่งผลลัพธ์ก็เป็นเช่นนั้น มีส่วนน้อยจริง ๆ ที่ศาลจะยืนข้างฝ่ายบริหาร แต่คุณภาพไม่ได้ตัดกันที่ผลลัพธ์ แต่ตัดกันที่จุดยืน
และเมื่อพิจารณา "องค์ประกอบ" ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะชี้เป็นชี้ตายยุน จะพบถึงความผิดปกติ และอาจเป็นช่องทางให้ประธานาธิบดีเป็ดง่อยผู้นี้ "ไม่สิ้นชีพง่าย ๆ"
งานศึกษา A Critical Review on Composition of the Constitutional Court of Korea เขียนโดย ชอน ซัง-ฮยอน ศาสตราจารย์ด้านกฎหมาย มหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล เสนอว่า โควตาในการแต่งตั้งคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แม้จะทำตามเสียงของประชาชนโดยหลักการ แต่ "ที่มาของอำนาจ" นั้นขาดการยึดโยงกับประชาชนทั้งสิ้น หมายความว่า แม้จะยังไม่เกิดการปฏิบัติ แต่มีช่องมีฉากให้ตุลาการ "สำนึกบุญคุณ" ของอำนาจที่แต่งตั้งตนเองให้ขึ้นสู่อำนาจได้โดยง่าย
ศ.ดร.นภดล ให้ข้อคิดว่า การจะยื่นถอดถอนประธานาธิบดีโดยสมบูรณ์ ต้องใช้จำนวน 6 เสียง จาก 9 เสียง หรือ 1 ใน 3 แต่ขณะนี้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีเพียง 6 ตำแหน่ง ขาดไปอีก 3 ตำแหน่ง ซึ่งตำแหน่งที่ขาดหายไปนั้น เป็นโควตาของ "สมัชชาแห่งชาติ" ทั้งสิ้น
แม้ตามหลักการจะสามารถชี้มูลความผิดได้ เพราะถือว่าไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 แต่หากพิจารณา "รอยทาง" การแต่งตั้ง จะพบว่า เป็นโควตาของประธานาธิบดี และศาลฎีกา และมีจำนวนมากถึง 4 ตำแหน่ง ที่ได้รับการแต่งตั้งในสมัย ยุน ซอก-ยอล (ตามโควตาศาลฎีกา 3 ตำแหน่ง ตามโควตาประธานาธิบดี 1 ตำแหน่ง) มีเพียง 2 ตำแหน่งที่แต่งตั้งในสมัย มุน แจ-อิน ที่อยู่ข้างฝ่ายค้าน
และที่สำคัญ 3 ตำแหน่งในโควตาสมัชชาแห่งชาติยังคง "ว่างอยู่" และไม่แน่ว่า โควตาทั้ง 3 ที่จะแต่งตั้งมาภายหลัง จะเป็นตุลาการจากฝ่ายค้านทั้งหมด ไม่มีฝ่ายรัฐบาลมาผสม หมายความว่า ตอนนี้ แขนขาของฝ่ายค้านในศาลรัฐธรรมนูญนั้น "เสียเปรียบ" ฝ่ายยุนอย่างมาก
ตุลาการตัดสินตามหลักการ เราทราบกันดี แต่ใครผลักดันขึ้นสู่อำนาจ ตรงนี้ก็มีผล คิดดู ฝ่ายค้านต้องใช้จำนวน 6 เสียง เพื่อเอายุนออกจากตำแหน่ง แต่หากยุนโนมน้าวได้ 4 เสียง เท่ากับว่ารอดสบาย ๆ เพราะเสียงตุลาการจะไม่ถึง 6 ทันที
ศ.ดร.นภดล แสดงความกังวลว่า ยุนเองก็เป็นอัยการสูงสุดมาก่อน ไม่เหมือนกับประธานาธิบดีที่แล้ว ๆ มา เขาแสดงความมั่นใจอย่างมาก และตั้งทีมกฎหมายเตรียมสู้พร้อมสรรพ อย่าลืมว่า ตอนนี้ สมัชชาผ่านร่างงบประมาณ ปี 2025 มาให้รัฐบาลเรียบร้อยแล้ว แม้จะถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่เขาสามารถใช้ "นอมินี" นาม ฮัน ดอก-ซู ในฐานะรักษาการประธานาธิบดี รวมไปถึง คณะรัฐมนตรี ที่ไม่ได้ออกจากตำแหน่ง เพื่อขับเคลื่อนประเทศต่อไปได้
"คาดว่ายุนจะยื้อ Impeachment ให้นานที่สุดอย่างแน่นอน อาจจะยาวไปถึงสุดระยะเวลา คือ 180 วัน และพอจะมีหนทางรอดอยู่ด้วย เชื่อได้เลยว่า การต่อสู้ครั้งนี้จะรุนแรงที่สุดเท่าที่เคยเป็นมาแน่นอน" ศ.ดร.นภดล กล่าวทิ้งท้าย
แหล่งอ้างอิง
Constitutional Court of Korea: Guardian of the Constitution or Mouthpiece of the Government?, A Critical Review on Composition of the Constitutional Court of Korea, The Constitutional Court and judicialization of Korean politics