ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ยื่นภาษี 2567 ให้คุ้ม! วิธีใช้ "ค่าลดหย่อน" ให้เต็มสิทธิ์

เศรษฐกิจ
13 ธ.ค. 67
18:11
1,975
Logo Thai PBS
ยื่นภาษี 2567 ให้คุ้ม! วิธีใช้ "ค่าลดหย่อน" ให้เต็มสิทธิ์
ก่อนยื่นภาษีปี 2567 อย่าลืมตรวจสอบสิทธิ์ค่าลดหย่อนของคุณ เช่น ลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท ลดหย่อนบุตร 30,000 บาท หรือค่าประกันชีวิตและกองทุนออมเพื่ออนาคต ทั้งหมดนี้ช่วยลดฐานภาษีและประหยัดเงินได้จริง อยากรู้ว่าคุณมีสิทธิ์อะไรบ้าง ?

ค่าลดหย่อนและยกเว้นเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบในการคำนวณภาษีที่กฎหมายกำหนดให้นำไปหักออกจากเงินได้ ได้อีกหลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้ว โดยมีการหักลดหย่อนกรณีต่าง ๆ แตกต่างกันออกไป สรุปได้ดังนี้

กรณีบุคคลธรรมดา หรือผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี

  1. ผู้มีเงินได้ 60,000 บาท
  2. คู่สมรส (ไม่มีเงินได้) 60,000 บาท
  3. ผู้มีเงินได้หรือคู่สมรสต่างฝ่ายต่างมีเงินได้หักลดหย่อนรวมกันได้ ไม่เกิน 120,000 บาท
  4. บุตรชอบด้วยกฎหมายและบุตรบุญธรรม คนละ 30,000 บาท แต่รวมกันต้องไม่เกิน 3 คน
  5. ค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้มีเงินได้ โดยบิดามารดาต้องมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ขอหักลดหย่อนไม่เกิน 30,000 บาท หักค่าลดหย่อน คนละ 30,000 บาท และสามารถหักลดหย่อนสำหรับบิดามารดาของคู่สมรสได้อีกคนละ 30,000 บาท
  6. ค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ หักค่าลดหย่อน คนละ 60,000 บาท
  7. ค่าเบี้ยประกันชีวิต (กรมธรรม์อายุ 10 ปีขึ้นไป) ของผู้มีเงินได้หักค่าลดหย่อนและได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท ทั้งนี้ หากคู่สมรสมีการประกันชีวิตและความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษี ผู้มีเงินได้มีสิทธิหักลดหย่อน สำหรับเบี้ยประกันชีวิตของคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้หักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท แต่หากสามีภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้
    • ถ้าความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษีที่ได้รับยกเว้นภาษีและภริยาใช้สิทธิแยกยื่นรายการและเสียภาษีต่างหากจากสามี ตามมาตรา 57 เบญจ แห่งประมวลรัษฎากร ให้สามีและภริยาซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ต่างฝ่ายต่างได้รับยกเว้นภาษีตามจำนวนที่จ่ายจริง เฉพาะส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 90,000 บาท ซึ่งไม่เกินเงินได้พึงประเมินของแต่ละคนหลังจากหักค่าใช้จ่าย ตามมาตรา 42 ทวิ ถึงมาตรา 46 แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว
    • ถ้าความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษีที่ได้รับยกเว้นภาษีและภริยาไม่ใช้สิทธิแยกยื่นรายการและเสียภาษีต่างหากจากสามีตามมาตรา 57 เบญจ แห่งประมวลรัษฎากร ให้สามีและภริยาซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ต่างฝ่ายต่างได้รับยกเว้นภาษีตามจำนวนที่จ่ายจริง เฉพาะส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 90,000 บาท ซึ่งไม่เกินเงินได้พึงประเมินของแต่ละคนหลังจากหักค่าใช้จ่าย ตามมาตรา 42 ทวิ ถึงมาตรา 46 แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว
    • ถ้าความเป็นสามีภริยามิได้มีอยู่ตลอดปีภาษีที่ได้รับยกเว้นภาษี ให้สามีและภริยาซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ ต่างฝ่ายต่างได้รับยกเว้นภาษีตามจำนวนที่จ่ายจริง เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 90,000 บาท ซึ่งไม่เกินเงินได้พึงประเมินของแต่ละคนหลังจากหักค่าใช้จ่าย ตามมาตรา 42 ทวิ ถึงมาตรา 46 แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว
  8. ค่าเบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดาของผู้มีเงินได้และคู่สมรส หักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท ทั้งนี้ บิดามารดาของผู้มีเงินได้และคู่สมรสต้องไม่มีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้เกิน 30,000 บาท
  9. เงินสะสมที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท ส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 490,000 บาท และไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้
  10. เงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ได้รับยกเว้นเท่าที่จ่ายเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ในอัตราไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินได้พึงประเมินที่ได้รับซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ในปีภาษีนั้น และเมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ เงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เงินสะสมเข้ากองทุน สงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน และเงินสะสมเข้ากองทุนการออมแห่งชาติแล้ว แต่ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
  11. ค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ หักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง ไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้ที่นำมาเสียภาษีเงินได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
    ทั้งนี้ ต้องเป็นค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ความคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป และจ่ายผลประโยชน์เงินบำนาญเมื่อผู้มีเงินได้อายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไปถึงอายุ 85 ปีหรือกว่านั้น และเมื่อรวมกับเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน เงินที่ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนเพื่อการออม SSF และเงินสะสมเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
  12. เงินสะสมกองทุนการออมแห่งชาติ หักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 500,000 บาท และเมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ เงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนและเงินที่ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท
  13. ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม SSF หักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินได้พึงประเมิน ต้องไม่เกิน 200,000 บาท
  14. ดอกเบี้ยกู้ยืมที่จ่ายให้แก่ธนาคารหรือสถาบันการเงินอื่น บริษัทประกันชีวิต สหกรณ์ หรือนายจ้างสำหรับการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารอยู่อาศัย โดยจำนองอาคารที่ซื้อหรือสร้างเป็นประกันการกู้ยืม หักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
  15. เงินสมทบประกันสังคม หักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง
  16. เงินลงทุนในหุ้น หรือการเป็นหุ้นส่วนเพื่อจัดตั้ง หรือเพิ่มทุนบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับจดทะเบียนวิสาหกิจเพื่อสังคมและได้จดแจ้งการเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม หักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
  17. ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ หักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 40,000 บาท
  18. เงินบริจาคให้แก่พรรคการเมือง เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่ให้เพื่อสนับสนุนการจัดกิจกรรมระดมทุนของพรรคการเมือง หักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท
  19. ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG) หักได้เท่าที่จ่ายจริง ไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินได้พึงประเมิน แต่ต้องไม่เกิน 100,000 บาท ต้องถือหน่วยลงทุนต่อเนื่องกันไม่น้อยกว่า 8 ปี นับตั้งแต่วันซื้อหน่วยลงทุน
  20. เงินบริจาค
    • เงินบริจาคสนับสนุนการศึกษา การกีฬา และโรงพยาบาลรัฐ ผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) หักได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน
    • เงินบริจาคอื่น หักได้เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน

กรณีห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล หรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล

หักค่าลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท แต่รวมกันต้องไม่เกิน 120,000 บาท

กรณีกองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง

หักค่าลดหย่อนได้60,000 บาท

อ่านข่าว : ไขทุกข้อสงสัย! ใคร-เอกสารอะไร ที่ต้องใช้ "ยื่นภาษี 2567"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง