จากกรณีภาพเสือโคร่งตัดหน้ารถบรรทุกยามดึก บนถนนสาย 304 ในพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.2567
ล่าสุดเจ้าหน้าที่สถานีวิจัยสัตว์ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ได้เข้าตรวจสอบพื้นที่ โดยระบุว่า พบรอยตีนบนพื้นดินที่ค่อนข้างนุ่ม วัดขนาดความกว้างอุ้งหน้าได้ 9 ซม. อุ้งหลัง 8.5 ซม. ชี้ชัดว่าเป็น "เสือโคร่งตัวผู้"
อย่างไรก็ตาม การร่อนเร่เป็นพฤติกรรมปกติของเสือโคร่งตัวผู้ ที่ต้องการเดินทางออกจากพื้นที่เดิมมาก ๆ เพื่อไม่ให้เกิดการผสมพันธุ์กันเองในหมู่เครือญาติ คาดว่าครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่เสือโคร่งวัยรุ่นเดินทางออกค้นหาพื้นที่เพื่ออาศัยหากิน แต่เป็นครั้งแรกที่ถูกบันทึกภาพได้ พร้อมยืนยันว่าไม่ใช่ "บะลาโกล" เสือโคร่งตาเดียวที่ถูกปล่อยคืนป่า
ข้อมูลจากการศึกษาวิจัยพบว่าช่วงเวลาของการสัญจรหาพื้นที่ของเสือโคร่งวัยรุ่น ทำให้มีอัตราการมีชีวิตรอดจนถึงวัยเจริญพันธุ์ต่ำ หรือเข้าใจง่าย ๆ คือ เสี่ยงตายสูง
ขณะที่นายประวัติศาสตร์ จันทร์เทพ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน กล่าวว่า เสือตัวดังกล่าวเป็นเสือโคร่งตัวผู้อายุ 3-5 ปี เชื่อว่าอาศัยอยู่บริเวณโซนป่าตอนเหนือของวังน้ำเขียว เบื้องต้นไม่พบร่องรอยอาการบาดเจ็บ ลักษณะภายนอกค่อนข้างปราดเปรียว แข็งแรง โดยเจ้าหน้าที่สำรวจพบรอยตีนบริเวณแหล่งน้ำ เชื่อว่าเป็นลักษณะการผ่านเส้นทาง เพื่อพยายามหาอาณาเขตของตัวเอง และหลีกเลี่ยงการปะทะกับเสือโคร่งเจ้าถิ่น ซึ่งในพื้นที่ป่าทับลานมีประชากรเสือโคร่ง ประมาณ 20-30 ตัว
เสือโคร่งน่าห่วง เขาเซนซิทีฟ โอกาสน้อยมากที่จะลงมาในชุมชน นอกจากป่วยหรือเสือแก่แล้วลงมาหาปศุสัตว์กิน แต่ตัวนี้เป็นวัยรุ่น คิดว่ายังไม่เจนจัด ไม่อยากสู้กับเจ้าถิ่น จึงลองข้ามถนนมาหาอาณาเขตของตัวเอง
ในวันพรุ่งนี้ (12 ธ.ค.2567) จะส่งทีมสำรวจเพิ่มเติมบริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาภูหลวง พร้อมทั้งติดตั้งกล้องในป่า เพื่อเฝ้าระวังภัยคุกคาม และจับภาพเสือโคร่งตัวดังกล่าว คาดว่าล่าสุดเสือโคร่งได้เข้าป่าไปแล้ว
สำหรับถนนที่พบเสือโคร่ง อยู่ในพื้นที่ทับลานบริเวณส่วนเหนือ และอีกฝั่งเป็นป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาภูหลวง ซึ่งขึ้นไปด้านทิศเหนือของคอร์ริดอร์ป่าทับลาน-เขาใหญ่ จึงมองว่าควรทำคอร์ลิดอร์ หรือทางเชื่อมผืนป่าเพิ่มเติมอีก 1 จุด
ควรทำคอร์ริดอร์เพิ่มเติม เพราะมีข้อมูลว่าโซนทางเหนือของทับลาน มีอุบัติเหตุรถชนกวาง เก้ง กระทิง หมี สัตว์พวกนี้จะได้ประโยชน์ และเพิ่มความปลอดภัยของผู้ขับขี่ด้วย
นอกจากนี้ จะประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจกับชาวบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่ทราบอยู่แล้วว่าพื้นที่ป่าทับลานมีเสือโคร่ง แต่พบได้น้อยมาก จึงอยากให้มองเป็นโอกาสว่าควรทางเชื่อมผืนป่าอีก 1 จุด และในอนาคตอาจผนวกพื้นที่ป่าเขาภูหลวงเป็นมรดกโลกด้วย ถือเป็นความสำเร็จในการดูแลเสือโคร่งของไทย
อ่านข่าว : อ.ธรณ์ เผยสาเหตุฉลามหางยาวโผล่เกาะพีพี ยันไม่คุ้นคน-ตกใจง่าย