ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"กองทัพเมินการเมือง" บทเรียนอัยการศึก "ยุน ซอก-ยอล" ไร้ผล

ต่างประเทศ
6 ธ.ค. 67
17:38
562
Logo Thai PBS
"กองทัพเมินการเมือง" บทเรียนอัยการศึก "ยุน ซอก-ยอล" ไร้ผล
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

การประกาศกฎอัยการศึกของ ยุน ซอก-ยอล ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ อาจเป็นการฆ่าตัวตายทางการเมืองและไร้เหตุผลอย่างมาก เนื่องจาก ฝ่ายค้านจ่อลงมติถอดถอน เพื่อนำไปสู่การขับออกจากตำแหน่ง ( Impeacement) และให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้มูลความผิดภายใน 180 วัน

ตามหลักการดังกล่าว หากจะให้ประสบความสำเร็จ จะต้องมี "ผู้รับลูก" ดำเนินการทั้งองคาพยพ ทั้งคณะรัฐมนตรี(ครม.) สมาชิกสมัชชาแห่งชาติ กองทัพ บรรดาฐานเสียงและแฟนคลับ ไม่เช่นนั้นการประกาศกฎอัยการศึกก็ไร้ผล

โดยเฉพาะ "กองทัพ" ที่ถือเป็นหน่วยงานรัฐที่ "ผูกขาดความรุนแรง" มีอาวุธและอำนาจในการลั่นไกเพื่อดูแลความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง หากนำทหารเข้าประจำการตามสถานที่สำคัญ ๆ ของประเทศ เช่น ธนาคารกลาง สมัชชาแห่งชาติ หรือแลนด์มาร์คทางเศรษฐกิจ และติดอาวุธครบมือ ประชาชนส่วนใหญ่ก็แทบจะอกสั่นขวัญแขวน แต่กองทัพเกาหลีกลับไม่สนใจ ปล่อยให้พลเรือนและประชาชนทำตามอำเภอใจจนยุนต้องยอมถอยในที่สุด

อ่านข่าว ประชาธิปไตยเกาหลีถูก "ยุน ซอก-ยอล " ทิ่มไม่ทะลุแค่ระคายเคือง

จึงเกิดคำถามว่า เหตุใด กองทัพเกาหลีใต้จึงไม่รับลูก ปล่อยผ่านให้พลเรือนและประชาชนคัดค้านกฎอัยการศึกได้โดยง่าย ทั้งที่ หากขยับตัวเพียงนิดเดียว ด้วยอำนาจและอาวุธที่มี ประชาชนก็เกือบยอมอย่างไร้เงื่อนไข แต่มีเหตุผลใดที่เกาหลีใต้นั้นประชาชนมีพลังอย่างมหาศาล

ทหารเกาหลี กับปมเหตุการณ์ "ควังจู 1980"

งานวิจัย การควบคุมโดยพลเรือนและการสร้างความมั่นคงให้กับประชาธิปไตยในเกาหลีใต้: จากการสร้างความเป็นทหารอาชีพสู่การสร้างความเป็นพลเรือนในกองทัพ เขียนโดย ผศ.ดร.นิธิ เนื่องจำนงค์ อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ชี้ว่า สูตรสำเร็จของกระบวนการประชาธิปไตยเข้มแข็ง (Democratic Consolidation) ของเกาหลีใต้ สิ่งสำคัญที่สุด คือ การที่กองทัพ"มีปม" กับการปราบปรามผู้ชุมนุมครั้งใหญ่ของประเทศ ที่เรียกว่า "การลุกฮือควังจู (Gwangju Uprising) " เมื่อปี 1980

"ทหารเกาหลีใต้ถือว่า ควังจู 1980 เป็น บาปกำเนิด (Original Sin) กองทัพที่ปรามผู้ชุมนุมนั้นไม่ใช่กองทัพเชิงสถาบัน แต่เป็นมุ้งในกองทัพบางคนเท่านั้น พวกเขาจึงเห็นโลงศพจากเหตุการณ์นี้ และยินดีไม่ขอยุ่งเกี่ยวทางการเมือง" ผศ.ดร.นิธิ กล่าวกับ ThaiPBS Online

การประท้วงในครั้งนี้ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 165 คน สูญหายกว่า 72 คน แม้จำนวนจะไม่มาก แต่ก็สร้าง "บาดแผลทางใจ (Traumatised) " ให้แก่ทหารที่ไม่เห็นด้วยกับการก่อการของกลุ่มที่อยู่ข้าง ช็อน ทู-ฮวัน ประธานาธิบดีสืบทอดอำนาจนิยมทหารในขณะนั้น

กองทัพเกาหลีใต้จึงเลือกที่จะ ปิดตาข้างหนึ่ง ไม่อยากเป็นผู้ร้ายในสายตาประชาชน ตรงนี้ สะท้อนวุฒิภาวะ (Maturity) ของพวกเขาได้เป็นอย่างดี ผันตัวมาเป็นที่พึ่งให้ประชาชน มากกว่าที่จะยืนตรงข้ามกัน
ที่มา: วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ที่มา: วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ที่มา: วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

นอกจากนี้ ผศ.ดร.นิธิ ยังเปิดเผยผ่าน Direk Podcast Ep.75 : รัฐศาสตร์กับปม ‘กฎอัยการศึก’ เกาหลีใต้ก่อนสภาโหวตคว่ำ | นิธิ เนื่องจำนงค์ ไว้อย่างน่าสนใจว่า นิยามขั้นต่ำ (Minimal Consolidation) ซึ่งถอดแบบมาจาก ฆวน ลินซ์ (Juan Linz) ว่า การจะทำให้ประชาธิปไตยเป็น "เกมเดียวที่จะเล่นด้วยกันทางการเมือง (The Only Game In Town)" ต้องกำจัดหน่วยงานที่ถืออาวุธออกไปให้หมดสิ้นก่อน ซึ่งก็คือกองทัพ

หากไม่ทำให้กองทัพออกจากการเมือง ประชาธิปไตยก็อยู่ไม่ได้ สิ่งนี้เป็นเรื่องพื้นฐานของความเข้มแข็งของระบอบนี้ ถือเป็นโจทย์หลักของเกาหลีใต้ที่ทำได้

เป็นโชคดีที่กองทัพเกาหลีใต้ "ยินยอม" ในเชิงสถาบัน อีกอย่าง กองทัพบางส่วนของประเทศ เช่น กองทัพตามแนวชายแดน DMZ ที่ติดกับเกาหลีเหนือ ถูกควบคุมโดยแบ่งอำนาจกันระหว่างเกาหลีใต้และสหรัฐฯ แม่กองทัพส่วนนี้จะอาวุธครบมือกว่ามาก แต่ใช่ว่าจะเคลื่อนพลมาช่วยได้โดยง่าย หากสหรัฐฯ ไม่ยินยอม

"ตรวจสอบทหาร"ประชาชน ผู้ควบคุมกฎ

แม้จะเข้าใจได้ถึงประวัติศาสตร์บาดแผลของกองทัพในการไล่ถลุงผู้ชุมนุมในเหตุการณ์ควังจู 1980 แต่ปัญหาที่ตามมา คือ ลำพังเพียง "การตระหนักรู้" ของกองทัพด้วยตนเอง "เพียงพอ" ต่อกระบวนการคิดและการตัดสินใจที่จะไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวทางการเมืองหรือไม่ หากมีทหารมุ้งใดมุ้งหนึ่งเกิดลุแก่อำนาจ และใช้อาวุธอย่างจริงจัง ทำให้ประชาชนหวาดกลัว ก็อาจเป็นผลให้เกิด "การพลิกกลับ" มาเป็นใหญ่เหนือพลเรือนได้เช่นกัน

ประเด็นดังกล่าว ผศ.ดร.นิธิ ชี้ว่า เกาหลีใต้มี "การควบคุมโดยประชาชน" หรือ "Civilian Control" อย่างเข้มแข็ง ซึ่งเป็นมาตั้งแต่การออกแบบดุลอำนาจของฝ่ายบริหารและตุลาการให้มี "สถานะเท่ากัน" คือ มาจากคะแนนนิยมของประชาชน หากประชาชนไม่พอใจฝ่ายบริหาร สามารถเลือกสมาชิกสมัชชาแห่งชาติไปยับยั้งอำนาจประธานาธิบดีในช่วงกลางสมัยได้

ประธานาธิบดีเกาหลีใต้มีอำนาจมากกว่า กษัตริย์ยุคโชซ็อนเสียอีก แต่ในความเข้มแข็ง ก็มีความอ่อนแอแฝงอยู่ คือ มีวาระอยู่ได้เพียงสมัยเดียว จำนวน 5 ปี ในช่วงปลายวาระ และสามารถเลือกสมัชชาไปคานอำนาจกลางสมัยได้ เท่ากับว่า คุมอะไรไม่ค่อยได้แล้ว ตรงนี้ เป็นการออกแบบให้ประชาชนเป็นใหญ่อย่างแท้จริง

ขณะที่ ว่าที่ร้อยตรี เสกสรร อานันทศิริเกียรติ ผู้อำนวยการฝ่ายประชา สัมพันธ์ สมาคมไทยคดีศึกษาแห่งสาธารณรัฐเกาหลี (Korean Association of Thai Studies : KATS) เห็นว่า "การควบคุมกองทัพโดยประชาชน" เพราะเกาหลีใต้มีปมกับกองทัพปกครองประเทศมาเกิน 30 ปี ดังนั้น การตัดแขนตัดขากองทัพด้วยประชาชนจึงเกิดเป็นแม่บท ประเด็นนี้คือ Point หลักของการปราบปรามคอร์รัปชันของเกาหลีใต้

Defense Acquisition Program Administration (DAPA) จึงเกิดขึ้น โดยวางอำนาจหน้าที่ไว้ว่า เมื่อใดก็ตามที่กองทัพจัดซื้อจัดจ้างยุทโธปกรณ์ ต้องทำหนังสือของบประมาณจากฝ่ายนิติบัญญัติ ต้องผ่านการอภิปรายในสมัชชาแห่งชาติ และจัดทำแผนจัดซื้อจัดจ้างร่วมกับคณะทำงานของสมัชชาแห่งชาติ หมายความว่า กองทัพไม่สามารถซื้ออาวุธได้ตามอำเภอใจ ผู้แทนจากประชาชนมีสิทธิ์ตรวจสอบ ยับยั้ง หรืออภิปรายไม่ไว้วางใจการจัดซื้อจัดจ้างของกองทัพได้

สิ่งเหล่านี้ คือ การเพิ่มอำนาจให้ประชาชน ส่งผลให้พลเรือนเกาหลีใต้สามารถ "กร่าง" ต่อบรรดาผู้ผูกขาดความรุนแรงทางการเมืองได้  ผศ.ดร.นิธิ ชี้ว่า เป็นการเพิ่ม "ต้นทุน (Costs) " ในการปราบปรามของกองทัพลง เนื่องจากประชาชนมีอำนาจแบบทั้งยวง ทั่วประเทศ ไม่ได้จำกัดอยู่ที่ชนชั้นใดชนชั้นหนึ่ง

ทหารต้องคิดว่า คุ้มหรือไม่กับการใช้อาวุธกับประชาชน ตายหมดประเทศทำอย่างไร แรงงานหมดประเทศ เศรษฐกิจจะอยู่อย่างไร ประชาชนเกาหลีใต้เอาตาย หากคิดจะทำจริง ๆ ไม่มีทางปล่อยให้รอดไปได้ง่าย ๆ

"ประชาชน VS ปธน." กองทัพเกาหลีใต้ "ฟังใคร"

ดังจะเห็นได้ว่า มีอยู่ 2 เงื่อนไขสำคัญ คือ การที่กองทัพเซนเซอร์ตนเองจากปริมณฑลทางการเมือง ไม่ขอยุ่งเกี่ยวจากการมีปมเรื่องกวาดล้างประชาชนในการชุมนุมที่ควังจู ปี 1980 และการควบคุมโดยประชาชนที่มีความเข้มแข็ง เล่นกันถึงตาย ถึงขนาดมีคำกล่าวที่ว่า ประธานาธิบดีเกาหลีใต้นั้นมีเส้นทางแบบ "From Blue House To Jail House" หรือ "จากทำเนียบฟ้าสู่เรือนจำ"

แต่คำถาม คือ ตามรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ ปี 1987 ระบุอำนาจของประธานาธิบดีไว้ว่าเป็น "จอมทัพ" ทหารต้องฟังคำสั่งจากผู้นำโดยตรง ซึ่งเรื่องนี้ทำให้เกิด "Imperial Presidency" หรือ "อำนาจประธานาธิบดีมหาศาล" แม้จะได้รับเลือกตั้งจากประชาชน หรือมีการวางกับดัก "เป็ดง่อย (Lame Duck) " ในช่วงกลางสมัย ก็สามารถวางเฉยต่อเสียงของประชาชนได้โดยง่าย

สรุปแล้วที่ทหารยึกยัก ไม่ใช้กำลังต่อประชาชน กลับกัน ยังมีการรวมพลเพื่อประจำการในสมัชชาแห่งชาติ เท่ากับว่าฟังคำสั่งของประธานาธิบดี ประเด็นนี้ทหาร "ฟังใครกันแน่" ระหว่าง ประธานาธิบดี VS ประชาชน

ประเด็นนี้ ไม่ใช่ว่าจะตอบกันได้ง่าย ๆ แต่สิ่งหนึ่งที่สามารถเรียนรู้ได้จากประกาศกฎอัยการศึกของ ยุน ซอก-ยอล เพื่อนำมาปรับใช้ต่อไทย ที่มีวังวนรัฐประหาร จึงมีคำถามว่าประชาชนกล้าชนกับกองทัพหรือไม่ และมีความกล้าเพียงพอที่จะเคลื่อนไหวร่วมกันทั้งประเทศหรือไม่ หรือทำได้เพียงนั่งโพสต์เฟสบุ๊คไปวัน ๆ ดังที่ ว่าที่ร้อยตรี เสกสรร บอกว่า "เว้าสิบ่เฮ็ด" หมายถึง "เน้นแพร่ม ไม่เน้นทำ"

"จริง ๆ เกาหลีใต้ ไม่มีเงื่อนไขใดที่เอื้ออำนวยให้เกิดประชาธิปไตย ชนชั้นนายทุนไม่เป็นอิสระจากรัฐ แรงงานถูกกดขี่มาก ไม่มีประสบการณ์ประชาธิปไตยมาก่อน เรียกร้องประชาธิปไตยล้มเหลวบ่อยครั้ง ถือว่าผิดทฤษฎีตะวันตกอย่างมาก แต่การเป็นประชาธิปไตยและไม่หวนกลับไปเป็นอำนาจนิยม คือ ความมหัศจรรย์แห่งแม่น้ำฮันจริง ๆ ดังนั้นไทยที่พอจะมีประสบการณ์ประชาธิปไตย ควรถอดบทเรียนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง" ผศ.ดร.นิธิ ทิ้งท้าย

แหล่งอ้างอิง

Direk Podcast Ep.75 : รัฐศาสตร์กับปม ‘กฎอัยการศึก’ เกาหลีใต้ก่อนสภาโหวตคว่ำ | นิธิ เนื่องจำนงค์, การควบคุมโดยพลเรือนและการสร้างความมั่นคงให้กับประชาธิปไตยในเกาหลีใต้: จากการสร้างความเป็นทหารอาชีพสู่การสร้างความเป็นพลเรือนในกองทัพ, "กฎอัยการศึก" ยุน ซอก-ยอล ทางออก VS ฆ่าตัวตายทางการเมือง

 

อ่านข่าว

 "กฎอัยการศึก" ยุน ซอก-ยอล ทางออก VS ฆ่าตัวตายทางการเมือง 

เกาหลีใต้สอบสวน "ข้อหากบฏ" บุคคลเกี่ยวข้องประกาศกฎอัยการศึก

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง