วันนี้ (4 ธ.ค.2567) นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) นัดประชุมทีมนักวิชาการสัตว์ทะเลหายาก เพื่อวางมาตรการแก้ปัญหาพะยูนตาย และหารือแนวทางการสนับสนุนการอนุรักษ์พะยูนในระยะเร่งด่วน
เบื้องต้น WWF จะช่วยประสานกับผู้เชี่ยวชาญด้านการฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเล และการดูแลพะยูนจากต่างประเทศ จัดทำแผนบริหารจัดการแบบบูรณาการแบบทุกภาคส่วนผ่านเครือข่าย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่
รวมทั้งจัดหาแหล่งทุนและอุปกรณ์เครื่องมือ เพื่อสนับสนุนเครือข่ายอนุรักษ์ของ ทช. มาตรการอาหารทดแทน และการสำรวจสถานภาพพะยูนทั้งในระยะใกล้และระยะยาว รวมทั้งช่วยรวบรวมข้อมูลการแพร่กระจายของพะยูนที่อาจอพยพไปประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเป็นข้อมูลในการวางแผนดำเนินการต่อไป
อ่านข่าว มหาภัยพิบัติ หายนะโลกปี'67 ป่วนสุดขั้วใกล้ตัว "มนุษยชาติ"
4 วันพะยูนตาย 6 ตัว
ส่วนปัญหาพะยูนตายพบว่าในรอบ 4 วันของต้นเดือนธ.ค.นี้ มีรายงานพะยูนตายอย่างต่อเนื่องรวม 6 ตัว คือกระบี่ 3 ตัว ตรัง 3 ตัว โดยวันนี้ ชาวบ้านแจ้งพบซากพะยูนตัวผู้โตเต็มวัยลอยตายบริเวณท่าเทียบเรืออ่าวน้ำเมา จ.กระบี่ ก่อนจะใช้เชือกผูกลากเข้าฝั่ง และแจ้งเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ให้เข้ามาตรวจสอบและเคลื่อนย้ายซาก
ตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า ซากพะยูนตัวดังกล่าวเป็นพะยูนตัวผู้โตเต็มวัย ยาวประมาณ 220 ซม. รอบตัว 129 ซม.หนักประมาณ 170 กก. จากการตรวจสอบเบื้องต้นไม่พบร่องรอยบาดแผลฉกรรจ์ เจ้าหน้าที่คาดว่าอาจจากการป่วยตามธรรมชาติ
ชาวบ้านบอกว่า ซากพะยูนที่เป็นซากพะยูนตัวที่ 3 แล้ว ที่ตายในพื้นที่จ.กระบี่ ภายในระยะเวลา 3 วัน ตัวแรกพบใน อ.เกาะลันตา ตัวที่สองใน อ.เหนือคลอง และตัวล่าสุดในอ.เมืองกระบี่
ส่วนที่ จ.ตรัง เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.พบซากพะยูนตายเพิ่มอีก 2 ตัว ตัวแรกพบลอยตายในช่วงเช้าที่บ้านเกาะมุกด์ ต.เกาะลิบง อ.กันตัง ต่อมาช่วงเย็น พบซากพะยูน ลอยตายอีก 1 ตัว ที่บริเวณหน้าหาดหยงหลิง เขตอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม และ แจ้งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบ พร้อมขนย้ายซากส่งศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง เพื่อทำการผ่าชันสูตร
ส่วนผลผ่าชันสูตรซากพะยูนตัวแรก ที่พบบ้านเกาะมุกด์ ตำบลเกาะลิบง พบเป็นพะยูน เพศผู้ ความยาววัดได้ 172 ซม. น้ำหนัก 55 กก.ยังไม่โตเต็มวัย สภาพซากสด ความสมบูรณ์ของร่างกายค่อนข้างผอม
ผลสำรวจหญ้าทะเล ในพื้นที่จ.กระบี่พบเหลือไม่ถึง 25%
ผลชันสูตรพะยูน บางตัวป่วยตาย-ผอม
ลักษณะภายนอกพบบาดแผลจากรอยเขี้ยวของพะยูนบริเวณหลัง ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมฝูง มีเพรียงเกาะบริเวณรอบลำตัวเล็กน้อย บริเวณด้านข้างลำตัว พบรอยแผลยาว 12 เซ็นติเมตร ความลึก 1-1.5 เซ็นติเมตร พบเศษหญ้าทะเลภายในปาก ไม่พบบาดแผลฉกรรจ์หรือบาดแผลจากเครื่องมือประมง
เมื่อเปิดผ่าดูอวัยวะภายใน พบเงี่ยงกระเบนขนาด 2 ซม. ฝังอยู่ภายในชั้นกล้ามเนื้อ บริเวณด้านล่างส่วนท้ายของลำตัว ซึ่งไม่ใช่สาเหตุของการตาย บริเวณถุงหุ้มหัวใจมีน้ำสีใสคั่ง เนื้อเยื่อไขมันบริเวณหัวใจเหลว ปอดสีไม่สม่ำเสมอ พบฟองอากาศ และเลือดคั่งภายในเนื้อเยื่อปอด ตับอ่อนสีซีด และพบพยาธิใบไม้อยู่ภายในเนื้อเยื่อ ภายในกระเพาะอาหารไม่พบเศษอาหาร และพบพยาธิตัวกลม 687 ตัว บริเวณลำไส้ใหญ่พบเศษเอ็น แต่ไม่ใช่สาเหตุการตาย
สรุปสาเหตุการตายคาดว่า เกิดจากการป่วยตามธรรมชาติ เนื่องจากพบความผิดปกติของหัวใจ ปอด ตับอ่อน ทำให้สัตว์ป่วยเรื้อรัง และไม่ได้กินอาหารเป็นเวลานาน ส่งผลให้อ่อนแอและตายลงในที่สุด
ผลสำรวจหญ้าทะเล ในพื้นที่จ.กระบี่พบเหลือไม่ถึง 25%
หญ้าทะเลกระบี่ตายเหลือไม่ถึง 25%
ขณะที่ ทช.ติดตามสถานการณ์หญ้าทะเลเสื่อมโทรมในพื้นที่อ่าวนางอ่าว อ่าวท่าเลน หมู่เกาะด้ามหอก–ด้ามขวาน และกลุ่มเกาะศรีบอยา (บ้านแหลมหิน บ้านคลองรั้วเกาะโต๊ะหลำ เกาะสีมา และเกาะปูด้านใต้) จ.กระบี่ ครอบคลุมพื้นที่ 7,776 ไร่ พบหญ้าทะเล 9 ชนิด ได้แก่ หญ้าคาทะเล หญ้ากุยช่ายเข็ม หญ้ากุยช่ายทะเล หญ้าชะเงาปลายใบมน หญ้าชะเงาปลายใบฟันเลื่อย หญ้าชะเงาเต่าหญ้าใบมะกรูด หญ้าเงาใบเล็ก และหญ้าเงาใบใหญ่
สถานภาพหญ้าทะเลโดยรวมในทุกพื้นที่อยู่ในระดับการปกคลุมของหญ้าทะเลต่ำ มีการปกคลุมของหญ้าทะเลน้อยกว่าร้อยละ 25 หญ้าคาทะเลที่พบในทุกพื้นที่มีลักษณะใบขาดสั้นไม่สมบูรณ์
โดยเฉพาะบริเวณเกาะปูด้านใต้ หญ้าคาทะเลยืนต้นตายกระจายทั่วทั้งบริเวณ และบริเวณบ้านแหลมหิน บ้านคลองรั้ว และเกาะโต๊ะหลำไม่พบหญ้าทะเล พื้นทะเลเป็นทรายปนโคลน พบดาวทราย และดาวแดงหนามใหญ่
อ่านข่าว
“น้ำท่วมใต้” กกร.ชี้เศรษฐกิจเสียหาย 10,000 ล้านบาท
“เทศบาลเมืองเบตง” สั่งปิดพื้นที่ดินสไลด์ รอ วสท.ตรวจสอบ