ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

วสท.คาด "โครงถัก" เสียหายหนัก ต้นเหตุโครงเหล็กพระราม 2 ถล่ม

สังคม
3 ธ.ค. 67
17:14
733
Logo Thai PBS
วสท.คาด "โครงถัก" เสียหายหนัก ต้นเหตุโครงเหล็กพระราม 2 ถล่ม
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

วันนี้ (3 ธ.ค.2567) จากเหตุการณ์โครงสร้างเหล็ก หรือ เครน สำหรับยกแผ่นเซกเมนต์ขึ้นประกอบเป็นทางยกระดับบนถนนพระราม 2 ช่วง มหาชัยเมืองใหม่ หักพังถล่ม ทางวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ในฐานะคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้พิจารณาจากสถานที่เกิดเหตุและภาพถ่ายเพื่อวิเคระห์หาสาเหตุ  

โดยระบุว่า การรื้อถอนเป็นเรื่องยากเนื่องจากโครงสร้างมีน้ำหนักมากจึงจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น เครื่องตรวจจับความเคลื่อนตัวของโครงสร้างจำนวน 6 ตัว ที่ได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร มาติดตั้งบริเวณเสาตอม่อในที่เกิดเหตุ รวมถึงใช้โดรนถ่ายภาพผ่านโปรแกรม 3 มิติ ตรวจจับพิกัดคำนวนจุดที่ต้องใช้เครนยกน้ำหนัก เพื่อตัดชิ้นส่วนต่าง ๆ รื้อถอน

ส่วนขั้นตอนระหว่างการรื้อถอนจำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมเข้าดูแลอย่างต่อเนื่อง เพราะทุกขั้นตอนมีความอันตรายเป็นอย่างมากโครงสร้างทุกส่วนพร้อมที่จะพังถล่มลงมาได้ทุกเมื่อ จึงได้ระดมรถเครนที่สามารถรองรับน้ำหนักสูงสุดได้มากกว่า 550 ตัน และรถเครนขนาดต่าง ๆ เข้ามาสนับสนุนการทำงาน โดยคาดการณ์ว่าการรื้อถอนจะสามารถดำเนินการให้แลวเสร็จได้ภายในวันที่ 9 ธ.ค.นี้

รศ.ภาณุวัฒน์ จ้อยกลัด ประธานคณะอนุกรรมการสาขาวิศวกรรมโครงสร้างและสะพาน วสท. เปิดเผยว่า ยังไม่สามารถที่จะสรุปข้อเท็จจริงได้ในขณะนี้ แต่สันนิษฐานว่าต้นเหตุของการเกิดอุบัติเหตุในครั้งนี้ว่า น่าจะเกิดจากจุดรับน้ำหนักของโครงทรัส หรือ โครงถัก (Truss structures) ที่เกิดความเสียหายหนักที่สุด ต้องตรวจสอบในเรื่องของการติดตั้งอุปกรณ์ และสภาพของโครงถักขณะทำการก่อสร้าง

ส่วนแผนภายหลังจากการรื้อถอนและเคลื่อนย้ายโครงสร้างที่พังเสียหายแล้วเสร็จ ทาง วสท.จะร่วมกับกรมทางหลวงตรวจสอบโครงสร้างทางยกระดับในจุดอื่นๆ รวมถึงอุปกรณ์ต่างๆที่ใช้ก่อสร้างว่ามีจุดไหนที่ได้รับความเสียหายเพิ่มเติมอีกหรือไม่ พร้อมทดสอบการทำงานของอุปกรณ์ต่างๆก่อนที่จะให้ทางผู้รับเหมาดำเนินการก่อสร้างต่อไปได้เพื่อความปลอดภัยต่อประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนบนเส้นทาง

ขณะที่ รศ.เอนก ศิริพานิชกร ที่ปรึกษาคณะกรรมการสาขาวิศวกรรมโยธา วศท. ยังได้เสนอแผนการป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ต่อกระทรวงคมนาคม ให้เป็นนโยบาย ดังนี้ 

  • ขึ้นทะเบียนอุปกรณ์ติดตั้งงานโครงสร้างสะพาน สามารถตรวจสอบมาตรฐานและที่มา รวมถึงการรักษาดูแลอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้งานแล้วกลับมาใช้งานอีก ว่าพร้อมสำหรับความปลอดภัยต่อการก่อสร้างโครงการต่างๆ หรือไม่
  • ยกร่างแนวทางมาตรฐานการทำงานเครื่องจักรพิเศษงานติดตั้งโครงสร้างสะพานเพื่อให้เกิดความปลอดภัยโดยเสนอให้วิศวกรผู้ควบคุมงานและผู้ปฏิบัติงานทำการจัดเก็บบันทึกข้อมูลระหว่างทำงาน และแนวทางป้องกันอุบัติเหตุได้อย่างทันท่วงที
  • จัดตั้งหน่วยงานอิสระเพื่อตรวจสอบการทำงานให้เกิดความปลอดภัยทุกขั้นตอนของการทำงาน โดย วสท.เสนอเป็นหน่วยงานกลางในการเข้าไปตรวจสอบ

อ่านข่าว : ระทึก! ถนนเบตงทรุดตัว 50 ม.จุดทางขึ้นสถานีขนส่งปิดใช้ชั่วคราว

"โดรน" ยุทธภัณฑ์สงคราม เทคโนโลยีความมั่นคง "กองทัพไทย"

เลขา ป.ป.ช.เผยยังไม่ชี้มูลความผิด "คดีชั้น 14" - อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง