ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

มหาภัยพิบัติ หายนะโลกปี'67 ป่วนสุดขั้วใกล้ตัว "มนุษยชาติ"

สิ่งแวดล้อม
4 ธ.ค. 67
12:56
7,128
Logo Thai PBS
มหาภัยพิบัติ หายนะโลกปี'67 ป่วนสุดขั้วใกล้ตัว "มนุษยชาติ"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

อีก 27 วัน ทั่วโลกโบกมืออำลาปีแห่งภัยพิบัติ 2567 ที่ต้องเผชิญสภาพอากาศแปรปรวน ร้อนสุดขั้ว น้ำท่วม ดินถล่ม พายุซัดในหลายทวีปจนถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์หน้าใหม่ที่ IMO รายงานการก่อตัว 4 ลูกในเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา

ขณะที่ไทยเผชิญสภาวะฝนตกสุดขั้ว น้ำท่วมภาคเหนือ จรดชายแดนปลายด้ามขวาน ดินภูเขาถล่ม ถือเป็นปีแห่งความสูญเสียจากภัยสิ่งแวดล้อม และโลกรวนโดยไม่ต้องรอถึงศตวรรษหน้า

ไทยพีบีเอสออนไลน์ รวมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรอบ 1 ปีจากผลพวงของภาวะโลกร้อน อากาศแปรปรวนที่กลายเป็นหายนะภัยธรรมชาติใกล้ตัวทั้งในไทยและของโลก

มกราคม ฤดูฝุ่นคลุมเมือง

ไม่ใช่ประเด็นสิ่งแวดล้อมที่ถูกมองข้ามฝุ่น PM 2.5 หรือฝุ่นจิ๋ว ฝุ่นพิษ ภาครัฐได้ยกระดับมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ปี 2567 เช่น กำหนดพื้นที่เป้าหมายเน้นพื้นที่เผาซ้ำซาก 50% และกำหนดเป้าลดการเผาไหม้ในพื้นที่เกษตรลงให้ได้ร้อยละ 50 หรือลดลง 3.25 ล้านไร่จากปีนี้มีพื้นที่เผาไหม้ 66% หรือ 6.5 ล้านไร่ ทั้งใน 10 ป่าอนุรักษ์ และ 10 ป่าสงวนแห่งชาติ

ขณะที่ยังตั้งเป้าจำนวนวันที่ฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐานต้องลดลงเป็นรายภาค เช่น 17 จังหวัดภาคเหนือจากปี จาก 40% เป็น 30% ส่วนกทม.-ปริมณฑล และภาคกลาง จาก 20% เป็น 5% ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จาก 10% เป็น 5%

ส่วนระดับท้องถิ่น เช่น กทม.การแจ้งเตือน และลดฝุ่นจากแหล่งกำเนิดทั้งจากการจราจร การก่อสร้างยังคงมาตรการเดิม แต่ที่เพิ่มเติม เช่น หากจำนวนวันและฝุ่นเกิน 15 เขตในระดับสีแดง จะให้มีมาตรการเวิร์กฟอร์มโฮม

แต่ในฤดูฝุ่นที่ผ่านมา Health Data Center ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แจ้งยอดผู้ป่วยด้วยโรคมลพิษทางอากาศ ประจำปี 2567 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.ถึง 18 ก.พ.พบผู้ป่วยหรือผู้ได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 สะสม 654,398 คน

สอดคล้องกับข้อมูลของ รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชี้ว่า ฝุ่น PM 2.5 ในกทม.ในรอบ 1 ปี มีปริมาณสูงเกินกว่าค่าแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ยาวนาน 6 – 7 เดือนไม่ใช่เพียงแค่ 2–3 เดือน

และผลวิจัยบ่งชี้ถึงมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐศาสตร์จาก ฝุ่น PM 2.5 ต่อครัวเรือนไทย ในปี 2562 อยู่ที่ 2.173 ล้านล้านบาท ซึ่งกทม. คือพื้นที่อันดับ 1 เกิดความเสียหายกว่า 400,000 ล้านต่อปี เพราะมีครัวเรือน 3 ล้านครัวเรือน 

"กุมภาพันธ์ " ทุบสถิติร้อนสุดของโลก

หน่วยงานติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโคเปอร์นิคัส ของสหภาพยุโรป (C3S) ระบุว่า ในเดือนก.พ.2567 เป็นเดือน ที่โลกร้อนที่สุดเท่าที่เคยบันทึกสถิติมา และนับเป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกันแล้วที่โลกร้อนทุบสถิติ

อุณหภูมิเดือน ก.พ.สูงกว่ายุคก่อนอุตสาหกรรมช่วงปี 2393-2443 อยู่ 1.77 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกัน และร้อนกว่าช่วงปี 1991-2020 อยู่ 0.81 องศาเซลเซียส

ขณะที่อุณหภูมิโลกเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมา ระหว่าง มี.ค.2566-ก.พ. 2024 สูงเป็นประวัติการณ์ คือสูงกว่ายุคก่อนอุตสาหกรรม 1.56 องศาเซลเซียส เกินเป้า 1.5 องศาเซลเซียสที่ตั้งไว้

ช่วงครึ่งแรกของก.พ.นี้ อุณหภูมิเฉลี่ยรายวันสูงเป็นพิเศษ สูงถึงกว่า 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับช่วงปี 2393-2443 ระหว่างวันที่ 8-11 ก.พ.

ส่วนอุณหภูมิเฉลี่ยในยุโรป ก.พ สูงกว่าช่วง 2534-2563 เฉลี่ยถึง 3.3 องศาเซลเซียส และฤดูหนาวของยุโรปที่ผ่านมา ธ.ค.-ก.พ. เป็นฤดูหนาวที่อุ่นที่สุดลำดับ 2 ของยุโรป

ขณะที่ความร้อนในทะเล พบว่า อุณหภูมิผิวมหาสมุทรนอกเขตขั้วโลกสูงที่สุดเมื่อเทียบกับเดือนอื่น ที่ 21.06 องศาเซลเซียส เกินสถิติเดิมเมื่อส.ค.2566 ที่วัดได้ 20.98 องศาเซลเซียส นอกจากนี้ค่าเฉลี่ยอุณหภูมิรายวันช่วงปลายเดือนยังสูงถึง 21.09 องศาเซลเซียส

เมษายน ร้อนสุดขีด อุณหภูมิทะลุ 44 องศา

เป็นปีแห่งความร้อนสุดขั้ว เมื่อไทยเผชิญหางเลขปรากฏการณ์ "เอลนีโญ" ตั้งแต่ปลายเดือนมี.ค.เป็นต้นมา ทั่วทุกหัวระแหงสัมผัสถึงอากาศร้อนจนแสบผิว  เนื่องจากหย่อมความร้อนคลุมไทย 7 วันร้อนจัดแตะ 43 องศาเซลเซียส

อ่านข่าว ร้อนฉ่า! ไทยเข้าสู่ฤดูร้อนปลาย ก.พ.นี้ แตะ 43-44.5 องศาฯ

นายสมควร ต้นจาน ผอ.ส่วนพยากรณ์อากาศกลาง กรมอุตุนิยมวิทยา บอกว่าลักษณะอากาศช่วงฤดูร้อนของไทย พ.ศ.2567 ที่เริ่มต้นต้นสัปดาห์ที่ 4 ของเดือนก.พ.นี้ และจะสิ้นสุดในช่วงปลายเดือนพ.ค.นี้

ปัจจัยที่ทำให้ปี 2567 อากาศจะร้อนอบอ้าว และมีอากาศร้อนจัดในหลายพื้นที่ ส่วนหนึ่งมาจากอิทธิพลจากเอลนีโญ และประกอบกับช่วงที่ผ่านมามีฝนน้อย ดังนั้นจึงมีอากาศแห้งแล้ง อุณหภูมิสูงที่สุด 43-44.5 องศาเซลเซียส ส่วนมากช่วงตั้งแต่กลางเดือนมี.ค.ถึงต้นเดือนพ.ค.นี้

ภาพรวมปี 2567 อุณหภูมิฤดูร้อนกว่าค่าปกติ 1-2 องศาเซลเซียส โดยเฉพาะช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย.นี้ มีโอกาสที่อุณหภูมิบางจังหวัด เช่น ลำปาง ลำพูน ตาก ร้อนจัด 43.-44 องศาเซลเซียส

สำหรับอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย บริเวณประเทศไทยตอนบน 36-37องศาเซลเซียส ซึ่งจะสูงกว่าค่าปกติ 1-1.5 องศาเซลเซียส (ค่าปกติ 35.4 องศาเซลเซียส) และจะสูงกว่าปีที่ผ่านมา (ช่วงฤดูร้อนปี พ.ศ.2566 อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 35.8 องศาเซลเซียส)

ขณะที่เมื่อสิ้นสุดฤดูร้อนจากภาพรวมปี 2567 อุณหภูมิฤดูร้อนกว่าค่าปกติ 1-2 องศาเซลเซียส กรมอุตุนิยมสรุปว่า 22 พื้นที่ทำลายสถิติร้อนในรอบ 41 ปีของพื้นที่ เช่น อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา 40 องศาเซลเซียส สถิติเดิม 39.5 องศาเซลเซียส เมื่อ 14 เม.ย.2526

แต่ก็ยังไม่ทุบสถิติร้อน44.6 องศาฯ เมื่อ 28 เม.ย.2559 ที่จ.แม่ฮ่องสอน และ อ.เมืองตาก เมื่อ 15 เม.ย.2566 ซึ่งปีนี้เป็นแค่สัญญาณที่อุณหภูมิเฉลี่ยของไทยสูงขึ้น 1.-1.5 องศาเซลเซียส จนปีต่อไปยังเจออุณภูมิที่ร้อน ร้อนจัดมากๆ แบบนี้

อ่านข่าว เช็ก 22 พื้นที่ร้อนสุดปีนี้ พบบางจังหวัดทุบสถิติอดีตในรอบ 41 ปี

สิงหาคม-กันยายน มหาอุทกภัยภาคเหนือ

เรียกได้ว่าเป็นมหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือ จนทำให้คนภาคกลางฝันร้ายว่าจะซ้ำรอยน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ที่หลายคนยังไม่ลืม โดยเฉพาะน้ำท่วมเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน ภูมิภาคแห่งการท่องเที่ยว และเมืองเศรษฐกิจของภาคเหนือ ถูกน้ำท่วมใหญ่ในเขตเมืองชั้นในนานเกือบครึ่งเดือน

ภาคเหนือ ไม่ได้มีพายุเข้ามาโดยตรง กรมอุตุนิยมไขคำตอบเหตุ 5 จังหวัดภาค เหนือน้ำท่วมอ่วมหนักช่วงเดือน ส.ค.เกิดฝนตกหนักจากร่องมรสุมพาดผ่านช่วงวันที่ 17-24 ส.ค.

ท่ามกลางคำถามเรื่องการเตือนภัยที่ยังไม่ถูกส่งถึงชาวบ้าน จนรัฐบาลต้องตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) บริหารแบบซิงเกิลคอมมานด์ และเริ่มมีข้อความ SMS ส่งถึงผู้นำชุมชน

ตัวเลขความเสียจากน้ำท่วมปีนี้ หอการค้าประเมินเสียหายกว่า 30,000 ล้านบาท พื้นที่ ภาคเหนือ-อีสาน รวม 33 จังหวัด พื้นที่เกษตรเสียหาย 1,166,992 ไร่ มูลค่าเสียหายรวมถึง 24,553 ล้านบาท

อ่านข่าว หาคำตอบ! สาเหตุน้ำท่วมหนัก 5 จังหวัดภาคเหนือช่วงส.ค.

สิงหาคม ดินถล่มเขานาคเกิด-ภูเก็ต

เหตุการณ์ไม่คาดฝันในเช้าตรู่วันที่ 23 ส.ค.ที่ผ่านมา ดินและก้อนหินขนาดใหญ่ จากเทือกเขานาคเกิด จ.ภูเก็ต พังถล่มจากเขาลงมาทับบ้านพัก ต.กะรน จ.ภูเก็ต โศกนาฎกรรมนี้ มีผู้เสียชีวิต 13 คน บาดเจ็บ 19 คน 209 ครัวเรือนใน 3 ตำบล 9 หมู่บ้านที่ได้รับความเสียหายจากดินถล่มแบบไม่ทันตั้งตัว

ปรากฎการณ์นี้ เป็นผลพวงจากฝนตกหนักมากกว่า 100 มม.ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 24 ชั่วโมงจนดินอุ้มน้ำไว้มาก ประกอบกับปัจจัยในการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินภูเขา เปลี่ยนร่องน้ำจากการสร้างพระใหญ่ ที่จอดรถแลนมารก์บนเทือกเขาสูง

อ่านข่าว กรมธรณีรับอุปกรณ์พัง เตือน “เขานาคเกิด” ภูเก็ตเสี่ยงดินถล่มซ้ำ 

เหตุการณ์นี้อาจเป็นเพียงหนังตัวอย่างของฝันร้ายฝนตกหนักดินถล่ม กรมทรัพยา กรธรณีวิทยา ตอกย้ำว่า ปี 2567-2568 ซึ่งเป็นปีลานีญา ทำให้มีโอกาสฝนตกหนักและตกแช่ในพื้นที่เดิม จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดดินถล่มที่รุนแรง

และต้องทำแผนซักซ้อมเสี่ยงดินถล่มโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งได้มีการทำแผนที่เสี่ยงภัยระดับชุมชน เพื่อให้เป็นข้อมูลในการตั้งรับ และบางจุดอาจต้องอพยพ กรมทรัพยากรธรณี มีการทำแผนที่เสี่ยงภ้ยดินถล่มครอบคลุม 54 จังหวัด 463 อำเภอ 1,984 ตำบล

กันยายน "แม่สายจมโคลน"

โคลนเลนสีแดงเหลวที่พัดมากับแม่น้ำสาย ไหลบ่าเข้าท่วมชุมชนถ้ำผาจม ใน อ.แม่สาย จ.เชียงราย หลังผ่านกระแสน้ำที่เชี่ยวกรากเมื่อ 5 วัน แม้ระดับน้ำจะเริ่มลดลง แต่ร่องรอยความเสียหายที่ทิ้งไว้หลังน้ำลด เจ้าของบ้านบางหลังแทบกลั้นน้ำตาไม่อยู่

โคลนสูงเกือบมิดหลังคา เข้าไปอยู่ภายในบ้านถึงบริเวณชั้นสองบ้านเสียหายเกือบ 100% มีการสำรวจบ้านเรือนใน อ.แม่สายที่จมโคลนมากกว่า 300 หลังคาเรือนบางบ้านดินจมมิดชั้น 2 ของบ้าน จนต้องระดมอาสาสมัคร ทหาร และภาคเอกชนลงไปกู้โคลนใช้เวลาล้างบ้านนานนับเดือน

หากถามว่าโคลนเลนปริมาณมหาศาลมาจากที่ไหน ผลการตรวจสอบภาพถ่ายดาวเทียมจาก GISTDA บ่งชี้ว่า น้ำท่วมในตัวเมืองแม่สายแล้ว 6 ครั้งในปี 2567 ครั้งล่าสุดช่วงกลางเดือนก.ย.มีน้ำป่าไหลทะลักลงตามแม่น้ำสาย 

ด้วยสภาพที่ตั้งของเมือง และลักษณะภูมิประเทศ ทำให้น้ำที่หลากลงมาจากต้นน้ำของแม่น้ำสาย มีความเชี่ยวและแรงโดยธรรมชาติ โดยแม่น้ำสายทอดตัวในเขตภูเขาที่เป็นพื้นรับน้ำลงสู่แม่น้ำ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเขตเมียนมา 80% และอีก 20% ที่ทอดยาวอยู่ในพื้นราบลุ่มในเขตแม่สาย-ท่าขี้เหล็ก 

อ่านข่าว GISTDA อธิบาย "น้ำท่วมแม่สาย" โคลนจำนวนมาก มาจากไหน 

หลักฐานปรากฏชัดเจนด้วยภาพถ่ายจากดาวเทียมรายละเอียดสูง อ.แม่สาย ซึ่งเป็นแค่ส่วนเล็กๆ ของพื้นที่รับน้ำทั้งหมดของแม่น้ำสาย พบดินถล่มหลายจุดปรากฏเป็นสีน้ำตาลแดงแต่ละร่องรอยมีความกว้าง 20–30 เมตร หรือเทียบเท่ากับถนนขนาด 4 เลน และมีความยาวหลายสิบเมตรถึงหลายร้อยเมตร แตกต่างกันไปตามลักษณะพื้นที่ ซึ่งภาพนี้สะท้อนให้เห็นถึงหนึ่งในสาเหตุของตะกอนดินโคลนจำนวนมากที่ไหลทับถมในพื้นที่ด้านล่าง

อ่านข่าว 21 พ.ค.ไทยเข้าสู่ฤดูฝนวันแรก-ฝนมากกว่าค่าปกติ 1%

ตุลาคม "ทะเลเดือด"พะยูนตาย 30 ตัว

ท่ามกลางโลกร้อนน้ำทะเลอุ่นขึ้นในปีนี้ สัญญาณเตือนจากปะการังฟอกขาวที่ในฝั่งทะเลอันดามัน แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังหลายแห่งต้องปิดกิจกรรมดำน้ำชั่วคราวเพื่อลดผลกระทบกับปะการัง 

สอดคล้องกับ NOAA ประกาศภาวะ "ปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่" รอบที่ 4 ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศของโลก และปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้แนวปะการังแถบฟลอริดา และแคริบเบียนมีปะการังฟอกขาวเป็นวงกว้าง ถัดมาในปีนี้ Great barrier reef ในออสเตรเลีย เกิดปะการังฟอกขาวเป็นบริเวณกว้างเช่นกัน

ส่วนประเทศไทยปัญหาใหญ่ทางทะเลคงหนีไม่พ้นพะยูนตาย-หญ้าทะเลเสื่อมโทรม ตั้งแต่เดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) พบปัญหาหญ้าทะเล อาหารสำคัญของพะยูนในทะเลตรัง ที่มีประชากรไม่ถึง 200 ตัวในน่านไทย เริ่มแห้งตายใบเหลือง โดยเฉพาะบริเวณเกาะปู รวมถึงพื้นที่เกาะจำ และเกาะศรีบอยา เคยเป็นแหล่งหญ้าทะเลขนาดใหญ่ มีพื้นที่กว่า 20,000 ไร่ แต่ตอนนี้กว่าร้อยละ 90 หญ้าทะเลตายลง

อ่านข่าว ทช.ชี้ 24 วัน “พะยูน” ตาย 8 ตัว ผลชันสูตรร่างกายผอมขาดอาหาร

ผลกระทบจากหญ้าทะเลที่ตาย ส่งผลต่อ "พะยูน" ที่เริ่มทยอยตายลงเป็นใบไม้ร่วง สถิติที่น่ากังวลในปี 2567 เพียงแค่ปลายเดือนพ.ย.นี้ มีพะยูนตายแล้ว 30 ตัว ในจำนวนนี้มีข้อมูลที่น่าสลด พะยูนบางตัวที่ตายถูกตัดหัว เอาเขี้ยว และตายจากเครื่องมือประมง แต่ข้อบ่งชี้ถึงความเสี่ยงที่กำลังจะเกิดขึ้นในไม่ช้า 

ผลชันสูตรชี้ให้เห็นว่าร่างกายผอม ไม่มีอาหารกิน สอดคล้องการสำรวจหญ้าทะเลที่เกาะลิบง เกาะมุก จ.ตรัง หญ้าทะเลบางพื้นที่ยังไม่ฟื้นตัวไม่ถึง 10% จากที่น้ำทะเลอุ่นขึ้น และพะยูนอพยพ

อ่านข่าว ตัดหัว-เอาเขี้ยว "พะยูน" 7 วันพบตายในทะเลภูเก็ต ทช.เร่งแกะรอย

พายุรุนแรงสุดของโลก-เดือนเดียว 4 ลูก

นับเป็นคำเตือนที่น่ากังวล หลังจากเฮอริเคนมิลตัน ได้ทวีกำลังภายใน 24 ชั่วโมงเป็นเฮอริเคนระดับ 5 แล้ว ด้วยความเร็วลมมากถึง 280 กม.ต่อชม.เมื่อวันที่ 8 ต.ค.และพัดถล่มฝั่งตะวันตกรัฐฟลอริดาในวันที่ 9 ต.ค.ทำให้มีคำเตือนอพยพ และมีภาพรถติดที่ถนนสายต่าง ๆ

นาซา(NASA) เผยแพร่ภาพตาของเฮอริเคนมิลตัน ซึ่งเป็นภาพถ่ายนอกโลกจากสถานีอวกาศ พร้อมกับคำเตือนศูนย์เฮอริเคนแห่งชาติว่า "มิลตัน" อาจเป็นหนึ่งในพายุเฮอริเคนที่รุนแรงที่สุดเท่าที่มีการบันทึกมาในพื้นที่ตอนกลาง-ตะวันตกของฟลอริดา นี่เป็นสถานการณ์ที่คุกคามชีวิตอย่างยิ่ง"

โดยพบความเสียหายหลายพื้นที่ จุดหนึ่งคือสนามกีฬาเบสบอลของทีม Tampa Bay Rays ที่ St. Petersburg โดยหลังคาของสนามกีฬาถูกลมพัดหายไปบางส่วน แต่ไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บจากพายุ

อ่านข่าว อพยพคนนับล้าน! สหรัฐฯ ตั้งรับเฮอร์ริเคน "มิลตัน" ขึ้นฝั่งค่ำนี้

ส่วนแถบมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกและทะเลจีนใต้ก็ไม่แผ่วเมื่อวันที่ 13 พ.ย.2567 กรมอุตุนิยมวิทยา ได้อัปเดตเส้นทางทางพายุหมุนเขตร้อนในในเช้าอ้างอิงข้อมูลจาก RSMC โตเกียว ญี่ปุ่น และศูนย์พยากรณ์ฯ ยุโรป โดยพายุ "หยินซิ่ง YINXING" สลายตัวไปเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำแล้ว

ส่วนพายุอีก 3 ลูก ได้แก่ พายุโซนร้อนโทราจี TORAJI ,พายุโซนร้อนอูซางิ USAGI และ พายุโซนร้อนหม่านหยี MAN-YI ยังไม่มีแนวโน้มจะเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย เนื่องจากมวลอากาศเย็น ยังทำหน้าที่ดูดกลืนพายุไปเกือบทั้งหมด แต่ถือเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนกับพายุที่มาไล่เลี่ยกันถึง 4 ลูก

พฤศจิกายน "น้ำท่วมใหญ่" ปลายด้ามขวาน

ตัวเลขการเสียชีวิตจากเหตุน้ำท่วมปลายด้ามขวาน จังหวัดชายแดนใต้ตั้งแต่จ.สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส แค่ 1 สัปดาห์พบสูงถึง 19 คน บ้านเรือน และความเสียหายต่อทรัพย์สินวงกว้าง ปภ.รายงานว่าตัวเลขอุทกภัยในพื้นที่ 7 จังหวัด 50 อำเภอ 321 ตำบล 1,884 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 136,219 ครัวเรือน หนักสุด จ.นราธิวาส 42,294 ครัวเรือน

พื้นที่ภาคใต้แม้จะเข้าสู่ช่วงฤดูฝน แต่จากปริมาณที่ตกแบบไม่ลืมหูลืมตาเพียงแค่ 1 วันมีสถิติสูงกว่า 400- 533.8 มม.จึงเกินต้านบางแห่งมีทั้งน้ำล้นตลิ่ง และน้ำจากฝนตกหนักน้ำสูงมากกว่า 1 เมตร และด้วยสภาพภูมิศาสตร์ของพื้นที่การเข้าถึงที่มีข้อจำกัดเรื่องการเดินทางทำให้การช่วยเหลือในระดับพื้นที่ต้องพึ่งพาภายในชุมชน

อ่านข่าว ฝนถล่มภาคใต้ "นราธิวาส" แค่วันเดียวทะลุ 533.8 มม.

ก่อนหน้านี้ น.ส.กรรวี สิทธิชีวภาค อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า ปรากฏการณ์ลานีญา จะทำให้ปริมาณฝนในภาพรวมเพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ย ร้อยละ 20 โดยฝนจะตกมากช่วงเดือน ส.ค.-ต.ค.และอาจมีพายุเคลื่อนเข้าไทย 1-2 ลูก ซึ่งอาจจะเกิดปรากฏการณ์ฝนตกหนักสุดขั้ว 

ปิดฉาก COP29 ไม่ช่วยลดภาวะโลกเดือด

ปิดฉากแล้ว การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 29 (COP29) เมื่อ 24 พ.ย.ที่ผ่านมา  กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน แม้จะข้อตัดสินใจด้านการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่กลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว จะเป็นผู้นำในการสนับสนุนเงินเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก และการปรับตัวต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาที่ 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ภายในปี 2578

สำหรับข้อตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานด้านคาร์บอนเครดิตภายใต้ข้อ 6 ของความตกลงปารีส มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ทั้งในส่วนข้อมูลที่ประเทศต้องรายงาน ระบบทะเบียน การให้อนุญาตและการเปลี่ยนแปลงการให้อนุญาต และการรับรองแนวทางการพัฒนาระเบียบวิธีของ Article 6.4 ซึ่งจะทำให้ประเทศปรับปรุงและกำหนดแนวทางในประเทศให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

นานาชาติได้มีข้อตัดสินใจที่จะกำหนดตัวชี้วัดด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับโลกให้แล้วเสร็จ เพื่อนำไปรับรองในการประชุม COP 30 ครั้งหน้า ณ ประเทศบราซิล จะทำให้การดำเนินงานในระดับโลกเป็นรูปธรรมและเป็นเอกภาพ

แม้ว่าผลลัพธ์จาก COP29 อาจยังไม่สมบูรณ์แบบสำหรับการแก้ไขปัญหาภาวะโลกเดือด แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่ทุกประเทศต้องร่วมมือกันในการรักษาเป้าหมายการจำกัดอุณหภูมิไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส 

อ่านข่าว 

“เทศบาลเมืองเบตง” สั่งปิดพื้นที่ดินสไลด์ รอ วสท.ตรวจสอบ

ฝุ่น PM2.5 กทม.พุ่งเกินค่ามาตรฐาน 63 พื้นที่ ติดอันดับ 12 โลก

"ปัตตานี" ฝนยังตก ชาวบ้านไม่วางใจ ชุมชนท้ายแม่น้ำปัตตานียังท่วม

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง