ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ปราบทุจริต "เกาหลีใต้" สไตล์นิสัย " ตรวจสอบเข้ม-กัดไม่ปล่อย"

ต่างประเทศ
28 พ.ย. 67
16:28
50
Logo Thai PBS
ปราบทุจริต "เกาหลีใต้" สไตล์นิสัย " ตรวจสอบเข้ม-กัดไม่ปล่อย"

เกาหลีใต้ เป็นหนึ่งในประเทศที่โดดเด่นด้าน"การปราบปรามทุจริตคอร์รัปชัน"เป็นลำดับต้น ๆ ของเอเชียและของโลก จากสถิติของ Corruption Perceptions Index 2023 เกาหลีใต้อยู่ในอันดับที่ 32 จาก 180 ประเทศทั่วโลก ทั้ง ๆ เมื่อเกือบ 60 ปีที่แล้ว ถูกขึ้นชื่อเป็น "สวรรค์คนโกง" 

นอกจากเกาหลีใต้ยังมีความโหดเรื่อง "จับหมดไม่สนลูกใคร" เห็นได้จาก การไล่จับกุมผู้กระทำการทุจริตโดยไม่ละเว้น จะเป็นคนใหญ่คนโตหรือมีอำนาจมาจากไหน ล่าสุด จากกรณีจับกุม "มุน ดา ฮเย" ลูกสาวของอดีตประธานาธิบดี "มุน แจ อิน" ในคดีเมาแล้วขับ และการให้เช่า AirBNB โดยไม่ได้แจ้งทางการอย่างถูกต้อง ถือว่าเอาจริงต่อการปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างมาก

ทำให้เกิดคำถามว่า จากตะกอนเถ้าถ่านสู่ความศิวิไลซ์ เกาหลีใต้ยังทำได้ และประเทศไทย ที่หมายมั่นปั้นมือเรื่องการปราบปรามทุจริตคอร์รัปชันเพื่อความโปร่งใสมายาวนาน จะสามารถเรียนรู้และถอดบทเรียนเพื่อนำมาปรับใช้ได้หรือไม่ อย่างไร

ประวัติศาสตร์เกาหลี "ชอบตรวจสอบ-ถ่วงดุล"

ไทยพีบีเอส ออนไลน์ สัมภาษณ์ ว่าที่ร้อยตรี เสกสรร อานันทศิริเกียรติ ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ สมาคมไทยคดีศึกษาแห่งสาธารณรัฐเกาหลี (Korean Association of Thai Studies : KATS) ประเด็นดังกล่าว

ว่าที่ร้อยตรี เสกสรร ระบุว่า ภายใต้บริบททางการเมืองและสังคมของเกาหลีใต้เอื้อให้เกิดการสร้างเสริมนิสัยและบุคลิกลักษณะ "ชอบตรวจสอบ" ในผู้คนมาแต่ครั้งอดีต ตั้งแต่สมัยอาณาจักร "โชช็อน" หรืออาณาจักรโบราณในแผ่นดินเกาหลี มีหน่วยงานที่รวบรวมนักปราชญ์ราชบัณฑิตมาเขียนประวัติศาสตร์ เขียนพงศาวดารของราชวงศ์ กษัตริย์และสมาชิกราชวงศ์ "ไม่อาจแทรกแซง" การทำงานนี้ได้

หากคิดจะแทรกแซงนักปราชญ์ราชบัณฑิต จะถูกตราหน้าว่าทรราชย์ทันที หน่วยงานราชการนี้จึงเป็นจุดตั้งต้นของการสร้างความเข้าใจเรื่ององค์กรอิสระในเกาหลีใต้ที่ปราศจากการชี้นำหรือครอบงำของผู้มีอำนาจ

ประกอบกับโชซ็อนนั้น ให้ความสำคัญต่อแนวคิด "ขงจื่อใหม่ (Neo Confucianism)" ที่มีคุณธรรมนิยมและความรับผิดรับชอบ (Meritocracy and Accountability)เป็นพื้นฐาน ขุนนางมีพันธะหน้าที่ต่อสังคมและประชาชน ถ้าดูซีรีส์ก็จะเห็นว่า แม้แต่ในหมู่ขุนนางเองก็มีการ "ตรวจสอบถ่วงดุล" ทางอำนาจ กลุ่มตระกูลหนึ่งอาจไม่ถูกกับอีกกลุ่มตระกูลหนึ่ง และการไม่ถูกกันจึงกลายเป็นที่มาของการจับตาสอดส่องกำกับดูแลกันเอง

การเมืองของโชซ็อนเหมือนในซีรีส์ ขุนนางบางคนแม้จะมีอำนาจ แต่ก็อาจไม่มีช่องให้ใช้ตำแหน่งหน้าที่หาประโยชน์ได้ง่าย ๆ ถ้าคนจับได้เสี่ยงหมดอนาคตทันที ไม่มีแบบแถว ๆ นี้ ที่หัวหน้าใหญ่ของหน่วยงานด่าลูกน้องออกสื่อต่อหน้าธารกำนัลว่า โง่เป็นควายเลยไอ้ … แล้วจะลอยหน้าลอยตาอยู่ได้

ว่าที่ร้อยตรี เสกสรร ชี้ว่า สังคมเกาหลีออกแบบมาให้เกิดการ "ชอบตรวจสอบ" อย่างสม่ำเสมอ ขุนนางเป็นหนึ่งในดุลอำนาจที่สามารถ "ตรวจสอบราชบัลลังก์" ซึ่งมีนัยของการเป็นข้าของแผ่นดินมากกว่าข้าของราชวงศ์ กษัตริย์ในแผ่นดินเกาหลีมีลักษณะแบบ "อำนาจจำกัด" มาช้านาน แน่นอน เป็นการจำกัดด้วยขุนนางและจำกัดจากความเชื่อมโยงกับประชาชนอีกทอดหนึ่ง ซึ่งบางครั้งแสดงออกในรูปแบบของกบฏและการก่อความไม่สงบ

ไม่เคยเกิดการปกครองแบบอำนาจเบ็ดเสร็จในคาบสมุทรเกาหลีจริง ๆ อำนาจของกษัตริย์ที่เป็น The One เองมีจำกัด ส่วนอำนาจของขุนนางที่เป็น The Few ก็เปลี่ยนแปลงขึ้น-ลงได้เสมอ ตอนนั้น The Many ที่เป็นสามัญชนยังไม่ค่อยมีบทบาทมากนัก

ด้วยระบอบที่สร้างพื้นฐานของการมีนิสัยรักการตรวจสอบ เมื่อแผ่นดินเกาหลีตกเป็นเมืองขึ้นของจักรวรรดิญี่ปุ่นในปี 1910 ซึ่งเป็นการเผชิญการกดขี่ข่มเหงอย่างเต็มรูปแบบ ข้าราชการ หรือผู้ปกครอง ล้วนแต่มีสัญชาติอาทิตย์อุทัย หรือไม่ก็เป็นเกาหลีที่แปรพักตร์ เมื่อขาดซึ่งมูลนายที่พึ่ง สามัญชนจึงเริ่มมีกระดูกสันหลังยืนหยัดต่อสู้ขึ้นมาเป็นผู้เล่นในการ "ตรวจสอบถ่วงดุล" ญี่ปุ่นด้วยตนเอง

การสร้างนิสัยชอบตรวจสอบเกิดขึ้นอย่างแท้จริงตลอด 35 ปีที่ตกเป็นเมืองขึ้น ไม่ตรวจสอบเองใครจะตรวจสอบให้ แม้อาจจะเอาผิดไม่ได้ แต่อย่างน้อย ก็เป็นนิสัยติดตัวที่จะกลายมาเป็นองค์ประกอบสำคัญของการสร้างรัฐชาติในกาลต่อมาของเกาหลี

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อได้รับเอกราชมาในปี 1945 ทำให้เกิดการแบ่งแยกประเทศโดยสองมหาอำนาจ สหรัฐอเมริกา-สหภาพโซเวียต และสงครามเกาหลี และได้ "การปกครองรูปแบบประธานาธิบดี" ที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด หรือที่เรียกว่า "Executive Order" เพื่อง่ายต่อการจัดการบริหารประเทศให้เป็นเนื้อเดียวกัน ไม่ต้องอ่อนแอไปอย่างที่เป็นมา เพราะ อี ซึง-มัน ประธานาธิบดีคนแรก เป็นอำนาจนิยมพลเรือน ต่อมา พัค ช็อง-ฮี, ช็อน ทู-ฮวัน เป็นอำนาจนิยมทหารโดยการรัฐประหาร เรียกได้ว่าอำนาจล้นฟ้า อาจจะมากกว่ากษัตริย์ในยุคโชซ็อนเสียด้วยซ้ำ

ช่วงนี้ แม้ประชาชนจะทำอะไรมากไม่ได้ มองดูการทุจริตเกิดขึ้นทุกวัน แต่อย่างน้อย การทุจริตก็เป็นสิ่งผิดปกติ ยอมรับไม่ได้ และต้องหาทางให้คนเหล่านี้รับผิดจากการกระทำของตนให้ได้ มุมมองเหล่านี้ด้านหนึ่งมากับพัฒนาการและความก้าวหน้าของกระบวนการทางการเมืองด้วย

ต่อมา ภายหลังจากการล่มสลายของรัฐบาลทหาร เกาหลีใต้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ปี 1987 ปูทางสู่การปกครองด้วยระบอบเสรีประชาธิปไตย ถือเป็นฟ้าใหม่ของประชาชนในเรื่องการปราบปรามทุจริตอย่างมาก โดยเฉพาะ การออกแบบ "อำนาจตุลาการ (Judiciary)" เพื่อการตรวจสอบทุจริตอย่างแข็งขันทั้งองคาพยพ ให้เป็นที่พึ่งของประชาชนอย่างแท้จริงในการเอาคืนฝ่ายบริหาร นอกเหนือจากฝ่ายนิติบัญญัติ

เราจะเห็นได้บ่อย ๆ ในซีรีส์ อัยการเกาหลีใต้วันดีคืนดีสามารถถือหมายยกกล่องดำไปขอเอกสารมาทำคดีได้อย่างรวดเร็ว ศาลก็มีความเป็นอิสระสูง ฝ่ายบริหารไม่สามารถก้าวก่ายการทำงานได้

คิม พย็อง โน ประธานศาลฎีกาคนแรกของเกาหลีใต้ เคยกล่าวว่า ผู้พิพากษาพึงพิจารณาคดีอย่างเป็นอิสระ แม้แต่ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกาก็มิอาจเข้าแทรกแซงหรือสั่งการให้ผู้พิพากษาพิจารณาคดีตามใจตนได้ และไม่สมควรอย่างยิ่งที่ศาลฎีกาจะต้องทำตามใจฝ่ายบริหารในการบังคับใช้กฎหมาย นอกจากนี้ การออกกฎหมายพิเศษไม่ควรเกิดขึ้นไม่ว่ากรณีใดก็ตาม

ใช้ OECD ปรับโครงสร้าง ต้าน "ทุจริตคอร์รัปชัน"

แม้องค์ประกอบสำคัญของการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน ต้องมาจากการสร้างนิสัยชอบตรวจสอบของประชาชนอย่างถ้วนหน้า ซึ่งเกาหลีใต้ได้เปรียบจากการที่ระบอบและวิธีคิดนั้นเอื้อให้เกิดลักษณะดังกล่าว แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้น คือ นอกเหนือจากรากฐานที่มีเป็นทุนแล้ว เกาหลีใต้ยัง "ยกระดับ (Enhancement)" การต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันอีกขั้น โดยใช้ประโยชน์จากการเข้าร่วม Organisation for Economic Co-operation and Development หรือ "OECD"

ว่าที่ร้อยตรี เสกสรร วิเคราะห์ว่า หลายคนอาจคิดว่า การเข้าร่วม OECD เป็นไปเพื่อประกาศตนเองว่าประเทศนั้น "เจริญแล้ว" หรือเพื่อเงื่อนไขทางด้านเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่การจะผ่านการคัดเลือกหรือ "ออดิชัน" เป็นสมาชิกของ OECD หนึ่งในคุณสมบัติที่จำเป็นที่สุด คือ ประเทศนั้น ๆ ต้องมีมาตรฐาน "ความโปร่งใส (Transparency)" ในระดับสูงมาก

ลองคิดดูว่า เพื่อนสมาชิก OECD อยากลงทุนในประเทศนี้ แต่ต้องมากังวลเรื่อง ใต้โต๊ะ สินบน หรือมีนอกมีใน เขาอยากมาลงทุนหรือไม่ เรื่องนี้สำคัญ และต้องมีการปรับโครงสร้างภายในมหาศาล ตัดตอน (Guillotine) กฎหมายหลายฉบับ ไม่อย่างนั้นเขาก็ครหาว่าประเทศนั้น ๆ ไม่ศิวิไลซ์เสียเลย

เกาหลีใต้ใช้ประโยชน์ตรงนี้เพื่อปรับโครงสร้างภายในว่าด้วยเรื่อง "สถาบันการเมือง (Political Institutions)" เพื่อการตรวจสอบทุจริต โดย ว่าที่ร้อยตรี เสกสรร แบ่งออกเป็น 3 ประเด็นใหญ่ ๆ ด้วยกัน คือ องค์กรอิสระ ภาคประชาสังคม และการสร้างความเชื่อมโยงกับท้องถิ่น

กล่าวคือ องค์กรอิสระของเกาหลีใต้ มีความเป็นอิสระจริง ๆ ตามชื่อที่ตั้ง และมีหลายหน่วยงาน แต่โจทย์หลักของเกาหลีใต้ ในการสร้างองค์การอิสระขึ้นมาเพื่อต่อต้านการทุจริตนั้น เป้าหมายสำคัญ คือ การเพิ่มอำนาจโดย "การควบคุมจากประชาชน (Civilian Control)" ด้วยความที่เกาหลีใต้มี "บาดแผลทางใจ (Trauma)" จากการที่ประเทศมีฝ่ายบริหารที่เข้มแข็งเกินไป ประชาชนไม่มีอำนาจ ทำอย่างไรให้เพิ่มอำนาจประชาชนมากที่สุดจึงเป็นเป้าหมายตั้งต้น

หรือลึกกว่านั้น เกาหลีใต้มีปมกับกองทัพ เพราะกองทัพปกครองประเทศมาเกิน 30 ปี ดังนั้น การตัดแขนตัดขากองทัพด้วยประชาชนจึงบังเกิดขึ้นเป็นแม่บท ประเด็นนี้คือ Point หลักของการปราบปรามคอร์รัปชันในช่วงแรก ๆ ของประเทศเขาเลย

Defense Acquisition Program Administration (DAPA) จึงเกิดขึ้น โดยวางอำนาจหน้าที่ไว้ว่า เมื่อใดก็ตามที่กองทัพจัดซื้อจัดจ้างยุทโธปกรณ์ ต้องทำหนังสือของบประมาณจากฝ่ายนิติบัญญัติ ต้องผ่านการอภิปรายในสมัชชาแห่งชาติ (รัฐสภา) และจัดทำแผนจัดซื้อจัดจ้างร่วมกับคณะทำงานของสมัชชาแห่งชาติ หมายความว่า กองทัพไม่สามารถซื้ออาวุธได้ตามอำเภอใจ ผู้แทนจากประชาชนมีสิทธิ์ตรวจสอบ ยับยั้ง หรืออภิปรายไม่ไว้วางใจการจัดซื้อจัดจ้างของกองทัพได้

กล่าวง่าย ๆ เงินซื้ออาวุธดึงเข้ารัฐบาล ไม่ให้เข้ากระเป๋านายพลหมด เป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายทหารแบบตาต่อตา ฟันต่อฟันเลย สิ่งนี้เป็นนวัตกรรมก็ว่าได้ เพราะทั่วโลกไม่ค่อยมีใครทำกัน แต่ทหารก็ต้องยอม เพราะจะได้สอดรับกับการเป็นสมาชิก OECD

อีกหนึ่งองค์กรอิสระที่ขาดไปไม่ได้ คือ Korea Independent Commission Against Corruption (KICAC) โดย ว่าที่ร้อยตรี เสกสรร กล่าวว่า หน่วยงานนี้เป็น "สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติของเกาหลีใต้ (ป.ป.ช. เกาหลีใต้)" ที่ทำงานเชิงรุกอย่างมาก เช่นเดียวกับระบบผู้ตรวจการแผ่นดิน

ผู้ตรวจการแผ่นดิน จึงถือกำเนิดขึ้น ซึ่งจริง ๆ เป็นวิธีคิดที่อาจมีรากฐานมาจากโชซ็อน ในฐานะที่พึ่งของประชาชน ป้องกันข้าราชการที่ใช้อำนาจในทางมิชอบ ประชาชนสามารถยื่นเรื่องตรวจสอบได้แบบไม่เปิดเผยตัวตน (Anonymous) เพื่อให้ผู้ตรวจการแผ่นดินทำงานเชิงรุกต่อองค์กรอิสระต่อไป

รวมถึง การปฏิรูปอัยการที่มีอำนาจมากเกิน ในสมัยประธานาธิบดี มุน แจ อิน ได้มีการแก้กฎหมาย Criminal Procedure Code และ Prosecutor’s Office Act ที่มีสาระสำคัญ คือ จำกัดขอบเขตการสืบสวนสอบสวนที่อัยการสามารถดำเนินการได้ ให้เหลือเพียงเรื่องการทำทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐเท่านั้น เรื่องอื่น ๆ เช่น อาชญากรรมหรือความมั่นคงของประเทศให้เป็นหน้าที่ของตำรวจแทน และจำกัดขอบเขตการสืบสวนเพิ่มเติมโดยอัยการ

ส่วนภาคประชาสังคม ซึ่งเป็นกลไกที่พ้นจากอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ เพราะการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด คือ ปล่อยให้ประชาชนตรวจสอบด้วยตัวของเขาเอง องค์กรอิสระอย่างไรก็ต้องดำเนินการแบบราชการ แต่ภาคประชาสังคมนั้น เป็นอิสระอย่างแท้จริง โดยภาคประชาสังคม จะดำเนินการในรูปแบบ NGOs หรือการรวมกลุ่มเฉพาะกิจก็ได้ แต่การรวมกลุ่มเฉพาะกิจในเกาหลีใต้ กระทำแล้วได้ผลกว่า NGOs มาก

ขบวนการดวงเทียนแห่งแสง (Candlelight Movement) คือตัวอย่างชั้นดีของภาคประชาสังคม แม้จะรวมตัวกันหลวม ๆ แต่ก็สามารถขับไล่ พัค กึน ฮเย อดีตประธานาธิบดีหญิงชั่วเร่ขายชาติคนแรกของประเทศได้

โดยประธานาธิบดีพัคนั้น ไม่ได้กระทำการทุจริตด้วยตนเอง แต่มีการปล่อยปละละเลยให้พวกพ้องเข้ามามีตำแหน่งในฝ่ายบริหาร กินรวบอำนาจ มีการคอร์รัปชันอย่างโจ่งครึ่ม บ้านเมืองทุรยศเสื่อมทราม ถือว่าตัวประธานาธิบดีเองก็มีความผิดฐานคอร์รัปชันไปด้วยเช่นกัน ทำให้ผู้คนทนไม่ไหว ออกมาชุมนุมประท้วงกันโดยมิได้นัดหมาย จนในที่สุดต้องก้าวลงจากตำแหน่งไปแบบเสื่อมเกียรติยศ

ในฐานะผู้ชุมนุมประท้วงขับไล่ พัค กึน ฮเย ได้เห็นความเข้มแข็งของการชุมนุมที่เกิดขึ้นไม่ได้นัดหมาย แต่ขับไล่ได้สำเร็จ มากกว่า การพึ่งพาหน่วยงานหรือองค์กรอิสระ...ก็ต้องชื่นชมนิสัยชอบตรวจสอบที่สั่งสมมาช้านาน และความอดทนของชาวเกาหลีที่ร่วมขับไล่ด้วย กว่า 20 สัปดาห์ ที่พวกเราอยู่ด้วยกันที่จัตุรัสควังฮวามุนทุกวันเสาร์บ่ายถึงเย็น

และสุดท้าย การสร้างความเชื่อมโยงกับท้องถิ่น ว่าที่ร้อยตรี เสกสรร กล่าวถึง "กระบวนการกระจายสู่ท้องถิ่น (Localised)" เพราะท้องถิ่นคือพื้นฐานของการพัฒนาคน พัฒนาชาติ พัฒนาทุกสิ่งทุกอย่าง และสิ่งแรกที่รัฐบาลส่งเสริม คือ ห้ามรับเลี้ยงอาหารที่มีมูลค่าเกินกว่า 30,000 วอน หรือรับเงินใส่ซองเกิน 100,000 วอนในงานแต่งและงานศพ

แม้ข้อคำครหาว่า ทำลายประเพณีดั้งเดิมของท้องถิ่นเกาหลี ที่อยู่กันแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย คล้าย ๆ บ้านเราที่ สส. ต้องใส่ซองงานมงคลหรืออวมงคล ไม่ใช่เพื่อติดสินบน แต่เพื่อการสานสัมพันธ์อันดีกับท้องถิ่น

สร้างนิสัยคนไทย "กัดไม่ปล่อย-พลเมืองเข้มแข็ง"

ดังจะเห็นว่า เกาหลีใต้มีการใช้ประโยชน์หลายทาง ทั้งต่อยอดนิสัยชอบตรวจสอบของประชาชน เข้ากับทางเลือกในการเข้าร่วม OECD เพื่อทำให้ประเทศสามารถปราบปรามปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ทั้งในลักษณะทางการ คือการออกแบบเชิงสถาบันการเมือง และไม่เป็นทางการ คือภาคประชาสังคมและท้องถิ่น

คำถาม คือ ไทย ในฐานะที่มีความต้องการอยากเข้าร่วม OECD เหมือนกัน จะสามารถสร้างนิสัยชอบตรวจสอบในประชาชน หรือออกแบบกลไกเชิงสถาบัน จากการถอดบทเรียนเกาหลีใต้อย่างไร

ว่าที่ร้อยตรี เสกสรร เสนอว่า ไทยต้องสร้าง "พลเมืองที่แข็งขันและลงมือทำในเชิงรุก (Active Citizens)" ต้องกัดไม่ปล่อย เมื่อเห็นการกระทำทุจริตคอร์รัปชันให้ได้เสียก่อน ไม่เช่นนั้นจะเป็นเรื่องยากที่จะออกแบบสถาบัน เพราะจะไม่สอดรับกับสิ่งที่เป็นอุปนิสัยของประชาชนในประเทศ

สิ่งจำเป็นของการสร้างตัวตนและอัตลักษณ์ประเทศ คือ ข้างนอกและข้างในต้องสัมพันธ์กัน เกาหลีใต้อยากเข้าร่วม OECD ไม่ใช่ว่าร่างแผนการแบบผักชีโรยหน้า แต่ประชาชนของเขาสอดรับกับความศิวิไลซ์ที่เกาหลีใต้อยากเป็น คือ ความโปร่งใส ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน องคาพยพต่าง ๆ จึงสอดคล้องกัน

ว่าที่ร้อยตรี เสกสรร ให้ข้อคิด คือ ไทยมีกระแสความไม่พอใจเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันมานาน และต่างจากเกาหลีตรงที่ คนไทยส่วนมากจะพูดมากกว่าทำ หรือ "เว้าสิบ่เฮ็ด" เน้นระบายลงสื่อสังคมออนไลน์ หายอดไลก์และยอดการมองเห็นอย่างเดียว ไม่ได้เป็นพลเมืองที่แข็งขันและลงมือทำในเชิงรุก

ที่เกาหลีใต้ คนที่เปิดประเด็นการทุจริต (Whistleblower) จะได้รับการคุ้มครองอย่างดี ถ้าเหลืออดหรือถึงขีดสุดจริง ๆ ก็จะนัดพบกันบนถนนหรือจัตุรัสควังฮวามุนที่ทุกคนคุ้นเคย

"จะยืนหยัด ยืนยันความถูกต้องได้ สิ่งสำคัญ คือ เราต้องมีกระดูกสันหลัง กระดูกสันหลังนั้น ขยับขึ้นลงได้ แต่การจะขยับขึ้นลง ต้องมีแกนที่แข็งแรง แกนที่แข็งแรงนั้น หมายถึงหลักการ และความปรารถนาแน่วแน่ที่จะเป็นสังคมโปร่งใสโดยไม่มีข้อยกเว้น ไม่เลือกปฏิบัติเฉพาะพวกพ้อง เกาหลีใต้ทำให้เห็นว่า แค่มีสถาบันหรือกลไกทางการเมืองที่กำกับ The One และ The Few อาจจะยังไม่พอ ต้องมีวัฒนธรรมทางการเมืองที่ The Many จริงจังกับการเปลี่ยนแปลงด้วย" ว่าที่ร้อยตรี เสกสรร กล่าวปิดท้าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง