ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กองทัพ ความมั่นคงอวกาศ-เศรษฐกิจอวกาศ ไทยไม่ตกเทรนด์โลก

Logo Thai PBS
กองทัพ ความมั่นคงอวกาศ-เศรษฐกิจอวกาศ ไทยไม่ตกเทรนด์โลก

พลันที่กองทัพอากาศ แถลงปรับโครงสร้างและแนวนโยบายปกป้องผลประโยชน์ของชาติทางอวกาศกว่า 29,000 ล้านบาทต่อปี การสื่อสารและถ่ายทอดสัญญาณต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ 35,600 กิจการ โดยสิ่งที่ต้องทำควบคู่ ปี 2568 คือ การเตรียมจัดตั้ง ศูนย์ประสานงานการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางอากาศและอวกาศ เป็นหน่วยขึ้นตรงของศูนย์ปฏิบัติการกองทัพอากาศ (ศปก.ทอ.) และให้อยู่อำนาจของผู้บัญชาการทหารอากาศ ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2568 และจัดทำร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่…) พ.ศ. … เปลี่ยนชื่อ "กองทัพอากาศ" เป็น "กองทัพอากาศและอวกาศ"

ทำให้มีคำถามว่า ขณะนี้กองทัพไทยและประเทศไทยมีศักยภาพและความพร้อมเตรียมในการรับมือด้านความมั่นคงทางอวกาศ และกิจการอวกาศ รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากเศรษฐกิจอวกาศมากน้อยเพียงใด

สำหรับประเทศไทยภารกิจด้านกิจการอวกาศ พบมี 4 กลุ่มงาน คือ กลุ่มงานด้านดาวเทียมเพื่อการสื่อสาร, กลุ่มงานระบบดาวเทียมเพื่อสำรวจทรัพยากร ในความรับผิดชอบของกระทรวงวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีอวกาศ และภูมิสารสนเทศ ( Gisda ), กลุ่มงานดาวเทียมด้านเศรษฐกิจและการวิจัยอวกาศ (ให้บริการ โทรศัพท์ สัญญาณระบบกระจายเสียง ภาพ สื่อ วิทยุโทรทัศน์ และอินเตอร์เน็ต)

และกลุ่มงานด้านกิจการอวกาศเพื่อความมั่นคง ซึ่งศูนย์ปฏิบัติการอวกาศของกองทัพอากาศ มีหน้าที่รักษาผลประโยชน์แห่งชาติในห้วงอวกาศและความมั่นคงทางอวกาศ เฝ้าระวังทางอวกาศ ค้นหา ติดตาม พิสูจน์ทราบ ภัยคุกคามจากอวกาศ ภารกิจการข่าวกรอง และการลาดตระเวนทางอวกาศ

ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์พิเศษ ดร. ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผอ.สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ ( Gisda ) ถึงความพร้อมของไทยในการนำเทคโนโลยีอวกาศมาใช้ในภารกิจด้านความมั่นคงของกองทัพ ว่า ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลก ไม่ใช่แค่ สหรัฐอเมริกาและจีน ที่มีการจัดตั้งกองทัพอวกาศ แต่ฝั่งกลุ่มยุโรป จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ก็มีเช่นกัน

กองทัพอวกาศมีทำหน้าที่เฝ้าระวังความมั่นคงทางอากาศ เนื่องจากเทคโนโลยีเข้าถึงได้ง่ายและเร็วมากขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงการใช้อาวุธ จากปืนเป็นโดรนบินสำรวจ มีการใช้มิสไซล์ (missile) หรือ อาวุธปล่อย กำหนดเป้าและนำวิถีอากาศในอวกาศ

ขณะเดียวกัน ภารกิจด้านความมั่นคงในอวกาศจริง ๆ มีหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นสื่อสาร การบล็อกสัญญาณจีพีเอส ตำแหน่ง โลเคชัน อาวุธ การทำลายสัญญาณ รบกวนสัญญาณ การขโมยสัญญาณ การใช้เทคโนโลยีดาวเทียมปฏิบัติการถ่ายภาพพื้นโลกด้วยกล้องที่มีความละเอียดสูง ให้เข้าถึงพื้นที่ปฏิบัติการได้ทั่วโลก โดยสามารถเห็นที่ตั้งของกองทัพ อาวุธ และศักยภาพทั้งหมด

ทั้งหมดข้างต้น ดร.ปกรณ์ บอกว่า กองทัพของไทยมีศักยภาพสูง ในการเข้าถึงเทคโนโลยีดังกล่าว เพราะถือเป็นความมั่นคง หากถามว่าไทยจำเป็นหรือไม่ ที่ต้องมีหน่วยงานความมั่นคงทางด้านอวกาศ ตอบได้เลย จำเป็นมาก หากมีการใช้แบบจริงจังและถูกต้อง ในทุก ๆ ด้าน เช่น การสื่อสาร แจ้งตำแหน่ง และพิกัด

เพื่อนำไปประยุกต์ใช้งานด้านความมั่นคง เนื่องจากมีองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี เครื่องมือ ซึ่งในอนาคตไทยอาจต้องเตรียมความพร้อมในการรับมือ กรณีเกิดเหตุที่ไม่คาดคิด เช่น สหรัฐอเมริกา หรือ จีน ทำการปิดสัญญาณจีพีเอส ทำให้การเดินทางในอากาศมีปัญหาต่อสายการบิน และเครื่องบินที่อยู่บนน่านฟ้าจะทำอย่างไร

ดังนั้นกองทัพจึงจำเป็นต้องมีเครื่องมือเพื่อเตรียมรับสถานการณ์ ความมั่นคง โดยทหารอาจจะแยกศึกษาเฉพาะเทคโนโลยีด้านความมั่นคงอย่างเดียว

แม้ที่ผ่านมา Gisda จะทำงานและร่วมมือกับกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และตำรวจ ในภารกิจแตกต่างกันออกไป รวมทั้งการใช้เครื่องมือตรวจสอบสภาพภูมิประเทศ รับมือปัญหาภับพิบัติและอื่น ๆ ดังนั้น ไทยจึงควรมี และจำเป็นต้องมีอากาศยานหรือดาวเทียมเพื่อใช้งานด้านความมั่นคง

ในส่วนของทหาร เชื่อว่า หลายหน่วยมีองค์ความรู้ที่ดีเพียงพอ ในเรื่องกิจการอวกาศ และสามารถนำไปต่อยอดได้ แต่ต้องลงลึกและทุ่มเทมากกว่านี้ เพราะในเอเชียมีหลายประเทศที่ใช้ดาวเทียมด้านความมั่นคง ทั้ง ไต้หวัน เวียดนาม ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ส่วนใหญ่มีการศึกษาและลงรายละเอียดแบบเจาะลึกกว่าบ้านเรา

"ปกติเราจะใช้สัญญาณจากโทรศัพท์ ตรวจหาตำแหน่งจีพีเอส เพื่อแจ้งตำแหน่งและระยะทางในชีวิตประจำประวันอยู่แล้ว แต่สำหรับภารกิจด้านความมั่นคงจะใช้มากกว่านั้น เช่น อาจมีการใช้ ดาวเทียมลีโอ หรือ ดาวเทียมวงโคจรต่ำ (LOW EARTH ORBIT SATELLITE, LEO SATELLITE) โคจรเหนือ-ใต้ เดิมดาวเทียมดวงนี้จะใช้เพื่อถ่ายรูป แต่ปัจจุบันถูกนำไปใช้ด้านการสื่อสาร ทำหน้าที่โคจรและสื่อสารด้วยตลอดเวลา เทรนด์ใหม่จะเป็นแบบนี้ ตรงนี้เฉพาะด้านความมั่นคงทางอวกาศ ยังไม่ได้ก้าวถึงการสำรวจดวงจันทร์ การใช้พื้นที่อวกาศ หรือ เทคโนโลยีอวกาศ"

ดังนั้น ถ้ามีการแยกภารกิจชัดเจนโดยกองทัพ ทำหน้าที่ศึกษาเทคโนโลยีความมั่นคงด้านอวกาศ ส่วนพลเรือนและภาคเอกชน รับผิดชอบด้านงานวิจัย การศึกษาเรื่องเทคโนโลยีอวกาศจะสามารถพัฒนาและก้าวไปได้ไกลมากกว่าปัจจุบัน

ในส่วนของ Gisda จะมองทุกโจทย์ว่า ประเทศต้องการอะไร ความต้องการซื้อและต้องการขาย เพื่อหาจุดสมดุลว่า เทคโนโลยีที่มีอยู่จะนำไปใช้ในมิติไหนได้บ้าง เพื่อทำหน้าที่หลักในการสนับสนุน ส่งเสริมและดำเนินการ สภาพอวกาศ หรือวัตถุอวกาศ และส่งผลกระทบเร่งด่วนที่ต้องใช้ แม้ว่าจะมีการนำสัญญาณมาประยุกต์ใช้ภาพถ่ายดาวเทียมสำรวจภาคพื้นดิน

เทคโนโลยีอวกาศ ไม่ได้มีเฉพาะแขนงนี้ ยังมีเรื่องการสื่อสาร การใช้งานนอกโลก เพื่อดึงสัญญาณ หรือ ข้อมูลจากอวกาศมาใช้งาน และ เทคโนโลยีนี้ แม้จะมีข้อดี แต่ยังมีสิ่งที่ต้องระวัง

ดร.ปกรณ์ ระบุว่า สมัยก่อนหากต้องการทราบพิกัดแก๊งคอลเซนเตอร์ ว่า อยู่บริเวณใดจะติดตามได้ไม่ยาก แต่ปัจจุบันไม่ง่าย เพราะเขาอาจใช้สัญญาณผ่านดาวเทียมจากที่อื่น แต่ส่งสัญญาณผ่านเกตเวย์มาได้ เรื่องเทคโนโลยีไม่ใช้ก็เสียโอกาส แต่ถ้านำไปใช้งานมาก ๆ ก็ต้องพึงระวัง ในประเทศไทยมีหน่วยงานหลักที่ต้องรับผิดชอบ คือ กระทรวงดีอี, กสทช.และ Gisda ที่ใช้ภาพถ่ายดาวเทียม เพื่อแจ้งข้อมูลในกิจการต่าง ๆ การสื่อสาร โทรศัพท์ ผ่านบรอดแคสต์

"ช่วงกลางเดือน ธ.ค.2567 Gisda จะทำ MOU หรือ บันทึกข้อตกลงกับนาซาเรื่องวิจัยและสำรวจอวกาศ OUTER SPACE EXPLORATION เป็นการสำรวจอวกาศของประเทศที่กำลังพัฒนาและพัฒนาแล้ว เพื่อศึกษาว่าหากเกิดอะไรขึ้นกับโลกแล้ว มนุษย์จะอาศัยอยู่ที่ไหน ดวงจันทร์ และดาวอังคาร อาศัยอยู่ได้หรือไม่"

ดร.ปกรณ์ กล่าวว่า การสำรวจในอวกาศจะทำให้เกิดการศึกษา ทดลอง การส่งสัญญาณระยะไกล เป็นอย่างไร การส่งเทคโนโลยีอวกาศออกไปนอกโลก รวมทั้งทดลอง เรื่อง อาหาร เสื้อผ้า และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพราะในอวกาศจะต้องศึกษาว่า สามารถนำไปใช้ได้หรือไม่ ในสภาวะนั้น ๆ

โดยโครงการขนาดนี้จะมีอยู่ 2-3 กลุ่มในสหรัฐอเมริกา เรียกว่า ARTEMIS ส่วนของจีนจะมียานอวกาศฉางเอ๋อ และมีกลุ่มที่เป็นนานาชาติจะดูเรื่อง MAR EXPLORATION ซึ่งในสหรัฐฯ หรือจีน ถือว่าเป็นผู้นำสำคัญ โดยจะเชิญให้นานาชาติเข้าร่วม มีการทำอนุสนธิสัญญาระหว่างประเทศ และข้อตกลงระหว่างประเทศแบบจีทูจี

รัฐบาลมอบหมายให้ Gisda ดำเนินการเรื่องดาวเทียม ARTEMIS ที่อนุมัติมาเมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ถือเป็นก้าวที่สำรวจในการเข้าไปมีส่วนร่วมในการสำรวจอวกาศระดับนานาชาติ ซึ่งผู้เข้าร่วมมากกว่า 50 ประเทศ

โดย Gisda จะเชิญสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัยทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมด้วย เนื่องจากทำในนามประเทศ เช่น อาจมีการศึกษา เรื่อง ผ้ากันความร้อน เมื่อต้องเจอรังสีปริมาณสูง เรื่องอาหาร ให้เหมาะกับความพร้อมและองค์ความรู้ของเรา และอาจทดลองทำภาพถ่ายจากดวงจันทร์ เพื่อนำมาวิเคราะห์ พื้นที่ในดวงจันทร์และอวกาศ

เราคงไม่ส่งยานอวกาศไป แต่จะไม่ตกขบวนความรู้ในเรื่องอวกาศและรู้เท่าทัน เพื่อทราบศักยภาพของตัวเอง ว่ามีหรือไม่ อะไรเหมาะสม ทำได้ หรือ มีสิทธิเข้าถึงหรือไม่

ส่วนการใช้ประโยชน์จากเศรษฐกิจอวกาศ (space economy ) ดร.ปกรณ์ บอกว่า ในสหรัฐอเมริกาจะใช้ประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ ธุรกิจ และมีลูกค้ารับซื้อ จากเอกชน  ส่วนฝั่งยุโรปจะเรียกว่า space agency หรือ Newspace Economy ซึ่งเป็นบริษัทขนาดเล็ก แต่ไทยเรียกว่า เศรษฐกิจอวกาศ เช่น อาจศึกษาวิจัย เรื่อง Food Economy หรือภาคเอกชนใช้ AI เขียนโปรแกรม และนำข้อมูลอวกาศมาวิเคราะห์ปัญหาน้ำท่วม เพื่อแจ้งเตือนประชาชนล่วงหน้าว่า เกษตรกรจะปลูกพืชอะไร หากต้องเผชิญสภาวะอากาศแปรปรวน

ผู้ที่เห็นโอกาสในอวกาศ จะนำไปสร้างธุรกิจต่อยอดได้ ไม่มีใครห้ามการสื่อสารข้ามประเทศ ดาวเทียมถ่ายได้ทั่วโลก การทำธุรกิจ ไม่ได้หมายความว่า ทำในไทยต้องขายในไทยเสมอไป แต่อาจขายในต่างประเทศได้ นี่คือ เศรษฐกิจอวกาศ

ดร.ปกรณ์ ย้ำว่า การทำเศรษฐกิจอวกาศ กิจการอวกาศ และองค์การอวกาศ ขณะนี้ไทยมีความพร้อมระดับหนึ่ง โดยจิสดา คือ หน่วยงานหลักในการพัฒนาและนำเทคโนโลยีอวกาศมาใช้ ส่วนในเชิงนโยบาย ขณะนี้มี พ.ร.บ.กิจการอวกาศ และคณะกรรมการนโยบายกิจการอวกาศแห่งชาติ ได้ขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวเสร็จสิ้น

โดยรัฐบาลชุดนี้ ได้มีการผลักดันแผนแม่บทกิจการอวกาศ มีแผนงาน 3 ระยะ คือ ระยะสั้น-กลาง-ยาว ใช้เวลาประมาณ 20 ปี ซึ่งสภาพัฒน์ฯ พร้อมเสนอ ครม. และคณะกรรมาธิการกฤษฎีกาพิจารณาระเบียบและข้อกฎหมายเสร็จแล้ว เตรียมเสนอเข้า ครม. และสภา เพื่อให้มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย คาดปลายปี 2569 หรือ 2570 อาจจะมีผลบังคับใช้

ข้อดีของการมีกฎหมายอวกาศบังคับใช้ จะทำให้การขับเคลื่อนเชิงนโยบายเรื่องกิจการอวกาศอยู่ในทิศทางเดียวกัน ทั้งด้านนโยบาย กฎหมาย และจำนวนบุคลากรมากกว่า 3,000 คน ที่จบการศึกษาเฉพาะทางด้านสาขาด้านเทคโนโลยีอวกาศโดยตรง จากมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศที่เปิดสอนมานานกว่า 10 ปี 

นอกจากนี้ ยังมีทรัพยากรบุคคล เครื่องมือ การสร้างดาวเทียม และโรงงานสร้างดาวเทียม มีห้องทดลอง และได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และรัฐบาลในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม หากต้องการขับเคลื่อนเรื่องเทคโนโลยีอวกาศอย่างเข้มข้น คาดว่าต้องทุ่มงบประมาณให้มากกว่านี้

อ่านข่าวอื่น :

“สนธิ” ปลุกม็อบลงถนน ติดไม่ติดคำตอบอยู่ที่รัฐบาล การเมือง 28 พ.ย. 67 15:43 18

ตร.สอบปากคำผู้ต้องหายิง 3 ศพหนองบัวลำภูหลังมอบตัว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง