หลายประเทศในเอเชีย การพูดคุยเรื่องเพศยังคงเป็นเรื่องต้องห้ามและถูกมองว่า "น่าอาย" หรือ "ไม่เหมาะสม" โดยเฉพาะเมื่อพูดถึงเด็ก หลายครอบครัวหลีกเลี่ยงที่จะสอนหรือให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับสิทธิในร่างกาย ความยินยอม (Consent) และการป้องกันตนเอง ส่งผลให้เด็กขาดภูมิคุ้มกันต่อสถานการณ์อันตราย
กรณีการล่วงละเมิดทางเพศเด็กที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในข่าว ไม่ว่าจะเป็นจากคนในครอบครัว ครู หรือผู้ใหญ่ที่เด็กไว้วางใจ สะท้อนความล้มเหลวของระบบการศึกษาและวัฒนธรรมที่หลีกเลี่ยงการพูดถึงเรื่องนี้ ตัวอย่างเช่น ข่าว ตร.บุกรวบครูก่อเหตุล่วงละเมิดนักเรียนชาย 9 คน กว่าที่ผู้ปกครองจะทราบเรื่อง เด็กต้องทนทุกข์และกลัวเกินกว่าจะเล่าเพราะไม่รู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นผิด
ภาพประกอบข่าว
การขาดการสอนเรื่องเพศในวัฒนธรรมเอเชียไม่ได้เพียงแค่ทำให้เด็กไม่มีความรู้ แต่ยังสร้างช่องว่างให้ผู้ล่วงละเมิดใช้ประโยชน์จากความไร้เดียงสาและการไม่กล้าพูดของเด็ก
เด็กบางคนไม่รู้จักชื่อเรียกอวัยวะเพศ ไม่เข้าใจว่าการถูกสัมผัสบางอย่างนั้นผิด หรือกลัวว่าหากพูดออกมาจะโดนตำหนิ
การเปิดพื้นที่ให้เด็กเรียนรู้เรื่องเพศอย่างเหมาะสมกับวัย ไม่ใช่เพียงแค่การให้ข้อมูล แต่ยังเป็นการสร้างเกราะป้องกันให้เด็กเข้าใจสิทธิของตนเองและกล้าปฏิเสธสิ่งที่ไม่ถูกต้อง การสอนเรื่องเพศไม่ใช่การกระตุ้นให้เด็กสนใจเรื่องนี้เร็วขึ้น แต่คือการให้เครื่องมือป้องกันตัวเองในโลกที่ไม่ปลอดภัย การเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นได้จากครอบครัว โรงเรียน และสังคม เราต้องก้าวข้ามกรอบความคิดเดิมที่ว่า
การพูดเรื่องเพศกับเด็กเป็นเรื่องไม่เหมาะสม เพราะหากเราไม่พูด คนที่ไม่หวังดีก็จะพูดแทนเรา
ภาพประกอบข่าว
การพูดคุยเรื่องเพศควรทำอย่างไร
- เริ่มต้นจากความอยากรู้อยากเห็นของเด็ก การตอบสนองต่อคำถามของเด็กเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี พวกเขาอาจถามว่า "เขามาจากไหน" หรือ "ทำไมร่างกายของพี่ ๆ ไม่เหมือนหนู" สิ่งสำคัญคือการเปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงความสงสัยและรับฟังคำตอบอย่างตรงไปตรงมา ผู้ปกครองสามารถสอนเด็ก ๆ ใช้ชื่อเรียกอวัยวะที่ถูกต้อง เช่น "องคชาต", "ช่องคลอด" การใช้คำที่ถูกต้องช่วยให้เด็ก ๆ พูดถึงร่างกายของเขาได้อย่างมั่นใจและปลอดภัย โดยเฉพาะในกรณีที่เด็กต้องสื่อสารกับแพทย์
- ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง หากเด็กมีความเข้าใจผิด ด้วยคำอธิบายที่เหมาะสมกับวัย เช่น เด็ก 4 ขวบอาจจะอยากรู้ว่าทารกอยู่ที่ไหนในร่างกาย ผู้ปกครองอาจตอบว่า "ทารกเติบโตในมดลูก" เลี่ยงคำอธิบายที่ซับซ้อนเกินไป เช่น การตกไข่หรือการปฏิสนธิ
ภาพประกอบข่าว
- แบ่งปันความรู้สึกและความมุมมองอื่น ๆ นอกจากให้ข้อเท็จจริง ครอบครัวสามารถพูดถึงความสำคัญของความพร้อมและการตัดสินใจ เช่น "บางคนอยากมีลูกเมื่อเขาพร้อม แต่บางคนอาจเลือกที่จะไม่มีลูก และนั่นก็ไม่ใช่เรื่องผิดเลย"
- กล้ายอมรับเมื่อคุณไม่รู้คำตอบ หากคุณไม่รู้จะตอบอย่างไรให้บอกว่า "แม่ดีใจที่ลูกถามนะ แต่แม่ต้องไปหาข้อมูลเพิ่มเติมก่อน แล้วแม่จะมาคุยกับลูกอีกที" แล้วต้องไม่ลืมที่จะกลับมาคุยกับเด็ก ๆ เพื่อแสดงว่าคำถามของเขามีความสำคัญ
- สร้างความคุ้นเคยในการพูดคุยระหว่างสมาชิกในครอบครัว การที่ทั้งพ่อแม่หรือผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการพูดคุย จะช่วยให้เด็กมองว่าการพูดถึงเรื่องเพศไม่ใช่เรื่องน่าอาย และเป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกคนในครอบครัวสามารถพูดถึงได้ แต่ผู้ปกครองก็สามารถเริ่มบทสนทนาขึ้นได้เอง หากเด็กไม่ถาม เช่น หากเห็นคนตั้งครรภ์ในทีวี พ่อแม่อาจพูดว่า "แม่เห็นว่าคนในทีวีกำลังตั้งครรภ์ ลูกรู้ไหมว่าการตั้งครรภ์คืออะไร ?"
ภาพประกอบข่าว
-
ในยุคโซเชียล การเตรียมตัวลูกให้พร้อมสำหรับโลกออนไลน์ เมื่อเขาอาจเจอเรื่องเพศจากอินเทอร์เน็ต เช่น การส่งข้อความลามก (sexting) หรือเจอภาพลามก (pornography) ถ้าลูกมาเล่าเรื่องนี้ อย่าดุลูก แต่ให้ใช้โอกาสนี้สอนแทน เช่น "แม่เข้าใจว่าลูกอาจสงสัย แต่สิ่งนี้ไม่เหมาะสมสำหรับวัยลูก" , "สิ่งสำคัญคือเราต้องเคารพตัวเองและคนอื่น"
-
สอนเรื่องเพศเพื่อความปลอดภัย ลูกควรกล้าปฏิเสธการสัมผัสที่เขาไม่ต้องการ ด้วยการพูดคำว่า "ไม่เอา หนูไม่ชอบ" บอกลูกว่า "ร่างกายของลูกเป็นของลูก ถ้ามีอะไรที่ไม่สบายใจ บอกแม่ได้ทันที" และพูดเรื่องความยินยอม "ก่อนสัมผัสตัวใคร เราต้องถามก่อนว่าคนนั้นยินยอมหรือไม่"
เคล็ดลับคุยเรื่องเพศแบบสนุก ๆ กับลูก
อายุ 0-2 ปี ให้คุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครอง สอนผ่านกิจวัตรประจำวัน เวลาที่ดีที่สุดในการเริ่มต้นคือช่วงที่ลูกยังเล็ก ใช้เวลาร่วมกันตอนเปลี่ยนผ้าอ้อมหรืออาบน้ำเพื่อสอนลูกเรื่องร่างกาย เช่น
- นี่คือแขนของหนู เอาไว้จับของเล่นไง
- นี่คืออวัยวะเพศของหนู เรียกว่า ... (แล้วแต่คำเรียกของแต่ละบ้าน)
การใช้ชื่ออวัยวะที่ถูกต้องตั้งแต่ต้น จะช่วยให้ลูกเข้าใจและกล้าพูดถึงร่างกายของตัวเองได้อย่างมั่นใจ แต่อย่าอายที่จะสอนให้ลูกเรียก เพราะเมื่อเราสอนอวัยวะอื่นให้ลูกได้ การสอนให้เรียกชื่ออวัยวะเพศของตัวเด็กเองก็ย่อมทำได้เช่นกัน
ภาพประกอบข่าว
อายุ 2-3 ปี วัยนี้ เด็กเริ่มสงสัยเรื่องร่างกายของตัวเองและคนอื่น คุณแม่อาจโดนคำถามเด็ด ๆ เช่น
- แม่ หนูมีอะไรเหมือนพี่ชายไหม ? ให้ตอบง่าย ๆ ว่า "หนูกับพี่ชายมีบางส่วนเหมือนกัน แต่บางส่วนไม่เหมือนกัน เพราะร่างกายของคนแต่ละเพศมีความแตกต่าง"
แนะนำให้ผู้ปกครองเตรียมหนังสือภาพที่มีรูปวาดน่ารัก ๆ มาเป็นตัวช่วย
อายุ 4-5 ปี วัยนี้ลูกอาจเริ่มถามว่า "ตัวเขามาจากไหน ?" ให้ผู้ปกครองลองถามลูกกลับเพื่อดูว่าเขาเข้าใจมากน้อยแค่ไหน เช่น
- ลูกคิดว่าลูกมาจากไหนล่ะ ? จากนั้นค่อยเสริมว่า "เด็กทารกไม่ได้อยู่ในท้องนะลูก แต่เติบโตในที่พิเศษในร่างกายที่เรียกว่ามดลูก แล้วแม่ก็ต้องดูแลให้หนูโต จนแข็งแรงออกมาสู่โลกนี้ได้"
ภาพประกอบข่าว
อายุ 6-8 ปี เมื่อถึงวัยนี้ ลูกอาจเริ่มสนใจว่า "เขาเข้าไปอยู่ในมดลูกได้ยังไง ?" หรือ "พี่สาวมีหน้าอกเพราะอะไร ?" คุณพ่อคุณแม่สามารถตอบได้อย่างตรงไปตรงมา เช่น
- ทารกเกิดจากการที่ไข่ในร่างกายของแม่เจอกับอสุจิจากพ่อ แล้วพวกเขาจะเติบโตในมดลูก จนกลายเป็นลูกน้อยที่น่ารักไง
- หน้าอกของพี่สาวเริ่มโตขึ้น เพราะร่างกายกำลังเตรียมตัวสำหรับการเติบโตเป็นผู้ใหญ่
สอนลูกให้รู้จัก "สิทธิในร่างกายตัวเอง"
การสอนเรื่องเพศศึกษาให้ลูกวัย 9 ขวบขึ้นไป ถือเป็นการเตรียมตัวที่สำคัญในการช่วยให้ลูกเข้าใจการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและอารมณ์ในช่วงวัยรุ่น
สิ่งแรกที่ควรทำคือการเริ่มต้นด้วยการอธิบายพื้นฐานเกี่ยวกับร่างกายของลูก โดยการใช้คำศัพท์ที่ถูกต้อง ให้ลูกรู้จักและเข้าใจหน้าที่ของแต่ละอวัยวะอย่างถูกต้อง อธิบายเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายในช่วงวัยรุ่น เช่น การมีประจำเดือนในเด็กผู้หญิง หรือการเปลี่ยนแปลงเสียงในเด็กผู้ชาย โดยพูดถึงการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ "ในเชิงบวก" จะช่วยให้ลูกเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นเรื่องธรรมชาติและเกิดขึ้นในทุกคน
ภาพประกอบข่าว
อีกหนึ่งหัวข้อที่ควรสอนคือ "สิทธิในร่างกายของลูก" หรือ "Body Autonomy" ซึ่งหมายถึง
ร่างกายของเขา เป็นของเขาเอง และ ต้องได้รับการเคารพจากผู้อื่น
พ่อแม่ควรสอนลูกให้รู้จักปฏิเสธการสัมผัสที่ไม่เหมาะสมและบอกให้ลูกทราบว่าไม่มีใครสามารถแตะต้องร่างกายของเขาได้หากไม่ได้รับความยินยอม สอนให้ลูกแยกแยะสัมผัสที่ปลอดภัย เช่น การกอดจากครอบครัว และสอนเรื่องการป้องกันตัวเอง รู้วิธีการหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่อาจเป็นอันตราย เช่น การอยู่กับคนแปลกหน้าเพียงลำพัง รวมทั้งการสอนให้รู้จักการแจ้งเตือนผู้ใหญ่เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่สบายใจ เช่น ถูกล่วงละเมิด หรือสัมผัสที่ไม่ปลอดภัย
เรื่องความสัมพันธ์และความเคารพในตัวเองและผู้อื่น เป็นอีกหัวข้อที่ไม่ควรมองข้าม การสอนให้เขารู้จักความสำคัญของการมีความสัมพันธ์ที่ดีและการเคารพซึ่งกันและกันก็เป็นส่วนหนึ่งของการสอนเพศศึกษา
พ่อแม่สามารถอธิบายได้ว่าความสัมพันธ์ที่ดีไม่ได้หมายถึงเพียงแค่การมีเพศสัมพันธ์ แต่รวมถึงการเคารพซื่อสัตย์ และการดูแลซึ่งกันและกันในทุกๆ ด้าน
รวมถึงความยินยอมในการมีความสัมพันธ์ทางเพศ ควรให้ลูกรู้ว่าการมีความสัมพันธ์ทางเพศต้องเกิดจากความยินยอมของทั้ง 2 ฝ่าย และ ทั้ง 2 ฝ่ายต้องเคารพสิทธิและความต้องการของกันและกัน
ภาพประกอบข่าว
การสอนเพศศึกษาให้ลูกเป็นกระบวนการที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่การพูดคุยเพียงครั้งเดียว พ่อแม่ควรปรับวิธีการสอนและคำพูดให้เหมาะสมกับพัฒนาการและความเข้าใจของลูกในแต่ละช่วงวัย การสอนเพศศึกษาจะช่วยให้ลูกมีความรู้ในการปกป้องตัวเองจากการถูกล่วงละเมิด และยังเป็นการสร้างพื้นฐานในการตัดสินใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ในอนาคตอย่างมีความรับผิดชอบ
ที่มา : raisingchildren.net.au, esafekids.com.au, planned parenthood
อ่านข่าวอื่น :