ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

อัปเดต 2567 สิทธิประโยชน์-ขั้นตอนทำ "บัตรคนพิการ"

สังคม
23 พ.ย. 67
12:32
6,008
Logo Thai PBS
 อัปเดต 2567 สิทธิประโยชน์-ขั้นตอนทำ "บัตรคนพิการ"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
อัปเดต 2567 "คนพิการ" สิทธิประโยชน์ และความคุ้มครองคนพิการ พร้อมแนะขั้นตอนการทำ "บัตรคนพิการ" รวมเรื่องน่ารู้ - เงื่อนไข "ลดหย่อนภาษี" ของผู้ดูแล

ประเทศไทยมีจำนวนประชากรรวมกว่า 66,052,615 คน จังหวัดที่มีจำนวนมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ กรุงเทพฯ 5.47 ล้านคน รองลงมา นครราชสีมา 2.62 ล้านคน และอุบลราชธานี 1.86 ล้านคน ตามลำดับ ในขณะที่มีคนพิการที่มาจดทะเบียนเพื่อออกบัตรประจำคนพิการจำนวนกว่า 2 ล้านคน

เห็นได้ว่าไทยมีจำนวน "คนพิการ" ไม่น้อย ภาครัฐจึงมีนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ในการดูแลและส่งเสริมสิทธิ รวมถึงการสนับสนุนให้มีโอกาสที่เท่าเทียม ทั้งด้านการศึกษา การทำงาน สุขภาพ และการเข้าถึงบริการสาธารณะ โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบ เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ 

หลายคนคงยังไม่ทราบถึงสิทธิประโยชน์ที่คนพิการได้รับมีอะไรบ้าง รวมถึง "การทำบัตรประจำตัวคนพิการ" มีขั้นตอนการทำอย่างไร มาทำความเข้าใจให้มากขึ้น 

ภาพประกอบเนื้อหาข่าว

ภาพประกอบเนื้อหาข่าว

ภาพประกอบเนื้อหาข่าว

อ่านข่าว : รู้หรือไม่? ต่างชาติทำงานในไทยต้องจ่าย "ภาษี" เหมือนคนไทย

ความหมาย "คนพิการ" ใน พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 ได้อธิบายไว้ว่า บุคคลที่มีข้อจำกัดในการปฎิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวัน หรือเข้าไปมีส่วนร่วมทางสังคม เนื่องจากมีความบกพร่องทางการเห็น การได้ยิน การเคลื่อนไหว การสื่อสาร จิตใจ เป็นต้น มีความจําเป็นเป็นพิเศษที่จะต้องได้รับความช่วยเหลือด้านหนึ่งด้านใดเพื่อให้ปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจําวันได้อย่างบุคคลทั่วไป

อธิบายให้ชัดคือ บุคคลที่มีความบกพร่องทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา หรือพฤติกรรม ซึ่งทำให้บุคคลนั้นมีข้อจำกัดในการทำกิจกรรมต่าง ๆ หรือการมีส่วนร่วมในสังคม ความบกพร่องเหล่านี้อาจเกิดจากการเจ็บป่วย อุบัติเหตุ หรือความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด

การแบ่งประเภทของ "ความพิการ" 

จากการให้ความหมายข้างต้น กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้จำแนก "ความพิการ" ออกเป็น 7 ประเภท ดังนี้ 

1. ความพิการทางการเห็น : คือบุคคลที่ไม่สามารถใช้สายตาได้ตามปกติ มีความบกพร่องในการมองเห็น ครอบคลุมคนตาเห็นเลือนรางและคนตาบอด คนพิการทางการมองเห็นตามกฎหมาย ไม่ครอบคลุมบุคคลต่อไปนี้ มีตาพิการหรือตาบอดเพียง 1 ข้าง, มีตาบอดสี, มีตาเข ตาเหล่

ภาพประกอบเนื้อหาข่าว

ภาพประกอบเนื้อหาข่าว

ภาพประกอบเนื้อหาข่าว

2. ความพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย : ความพิการทางการได้ยิน คือบุคคลที่มีความบกพร่องในการได้ยิน ไม่สามารถฟังเสียงได้เหมือนคนปกติ หรือสูญเสียการได้ยินในระดับน้อยจนถึงระดับรุนแรง ซึ่งมีอยู่ 2 ประเภท ได้แก่ คนหูหนวก และคนหูตึง แต่คนพิการทางการได้ยินตามกฎหมาย ไม่ครอบคลุมบุคคลต่อไปนี้ หูตึง 1 ข้าง, หูหนวก 1 ข้าง, การสูญเสียการได้ยินที่อยู่ในระดับการรักษา หรือยังไม่สิ้นสุดการรักษา

ส่วนความพิการทางการสื่อความหมาย คือ การที่บุคคลมีความบกพร่องทางการสื่อสารความหมาย เช่น ผู้ป่วยไร้กล่องเสียง ผู้ป่วยเด็กสมองพิการ ที่มีปัญหาการพูด Dysarthria ระดับรุนแรง 

3.ความพิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย 

  • ความพิการทางการเคลื่อนไหว หมายถึง บุคคลมีความบกพร่องหรือการสูญเสียความสามารถของอวัยวะในการเคลื่อนไหว ได้แก่ มือ เท้า แขน ขา อาจมาจากสาเหตุอัมพาต หรือภาวะเจ็บป่วยเรื้อรัง จนมีผลกระทบต่อการทำงาน มือ เท้า แขน ขา
  • ความพิการทางร่างกาย หมายถึง บุคคลมีความบกพร่องหรือความผิดปกติของศีรษะ ใบหน้า ลำตัว และภาพลักษณ์ภายนอกของร่างกายที่เห็นได้อย่างชัดเจน
ภาพประกอบเนื้อหาข่าว

ภาพประกอบเนื้อหาข่าว

ภาพประกอบเนื้อหาข่าว

4. ความพิการทางจิตใจหรือพฤติกรรม หมายถึง บุคคลมีความบกพร่องหรือความผิดปกติทางจิตใจหรือสมองในส่วนของการรับรู้ อารมณ์ หรือความคิด 

5. ความพิการทางสติปัญญา หมายถึง ภาวะที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาส่งผลให้มีข้อจำกัดในการเรียน การทำงาน เป็นผลมาจากการมีพัฒนาการช้ากว่าปกติ หรือมีระดับเชาว์ปัญญาต่ำกว่าบุคคลทั่วไป โดยความผิดปกตินั้นแสดงในช่วงที่สมองมีการพัฒนา และไม่ดีขึ้นจากการได้รับการการฝึกฝน และ/หรือกระตุ้นพัฒนาการที่เหมาะสมอย่างน้อย 6 เดือน

6. ความพิการทางการเรียนรู้ หมายถึง บุคคลที่มีความบกพร่องทางสมอง โดยเฉพาะด้านการเรียนรู้ ทำให้การอ่าน การเขียน การคิดคำนวณ หรือกระบวนการเรียนรู้พื้นฐานอื่นในระดับความสามารถที่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน อาการปรากฎชัดเจนในช่วงวัยเรียน

7. ความพิการทางออทิสติก หมายถึง การที่บุคคลมีความบกพร่องทางพัฒนาการทางสังคม และการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมในหลากหลายบริบท มีแบบแผนพฤติกรรม ความสนใจ หรือพฤติกรรมที่จำกัดทำซ้ำ ๆ ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์วินิจฉัยกลุ่มออทิสติก ซึ่งมีกำหนดไว้ในฉบับสากล

บัตรประจำตัวคนพิการ คืออะไร 

มาถึงตรงนี้ได้รู้ถึงประเภท "ความคนพิการ" แล้วที่จะได้รับสวัสดิการต่าง ๆ จากทางภาครัฐ แล้วหากจะทำ "บัตรประจำตัวคนพิการ" ต้องเริ่มอย่างไร มีขั้นตอนการสมัครอย่างไร ให้สวัสดิการอะไรบ้าง   

พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2556 กำหนดให้คนพิการมีสิทธิได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะ ตลอดจนสวัสดิการและความช่วยเหลืออื่นจากรัฐ เพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพ ให้มีขีดความสามารถที่พร้อมในการปรับตัวอยู่ในสังคมอย่างมีคุณค่า และมีความสุข

การขอยื่นทำ "บัตรประจำตัวคนพิการ" ทำอย่างไร 

คุณสมบัติของ "คนพิการ" ที่ยื่นคำขอทำ "บัตรประจำตัวคนพิการ" นั้นต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย บุคคลที่ยังไม่ได้แจ้งเกิดหรือบุคคลที่ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าสัญชาติไทยต้องดำเนินการตามขั้นตอนตาม พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร์พ.ศ.2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) ก่อน 

และไม่ว่าจะอยู่ในกรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัด สามารถยื่นคำขอมีบัตรหรือต่ออายุบัตรได้ที่ศูนย์บริการคนพิการกรุงเทพฯ หรือศูนย์บริการคนพิการระดับจังหวัดที่อยู่ใกล้ ในกรณีที่ไม่สามารถไปยื่นคำขอด้วยตัวเองได้ สามารถให้ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลไปยื่นคำขอแทนได้

เอกสารหลักฐานประกอบการยื่นคำขอ

เอกสารสำคัญในการยื่นคำขอทำ "บัตรประจำตัวคนพิการ" (บัตรใหม่) ประกอบด้วย

  • สำเนาบัตรประชาชน หรือสำเนาบัตรประจำตัวข้าราชการ หรือสำเนาสูติบัตร (อายุต่ำกว่า 15 ปี) หรือหนังสือรับรองการเกิดตามที่กรมการปกครองกำหนด 1 ฉบับ
  • สำเนาทะเบียนบ้าน 1 ฉบับ
  • รูปถ่าย 1 นิ้ว จำนวน 2 รูป (ถ่ายมาแล้วไม่เกิน 6 เดือน) ในกรณีที่คนพิการไม่ได้มายื่นคำขอด้วยตนเอง
  • เอกสารรับรองความพิการ 1 ฉบับ ซึ่งรับรองโดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมของสถานพยาบาลของรัฐ หรือสถานพยาบาลเอกชนที่อธิบดีประกาศกําหนด
  • สภาพความพิการเป็นที่เห็นได้โดยประจักษ์ ให้เจ้าหน้าที่ผู้รับคำขอถ่ายสภาพความพิการไว้เป็นหลักฐาน

สำหรับ "ผู้ดูแลคนพิการ" (มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเดียวกัน หรือเป็นผู้ดูแลที่คนพิการอาศัยอยู่ตามความเป็นจริง) ประกอบด้วย

  • บัตรประชาชนของผู้ดูแลคนพิการ
  • ทะเบียนบ้านของผู้ดูแลคนพิการ

***เกร็ดน่ารู้ ความพิการเชิงประจักษ์ คืออะไร

  • ประเภทความพิการทางการเห็น ได้แก่ ไม่มีลูกตาดำทั้งสองข้าง หรือ ลูกตาสีขาวขุ่นทั้งสองข้าง
  • ประเภทความพิการทางการได้ยิน หรือสื่อความหมาย ได้แก่ ไม่มีรูหูทั้งสองข้าง
  • ประเภทความพิการทางการเคลื่อนไหวหรือร่างกาย ได้แก่ แขนขาดระดับข้อมือขึ้นไปอย่างน้อย 1 ข้าง หรือขาขาดตั้งแต่ระดับข้อเท้าขึ้นไปอย่างน้อย 1 ข้าง  
ภาพประกอบเนื้อหาข่าว

ภาพประกอบเนื้อหาข่าว

ภาพประกอบเนื้อหาข่าว

กรณี "คนพิการมิได้มาแจ้งหรือไม่สามารถแจ้งได้" ต้องเตรียมเอกสารดังนี้ 

  • หนังสือรับรองการเป็นผู้ดูแลคนพิการ ผู้รับรอง เช่น กํานัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นต้น โดยผู้รับรองต้องอาศัยอยู่หรือปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่เดียวกับที่คนพิการอาศัยอยู่ในปัจจุบัน
  • สำเนาบัตรประจำตัวของผู้รับรอง พร้อมรับรองสําเนา ซึ่งข้าราชการบำนาญไม่สามารถรับรองหนังสือนี้ได้ การรับรองจะสมบูรณ์เมื่อพยานลงนามครบถ้วน การรับรองอันเป็นเท็จมีความผิดตามกฎหมายทั้งทางแพ่งและทางอาญา

กรณีบุคคลอื่นยื่นคำขอมีบัตรฯ แทนคนพิการ ต้องใช้อะไรบ้าง 

  • สำเนาบัตรประชาชนของบุคคลที่ดำเนินการแทน
  • หนังสือมอบอำนาจ เป็นหลักฐานว่าได้รับมอบจากคนพิการ (พยานต้องลงนามครบถ้วน)
  • กรณีคนพิการเป็นผู้เยาว์ คนเสมือนไร้ความสามารถ หรือคนไร้ความสามารถ หรือมีความพิการมากไม่สามารถดำเนินการเองได้ ผู้ปกครอง ผู้พิทักษ์ ผู้อนุบาล หรือผู้ดูแล ดำเนินการแทนได้

กรณีที่ "บัตรประจำตัวคนพิการ" หมดอายุ ชำรุด สูญหาย มีการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญเกี่ยวกับคนพิการ อายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ เอกสารหลักฐานของคนพิการ ที่ต้องเตรียม มีดังนี้

1.บัตรประจำตัวคนพิการใบเดิม

2.เอกสารประจําตัวอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้ บัตรประจําตัวประชาชน, สําเนาบัตรประจําตัวข้าราชการ, สูติบัตรสําหรับบุคคลอายุต่ำกว่า 15 ปี, หนังสือรับรองการเกิดตามแบบที่กรมการปกครองกําหนด

3.ทะเบียนบ้านของคนพิการ กรณีที่คนพิการมีทะเบียนบ้าน แต่ไม่มีบัตรประชาชน ต้องดำเนินการตามขั้นตอนตาม พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร์ พ.ศ.2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 ก่อน

กรณีที่ "บัตรประจำตัวคนพิการ" หมดอายุ ต้องยื่นคำขอมีบัตรใหม่ ภายใน 30 วัน ก่อนบัตรจะหมดอายุ

4. หนังสือสำคัญแสดงการเปลี่ยนชื่อตัว หรือชื่อสกุล

5. รูปถ่ายคนพิการ ขนาด 1 นิ้ว ถ่ายมาแล้วไม่เกิน 6 เดือน จำนวน 2 รูป ในกรณีที่คนพิการไม่ได้มายื่นคำขอด้วยตนเอง

6.กรณีมีความพิการเพิ่ม หรือเปลี่ยนไปจากเดิม

  • เอกสารรับรองความพิการ ซึ่งรับรองโดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมของสถานพยาบาลของรัฐ หรือสถานพยาบาลเอกชนที่อธิบดีประกาศกําหนด
  • สภาพความพิการเป็นที่เห็นได้โดยประจักษ์ ให้เจ้าหน้าที่ผู้รับคำขอถ่ายสภาพความพิการไว้เป็นหลักฐาน
กรณีคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการถึงแก่ความตาย หรือได้รับการแก้ไข ฟื้นฟู จนไม่มีสภาพความพิการ หรือมีความประสงค์ยกเลิกการมีบัตรประจำตัวคนพิการ ให้ผู้มีบัตรประจำตัวคนพิการหรือบุคคลที่ดำเนินการแทน แจ้งต่อนายทะเบียนเพื่อจำหน่ายออกจากทะเบียนบัตรประจำตัวคนพิการต่อไป
ภาพประกอบเนื้อหาข่าว

ภาพประกอบเนื้อหาข่าว

ภาพประกอบเนื้อหาข่าว

สิทธิการอุทธรณ์ เกี่ยวกับ "บัตรประจำตัวคนพิการ"

1. กรณี "คนพิการ" ไม่ได้รับอนุมัติให้มี "บัตรประจำตัวคนพิการ" อาจยื่นอุทธรณ์เป็นหนังสือต่อนายทะเบียนแห่งนั้น ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำสั่งดังกล่าว

2. ให้นายทะเบียนพิจารณาคำอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์แล้ว ให้แจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์พร้อมเหตุผลเป็นหนังสือต่อผู้อุทธรณ์ทราบภายใน 15 วัน นับแต่วันที่พิจารณาอุทธรณ์เสร็จ คำวินิจฉัยของนายทะเบียนให้เป็นที่สุด

บัตรประจำตัวคนพิการ มีอายุบัตร 8 ปี และกำหนดให้ใช้บัตรตลอดชีวิตได้ เมื่อมีอายุ 60 ปีขึ้นไป สำหรับคนพิการที่เห็นได้โดยประจักษ์จะได้บัตรตลอดชีพ
ภาพประกอบเนื้อหาข่าว

ภาพประกอบเนื้อหาข่าว

ภาพประกอบเนื้อหาข่าว

สิทธิประโยชน์และความคุ้มครองคนพิการ

สำหรับ "คนพิการ" สามารถยื่นคำขอใช้สิทธิเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้จากสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะ ตลอดจนสวัสดิการและความช่วยเหลืออื่นจากรัฐ ตามมาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 หรือตามที่กฎหมายอื่นกำหนด  ยกตัวอย่างเช่น 

  • เบี้ยคนพิการ : ผู้พิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการมีสิทธิขอรับ เบี้ยคนพิการ 800 บาท/เดือน โดยเงินนี้จะจ่ายภายในวันที่ 10 ของแต่ละเดือน และหากผู้พิการมีอายุ 60 ปีขึ้นไป ก็สามารถขอรับได้ทั้งเบี้ยคนพิการ และเบี้ยผู้สูงอายุ
  • สิทธิด้านการศึกษา : คนพิการมีสิทธิได้รับการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตั้งแต่เริ่มเรียนจนถึงปริญญาตรี และสามารถขอความช่วยเหลือทางการศึกษาพิเศษตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคล
  • สิทธิด้านการทำงาน : มีกฎหมายที่ส่งเสริมให้คนพิการมีโอกาสในการทำงานอย่างเท่าเทียม เช่น การสนับสนุนให้ภาคเอกชนจ้างงานคนพิการ และการให้สิทธิพิเศษในการจ้างงานในหน่วยงานของรัฐ
  • สิทธิด้านสุขภาพ : คนพิการมีสิทธิในการรับบริการด้านสุขภาพฟรี รวมถึงการฟื้นฟูสมรรถภาพ และการจัดหาอุปกรณ์ช่วยเหลือต่าง ๆ 
  • สิทธิในการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวก : คนพิการมีสิทธิในการเข้าถึงบริการสาธารณะและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่รัฐจัดหาให้ เช่น การเดินทาง การสื่อสาร และสถานที่สาธารณะ
  • สิทธิที่จะได้การช่วยเหลือด้านกฎหมาย : เพื่อประโยชน์จากสิทธิตามกฎหมาย ทั้งคดีแพ่ง คดีอาญา คดีปกครอง คดีแรงงาน และคดีทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งจะได้รับการช่วยเหลือ ในด้านการให้คำปรึกษาหารือทางกฎหมาย การให้ความรู้ทางกฎหมาย การจัดทำนิติกรรมสัญญา การไกล่เกลี่ยหรือการประนีประนอมยอมความ การจัดหาทนายความ เป็นต้น   

"การลดหย่อนภาษี" ของ "ผู้ดูแลคนพิการ"

ภาพประกอบเนื้อหาข่าว

ภาพประกอบเนื้อหาข่าว

ภาพประกอบเนื้อหาข่าว

ผู้มีเงินได้หักค่าลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพได้คนละ 60,000 บาท ดังนี้ 

1. ความสัมพันธ์กับผู้มีเงินได้ 

  • เป็นบิดามารดาของผู้มีเงินได้
  • เป็นบิดามารดาของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้
  • เป็นสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้
  • เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายหรือบุตรบุญธรรมของผู้มีเงินได้
  • เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้
  • เป็นบุคคลอื่นที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์กับผู้มีเงินได้ตามที่กล่าวมาข้างต้น แต่ผู้มีเงินได้เป็นผู้อุปการะเลี้ยงดู ผู้มีเงินได้นำมาลดหย่อนได้ 1 คน

2.หลักเกณฑ์ การหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการ

หลักเกณฑ์การเป็นคนพิการที่ผู้มีเงินได้จะหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการได้ จะมีรายละเอียดดังนี้ 

  • คนพิการต้องมีบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
  • เป็นบุคคลที่มีความสัมพันธ์กับผู้มีเงินได้ตาม 1
  • ผู้มีเงินได้เป็นผู้อุปการะเลี้ยงดู และมีชื่อเป็นผู้ดูแลคนพิการในบัตรประจำตัวคนพิการ
  • คนพิการมีเงินได้พึงประเมินไม่เกิน 30,000 บาท ในปีภาษีที่ผู้มีเงินได้ใช้สิทธิหักลดหย่อน (ไม่รวมเงินได้ที่ได้รับยกเว้นตามมาตรา 42)
  • คนพิการต้องมีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก
  • กรณีคนพิการมีผู้อุปการะเลี้ยงดูหลายคน ใครเป็นผู้มีสิทธิหักลดหย่อนนั้น ให้ดูว่าผู้มีเงินได้คนใดมีชื่อเป็นผู้ดูแลในบัตรประจำตัวคนพิการ ผู้มีเงินได้คนนั้นเป็นผู้มีสิทธิหักลดหย่อน

3. การใช้สิทธิและหลักฐานการหักลดหย่อน

  • การหักค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการ หรือคนทุพพลภาพให้หักได้ตลอดปีภาษี ไม่ว่ากรณีที่จะหักได้นั้น จะมีอยู่ตลอดปีภาษีหรือไม่
  • กรณีผู้มีเงินได้มิได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย ให้หักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพได้เฉพาะคนพิการ หรือคนทุพพลภาพที่เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย
  • กรณีผู้มีเงินได้หักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการ และคนพิการดังกล่าวก็ยังเป็นผู้ทุพพลภาพด้วยการใช้สิทธิหักค่าลดหย่อน ให้หักได้ในฐานะเป็นคนพิการฐานะเดียว
  • หลักฐานในการหักค่าลดหย่อน ผู้มีเงินได้ที่ใช้สิทธิหักค่าลดหย่อน อุปการะเลี้ยงดูคนพิการคนทุพพลภาพต้องยื่นแบบ ล.ย.04 พร้อมหลักฐานดังต่อไปนี้ พร้อมกับการยื่นแบบแสดงรายการภาษี

- กรณีหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการ ให้แนบภาพถ่ายบัตรประจำตัวคนพิการ โดยแนบในส่วนที่แสดงว่า ผู้มีเงินได้เป็นผู้ดูแลด้วย

- กรณีหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนทุพพลภาพให้แนบ ใบรับรองแพทย์, หนังสือรับรองการเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูคนทุพพลภาพ (แบบ ล.ย.04-1)

4.กรณีผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิหักลดหย่อน ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรซึ่งเป็นคนพิการหรือคนทุพพลภาพ เป็นสามีหรือภริยา และความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปี ภาษีโดยภริยามีเงินได้ตามมาตรา 40(1) และแยกยื่นแบบต่างหากจากสามี ให้สามีภริยาต่างฝ่ายต่างหักลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท ต่อบุตรที่พิการ หรือทุพพลภาพนั้น โดยสามีภริยาต้องแนบหลักฐานดังนี้

- ภาพถ่ายแบบ แบบ ล.ย.04 ของผู้มีเงินได้ ซึ่งสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ ได้ลงลายมือชื่อรับรอง

- ภาพถ่ายบัตรประจำตัวคนพิการ / ใบรับรองแพทย์และหนังสือการอุปการะเลี้ยงดูคนพิการ (ล.ย.04-1)

รายละเอียดเพิ่มเติม กฎหมายภาษี เกี่ยวกับภาษีเงินได้ฉบับที่ 182

กฎหมายภาษี เกี่ยวกับภาษีเงินได้ฉบับที่ 193

หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมหรือมีคำถามเกี่ยวกับการหักลดหย่อนในกรณีเฉพาะ สามารถติดต่อกรมสรรพากร หรือสำนักงานสรรพากรในพื้นที่ เพื่อขอข้อมูลที่ชัดเจนและถูกต้องเพิ่มเติมได้

อ้างอิงข้อมูล : กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ, กรมสรรพากร, คู่มือการวินิจฉัยและตรวจประเมินความพิการ 

อ่านข่าว : “ยิ่งลักษณ์” เลือกได้ กลับบ้านสงกรานต์ 68

ปปง.เปิดยื่นคำร้องขอคืนทรัพย์สิน "ผู้เสียหายดิไอคอน" ถึง 17 ก.พ.68

บูรณะ “คัมภีร์โบราณ” เสียหายหนัก หลังน้ำท่วมเชียงใหม่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง