นับดูแล้ว เหตุรถยนต์พุ่งชนคนบริเวณนอกโรงเรียนประถมในเมืองฉางเต๋อ เมื่อวันที่ 19 พ.ย.2567 ถือเป็นเหตุรุนแรงในจีนครั้งที่ 3 แล้วในรอบ 1 สัปดาห์ แม้ว่าเจ้าหน้าที่จีนจะยังไม่ยืนยันว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดจากอะไร เป็นการจงใจก่อเหตุ หรือเป็นเพียงอุบัติเหตุ
คลิปวิดีโอจากโทรศัพท์มือถือแสดงให้เห็นภาพความวุ่นวายโกลาหล ระหว่างที่นักเรียนและผู้ปกครองแตกตื่นวิ่งหนีเข้าไปในโรงเรียน ท่ามกลางเสียงร้องด้วยความตกใจ
ขณะที่อีกคลิปหนึ่งเป็นภาพผู้ได้รับบาดเจ็บนอนอยู่บนถนน หลังจากชายต้องสงสัยขับรถยนต์สีขาวพุ่งเข้าชนพ่อแม่ผู้ปกครองที่เดินทางมาส่งลูกหลานเข้าโรงเรียนในช่วงเช้า ก่อนที่ประชาชนที่อยู่ในบริเวณนั้น จะช่วยกันขวางรถเอาไว้ และรุมประชาทัณฑ์คนขับรถจนได้รับบาดเจ็บ ก่อนถูกตำรวจจับกุมตัวไป
นับย้อนไป 2 เดือน มีข่าวการก่อเหตุรุนแรงในจีนที่อยู่ในความสนใจของสื่อทั่วโลก ไม่ต่ำกว่า 7 เหตุการณ์ในหลายเมืองทั่วประเทศ ทั้งเหตุไล่แทงคนและขับรถชนคน อย่างเหตุการณ์ที่เมืองจูไห่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กลายเป็นเหตุโจมตีหมู่ครั้งใหญ่ที่สุดในจีนในรอบ 10 ปี เนื่องจากมีผู้เสียชีวิตมากถึง 35 คน และบาดเจ็บ 43 คน
ขณะที่เหตุแทงเด็กญี่ปุ่น วัย 10 ขวบ เสียชีวิตในเมืองเซินเจิ้น เมื่อเดือน ก.ย. ส่งผลกระทบไปถึงรัฐบาลของ 2 ประเทศ และทำให้ทางการญี่ปุ่นต้องออกคำเตือนให้ชาวญี่ปุ่นในจีนระมัดระวังตัวและหลีกเลี่ยงการพูดภาษาญี่ปุ่น
แม้ว่าในแต่ละเหตุการณ์ ผู้ก่อเหตุจะไม่ได้มีแรงจูงใจเหมือนกัน แต่จุดร่วมในหลายเหตุการณ์ นั่นก็คือ ผู้ก่อเหตุมีปัญหาทางการเงิน หลายคนมีปัญหาสุขภาพจิต รวมทั้งเชื่อว่า ตัวเองได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม และรู้สึกว่าไม่มีใครรับฟังปัญหาของพวกเขา
จุดร่วมเหล่านี้สะท้อนถึงปัญหาที่กำลังหยั่งรากลึกในสังคมจีน อันเป็นผลมาจากความกดดันทางสังคมและเศรษฐกิจในยุคที่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนชะลอตัวและไม่เฟื่องฟูเหมือนในอดีต ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ซ้อนทับกับปัญหาการเข้าถึงการรักษาอาการป่วยทางจิตและการตีตราคนที่เข้ารับการรักษา หรือปรึกษาปัญหาในด้านนี้
ข้อมูลจากทางการจีน ชี้ว่า นับตั้งแต่ต้นปี เกิดเหตุรุนแรงที่ผู้ก่อเหตุกระทำกับผู้อื่นแบบไม่เลือกหน้าอย่างน้อย 19 เหตุการณ์ ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วไม่ต่ำกว่า 63 คน และบาดเจ็บมากกว่า 160 คน ซึ่งตัวเลขดังกล่าวสูงกว่าปีก่อนหน้าอย่างก้าวกระโดด โดยเมื่อปีที่แล้ว มีผู้เสียชีวิตจากเหตุรุนแรงในลักษณะเดียวกันเพียง 16 คน และบาดเจ็บ 40 คน
งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ในสหรัฐฯ สำรวจมุมมองของชาวจีนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เปรียบเทียบกับการสำรวจระหว่างปี 2547-2557 โดยพบว่า ชาวจีนใน 2 ยุค มองเรื่องความไม่เท่าเทียมต่างกันออกไป เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและเศรษฐกิจในช่วง 2 ทศวรรษ
งานวิจัยชิ้นนี้ตั้งคำถามหลายข้อ ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ คำถามที่ว่า คนที่มีฐานะยากจนในจีน ทำไมถึงจน โดยจะเห็นว่า 3 เหตุผลหลักเมื่อปี 2547 ได้แก่ การขาดความสามารถ การศึกษาต่ำและการขาดความมุมานะพยายาม ซึ่งตีความได้ว่า ผู้ตอบแบบสำรวจ มองว่า คนจะจนก็เป็นเพราะตัวเอง แต่มุมมองนี้สวนทางกับผลสำรวจล่าสุด ที่มองว่า ปัญหาความยากจนเกิดจากระบบเศรษฐกิจและสังคมที่ไม่เท่าเทียม
ถามใหม่ว่า ทำไมคนถึงรวย คำตอบที่ได้เมื่อ 20 ปีที่แล้ว คือ เป็นเพราะความสามารถและการศึกษาของคน ๆ นั้น สวนทางกับมุมมองของชาวจีนในปัจจุบัน ซึ่งมองว่า คนในจีนจะรวยได้ต้องมีสายสัมพันธ์ หรือ คอนเนกชัน ที่ดีเป็นอันดับแรก รวมทั้งต้องมาจากครอบครัวที่ร่ำรวยและมีโอกาสที่ดีกว่าคนอื่น ๆ ถึงจะรวยได้
อีกหนึ่งคำถามที่น่าสนใจ คือ ความพยายามมักจะนำไปสู่การได้รับรางวัลใช่หรือไม่ ซึ่งคนที่เห็นด้วยกับเรื่องนี้เมื่อ 20 ปีที่แล้ว มีถึงร้อยละ 62 แต่ตัวเลขดังกล่าวลดลงมาเหลือเพียงแค่ร้อยละ 28 เมื่อปีที่แล้ว โดยในกรอบเวลาเพียงแค่ 20 ปี มุมมองของชาวจีนเปลี่ยนแปลงไปมากขนาดนี้ สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่ถูกกดทับอยู่ในสังคมจีนที่รอวันปะทุกลายเป็นเหตุรุนแรง แม้จีนจะมีอัตราการเกิดเหตุรุนแรงที่ต่ำกว่าหลายประเทศ แต่ทางการก็ไม่สามารถละเลย หรือมองข้ามปัญหาเหล่านี้ได้ เพราะมันเป็นเสมือนระเบิดเวลาในสังคม
อ่านข่าวอื่น :
เกิดเหตุยิง M79 ใส่ที่พักคนงานสร้างเจ้าแม่กวนอิม จ.สงขลา เจ็บ 3 คน