ปีนี้ 2567 งานนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ พระบรมบรรพต (ภูเขาทอง) หรือ งานวัดภูเขาทอง มีกำหนดจัดงานระหว่างวันที่ 8 - 17 พฤศจิกายน ณ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร และพลาดไม่ได้กับกิจกรรมสำคัญนั้นคือ "ประเพณีห่มผ้าแดง" โดยเชื่อว่าจะช่วยเสริมความเป็นสิริมงคลให้แก่ผู้ร่วมพิธี
"ประเพณีห่มผ้าแดง" ประเพณีเก่าแก่ที่มีสืบต่อกันมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งมีการจัดมามากกว่า 130 ปีแล้ว หลังได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐานที่พระบรมบรรพต (ภูเขาทอง) วัดสระเกศ ได้มีการจัดพิธีการห่มผ้าแดงขึ้นทุกปี ในวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 12 จนถึง วันแรม 2 ค่ำ เดือน 12 ตั้งแต่ก่อนจนถึงหลังพิธีลอยกระทง รวม 10 วัน 10 คืน
พุทธศาสนิกชนเดินทางมาร่วมพิธีอัญเชิญผ้าแดงห่มองค์พระบรมบรรพต (ภูเขาทอง) ณ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ เนื่องในงานนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ ประจำปี 2562 เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 62
ความหมายของ "การห่มผ้าสีแดง" ให้กับองค์พระบรมสารีริกธาตุ ภูเขาทอง เนื่องจาก "สีแดง" ตามความเชื่อโบราณ คือ "สีแห่งความเป็นมงคล" และยังมีความเชื่อที่ว่า ผู้ที่เขียนชื่อ และนามสกุล ลงบนผ้าสีแดง แล้วนำผ้านั้นไปห่มพระบรมสารีริกธาตุ จะได้รับความเป็นสิริมงคล ทำให้เกิดความ ร่มเย็นเป็นสุข มีความเจริญก้าวหน้าในชีวิต แคล้วคลาดปลอดภัยจากอันตราย
ภาพจาก วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร : พุทธศาสนิกชนจารึกชื่อ-นามสกุล พร้อมเขียนคําอธิษฐานขอพรลงบนผ้าแดง ก่อนอัญเชิญขึ้นห่มพระเจดีย์พระบรมบรรพต เพื่อบูชาพระบรมสารรีริกธาตุ ในวันที่ 8 พ.ย.67
ขณะนี้ทางวัดยังเปิดให้พุทธศาสนิกชนจารึกชื่อ-นามสกุล พร้อมเขียนคำอธิษฐานขอพรลงบนผ้าแดงได้แล้ว ตรงบริเวณศาลาบำเพ็ญกุศล ใกล้ทางขึ้นภูเขาทอง
ในปีนี้ 2567 พิธีอัญเชิญผ้าแดงขึ้นห่มพระเจดีย์พระบรมบรรพต เพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุ ตรงกับวันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน 2567 ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 12 ขบวนอัญเชิญผ้าแดง จะเคลื่อนออกจากลานโพธิ์ลังกา หน้าพระอุโบสถวัดสระเกศ เวลา 06.00 น.
พุทธศาสนิกชนเดินทางมาร่วมพิธีอัญเชิญผ้าแดงห่มองค์พระบรมบรรพต (ภูเขาทอง) ณ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ เนื่องในงานนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ ประจำปี 2562 เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 62
ขบวนแห่ผ้าแดง ประกอบด้วย
- ขบวนเชิญป้ายงานนมัสการพระบรมสารรีริกธาตุ ประจำปี 2567
- ขบวนวงดุริยางค์ของโรงเรียนวัดสระเกศ
- ขบวนเชิญธงชาติ, ธงธรรมจักร และตราสัญลักษณ์ วปร.
- ขบวนเทพธิดาเชิญพานดอกไม้
- ขบวนช้างมงคล
- ขบวนกลองยาว
- ขบวนหัวโต
- ขบวนผีตาโขน
- ขบวนนางรำ
- ขบวนพญานาค
- ขบวนรถคลาสสิค
- ขบวนป้ายพิธีอัญเชิญผ้าแดงขึ้นห่มองค์พระเจดีย์บรมบรรพต
- ขบวนคนไทยเชื้อสายอินเดีย นุ่งห่มชุดส่าหรี่
- ขบวนรถบุปผชาติอัญเชิญผ้าแดง พร้อมเทวดายืนประจำยาม 4 ทิศ
- ขบวนพุทธศาสนิกชนถือสายมงคล ตามริ้วขบวน
นอกจากนี้ งานภูเขาทอง 2567 ปีนี้ ยังคงบรรยากาศของงานวัดกลางกรุงเอาไว้ดังเดิม โดยจะมีการจัดแสดงไฟตามมุมต่าง ๆ ของวัด มีการออกร้านค้าไทยย้อนยุค ร้านค้าไทยสี่ภาค ให้เช่าชุดสี่ภาคถ่ายรูป มีการจัดแสดงสระอโนดาต และสัตว์ป่าหิมพานต์ บริเวณถ้ำบามิยัน ใกล้ทางขึ้นภูเขาทอง สำหรับลอยกระทงประทีป อีกด้วย
วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร (วัดภูเขาทอง)
วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร (วัดภูเขาทอง)
"วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร" หรือ "วัดสระเกศ" เป็นพระอารามหลวงชั้นโท วัดโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่ในเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เดิมชื่อ "วัดสะแก" ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์และขุดคลองรอบพระอาราม แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า "วัดสระเกศ"
"วัดสระเกศ" แปลว่า ชำระพระเกศา สืบเนื่องเมื่อทำพิธีพระกระยาสนาน (อาบน้ำ) ครั้งเสด็จกรีธาทัพกลับจากกัมพูชามาปราบจลาจลในกรุงธนบุรี ภายใน "วัดสระเกศ" มีพุทธสถาปัตยกรรมและพุทธศิลป์อันงดงาม สำหรับสิ่งก่อสร้างที่อยู่คู่กับวัดสระเกศ คือ "ภูเขาทอง" หรือ "บรมบรรพต"
วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร (วัดภูเขาทอง)
"วัดสระเกศ" ถือเป็นปูชนียสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ ใครไปมีสิ่งที่ไม่ควรพลาด นั้นคือ การขึ้นไปกราบนมัสการปิดทอง พระบรมสารีริกธาตุที่ชั้นบนสุดของภูเขาทอง
บรมบรรพต (ภูเขาทอง) สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัส บนยอดมีเจดีย์เหลือมอร่ามประดิษฐานอยู่ จำลองแบบมาจากพระเจดีย์ของวัดภูเขาทองในพระนครศรีอยุธยา
เมื่อปี 2422 รัฐบาลอินเดียได้ถวายพระบรมสารีริกธาตุซึ่งขุดได้จากเนินพระเจดีย์เก่าที่เมืองกบิลพัสดุ์ จึงได้มีการจัดงานเฉลิมฉลองเป็นเวลา 7 วัน 7 คืน ในช่วงเทศกาลลอยกระทง จนกลายเป็นประเพณีนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ สืบต่อมาถึงปัจจุบัน โดยจะมีการอัญเชิญผ้าแดงมาห่มเจดีย์เป็นเวลา 10 วัน
สักการะพระบรมสารีริกธาตุ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไหว้เสริมสิริมงคล
- พระบรมสารีริกธาตุ บรรจุอยู่ชั้นบนสุดของภูเขาทอง
- ต้นพระศรีมหาโพธิ์
- พระประธาน พระอุโบสถ วัดสระเกศ
- พระอัฏฐารส
- หลวงพ่อดำ วัดสระเกศ เป็นพระพุทธรูปที่คู่กับบรมบรรพต (ภูเขาทอง) มาตั้งแต่ต้น
- หลวงพ่อดุสิต
- พระพุทธมงคลสุวรรณบรรพต (หลวงพ่อโชคดี)
- พระพุทธมงคลบรมบรรพต (หลวงพ่อดวงดี)
นนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ หรือ งานวัดภูเขาทอง เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2562
เที่ยว "งานวัดภูเขาทอง 2567" เดินทางอย่างไร
งานวัดภูเขาทอง ปีนี้ 2567 กำหนดจัดงานระหว่างวันที่ 8 - 17 พ.ย. ประชาชนสามารถใช้บริการรถโดยสารประจำทางของ ขสมก. เดินทางไปเที่ยวงานวัดภูเขาทอง โดยมีรถโดยสารประจำทาง (รถเมล์) วิ่งผ่านวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร 13 เส้นทาง แบ่งเป็น 2 ถนน ดังนี้
1. ถนนจักรพรรดิพงษ์ 4 เส้นทาง ได้แก่
- สาย 15 (4-2) วงกลม : สถานีรถไฟฟ้าตลาดพลู - สยาม
- สาย 21 (4-6) วัดคู่สร้าง - มหานาค
- สาย 47 (3-41) ท่าเรือคลองเตย - สถานีรถไฟฟ้าสนามไชย
- สาย 49 (2-43) สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร) หมอชิต 2 - หัวลำโพง
2. ถนนหลานหลวง จำนวน 11 เส้นทาง
- สาย 15 (4-2) วงกลม : สถานีรถไฟฟ้าตลาดพลู - สยาม
- สาย 47 (3-41) ท่าเรือคลองเตย - สถานีรถไฟฟ้าสนามไชย
- สาย 59 (เดิม) รังสิต - สนามหลวง
- สาย 60 (1-38) สวนสยาม - สถานีรถไฟฟ้าสนามไชย
- สาย 79 (4-42) อู่บรมราชชนนี - ราชประสงค์
- สาย 511 (เดิม) ปากน้ำ – สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (ตลิ่งชัน) สายใต้ใหม่
- สาย 511 (3-22E) ปากน้ำ - สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (ตลิ่งชัน) สายใต้ใหม่ (ทางด่วน)
- สาย 1-7E รังสิต – สนามหลวง (ทางด่วน)
- สาย 1-80E สวนสยาม – สถานีรถไฟฟ้าสนามไชย (ทางด่วน)
- สาย A4 ท่าอากาศยานดอนเมือง – สนามหลวง (ทางด่วน)
- สาย S1 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ - สนามหลวง (ทางด่วน)
รถไฟฟ้าใต้ดิน (MRT) ลงสถานีสามยอด (BL30) แล้วเดินไปตามถนนเจริญกรุง เข้าถนนวรจักร ต่อรถเมล์สาย 8, 37 หรือ 48 หรือวินมอเตอร์ไซค์-ตุ๊กตุ๊ก
รถไฟฟ้าบีทีเอส : ลงที่สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ แล้วต่อรถเมล์สาย 47 หรือ 48 หรือ นั่งวินมอเตอร์ไซค์
อ้างอิงข้อมูล : กรุงเทพมหานคร, วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร
อ่านข่าว : "รถไฟลอยน้ำ" เที่ยวเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 2567 เช็กตารางรถ-ราคา
ปฏิทินวันหยุดพฤศจิกายน 2567 ไร้วันหยุด แต่เรายังสุขในวันลอยกระทง
วันสุขภาพจิตโลก 2567 ปรับ Mindset ปลดล็อกใจทุก (ข์) มนุษย์ออฟฟิศ
แท็กที่เกี่ยวข้อง:
- วันสำคัญเดือนพฤศจิกายน
- พฤศจิกายน 2567
- สักการะพระบรมสารีริกธาตุ
- นมัสการพระบรมสารีริกธาตุ
- พระบรมบรรพต (ภูเขาทอง)
- งานภูเขาทอง 2567
- ประเพณีห่มผ้าแดง
- ถวายองค์พระเจดีย์บรมบรรพต (ภูเขาทอง)
- วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร
- ที่มา ประเพณีห่มผ้าแดง
- วัดภูเขาทอง
- ถวายผ้าแดง
- ทำบุญ
- องค์พระเจดีย์
- วัดสระเกศ
- วัดสระเกศ 2567
- ข่าววันนี้
- ข่าวล่าสุด
- ข่าวล่าสุดวันนี้
- ข่าววันนี้ล่าสุด