ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“เพลงหลอนหู” สะกดจิตหมู่ ไวรัล มโน หรือ โฆษณา

Logo Thai PBS
“เพลงหลอนหู” สะกดจิตหมู่ ไวรัล มโน หรือ โฆษณา
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

"ลุงตู่ ลุงตู่อยู่ไหน ไม่ใกล้ไม่ไกล อยู่รวมไทยสร้างชาติ"

"กินจุ๊บจิ๊บ กินจุ๊บจิ๊บ กินจุ๊บกินจิ๊บ กินจุ๊บจิ๊บ"

"ติงนังนัง ตังนิง ชะเออเองเอย ไม่รักจริงไม่กล้า"

"โด่ดิดง ละดิโด้ดิดง ละมันเต้นบ่ตรง ลงโท๊ะ ลงทง"

"ทรงอย่างแบด แซดอย่างบ่อย เธอไม่อินกับผู้ชายแบดบอย"

หลายคนคงเคยได้ยิน เนื้อร้องหรือ "ท่อนฮุค"ของเพลงดังกล่าว และต้องฮัมตามเมื่อยามอาบน้ำหรือยามว่าง โดยบางครั้งอาจไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำ ไม่ต่างจากอาการมีหนอนไต่อยู่ในสมอง จะเอาออกก็ไม่ได้ และเมื่อรู้สึกตัวก็จำเนื้อและจังหวะเพลงได้แล้ว แบบไม่ต้องดูโพย อาการเช่นนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับเด็กหรือผู้ใหญ่ แต่เป็นกับทุกช่วงวัย โดยลักษณาการดังกล่าว เรียกว่า "อาการหลอนหู (Earworm) "

ไม่เว้นแม้แต่เพลงของต่างประเทศ เช่น "PPAP" ขับร้องโดย Piko Taro สัญชาติญี่ปุ่น ท่อนที่ว่า "I have a pen, I have an apple Ah! Apple Pen" , "Sorry, Sorry" ขับร้องโดยวง Super Junior สัญชาติเกาหลี ที่ร้องว่า "Sorry Sorry Sorry Sorry" หรือล่าสุดอย่าง "APT." ขับร้องโดย โรเซ่ อดีตสมาชิก Blackpink เกิร์ลกรุปเคป๊อปสุดโด่งดัง ร่วมกับ บรูโน่ มาร์ส ซุเปอร์สตาร์ป๊อปแห่งสหรัฐฯ ที่ร้องว่า "อาพาทึ อาพาทึ อาพาทึ อาพาทึ อาพาทึ อาพาทึ อะ อาฮะ อาฮะ" ก็ถือว่าเป็นอาการหลอนหูเช่นกัน

คำถามที่ตามมา คือ อาการหลอนหูดังกล่าว มีเหตุจากประเด็นด้านจิตวิทยา ประสาทวิทยา อธิบายได้ด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ หรือจริง ๆ ผู้ฟังเพียงแต่เกิดอาการ "อุปทานหมู่"

"หลอนหู" ตราตรึง-หวนอดีต-อาวรณ์

ตามหลักจิตวิทยา มักระบุว่า อาการหลอนหูเป็นเรื่องจาก "ภายใน" ที่สมองนั้นทำงานหรือสั่งการให้เราจดจำเพลงใดเพลงหนึ่ง หรือทำนองเพลงใดเพลงหนึ่งให้วน ๆ อยู่ในสมอง ซึ่งเพลงทั่ว ๆ ไป มีท่วงทำนองไม่แตกต่างกัน แต่ความเป็นลักษณะเฉพาะ (Unique) คือ ผู้คนจะจดจำเพลงนั้น ๆ เข้ากับเหตุการณ์บางสิ่งของชีวิต เกิดความตราตรึงใจ และวนเวียนในสมองโดยอัตโนมัติ สิ่งนี้เรียกว่า "การคิดลัด (Cognitive Shortcut)"

นิโคลัส ดาวิเดนโก ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา อธิบายว่า สมองมักจดจำระยะยาว แต่สำหรับเพลงหลอนหูนั้น เป็นการคิดอะไรตื้น ๆ ลดทอนความซับซ้อน หรือข้อมูลจำนวนมากลงมาประกอบกับเสียงเพลง ทำให้เป็นความทรงจำในระยะยาวได้

เช่น หากขณะนั้นชีวิตกำลังเผชิญความยากลำบาก พบเหตุการณ์อีนุงตุงนัง พัวพัน และซับซ้อน ในระยะเวลาผ่านไปเราอาจจำไม่ได้ทั้งหมด หากฟังเพลง "อกหัก" ของวงบอดี้สแลม คงคิดได้ไม่ทัน แต่เมื่อได้ยินเนื้อร้อง "ชีวิตแค่โดนทำร้าย แต่ที่สุดมันต้องไม่โดนทำลาย" ก็จะทำให้เกิดภาพความทรงจำในอดีต (Flashback) กลับคืนมา กลายเป็นความทรงจำระยะยาวแบบ "หลบใน"

เรื่องดังกล่าวมีความเชื่อมโยงกับอาการ "หวนอาวรณ์ (Nostalgia)" ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นประสบการณ์เชิงบวกในสมัยเด็ก ๆ เช่น เมื่อคุยกันเรื่องการตื่นเช้ามาดูการ์ตูนทางช่อง 9 อสมท. เพลง "ออกอาวุธ" ที่ขับร้องโดย พี่นัท-น้องนพ (แปลงมาจากเพลง Break Up! ของการ์ตูนดิจิมอน 02) ที่ร้องว่า "ออกอาวุธ ออกอาวุธ ที่พัฒนามาเป็นชุด" จะฮัมออกมาทันทีแบบไม่ต้องบังคับ

หรือหากอธิบายแนวประสาทวิทยาที่เป็นวิทยาศาสตร์ไปเลย จะระบุว่า เป็นผลมาจากการทำงานของสมองส่วน Auditory Cortex ที่เกี่ยวข้องกับการจดจำเสียงและท่วงทำนองต่าง ๆ ส่งคลื่นไฟฟ้าอย่างรุนแรงเมื่อเกิดการฮัมเพลงหลอนหู สมองส่วนนี้จะทำงานก็ต่อเมื่อเกิดการกระตุ้นด้วยเพลง และต้องเป็นเพลงที่เข้ากันได้กับสมองส่วนนี้เท่านั้น จึงฝังลงในก้นบึ้งส่วนลึกของผู้คน ซึ่งจะมีเพียงร้อยละ 15 ของบทเพลงที่เคยฟังทั้งชีวิตจะเป็นเพลงหลอนหู

แต่วิธีการอธิบายแบบนี้ เพียงพอหรือไม่ เพราะมนุษย์มีความหลากหลายทางความคิดและประสบการณ์ เป็นตัวของตัวเอง เพลงหลอนหูน่าจะมีมากมายมหาศาล แต่เหตุใดการจะบอกว่าเพลงนั้น เพลงนี้หลอนหู จึงเป็นเรื่องที่ "เหมารวม" กันได้ และจริงหรือไม่ที่เพลงหลอนหูเกิดขึ้นจากภายใน โดยไม่มีเงื่อนไข "ภายนอก" เข้ามาเกี่ยวข้องเลย

"ผลิตซ้ำซาก" เงื่อนไขสำคัญ "จำฝังใจ"

มนุษย์เป็นสัตว์สังคม และสังคมสามารถขัดเกลานิสัย ลักษณะ และพฤติกรรมมนุษย์ได้ บางครั้ง สิ่งที่มนุษย์กระทำ อาจไม่ได้มาจากตัวของเขาเอง ดังนั้น สิ่งสำคัญนอกเหนือไปจากกระบวนการทำงานของสมองและความรู้สึกนึกคิดที่ทำให้เกิดเพลงหลอนหูขึ้น คือ ต้องพิจารณาเงื่อนไข "ภายนอก" ว่ามีอิทธิพลและส่งผลให้เกิดเพลงหลอนหูได้อย่างไร

ในวงการเพลงนั้น หากเพลงใดเพลงหนึ่งจะ "ไวรัล" ได้ ต้องมีองค์ประกอบอย่างน้อย 2 อย่าง ขั้นแรกต้องเข้าถึงผู้คนทุกหย่อมหญ้า ขั้นต่อมาต้องสร้างการรับรู้ให้ต่อเนื่องและยาวนาน เมื่อทำได้ดังนี้ เพลงก็จะกลายเป็น "เพลงฮิต" ขึ้นมาได้ โดยวิธีการนี้เรียกว่า "การโฆษณาและการโปรโมต"

งานศึกษา Relationship advertising: How advertising can enhance social bonds ชี้ว่า นอกเหนือจากการสร้างการรับรู้ที่เพิ่มมากขึ้นให้แก่สิ่งที่นำเสนอแล้ว การโฆษณายังทำให้เกิด "การมีอิทธิพลเหนือ (Dominant)" ของผู้โฆษณาและผู้รับสารอย่างท่วมท้น เพราะการโฆษณาและการโปรโมทนั้น มีหัวใจหลักคือ "การทำซ้ำ (Imprinting)" เพื่อให้เกิดการฝังใจ การย้ำคิด การติดตา และนำไปสู่ความเชื่ออย่างฝังแน่น แม้ผู้คนจะโต้แย้งว่า พวกเขาคิดเองเป็น แต่กระบวนการขัดเกลาทางสังคม เสมือนให้ผู้คนใช้สมองจริง ๆ แต่ข้อเท็จจริง อยู่ภายใต้อิทธิพลของการโฆษณาและการโปรโมตทั้งสิ้น

เช่น การเกิดขึ้นของรายการเพลงลูกทุ่ง ทางช่อง 4 บางขุนพรหม สมัยช่วงปี 1950 ของไทย ส่งผลให้เพลงไทยประยุกต์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับท้องไร่ท้องนา วิถีชีวิตชาวนาชาวไร่ ได้รับความนิยมจากประชาชนทั่วประเทศ สถานีวิทยุ หนังสือพิมพ์ หรือสื่อต่าง ๆ ช่วยลงข่าวและโปรโมตให้ จนกลายเป็นเพลง "กระแสหลัก" แบบเหลือเชื่อ หรืออาจจะเรียกว่า "ป่าล้อมเมือง" ย่อมได้

เพลงหลอนหู ก็พัฒนามาจากการผลิตซ้ำซาก ๆ จะเห็นว่า ในช่วงแรกของการฟังเพลง ผู้ฟังจะยังไม่เข้าถึงเพลงในทันที บางครั้งอาจตั้งคำถามกับเพลงเหล่านั้น แต่เมื่อได้ฟังบ่อยครั้งขึ้นก็จะสามารถฮัมตามได้อย่างไม่เคอะเขิน จึงทำให้เกิด "เพลงฮิตติดชาร์ต" เพราะหากไม่มีอาการหลอนหู ก็ไม่สามารถที่จะทำซ้ำและการประทับฝังใจในสมองของผู้คนได้ และกลายเป็นเพลงยอดฮิตในที่สุด

แม้โลกปัจจุบันจะมีสื่อใหม่ ๆ เกิดขึ้น และผู้คนสามารถเลือกรับสารได้หลากหลาย โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ แต่ก็มี "อัลกอริทึม" เข้ามาควบคุมการเห็นและรับรู้อีกทอดหนึ่ง บางครั้งอาจดันยอดฟีดขึ้นมาให้เห็นเป็นพิเศษ เช่น เพลง APT. ที่ YouTube ดันขึ้นมาในหน้า Home ของแพล็ตฟอร์ม หรือดันให้เกิดการเล่นอัตโนมัติ ถึงไม่อยากฟัง แต่การฟังเพลงบ่อย ๆ ก็จะทำให้เกิดการหลอนหูได้

ผลกระทบต่อวงการเพลง

ตามปกติการทำเพลงหลอนหู ต้องเข้าใจขั้นตอนการโฆษณาและการโปรโมต ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกที่มีอิทธิพลต่อระบบประสาทและการรับรู้ของผู้ฟังและ ทำให้เกิดอาการติดหนึบกับบทเพลงนั้น ๆ เรื่องดังกล่าว อาจเป็นเชิงลบ และจริง ๆ มีข้อควรระวัง โดยเฉพาะวงการเพลง

งานวิจัย Song lyrics have become simpler and more repetitive over the last five decades ระบุว่า ในช่วง 40-50 ปีที่ผ่านมา เนื้อเพลงและทำนองเพลง "ลดความซับซ้อนทางการประพันธ์" ลงอย่างมาก โดยจะเน้นไปที่การแต่งเนื้อร้องซ้ำ ๆ ทำนองซ้ำ ๆ เพื่อให้เกิดการจดจำและโฆษณาได้ง่าย หรือ แต่งเพลงเพื่อสร้างอาการหลอนหูมากกว่าทำให้เกิด "สุนทรียภาพ"

เพลงสมัยนี้ทำให้ผู้ฟังติดได้ง่าย เพราะว่าง่ายต่อการจดจำ … 10-15 วินาทีแรกก็ตัดสินได้แล้วว่าควรฟังต่อหรือไม่ เอวา ซองเกอร์เล หนึ่งในทีมวิจัยกล่าว

การวนเนื้อร้องซ้ำถือเป็นประดิษฐกรรมใหม่ของการแต่งเพลง สมัยก่อนจะเป็นการเขียนแบบรวดเดียว ไม่มีซ้ำท่อน แต่สมัยใหม่ เพลงก็จะยิ่งซ้ำท่อนมากขึ้น จนบางทีท่อนเดียววนถึง 4-5 รอบเลยก็มีให้เห็น เช่น "เมร่อน" ขับร้องโดย แอแคลร์ จือปาก ร่วมกับ จ๊ะ นงผณี ซึ่งทั้งเพลง มีแต่คำว่า "เมร่อน" แต่ก็ได้รับความนิยมกว่า 76 ล้านวิวใน YouTube

ซองเกอร์เล เคยกล่าวไว้ว่า เพลง คือ กระจกสะท้อนสังคมประการหนึ่ง การที่เพลงเริ่มมีการวนซ้ำมากยิ่งขึ้น หมายความว่า สังคมต้องการอะไรที่ย่อยง่าย และผู้ผลิตเพลงก็อยากที่จะทำเพลงให้สอดรับกับตลาดเพื่อขายของ แม้ว่าจะมีคำถามด้านความสละสลวยสวยงาม แต่ในเมื่อทุกฝ่ายได้ประโยชน์ สิ่งดังกล่าวจึงเป็นเรื่องรองลงไปกว่าการทำให้หลอนหู

แหล่งอ้างอิง

Why do Songs get “Stuck in our Heads”? Towards a Theory for Explaining Earworms, The Literary and Recent Scientific History of the Earworm: A Review and Theoretical Framework, The Kennedy Center, Tunes stuck in your brain: The frequency and affective evaluation of involuntary musical imagery correlate with cortical structure, UC Santa Cruz, Song lyrics have become simpler and more repetitive over the last five decades

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

ร็อคเก็ตทึ” Deepfake Song ล้อเลียน “APT.” จากพี่น้องตระกูลคิม

"APT." หลอนหู ส่ง "โรเซ่ Blackpink" ทำสถิติขึ้นที่ 2 ชาร์ตเพลงอังกฤษ

ทรัมป์-แฮร์ริส เลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ใครชนะ “โลกระส่ำ”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง