ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

จำใจทำ! แม่สร้าง "ห้องกรง" ขังลูกติดยาหลังบำบัดไม่หาย

สังคม
5 พ.ย. 67
06:43
4,167
Logo Thai PBS
จำใจทำ! แม่สร้าง "ห้องกรง" ขังลูกติดยาหลังบำบัดไม่หาย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
การนำผู้เสพยาเสพติดเข้าสู่กระบวนการบำบัด อาจจะไม่ใช่ทางออกของการแก้ปัญหาจากยาเสพติดอย่างยั่งยืน เพราะล่าสุด มีครอบครัวหนึ่ง เคยพาลูกชายไปบำบัดยาเสพติด แต่สุดท้ายเมื่อกลับมาบ้านก็มีพฤติกรรมเช่นเดิม แม่จึงต้องหาวิธีการจัดการด้วยตัวเอง

เมื่อวันที่ 4 พ.ย.2567 ห้องที่ถูกทำขึ้นมาใหม่ภายในบ้านหลังหนึ่ง ใน อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ ลักษณะห้องเป็นการกั้นขึ้นมาใหม่ แบบมีลูกกรง เจ้าของบ้านเล่าว่า ห้องนี้ทำขึ้นใหม่ เพื่อไว้ขังลูกชาย ซึ่งมีพฤติกรรมติดยาเสพติดมาตั้งแต่อายุ 16 ปี จนขณะนี้อายุ 42 ปี และ ติดพนันออนไลน์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรักษาตัวอยู่ที่ รพ.นางรอง

เธอเล่าว่า เมื่อวันที่ 23 ต.ค.ที่ผ่านมา ลูกชายมีอาการคลุ้มคลั่ง อาละวาด เนื่องจากขอเงินแม่ไม่ได้ จึงได้แจ้งเจ้าหน้าที่มานำตัวไปรักษา แต่กลัวว่าหากออกมาก็จะกลับไปเสพยาบ้าอีก จึงตัดสินใจทำห้องนี้ขึ้นมา หากลูกกลับมาก็จะให้อยู่ในห้องนี้

เพราะที่ผ่านมาเคยแจ้งจับกรณีขับรถชนบ้านพัง แจ้งให้นำตัวส่งบำบัด ทั้งที่ค่ายทหาร โรงพยาบาล รวมทั้งการเข้ารับการบำบัดจากวัดมากกว่า 10 ครั้ง แต่พอเริ่มดีขึ้นถูกปล่อยออกมาอยู่บ้าน ก็กลับสู่วังวนเดิมทั้งเสพยา เล่นพนันออนไลน์ ทำให้แม่ต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างหวาดระแวง และกังวลว่าลูกอาจก่อเหตุที่ทำให้สูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์ ทั้งกับตัวเองและชุมชน

นอกจากนี้เธอยังบอกอีกว่า แม้จะทราบว่า การกระทำเช่นนี้ อาจเข้าข่ายกระทำผิดกฎหมาย ที่เกี่ยวกับการกักขังหน่วงเหนี่ยว แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร อยากฝากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหายาเสพติด พนันออนไลน์ และอบายมุขทุกประเภท เพราะเชื่อว่ามีหลายรอบครัวที่ประสบชะตากรรมเหมือนตนเอง

เบื้องต้นทางฝ่ายปกครองในพื้นที่ได้รับทราบเรื่องนี้ และรายงานให้ผู้บังคับบัญชารับทราบ โดยในวันนี้ (5 พ.ย.) จะมีการประชาคมเพื่อหารือและหาทางออกเรื่องนี้

ด้าน ทนายรณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ประธานมูลนิธิรณรงค์ธงคืนความยุติธรรมในสังคม ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า การกักขังหรือหน่วงเหนี่ยวบุคคลนั้น ถือเป็นความผิดตามกฎหมาย แม้จะเป็นการกระทำโดยมารดาที่มีความหวังดีต่อลูกชายก็ตาม

ทั้งนี้ ในสังคมปัจจุบันมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดูแลปัญหายาเสพติด ซึ่งดำเนินการอย่างเป็นระบบตั้งแต่ระดับท้องถิ่น จังหวัด จนถึงระดับกระทรวง โดยเฉพาะหน่วยงานด้านยาเสพติดที่สามารถส่งตัวผู้ติดยาไปบำบัดรักษา จนกว่าจะฟื้นฟูสภาพและกลับคืนสู่สังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น ข้ออ้างเรื่องความหวังดีเพื่อป้องกันตัวหรือรักษาทรัพย์สินนั้น อาจไม่สามารถนำมาใช้ได้ในทางกฎหมาย

อ่านข่าวอื่น :

บก.จร.เปิดภาพเคลียร์ปม เรียกตรวจความเร็ว ปรับใบขับขี่หมดอายุ

"ชูวิทย์" กลับไทย ถ่ายภาพคู่ "สันธนะ" หลังศาลนัดไต่สวนคดีหมิ่นฯ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง