วันนี้ (4 พ.ย.2567) นายวิฑูรย์ เก่งงาน ทนายความของบอสพอล หรือ นายวรัตน์พล วรัทวรกุล เปิดเผยว่า ได้นำพยานกลุ่มแรก 20 คน เข้าให้ข้อมูลกับพนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) โดยพยานเป็นกลุ่มที่ร่วมทำธุรกิจและยังดำเนินการได้ตามปกติ เพื่อยืนยันว่า บริษัทดิไอคอน กรุ๊ป ประกอบธุรกิจจริง มีสินค้าจริง นอกจากกลุ่มนี้ ยังมีพยานที่พร้อมมาให้ข้อมูลกับพนักงานสอบสวนดีเอสไออีก 2,400 คน
นายวิฑูรย์ กล่าวว่า มั่นใจในข้อเท็จจริงว่า พยานจะให้การตามความจริง รวมทั้งจะหารือกับดีเอสไอว่า สามารถสอบสวนได้วันละกี่คน และกระจายไปยังต่างจังหวัดได้หรือไม่ เพื่อเดินสายพบปะตัวแทน ที่มาให้ปากคำกับพนักงานสอบสวน เบื้องต้นประมาณ 15,000 คน หวังว่าดีเอสไอจะฟังความเห็นทางฝั่งนี้บ้าง เพราะเป็นพยานที่ทำธุรกิจจริง

นอกจากนี้ จะมีพยานเป็นกลุ่มโรงงานที่ผลิตสินค้า ผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านการลงทุนและกฎหมาย โดยอยู่ระหว่างการประสานงาน และคาดว่าจะเข้าให้ข้อมูลกับพนักงานสอบสวนได้ภายในเดือน พ.ย.นี้
มณญ่า หนึ่งในพยาน บอกว่า เข้ามาลงทุนกับดิไอคอนตั้งแต่ปีแรก ๆ โดยเริ่มซื้อสินค้าคอลลาเจนมาใช้ และจึงเริ่มขายด้วย เปิดบิลราคา 50,000 บาท ขณะนี้เป็นตัวแทนจำหน่ายระดับวิสดอม
ส่วนตัวขายสินค้าได้ แต่ไม่ขอบอกตัวเลขที่แน่ชัด และมีจำนวนสมาชิกในสายเกินร้อยคน โดยมีทั้งลูกค้าซื้อไปก่อนแล้วจ่ายทีหลัง หรือฝากสินค้าไว้กับบริษัทแล้วค่อยเบิกมาขาย

มณญ่า กล่าวว่า ไม่ได้จัดฉากในการเข้าให้ข้อมูล โดยขอโทษลูกค้า เพราะไม่มีเจตนาจะให้เกิดเหตุการณ์นี้ แต่เป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ ซึ่งลูกค้าบางส่วนไม่มั่นใจในการกินผลิตภัณฑ์ต่อไป
บริษัทได้จัดโปรโมชันประจำเดือน ให้เดินทางไปต่างประเทศ ซึ่งตนเคยได้ไปหลายประเทศ ล่าสุดปารีส ฝรั่งเศส
ส่วนความเคลื่อนไหวการพิจารณาสำนวนคดี ที่อยู่ในความรับผิดชอบของดีเอสไอ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยว่า คณะทำงานคดีดิไอคอน มีการประชุมร่วมหลายฝ่าย และคดีมีความคืบหน้าไปมาก
พ.ต.ต.ยุทธนา กล่าวว่า ขณะนี้รอเพียงความชัดเจนในข้อกฎหมายหมายจากพนักงานอัยการและสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เกี่ยวกับข้อหา พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ปี 2527 หรือแชร์ลูกโซ่ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งฐานความผิด นอกจาก 2 ข้อหาเดิม
หากได้ความชัดเจนมาประมวลผลกับแผนธุรกิจของบริษัทและการขายสินค้า ก็สามารถนำมาพิจารณาแจ้งข้อกล่าวหาได้หรือไม่ แต่ต้องดูว่ามีบุคคลใดบ้างที่เข้าข่ายความผิด
อ่านข่าว : ดีเอสไอจ่อฟันข้อหา "แชร์ลูกโซ่" บอสดิไอคอน