มีประชากรทั้งหมด 439,629 คน แบ่งเป็นชาย 231,882 คน หญิง 225,747 คน ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 368,012 คน นับว่า การลงสมัครเลือกนายก อบจ.ของจังหวัดอุตรดิตถ์ในปีหน้านี้ คงจะมีการแข่งขันกันสูง
เพราะคนรุ่นใหม่ที่สามารถใช้สิทธิ์เลือกตั้งบอกว่า ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งที่ผ่านมา มีแต่กลุ่มนักการเมืองเก่าๆ พรรคเดิม ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกก็กลุ่มคนหน้าเดิมๆ ต้องการให้จังหวัดอุตรดิตถ์มีการเปลี่ยนแปลง
นายชัยศิริ ศุภรักษ์จินดา นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุตรดิตถ์ คนปัจจุบัน ประกาศออกมาแล้วว่า พร้อมทีมงานเดิมลงสมัครต่ออีกอย่างแน่นอน เพื่อสานงานต่อจากที่ได้เป็น นายก อบจ.มา 2 สมัยติดต่อกันมา เนื่องจากประชาชนให้การสนับสนุนอย่างมากมาย ผลงานเป็นที่กระจ่างชัดหลายต่อหลายโครงการ ในนามของทีมพรรคเพื่อไทย
ชัยศิริ ศุภรักษ์จินดา นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุตรดิตถ์
ส่วนด้านพรรคก้าวไกล (พรรคประชาชน) โดยมีนายปัณณวัฒน์ นาคมูล (จเร นาคมูล) ซึ่งสมัครครั้งที่ผ่านมาคะแนนมาอันดับ 2 ในครั้งหน้านี้ก็จะส่งตัวแทนลงแทนตนเอง แต่ยังไม่ยอมเปิดเผยรายชื่อผู้ที่จะลงชิงตำแหน่งนายก อบจ.อุตรดิตถ์ ในนามพรรคประชาชน
ในนามตัวลงอิสระนายโปรย สมบัติ เนื่องจากมีผู้สนับสนุนอย่างที่ตนเคยลงสมัคร สส., สว., นายก อบจ. ทุกครั้งที่ผ่านมา ในครั้งนี้ชูนโยบายสร้างทางรถไฟสู่ชายแดน, ย้ายเรือนจำที่อยู่ใจกลางเมืองออกไปอยู่ด้านนอก
เนื่องจากอยู่กลางชุมชนหนาแน่นติดสถานศึกษา, ฟื้นฟูสนามบิน, จะสร้างศาลจังหวัด อ.ฟากท่า เนื่องจากเป็นพื้นที่ห่างไกลจากตัวเมืองอุตรดิตถ์, เพิ่มแหล่งน้ำสร้างเขื่อนน้ำปาด, แหล่งท่องเที่ยว โดยอาสาเข้ามารับใช้ประชาชนชาว จ. อุตรดิตถ์
โปรย สมบัติ
ด้านอดีตผู้สมัคร สส.สอบตกอุตรดิตถ์ครั้งที่ผ่านมาในนามพรรคภูมิใจไทย นายพิชญตม์ พอจิต ลูกชายนายพีระศักดิ์ พอจิต อดีตสมาชิกวุฒิสภา อดีตรองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติคนที่ 2 แว่วๆมาว่าอาจจะลงชิงสมัครนายก อบจ.ในครั้งนี้ด้วย แต่ยังไม่ยอมเปิดเผยใดๆ ยังคงเก็บตัวเงียบหรือจะไม่ลงชิงชัยในครั้งนี้ก็เป็นไปได้
พิชญตม์ พอจิต
นายวิศิษฐ์ ไกรยา อายุ 50 ปี ชาวจังหวัดอุตรดิตถ์ บอกว่า อบจ.นั้นเป็นองค์กรท้องถิ่นขนาดใหญ่ ดูแลคลุมพื้นที่ทั้งจังหวัด ซึ่งมีความสำคัญต่อการพัฒนา ภาพรวมที่ผ่านมา อบจ.เป็นแหล่งทำมาหากินของกลุ่มบุคคล
ในครั้งหน้า อยากเห็น อบจ.เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง ต้องการให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม ในการกำหนดนโยบายต่างๆ เพื่อร่วมแก้ปัญหาของจังหวัดอุตรดิตถ์ และสามารถตรวจสอบได้
จะเป็น อบจ.ที่โปร่งใสอย่างแท้จริง เพื่อจะใช้งบประมาณมีคุณค่าทุกบาท ทุกสตางค์ จึงขอวิงวอนผู้ที่มีสิทธิ์เลือกตั้ง ออกมาใช้สิทธิ์เลือกบุคคลที่เหมาะสมในการพัฒนาจังหวัดอุตรดิตถ์
ที่ผ่านๆ มา ประชาชนไม่สามารถตรวจสอบการทำงานได้ จึงไม่ค่อยเห็นภาพการทำงานหรือการแก้ไขปัญหาต่างๆ เพราะทุกวันนี้จังหวัดอุตรดิตถ์ยังเหมือนเดิม ทั้งๆที่เป็นเมืองท่องเที่ยว แต่ส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวจะไม่ค่อยแวะมาชม
ด้านคนรุ่นใหม่ของตำบลงิ้วงาม อำเภอเมืองอุตรดิต์ บอกว่า ที่ผ่านมาจะเห็นแต่ขั้วการเมืองขั้วเดียว การบริหารงานจะอยู่ในกลุ่มพวกฟ้องของตนเอง จึงไม่มีการถ่วงดุล
ครั้งต่อไปอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง อยากได้คนหน้าใหม่เข้ามาบริหารดูบ้างที่พร้อมจะทำงานไปกับบ้านเมืองของเรา อุตรดิตถ์เป็นหนึ่งในสามจังหวัด ที่มีค่าแรงน้อยที่สุด เพราะมีประชากรน้อยจึงทำให้งบประมาณที่ภาครัฐให้มาน้อยตามไปด้วย จึงต้องการหาผู้บริหารมาใช้งบดังกล่าวอย่างมีคุณภาพ ใช้เงินอย่างมีคุณค่ามากที่สุด
5 ยุทธศาสตร์การพัฒนาของ อบจ.อุตรดิตถ์
1.การพัฒนาด้านการส่งเสริมคุณภาพชีวิต
- ส่งเสริม พัฒนาและการสงเคราะห์คุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ผู้พิการ เด็ก เยาวชน สตรี ผู้ด้อยโอกาส ส่งเสริมให้สังคมพึ่งพาตนเองได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน
- ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีความเข้มแข็งตามแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
- ส่งเสริมการสาธารณสุขให้มีคุณภาพและทั่วถึง
- ส่งเสริมและสนับสนุนการป้องกันการระบาดของโรคติดต่อทุกประเภท
- จัดให้มีกิจกรรมการแพทย์ฉุกเฉินและส่งเสริมสนับสนุนระบบบริการสาธารณสุข
- ส่งเสริมและสนับสนุนการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมและการแก้ไขปัญหายาเสพติดทุกประเภท
2.การพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน
- พัฒนาและปรับปรุงเส้นทางคมนาคมให้มาตรฐานและระบบ Logistics ที่เชื่อมต่อการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้าและการบริการเพื่อรองรับการเป็นประชาคมอาเซียน
- พัฒนาแหล่งน้ำ ระบบชลประทานเพื่อการเกษตรและแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภค - บริโภค
- พัฒนาและปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคให้ได้มาตรฐานและ การวางผังเมือง
- พัฒนาเส้นทางการคมนาคมให้ได้มาตรฐาน สะดวกปลอดภัย และมีแสงสว่างเพียงพอ
3.การพัฒนาด้านส่งเสริมอาชีพ การลงทุน พาณิชยกรรม และการท่องเที่ยว
- ส่งเสริมการทำการเกษตรแบบเศรษฐกิจพอเพียง
- ส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็ง พัฒนาให้กลุ่มอาชีพ กลุ่ม OTOP กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกรต่างๆ กลุ่มสตรี ทั้งด้านการผลิต และการตลาด
-การพัฒนาด้านส่งเสริมอาชีพ การลงทุน พาณิชยกรรม และการท่องเที่ยว (ต่อ)
- ส่งเสริมอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชนตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
- พัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยว
4.การพัฒนาด้านการบริหารจัดการและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- สนับสนุน ส่งเสริมการสร้างจิตสำนึกการป้องกัน อนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- ส่งเสริม สนับสนุนการอนุรักษ์ฟื้นฟูและพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพยากรน้ำและป่าไม้ในพื้นที่ลุ่มน้ำน่านและลุ่มน้ำสาขา
- บูรณาการการบริหารจัดการน้ำอย่างมีระบบและมีประสิทธิภาพ ทั้งต้นน้ำกลางน้ำ ปลายน้ำ
-สนับสนุนการบริหารการจัดการขยะมูลฝอยสิ่งปฏิกูลและน้ำเสียและมลพิษทางน้ำ ทางอากาศและเสียง โดยการบูรณาการร่วมกัน
- สนับสนุน ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน
5.การพัฒนาด้านการศึกษา
- ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาทั้งในและนอกระบบให้ได้มาตรฐานอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ เพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
- พัฒนาแหล่งเรียนรู้ นวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา
- เสริมสร้างจริยธรรม คุณธรรมและศีลธรรมแก่ผู้เรียนและบุคลากรทางการศึกษา
- ส่งเสริม สนับสนุนและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียนในสังกัด
- การพัฒนาด้านการกีฬา ศาสนาและวัฒนธรรม ประเพณี
รายงาน : ทีมศูนย์ข่าวภาคเหนือ