กรณีสถานการณ์สู้รบในตะวันออกกลางยังคงรุนแรง ล่าสุดมีแรงงานไทย 4 คน เสียชีวิต และบาดเจ็บ 1 คน โดยบางคนพึ่งเดินทางกลับไป ทำงานเพื่อใช้หนี้สินได้ไม่นานก็เสียชีวิต สร้างความเสียใจให้ครอบครัวอย่างมาก
เมื่อวันที่ 1 พ.ย.2567 บรรยากาศที่บ้านของนายประหยัด พิลาศรัมย์ อายุ 42 ปี หนึ่งใน 4 แรงงานไทยที่เสียชีวิตในอิสราเอล ชาวบ้านนำฝ้ายมาผูกแขนครอบครัว เพื่อเรียกขวัญและให้กำลังใจ โดยมีเพื่อบ้านที่รู้ข่าวเดินทางมาให้กำลังใจ พ่อ แม่ พี่สาว ภรรยา และลูก 3 คน อย่างต่อเนื่อง
อ่านข่าว กต.กำชับอิสราเอลห้ามอนุญาต "แรงงานไทย" เข้าเขตปิดทหาร
ครอบครัว เล่าว่า นายประหยัด ขับรถสองแถวรับส่งนักเรียน พอช่วงโควิด-19 จึงไปทำงานที่อิสราเอล ตั้งแต่ปี 2564 โดยแม่กู้เงินธนาคารเพื่อการเกษตรและสกรณ์ (ธกส.) และเงินนอกระบบเป็นค่าเดินทางกว่า 100,000บาท
กระทั่งปีที่แล้วมีการสู้รบก็กลับมา แต่นายจ้างติดต่อมา และสัญญายังไม่ครบ จึงกลับไปอีกครั้งใหม่ แม้ครอบครัวจะไม่อยากให้ไป แต่เขายืนยันจะเดินทางไปทำงาน เพราะอยากได้เงินมาใช้หนี้
นางประไพ บุหงา ภรรยาผู้เสียชีวิต กล่าวว่า ช่วงแรก นายประหยัด ทำงานในพื้นที่ภาคกลาง ซึ่งไม่อันตรายมาก แต่เพื่อนชวนไปทำงานทางตอนเหนือ เพราะค่าแรงสูงกว่า สามีจึงเลือกไปทำงานที่นั่น
ทั้งที่รูว่าเป็นพื้นที่สีแดง ตอนที่เขาไปทำจุดนี้ ครอบครัวเป็นห่วงมาตลอดอยากให้ย้ายกลับไปทีเดิมปลอดภัย กระทั่งเกิดเหตุและทำให้สามีเสียชีวิต
นางประไพ บุหงา ภรรยาผู้เสียชีวิตนายประหยัด พิลาศรัมย์ อายุ 42 ปี หนึ่งใน 4 แรงงานไทยที่เสียชีวิตในอิสราเอล
ส่วนที่ จ.อุดรธานี เจ้าหน้าที่จัดหางานจังหวัดและเจ้าหน้าที่ประกันสังคม แจ้งสิทธิประโยชน์ให้กับพ่อแม่ของ นายอรรคพล วรรณไสย อายุ 29 ปี แรงงานไทยที่เสียชีวิตในอิสราเอล ที่บ้านมีญาติพี่น้องและชาวบ้าน บ้านดงหมากหลอด มาร่วมแสดงความเสียใจ
เบื้องต้น พบว่านายอรรคพล กลับบ้านช่วงการสู้รบปีที่แล้ว จากนั้นกลับไปทำงานกับนายจ้างเดิม โดยซื้อตั๋วเครื่องบินกลับไปเอง จะต้องตรวจสอบว่ายังเข้าเงื่อนไข กองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ หรือไม่
คาดอีก 10 วันนำศพแรงงานกลับไทย
ขณะที่กระทรวงแรงงาน จะนำหลักฐานการทำงาน ไปดำเนินการตามสิทธิ ทั้งนี้ผู้เสียชีวิตจะได้เงินตามสิทธิประโยชน์ของอิสราเอล โดยพ่อแม่และลูก จะเงินเยียวยาทุกเดือน เจ้าหน้าที่จะจัดการเรื่องนำศพกลับบ้าน คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 10 วัน
เหตุความสูญเสียงดังกล่าว ทำให้นาย พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แสดงความเสียใจ กรณีแรงงานไทยเสียชีวิต 4 ราย และบาดเจ็บสาหัส 1 ราย จากสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล ว่า ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิตที่ไปทำงานที่ประเทศอิสราเอล พร้อมสั่งอพยพ แรงงานทางภาคเหนือทั้งหมดให้อพยพไปทำงานทางภาคใต้ทันที
นายอุบล นามแสน แรงงานไทย ทำงานในโมชาฟ บริเวณชายแดนตอนเหนือ อิสราเอล ติดชายแดนเลบานอน
แรงงานไทยเสี่ยงทำงานใน "กาซา" แลกรายได้ดี
ทีมข่าวไทยพีบีเอสได้ สอบถามถึงสถานการณ์ความรุนแรง กับนายอุบล นามแสน แรงงานไทย ที่ยังคงทำงานในโมชาฟ บริเวณชายแดนตอนเหนือ อิสราเอลติดเลบานอน ห่างจุดที่คนไทยเสียชีวิตประมาณ 60 -70 กิโลเมตร เขาบอกว่าคนไทยกลุ่มล่าสุดเสียชีวิตในพื้นที่ทางการทหาร
ส่วนใหญ่เข้าไปทำงานบริเวณนั้นอีกครั้ง เพราะนายจ้างเสนอให้ค่าจ้างเพิ่มเพื่อสร้างแรงจูงใจขณะที่จุดที่คุณอุบลอยู่ สถานการณ์ยัง ถือว่าปลอดภัย หลังจากมีข่าวคนไทยเสียชีวิต ครอบครัวก็โทรมาสอบถาม แต่คุณอุบล ยอมรับว่า ยังจำเป็นต้องอยู่เพราะเรื่องรายได้เป็นหลัก
สถานทูตได้เสนอกับแรงงานไทยว่ามีใครต้องการเดินทางกลับไทยหรือไม่ แต่ยังไม่มีใครกลับ เพราะปัจจัยหลักเรื่องเงินที่จะส่งให้กับครอบครัว และค่าจ้างยังต่างกับการทำงานในเมืองไทยหลายเท่า
อ่านข่าว "แอ่วเหนือคนละครึ่ง" ยังเหลือ 9,098 สิทธิ รอลุ้นเฟส 2
ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่า ช่วงก่อนเกิดสงครามในกาซา มีแรงงานไทยในอิสราเอลประมาณ 30,000 คนในช่วงกลุ่มฮามาสโจมตี เมื่อเดือนต.ค.2566 มีแรงงานไทยเสียชีวิต 46 คน และถูกจับเป็นตัวประกัน 30 คน ตอนนี้คาดว่ายังมีตัวประกันคนไทยเหลืออีก 6 คน
สาเหตุที่แรงงานไทยที่เสียชีวิตและบาดเจ็บครั้งนี้ เกิดจากการโจมตีด้วยจรวด จากฝั่งเลบานอนเข้าไปที่เมืองเมทูลา ทางตอนเหนือของอิสราเอล เบื้องต้นทราบว่า นายจ้างได้ขออนุญาตนำแรงงานกลุ่มนี้เข้าไปในพื้นที่ ซึ่งทางการอิสราเอลได้อนุญาตให้เข้าไปเป็นระยะเวลาสั้นๆ ประมาณ 1-2 ชั่วโมง ทำให้นายจ้าง และแรงงานไทยอีก 4 คน เสียชีวิต
อ่านข่าวอื่นๆ