ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ทุกข์ของชาวนา กับปัจจัยลบรุมเร้าราคา "ข้าวไทย"

เศรษฐกิจ
1 พ.ย. 67
20:58
9,651
Logo Thai PBS
ทุกข์ของชาวนา กับปัจจัยลบรุมเร้าราคา "ข้าวไทย"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ฤดูกาลผลิต ข้าวปีนี้ ชาวนาที่หวังจะได้ข้าวราคาสูง เหมือนปีที่ผ่านมา อาจต้องผิดหวัง เพราะ ปัจจัยเสี่ยง หลายด้านกดดันราคาข้าวไทย ทั้งปัจจัยภายนอก และภายใน

ฤดูกาลผลิต ข้าวปีนี้ ชาวนาที่หวังจะได้ข้าวราคาสูง เหมือนปีที่ผ่านมา อาจต้องผิดหวัง เพราะ ปัจจัยเสี่ยง หลายด้านกดดันราคาข้าวไทย ทั้งปัจจัยภายนอก และภายใน

หลังจากอินเดียกลับมาประกาศส่งออกข้าวขาวอีกครั้งในรอบเกือบ 2 ปี ก็คือตั้งแต่ 28 ก.ย.ที่ผ่านมา ทำให้ราคาข้าวไทยไม่สดใส ราคาเริ่มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องจากช่วงกลางปีที่ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 25% เคยขายได้มากกว่าตันละ 10,000 บาท ปัจจุบัน ร่วงลงมาเหลือตันละ 7,000-8,000 บาทต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งก็เป็นความท้าทายอีกครั้ง หลังจากข้าวไทยเคยราคาพุ่งสูงสุดในรอบ 16 ปี ในปี 2566

ภาพชาวนาในพื้นที่ อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด นำข้าวเปลือกหอมมะลิในฤดูกาลเก็บเกี่ยวปีนี้ มาขายให้กับโรงสีสหกรณ์การเกษตร เกษตรวิสัย ซึ่งเปิดรับซื้อผลผลิตจากชาวนา กำหนดราคาข้าวหอมมะลิ กิโลกรัมละ 12 บาท หรือ ตันละ 12,000 บาท

สวาท โดเคน ชาวนาอำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด บอกว่า ข้าวหอมมะลิราคากิโลกรัมละ 12 บาท จะเป็นราคาข้าวเกี่ยวสดแล้วนำมาขาย ซึ่งราคานี้ ขายได้ไม่คุ้มต้นทุนที่เสียไป เพราะมีทั้งการซื้อพันธุ์ข้าว ราคาปุ๋ย ค่าแรง ค่าหว่านไถ และ ค่ารถเกี่ยว แต่หากเป็นข้าวหอมมะลิตากแห้งจะขายได้ในราคากิโลกรัมละ 15-17 บาท ส่วนสาเหตุที่ต้องเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิตเพื่อนำมาขาย เพราะจะนำเงินไปใช้หนี้

ทั้งนี้สิ่งชาวนาพยายามเรียกร้องรัฐบาล คือ อยากให้มีการเพิ่มทุนหมุนเวียน โดยเพิ่มงบประมาณเข้ามาสนับสนุนกลุ่ม เพื่อชะลอการขายของเกษตรให้ได้ราคาที่ต้องการ

นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ระบุว่า สิ่งที่ชาวนาอยากได้เป็นมาตรการเร่งเด่นขณะนี้ คือ โครงการเยียวยาไร่ละ 1,000 บาท ควรจะมีการพิจารณาเรื่องนี้ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ หรือ นบข. วันที่ 8 พ.ย.นี้ เนื่องจากขณะนี้ ชาวนากำลังเผชิญกับต้นทุนที่สูง และราคาข้าวตกต่ำ ซึ่ง ณ เวลานี้ ชาวนาขายข้าวเปลือกได้เพียง 7,000-8,000 บาทต่อตันเท่านั้น

หากดูข้อมูลจากสมาคมโรงสีข้าวไทย พบว่า ราคาข้าวขณะนี้ ลดลงจากช่วง 5 เดือนก่อน โดยราคาข้าวขาว 5% วันที่ 30 ต.ค.2567 อยู่ที่ 1,500- 1,530 บาทต่อ 100 กิโลกรัม ส่วนราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 25% ราคา 8,100-8,500 บาทต่อตัน ราคาลดลง เมื่อเทียบกับช่วงวันที่ 28 มิ.ย.2567 ที่ข้าวขาว 5% มีราคา 2,050 บาท ต่อ 100 กิโลกรัม ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 25% ราคา 10,600 -11,000 บาทต่อตัน

ส่วนราคาส่งออกก็ปรับตัวลดลงเช่นเดียวกัน เช่น ข้าวขาว 5% วันที่ 16 ต.ค.อยู่ที่ 529 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน พอมาวันที่ 30 ต.ค. ลงมาอยู่ที่ 507 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ส่วนข้าวหอมมะลิ ก็ปรับตัวลดลง จากราคา 910 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน เหลือ 820 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ซึ่งราคาข้าวส่งออกที่ลดลง สะท้อนให้เห็นว่า ราคาข้าวในประเทศก็ปรับตัวลดลงตามไปด้วย

ทางสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ประเมินว่า ราคาข้าวมีแนวโน้มจะปรับตัวลดลงอีกในปี 2568 โดยมีปัจจัยลบเข้ามากระทบหลายด้าน ทั้งแนวโน้มอินเดียประกาศยกเลิกแบนส่งออกข้าวขาวและกลับมาส่งออกข้าวขาว 5% ค่าเงินบาทไทยไม่มีเสถียรภาพ ผลผลิตข้าวในปีนี้ดีขึ้นทั่วโลก และสงครามอิสราเอล-อิหร่าน เสี่ยงกระทบต่อต้นทุนการผลิตและค่าระวางเรือ

โดยราคาข้าวที่ตกต่ำ รัฐบาลกำลังเตรียมมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร เพื่อเสนอในที่ประชุม นบข. เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เตรียมเสนอโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวนาปีฤดูกาลผลิตปี 2567/68 วงเงิน 28,000 ล้านบาท เงื่อนไขช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยและสหกรณ์ผู้รวบรวม เพื่อเก็บข้าวไว้บางส่วนในขณะที่การผลผลิตออกมามากเพื่อดึงผลผลิตให้มีราคาสูงขึ้น และคาดว่าจะผลักดันเข้าที่ประชุม ครม.ได้ภายในเดือนนี้

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร รายงานตัวเลขการปลูกข้าวนาปี ปีเพาะปลูก 2567/68 มีเนื้อที่เก็บเกี่ยวกว่า 60 ล้านไร่ ผลผลิต 27 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อเนื้อที่เก็บเกี่ยว 448 กิโลกรัม/ไร่

ทั้งนี้คงจะต้องจับตาการประชุม คณะกรรมการ นบข. ในวันที่ 8 พ.ย.นี้ ว่า จะเคาะมาตรการช่วยเหลือชาวนาอย่างไรบ้าง ส่วนเรื่องที่ชาวนา เรียกร้องขอมาตรการช่วยเหลือการเก็บเกี่ยว ไร่ละ 1,000 บาท ก็ต้องลุ้นกันว่า นบข. จะตอบรับหรือไม่ เพราะในวาระการประชุม นบข. ไม่มีการเสนอมาตรการนี้

อ่านข่าว :

สลาก N3 งวดแรก ขายได้ 1.8 ล้านใบ ย้ำออกรางวัลโปร่งใส

416 อดีตพนักงาน ธปท.ค้านการเมืองแทรกแซง เลือก ปธ.บอร์ด

ชาวนาบึงกาฬ เร่งเกี่ยวข้าว ก่อนพายุ "จ่ามี" ทำฝนตกหนัก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง