Microsoft และ Google ทำข้อตกลงซื้อพลังงานนิวเคลียร์จากซัพพลายเออร์บางแห่งในสหรัฐอเมริกา เพื่อนำกำลังการผลิตพลังงานเพิ่มเติมมาใช้ในศูนย์ข้อมูล หลังจากเมื่อเร็ว ๆ นี้ Google ตัดสินใจจะซื้อพลังงานจาก Kairos Power ซึ่งเป็นผู้พัฒนาเครื่องปฏิกรณ์โมดูลาร์ขนาดเล็ก เพื่อช่วยพัฒนาความก้าวหน้าของ AI
ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงทศวรรษนี้ ประเด็นด้าน "ความยั่งยืน (Sustainability)" เป็นแคมเปญที่รัฐบาลทั่วโลกต่างให้ความสำคัญ องค์การสหประชาชาติพยายามขับเคลื่อนให้สู่เป้าหมายที่วางไว้ คือ การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SGDs) ถึง 17 เป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็น ความยากจน ,ความอดอยาก, สุขภาพ ความเป็นอยู่ที่ดี, การศึกษาที่มีคุณภาพ, ความเท่าเทียม,น้ำสะอาด และสุขภาพอนามัย, พลังงานสะอาด และราคาถูก ฯลฯ
โดยเฉพาะข้อที่ 7 หนึ่งในเป้าหมาย SGDs ว่าด้วยพลังงานสะอาดและพลังงานทางเลือก รายงานจากองค์การสหประชาชาติ (UN) ระบุว่า ทั่วโลกมีการใช้พลังงานสะอาดเพิ่มมากขึ้นในอัตราร้อยละ 12.5 ในปี 2020 และมีการใช้พลังงานแบบเดิม ๆ เช่น น้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติ และมีส่วนในทำลายสภาพแวดล้อม-เกิดภาวะโลกเดือด ลดลงในอัตราร้อยละ 1.9 ในปี 2019
หลักคิดดังกล่าวเข้ามาแทรกซึมอยู่ในภาคเอกชน และวงการ "เทคโนโลยี" ศูนย์เก็บข้อมูล (Data Center) แทนที่พลังงานแบบเดิม และหาทางเลือกในการใช้พลังงานให้น้อยลง เพื่อสอดรับกับการพัฒนา AI ที่ใช้ปริมาณพลังงานเกินกว่า 100 กิโลวัตต์ต่อการประมวลผลครั้งเดียว คาดว่า เม็ดเงินลงทุนจะอยู่ที่ประมาณ 59,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในอนาคตอันใกล้
คำถาม คือ การพัฒนาเทคโนโลยี โดยเฉพาะ AI ต้องใช้พลังงานมหาศาล จะไปกันได้กับความยั่งยืนหรือไม่? และพลังงานนิวเคลียร์ในฐานะพลังงานสะอาดจะเข้ามาตอบโจทย์มากน้อยเพียงไร?
พัฒนาเทคโนโลยี "ทางคู่ขนาน" รักษาสิ่งแวดล้อม
ในอดีต การพัฒนาเทคโนโลยีถือว่าเป็นเส้นขนานกับการรักษาสิ่งแวดล้อม เพราะขั้นตอนการทดลองหรือทดสอบประสิทธิภาพ ล้วนแล้วต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานหากยังไม่ประสบความสำเร็จ ก็ต้องพัฒนาตลอดเวลา ขณะที่เผาผลาญพลังงานมากขึ้น และกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดไม่ได้
ยังไม่นับรวมกับขั้นตอนการผลิต และความต้องการในตลาดที่เพิ่มสูงขึ้น ต้องเพิ่มอัตรากำลังผลิต ถือเป็นการสิ้นเปลืองพลังงานอย่างมหาศาล
ข้อมูลจาก Climate Watch ชี้ว่า การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เริ่มขึ้นประมาณกลางช่วงปี 1800 ช่วงการพัฒนาอุตสาหกรรม ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะกลายเป็นแชมป์การปล่อย CO2 เหตุผลหลัก มาจากสองประเทศมหาอำนาจ "สหรัฐอเมริกา และ สหภาพโซเวียต" ที่ต่างขับเคี่ยวเรื่องดังกล่าวอย่างหนักหน่วง
ช่วงปี 2000 ประเทศในกลุ่มภูมิภาคเอเชียตะวันออก เช่น ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ต่างเร่งพัฒนาด้านเทคโนโลยีเช่นกัน ทำให้เมื่อถึงช่วงปี 2010 อัตราการปล่อยก๊าซ CO2 เพิ่มขึ้นเกินกว่า 14,000 เท่า ในรอบ 100 ปี
สอดคล้องกับรายงาน Greenmatch ระบุว่า ภาคส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มีส่วนในการปล่อย CO2 มากกว่าอัตราร้อยละ 4 ของการปล่อย CO2 ทั้งโลก และมีสัดส่วนการใช้พลังงานน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมากกว่าอัตราร้อยละ 7 จากสัดส่วนการใช้พลังงานทั้งโลก และความต้องการของตลาดที่เพิ่มมากขึ้นในอัตรากว่าร้อยละ 300 ในอีก 10-20 ปีข้างหน้า
นอกจากนี้ การพัฒนาเทคโนโลยียังมีเรื่อง "การทำลายทรัพยากรธรรมชาติ" โดยเฉพาะทรัพยากรน้ำ เนื่องจาก กระบวนการวิจัย พัฒนา และผลิต "อุปกรณ์กึ่งตัวนำ หรือ เซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor)" เพื่อใช้ในการหล่อเย็นมากกว่าอัตราร้อยละ 30 ของทรัพยากรน้ำทั้งโลก ซึ่งสิ่งนี้เป็นอุปกรณ์สำคัญของคอมพิวเตอร์และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นที่ต้องการของมนุษย์มากถึง 1.03 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2019
กล่าวคือ เทคโนโลยีก็ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการปล่อย CO2 หรือการผลาญทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
ดังนั้น โจทย์สำคัญสำหรับบริษัทเทคโนโลยี คือ ทำอย่างไรให้การพัฒนาเทคโนโลยีเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่ต้องไม่ไปลดทอนศักยภาพ ประสิทธิภาพ และประสิทธิผลของเทคโนโลยีนั้น ๆ หรือลดทอนบ้างเพียงอย่างน้อย และ "พลังงานนิวเคลียร์" คือ คำตอบ
เนื่องจากพลังงานทางเลือกอื่น ๆ ต่างมีข้อจำกัดในตนเอง เช่น พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม สามารถสะสมพลังงานไว้ได้เพียงตอนกลางวันเท่านั้น ถึงแม้จะใช้งานตอนกลางคืนได้ พลังงานย่อมไม่เพียงพอต่อการขับเคลื่อนการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างแน่นอน แม้แต่ไฟฟ้าพลังงานน้ำ (Hydroelectric) ที่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ทั้งวันทั้งคืน แต่ความเข้มข้นของกำลังวัตต์นั้นไม่เพียงพอต่อการพัฒนา AI
พลังงานนิวเคลียร์ที่มีอัตราการปล่อย CO2 เป็นศูนย์และไม่จำเป็นต้องใช้ทรัพยากร ธรรมชาติในกระบวนการสร้างพลังงาน จึงเป็นทางเลือกเดียวที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ดังคำกล่าวของ "เจนนิเฟอร์ แกรนโฮล์ม" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ ว่า การฟื้นคืนสภาพพลังงานนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ จะทำให้เพิ่มพูนอัตราคาร์บอนเป็นศูนย์แก่วงการพลังงานและจะพานพบกับความต้องการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะ AI และศูนย์เก็บข้อมูล ตลอดจนการสาธารณสุข
AI-พลังงานนิวเคลียร์ เทคโนโลยีแบบยั่งยืน?
นอกเหนือประเด็นการรักษ์โลกแล้ว การนำพลังงานนิวเคลียร์เข้ามาใช้เพื่อพัฒนาเทคโนโลยี พบข้อดี 2 ประเด็น คือ ประหยัดงบประมาณด้านพลังงานของรัฐบาล เพราะส่วนใหญ่ภาคส่วนเทคโนโลยี โดยเฉพาะ AI เอกชนเป็นผู้ดำเนินการ หากจะนำนิวเคลียร์มาใช้ เอกชนก็จะต้องลงทุนวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์ด้วยตนเอง รัฐบาลจึงสามารถผลักภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ไปได้มาก การลงทุนพลังงานนิวเคลียร์จึงถือว่ามีมูลค่ามหาศาล
ข้อมูลของ Last Energy ระบุว่า การลงทุนในนิวเคลียร์ แม้จะได้พลังงานผลตอบแทนมหาศาล สูงถึงอัตราร้อยละ 75 แต่ก็จะต้องลงทุนมากเพื่อให้ได้มา หรือ "จ่ายมาก ได้มาก" และหาก AI ต้องการพลังงานมหาศาล การลงทุนเพื่อการนี้ของเอกชนก็มีมูลค่าสูงตามไปด้วย
นอกจากนี้ ยังเป็นการเพิ่มความมั่นคงของประเทศ (National Security) ทางอ้อม เพราะสิ่งที่รัฐบาลทั่วโลกหวาดวิตกมากที่สุด คือ พลังงานนิวเคลียร์ เห็นได้จากความพยายามลดการใช้อาวุธนิวเคลียร์ (Nuclear Taboo) หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือความผวาเมื่อทราบว่า เกาหลีเหนือมีการสะสมอาวุธนิวเคลียร์จำนวนมหาศาล ดังนั้น การลงทุนด้านนิวเคลียร์เพื่อการพัฒนา AI จึงเสมือนการเพิ่มพูนพลังงานด้านนิวเคลียร์ของรัฐบาลอีกทางหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ข้อเสียของนิวเคลียร์ก็มีไม่น้อย ข้อน่ากังวลที่สุด คือ "อานุภาพ" ของนิวเคลียร์ จากเหตุการณ์ระเบิดโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล ที่ประเทศยูเครน และฟุกุชิมะ ไดอิชิ ในประเทศญี่ปุ่น ที่แผ่ขยายสารกัมมันตภาพรังสี ระดับมหาศาล เป็นอันตรายต่อชีวิตมนุษย์และไม่ได้หายไปจากชั้นบรรยากาศอย่างรวดเร็ว
หากภาคส่วนเทคโนโลยีนำมาใช้งานเพื่อ AI ในระดับสูง สิ่งที่จะตามมาในกรณีที่เลวร้ายที่สุดอาจเกิดขึ้นได้
"อาร์เน กุนเดอร์สัน" หัวหน้าวิศวกรของ Fairewind Energy Education เตือนว่า ตั้งแต่ปี 1960 สหรัฐฯ สร้างเครื่องกำเนิดพลังงานนิวเคลียร์มากกว่า 250 เครื่อง แต่เกินกว่าครึ่งเลิกใช้สร้างอนุภาคนิวเคลียร์ไป ไม่ใช่เพราะเรื่องความคุ้มค่าด้านงบประมาณ แต่เป็นเรื่องความปลอดภัย
เป็นโจทย์ใหญ่ของบรรดาบริษัทเทคโนโลยีที่ต้องการใช้งานนิวเคลียร์เพื่อ AI ต้องตอบให้ได้ เพราะอันตรายที่เคยเกิดขึ้นจากนิวเคลียร์ในอดีต สาหัสเกินกว่าที่จะสร้างความยั่งยืนได้
แหล่งอ้างอิง
Hungry for Energy, Amazon, Google and Microsoft Turn to Nuclear Power, Innovation in natural resource-based industries: a pathway to development? Introduction to special issue, Last Energy, Greenmatch
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"อัลกอริทึม" ทำลาย VS สร้างสรรค์ "สุนทรียภาพ" มนุษย์?