วันนี้ (31 ต.ค.2567) นายฉัตรชัย บางชวด เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เปิดเผยถึงกรณีคณะมนตรีเมื่อวันที่ 29 ต.ค.2567 เห็นชอบหลักเกณฑ์เร่งรัดการแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคล ให้แก่บุคคลที่อพยพเข้ามาอยู่ในไทยเป็นเวลานานและบุตรที่เกิดในไทย เรื่องนี้เป็นนโยบายของประเทศไทยมายาวนาน ตั้งแต่ 30-40 ปีที่ผ่านมา ซึ่งกลุ่มที่พิจารณาเป็นกลุ่มที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยอย่างยาวนาน ไม่สามารถที่จะกลับประเทศต้นทางได้ และใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยอย่างสันติสุข ร่วมกับสังคมไทย ในเชิงนโยบายมีนโยบายมาโดยตลอดว่าจะต้องพิจารณากำหนดสถานะความชัดเจน และได้สิทธิอย่างเหมาะสมให้คนกลุ่มนี้
อ่านข่าว : เปิดหลักเกณฑ์ "ให้สัญชาติ" บุคคลอพยพ ต้องอยู่ไทยก่อนปี 2542
ทั้งนี้มีมติคณะรัฐมนตรีมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องขั้นตอนการรับรองสถานะ รวมถึงพยานหลักฐานต่างๆ การพิสูจน์ทราบตรวจสอบมีขั้นตอนมากมาย กระบวนการตรวจสอบ และมีเจ้าหน้าที่ที่เข้าใจด้านนี้ไม่มากนักครั้งนี้เป็นมติคณะรัฐมนตรีที่เราจะแก้ไขปัญหาจุดอ่อนต่างๆ ซึ่งกลุ่มที่ให้เป็นกลุ่มที่ทำทะเบียนไว้แล้วตั้งแต่ก่อนปี 2542 และอีกชุดหนึ่งทำทะเบียนไว้เมื่อปี 2548 , 2554 ซึ่งมีข้อมูลอย่างเป็นระบบ
สำหรับความเห็นชอบหลักเกณฑ์เร่งรัดการแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคลดังกล่าว จะกำหนดเฉพาะกลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์ ชนกลุ่มน้อยเป็นหลัก ไม่ได้รวมกลุ่มแรงงานต่างด้าว หนีภัยสงครามเข้ามาใหม่ ซึ่งตามเกณฑ์ต้องอยู่ในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 15 ปี
ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่แค่ สมช.แต่ได้รับความร่วมมือจากกระทรวงมหาดไทยที่เป็นผู้มีอำนาจโดยตรงในการอนุมัติ ดำเนินการตรวจสอบหารือแนวทาง
เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ยังระบุว่า กลุ่มที่จะได้สัญชาติไทย มีสถานะ 2 แบบ คือกลุ่มคนที่อพยพเข้ามาจะได้ใบถิ่นที่อยู่ถาวร ประมาณ 340,000 คน ส่วนบุตรหลานของคนเหล่านี้ที่เกิดในไทย อาจได้สัญชาติไทยประมาณ 140,000 คน ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.สัญชาติ และ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง
โดยหลักการถือว่าเป็นผลดี คือเมื่อกลุ่มคนเหล่านี้มีสถานะชัดเจน ทำให้มีความมั่นคงในชีวิต และได้สิทธิต่างๆอย่างเต็มที่ ตรงกันข้ามถ้าไม่ได้รับรองสถานะ เรื่องสิทธิก็จะไม่ได้รับตามหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องของความมั่นคงของประเทศที่ทำให้อยู่อย่างสันติสุข
ในขั้นตอนต่อไป ต้องมีการกำหนดรายละเอียดภายใน 60 วัน ในการออกประกาศหรือวิธีปฏิบัติต่างๆ และกลุ่มที่ได้ทำทะเบียนไว้แล้วจะต้องยื่นคำร้องที่ว่าการอำเภอ สำหรับกระบวนการตรวจสอบจะต้องมีระยะเวลาในการตรวจสอบ 1 ปี การรับรองจะให้เจ้าตัวมีการรับรองความถูกต้องของตัวเอง ถ้าไม่มีใครทักท้วงก็จะได้สถานะ แต่ถ้าหากไปตรวจสอบพบในภายหลังว่ามีการให้ข้อมูลอันเป็นเท็จจะมีการเพิกถอนสถานะดังกล่าว
ส่วนประเด็นที่หลายฝ่ายมีความกังวลจะมีการสวมสิทธิ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ กล่าวว่า ได้มีการหารือกับทางกระทรวงมหาดไทย และฝ่ายตำรวจฝ่ายความมั่นคง จะต้องมีการออกแบบคัดกรองบุคคลในระดับพื้นที่ให้เกิดความเหมาะสม ซึ่งการพิสูจน์ทราบตรวจสอบจะต้องทำคู่ขนานกับการให้สิทธิ และการดำเนินการครั้งนี้ ไม่ได้เป็นล็อตแรก มีการทำมานานแล้ว 30-40 ปี มีกลุ่มคนที่ได้สิทธิไปแล้วประมาณ 1 ล้านคน
สำหรับการเร่งรัดการให้สัญชาติครั้งนี้ จะทำให้ระยะเวลาในการดำเนินการสั้นลงอย่างมาก คือ จากเดิมคนที่มีการสำรวจการเข้าเมืองโดยชอบแล้ว จะต้องใช้เวลาดำเนินการ 270 วัน ก็เหลือแค่ 5 วัน
ส่วนกรณีของบุตรคนไม่มีสัญชาติที่เกิดในไทย เดิมใช้เวลาดำเนินการ 180 วัน ก็เหลือ 5 วันเช่นกัน
อ่านข่าว :
ครม.ไฟเขียวให้สัญชาติไทย 483,000 คน เชื่อทุกส่วนได้ประโยชน์
ครม.เคาะแต่งตั้ง ขรก.การเมือง "ภูผา ลิกค์" นั่งผู้ช่วยเลขา "รมช.เกษตร ฯ"