ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"แจ้งตาย" เรื่องสำคัญที่ต้องรู้ ครั้งสุดท้ายที่ทำให้ "ผู้วายชนม์"

ไลฟ์สไตล์
31 ต.ค. 67
11:26
15,712
Logo Thai PBS
"แจ้งตาย" เรื่องสำคัญที่ต้องรู้ ครั้งสุดท้ายที่ทำให้ "ผู้วายชนม์"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

เมื่อมีเกิด มีแก่ มีเจ็บ ก็ต้องมี "ตาย" ไม่มีใครหนีพ้น และเมื่อ "ความตาย" เกิดขึ้นถือเป็นการสิ้นสุดของชีวิต อวัยวะสำคัญทั้ง หัวใจ และ สมอง หยุดทำงานอย่างถาวร ทิ้งไว้เพียง "ร่างกาย" ให้คนข้างหลังได้จัดการ

เมื่อเวลานั้นมาถึง ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว ญาติ หลายคนอาจทำตัวไม่ถูก แล้วจะจัดการอย่างไร รวมถึงต้องเตรียมเอกสารหลักฐาน อะไรบ้าง ชวนมาทำความเข้าใจกับเรื่องนี้ให้มากขึ้น เพราะเมื่อวันที่ต้องจากลากันจะได้จัดการ และดำเนินการให้ถูกต้องตามกระบวนการของกฎหมายได้ 

อ่านข่าว : "พินัยกรรม" สำคัญอย่างไร เลือกทำแบบไหนดี

"การแจ้งตาย" เป็นกระบวนการทางกฎหมายที่ต้องทำเมื่อมีผู้เสียชีวิต เพื่อบันทึกข้อมูลและออกใบมรณบัตร สำหรับการใช้ในเรื่องสิทธิ์ต่าง ๆ เช่น ทรัพย์สิน การประกันชีวิต หรือประวัติทางทะเบียนราษฎร์ การแจ้งตายทำได้ทั้งในกรณีเสียชีวิตที่บ้าน โรงพยาบาล หรือนอกสถานที่ มีรายละเอียด ดังนี้

กรณีตายในโรงพยาบาล หรือสถานพยาบาล

สำหรับกรณีนี้ หลังจากที่ผู้ป่วยตาย แพทย์จะออกหนังสือรับรองการตาย (ใบ ท.ร.4/1) ให้แก่ญาติ โดยญาติจะนำไปรวมกับเอกสารอื่น ได้แก่

  • บัตรประจำตัวประชาชนของผู้แจ้งตาย 
  • บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ตาย (ถ้ามี)
  • สำเนาทะเบียนบ้านที่มีชื่อคนตาย (ถ้ามี)

เพื่อนำไปยื่นให้กับนายทะเบียน ณ ที่ทำการปกครองอำเภอหรือท้องถิ่น ภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากตาย เพื่อออกใบมรณบัตร

หนังสือรับรองการตาย (ท.ร. 4/1) คืออะไร

หนังสือรับรองการตาย (ท.ร. 4/1) เป็นเอกสารตามกฎหมายทะเบียนราษฎร ที่กำหนดให้เมื่อมีคนตายในสถานพยาบาล ให้ผู้รักษาพยาบาลต้องออกหนังสือรับรองการตาย เพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบการพิจารณาออกเอกสารมรณบัตร (ข้อมูลกรมการปกครอง) 

เจตนารมณ์ตามกฎหมายได้กำหนดให้สถานพยาบาลที่มีการตายเกิดขึ้น ออกเอกสารรับรองการตายโดยแพทย์ที่ทำการรักษา พร้อมทั้งลงรายการสาเหตุการตาย เนื่องจากแพทย์ที่ทำการรักษาจะทราบข้อมูลประวัติของผู้ตาย ลักษณะอาการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บก่อนตาย 

และเมื่อมีการตายเกิดขึ้นย่อมสามารถวินิจฉัยถึงเหตุแห่งการตายได้อย่างน่าเชื่อถือตามหลักการทางการแพทย์ และสามารถใช้เป็นหลักฐานในการออกเอกสารมรณบัตรได้ถูกต้องตามข้อเท็จจริง

ดังนั้น หนังสือรับรองการตาย (ท.ร. 4/1) จึงกำหนดให้ผู้รักษาพยาบาลเป็นผู้ออกหนังสือดังกล่าวเฉพาะการตายที่เกิดในสถานพยาบาลเท่านั้น ไม่สามารถออกให้ในกรณีการตายที่เกิดขึ้นนอกสถานพยาบาลได้

กรณีตายนอกสถานพยาบาล แบ่งย่อยเป็น 2 กรณี

1.กรณีตายในบ้าน : ให้เจ้าบ้านหรือผู้พบศพแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่มีคนตาย ภายใน 24 ชั่วโมง นับแต่เวลาตาย หรือพบศพ

ผู้แจ้งคือใคร ต้องแสดงหลักฐานอะไร

กรณีคนตายภายในบ้านและโรงพยาบาล "ผู้แจ้ง" คือ เจ้าบ้าน หรือผู้พบศพ หรือผู้ได้รับมอบหมายจากเจ้าบ้าน

หลักฐานที่จะต้องแสดง ได้แก่

  • บัตรประจําตัวประชาชนของผู้แจ้ง และของผู้ตาย (ถ้ามี)
  • สําเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านที่ผู้ตายมีชื่ออยู่
  •  หนังสือรับรองการตายที่โรงพยาบาลออกให้

2.กรณีตายนอกบ้าน : ให้คนที่ไปกับผู้ตายหรือผู้พบศพแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่มีการตายหรือพบศพ หรือแห่งท้องที่ที่จะพึงแจ้งได้ภายใน 24 ชั่วโมง นับแต่เวลาตาย หรือเวลาพบศพ 

ผู้แจ้งคือใคร ต้องแสดงหลักฐานอะไร

ผู้แจ้ง คือ ผู้ที่ไปกับผู้ตายหรือผู้พบศพ โดยแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่มีการตายหรือพบศพแล้วแต่กรณี หรือแห่งท้องที่ที่จะพึงแจ้งได้หรือจะแจ้งต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจก็ได้

หลักฐานที่จะต้องแสดง ได้แก่

  • บัตรประจําตัวประชาชนของผู้ที่ไปกับผู้ตาย หรือของผู้พบผู้ตายซึ่งเป็นผู้แจ้ง และบัตรประจําตัวประชาชนของผู้ตาย (ถ้ามี)
  • สําเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านของผู้ตาย (ถ้ามี)

สถานที่แจ้งการตาย คือที่ไหน 

  • คนตายในเขตเทศบาล ให้แจ้งที่สํานักทะเบียนท้องถิ่น ซึ่งตั้งอยู่ที่สํานักงานเทศบาล 
  • คนตายนอกเขตเทศบาลให้แจ้งที่สํานักทะเบียนตําบล (บ้านกํานัน) หรือที่ว่าการอําเภอ หรือที่สํานักทะเบียนที่ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้ง เช่น เขตกรมทหาร เป็นต้น

ขั้นตอนการติดต่อ

1. ผู้แจ้งยื่นเอกสารและหลักฐานต่อนายทะเบียน เพื่อตรวจสอบและลงรายการในมรณบัตร

2. จำหน่ายชื่อผู้ตายออกจากทะเบียนบ้าน โดยจะประทับคำว่า "ตาย" สีแดง ไว้หน้ารายการคนตาย

3. มอบมรณบัตร ตอนที่ 1 สำเนาทะเบียนบ้านและบัตรประจำตัวประชาชนคืนผู้แจ้ง

กรณีการแจ้งตายต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่อื่น

ผู้มีหน้าที่แจ้งตายยังมิได้แจ้งการตายแต่มีการย้ายศพไปอยู่ต่างท้องที่สํานักทะเบียน หรือสํานักทะเบียนท้องถิ่นที่มีการตาย หรือพบศพเจ้าบ้านของบ้านที่มีการตาย บุคคลที่ไปกับผู้ตายขณะตาย ผู้พบศพหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากบุคคลดังกล่าว แล้วแต่กรณีจะแจ้งการตายต่อ นายทะเบียนผู้รับแจ้ง ณ สํานักทะเบียนอําเภอหรือสํานักทะเบียนท้องถิ่นแห่งท้องที่ที่ศพอยู่ หรือท้องที่ที่มีการจัดการศพโดยการเผา ฝัง หรือทําลายก็ได้

โดยต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือรับรองการตายของผู้ตายซึ่งออกให้โดยโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลที่บุคคลนั้นตายและพยานบุคคลไม่น้อยกว่า 2 คนซึ่งสามารถยืนยันตัวบุคคล ของผู้ตายได้

ในกรณีที่ไม่มีหนังสือรับรองการตาย ผู้แจ้งการตายอาจใช้ผลการตรวจทางวิทยาศาสตร์ เช่น การตรวจสารพันธุกรรมที่ตรวจพิสูจน์จากหน่วยงานของรัฐหรือสถาบันที่มีความน่าเชื่อถือ เพื่อเป็นหลักฐานประกอบการแจ้งแทนได้ แต่มีข้อควรระวังอยู่ว่า หากไม่แจ้งภายในเวลาที่กำหนดต้องเสียค่าปรับตามกฎหมาย 

การออกใบมรณบัตร และการตายที่ต้องรอการออกใบมรณบัตร

เมื่อมีการแจ้งตายแล้ว นายทะเบียนผู้รับแจ้งจะออกใบมรณบัตรเป็นหลักฐานให้แก่ผู้แจ้ง เว้นแต่ หากมีเหตุอันควรสงสัยว่าคนตายนั้นตายด้วยโรคติดต่ออันตรายหรือ ตายโดยผิดธรรมชาติ ได้แก่ ฆ่าตัวตาย ถูกผู้อื่นทําให้ตาย, ถูกสัตว์ทําร้ายตาย, ตายโดยอุบัติเหตุ และตายโดยยังมิปรากฏเหตุ   

นายทะเบียนผู้รับแจ้งจะรีบแจ้งต่อเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่ออันตรายหรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจ โดยนายทะเบียนผู้รับแจ้งจะรอการออกใบมรณบัตรไว้ก่อนจนกว่าจะได้รับความเห็นชอบจากเจ้าพนักงานดังกล่าว

รู้หรือไม่ การกระทำต่อศพแบบไหน ที่มีความผิดตามกฎหมาย

  • ปิดบังการตาย โดยการลอบฝัง ซ่อนเร้น ย้าย ทำลาย เพื่อปิดบังการเกิด การตาย เหตุที่ทำให้ตาย

โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

  • อนาจารศพ โดยกระทำอนาจารแก่ศพ คือ ทำไม่สมควรทางเพศ เช่น กอด จูบ ลูบ คลำ หรือแตะเนื้อต้องตัวร่างกาย

โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

  • กระทำชำเราศพ โดยการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของตน โดยการใช้อวัยวะเพศของตนล่วงล้ำอวัยวะเพศ ทวารหนัก ช่องปากของศพ

โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

  • ทำให้ศพเสียหาย ซึ่งกระทำโดยไม่มีเหตุสมควร เคลื่อนย้าย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า ทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งศพ ส่วนของศพ อัฐิ เถ้าของศพ เช่น ตัดอวัยวะหรือส่วนของศพไปขาย จับศพแขวนคอ ทุบตีศพ

โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

  • ดูหมิ่นศพ โดยการกระทำด้วยวาจา กริยา ท่าทางที่เป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามศพ คือ ด่า เหยียดหยาม ทำให้อับอาย ทำให้เสียหาย ลดคุณค่าทางสังคม เช่น เจตนาวางศพในลักษณะดูหมิ่น

โทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้ แม้แต่การโพสต์รูปศพในสภาพที่ไม่เหมาะสมในโซเชียลมีเดีย ก็อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายได้เช่นกัน ต้องพิจารณาเป็นรายกรณี 

อ้างอิงข้อมูล : สำนักงานกิจการยุติธรรม, กรมการปกครอง

อ่านข่าว : “ทองคำ” เช้านี้ บวก 400 “ทองคำแท่ง” ขายออกบาทละ 44,350

ตื่นตา "นกทึดทือมลายู-เสือดาว" โชว์ตัวแก่งกระจาน

ขีดเส้น 15 วันสอบ "ปลัดท่าอุเทน" ปมหนีหมายจับคดีตากใบ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง