ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ไทม์ไลน์แห่งความเจ็บปวด "ตากใบ" กับ 85 ชีวิตที่ไร้คนรับผิดชอบ

สังคม
24 ต.ค. 67
18:49
24,226
Logo Thai PBS
ไทม์ไลน์แห่งความเจ็บปวด "ตากใบ" กับ 85 ชีวิตที่ไร้คนรับผิดชอบ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เหตุการณ์ตากใบ 2547 เป็นหนึ่งในเหตุความรุนแรงนำไปสู่การสูญเสียชีวิตของประชาชนถึง 85 คน จนถึงขณะนี้ทั้งครอบครัวผู้เสียชีวิต ผู้รอดชีวิต ต่างยังคงต่อสู้เพื่อความยุติธรรม แม้เวลาผ่านไปกว่า 20 ปี แต่การเรียกร้องยังคงไม่สิ้นสุด และดูเหมือนไม่มีใครถูกดำเนินคดี

ก่อนเกิดเหตุการณ์

ช่วงปี 2547 มีสถานการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.นราธิวาส ปัตตานี และ ยะลา มีการประท้วงและเหตุการณ์ความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง มีการจับกุมผู้ต้องสงสัยในคดีความมั่นคงในหลายพื้นที่ ซึ่งทำให้ประชาชนในพื้นที่ไม่พอใจ

วันเกิดเหตุ 25 ต.ค.2547 

เช้า - มีการชุมนุมประท้วงบริเวณหน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส ชาวบ้านไม่พอใจ ที่ตำรวจจับกุมชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน หรือ ชรบ. ต.พร่อน อ.ตากใบ รวม 6 คน ด้วยเชื่อว่ามีส่วนรู้เห็นกับการถูกปล้นปืนโดยกองกำลังติดอาวุธ จึงรวมตัวเรียกร้องให้มีการปล่อยตัว โดยมีประชาชนในพื้นที่ทยอยมาเรื่อย ๆ จนเกิดเหตุวุ่นวาย

สายถึงบ่าย - ประชาชนราว 1,500 คน ออกมาเรียกร้องให้ปล่อยตัวทั้ง 6 คน การประท้วงบานปลาย เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารถูกส่งเข้าพื้นที่เพื่อควบคุมสถานการณ์ และเริ่มมีการปะทะกัน ระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่ใช้กระสุนยาง น้ำแรงดันสูง และแก๊สน้ำตาเพื่อตรึงสถานการณ์ ผู้ประท้วงบางส่วนเริ่มใช้ความรุนแรง เช่น ปาหินและใช้ท่อนไม้เข้าทำร้ายเจ้าหน้าที่

บ่าย - เจ้าหน้าที่เริ่มปฏิบัติการสลายการชุมนุมด้วยการควบคุมผู้ชุมนุม ผู้ประท้วงถูกบังคับให้นอนหมอบลงกับพื้นและถูกจับมัดมือ เจ้าหน้าที่ทหารจัดรถบรรทุกหลายคันเพื่อขนส่งผู้ชุมนุมเหล่านี้ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี 

ระหว่างการเดินทาง - ผู้ประท้วงถูกบังคับให้นอนทับกันหลายชั้นในรถบรรทุกอย่างแออัด การเดินทางกินเวลาประมาณ 5-6 ชั่วโมง ภายใต้ความร้อนอบอ้าวและความแออัด ทำให้ผู้ชุมนุมขาดอากาศหายใจ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 78 คน (เสียชีวิตบนรถบรรทุก) นอกจากนี้ ยังมีผู้เสียชีวิตที่เกิดจากการสลายการชุมนุมอีก 7 คน รวมยอดผู้เสียชีวิตทั้งหมด 85 คน

ธันวาคม 2547 : ปฏิกิริยารัฐบาลและผลกระทบ

หลังเกิดเหตุ รัฐบาลไทยนำโดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (ยศและตำแหน่งในขณะนั้น) ระบุว่าการสลายการชุมนุมเป็นไปตามหลักเกณฑ์ และไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐกระทำเกินกว่าเหตุ

แต่นักสังคมและสิทธิมนุษยชน ได้ออกแถลงการณ์ไม่พอใจการปฏิบัติของรัฐบาล ที่ทำให้เกิดความสูญเสียเป็นวงกว้าง มีการเรียกร้องให้ตรวจสอบและสอบสวนเหตุการณ์อย่างเป็นธรรม เนื่องจากสาเหตุการตายจากการขาดอากาศหายใจบนรถบรรทุกเป็นที่ชัดเจนว่าเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ

มีการตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริง (คตส.) เพื่อสอบสวนเหตุการณ์ตากใบอย่างละเอียด คณะกรรมการสรุปว่าเหตุการณ์เสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจ เกิดจากการขนส่งผู้ประท้วงในสภาพแออัด แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐคนใดถูกดำเนินคดีอาญา เนื่องจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เป็นไปตามหน้าที่

เมื่อมีผู้เสียชีวิตในระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงาน กฎหมายกำหนดให้ดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 คือ เป็นการตายผิดธรรมชาติ ต้องชันสูตรพลิกศพและต้องทำสำนวนชันสูตรพลิกศพ ให้ศาลไต่สวน

ผู้เสียชีวิตจากการถูกยิง 7 คน ไม่มีการไต่สวนผลชันสูตรพลิกศพ โดยพบว่าปลายปี พ.ศ.2549 มีหนังสือของอัยการจังหวัดนราธิวาส ในขณะนั้น ลงความเห็นว่า ไม่พบผู้กระทำความผิด งดการสอบสวน

ปี 2552 : การฟ้องร้องในชั้นศาล

ศาลจังหวัดสงขลาพิพากษาว่า ผู้เสียชีวิตทั้ง 78 คน เสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจในระหว่างการขนส่ง แต่ไม่มีการระบุว่าการกระทำดังกล่าวเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ที่เกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่ จึงไม่มีเจ้าหน้าที่ใดต้องรับผิดชอบทางอาญา คำพิพากษานี้ทำให้ครอบครัวผู้เสียชีวิตไม่พอใจ และมีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งเกิดขึ้น 

ปี 2555 : เยียวยาครอบครัวผู้สูญเสีย

ในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้มีการมอบเงินเยียวยาให้แก่ประชาชาทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบกับเหตุการณ์ตากใบ 2547 เป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 651,451,200 บาท ดังนี้

  • ผู้เสียชีวิต 85 คน มอบเงินเยียวยาคนละ 7,500,000 บาท
  • ผู้ทุพพลภาพ 1 คน มอบเงินเยียวยา 7,500,000 บาท
  • ผู้พิการ 8 คน มอบเงินเยียวยาคนละ 4,500,000 บาท
  • ผู้บาดเจ็บสาหัส 11 บาท มอบเงินเยียวยาคนละ 1,125,000 บาท
  • ผู้บาดเจ็บปานกลาง 22 คน มอบเงินเยียวยาคนละ 675,000 บาท
  • ผู้บาดเจ็บเล็กน้อย 8 คน มอบเงินเยียวยาคนละ 225,000 บาท
  • ผู้ถูกดำเนินคดี 58 คน (เสียชีวิต 1 คน) มอบเงินเยียวยาคนละ 30,000 บาท
  • ผู้ถูกควบคุมตัวแต่ไม่ถูกดำเนินคดี 766 คน มอบเงินเยียวยาคนละ 15,000 บาท

แม้ทั้งหมดนี้จะทำให้กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบได้รับความช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐครอบคลุมกว่ากลุ่มอื่น ๆ แต่ความรู้สึกของผู้ได้รับผลกระทบจริง ๆ นั้นกลับยังรู้สึกถึงความอยุติธรรม

ปี 2560 : การเคลื่อนไหวในระดับนานาชาติ

สหประชาชาติ, Amnesty International, องค์การนิรโทษกรรมสากล เรียกร้องให้รัฐบาลไทยฟื้นฟูการสืบสวนคดี และทำให้มีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ผู้เสียชีวิตและครอบครัวได้รับความยุติธรรมที่สมควร

ปี 2567 : ความยุติธรรมที่ยังมาไม่ถึง

แม้อายุความของคดีตากใบกำลังจะหมดลง ครอบครัวผู้สูญเสียยังคงรอคอยการยอมรับผิดจากเจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงการชดเชยทั้งทางกฎหมายและสังคม ในปี 2567 มีการยื่นคำร้องขอให้ทบทวนคดีอีกครั้ง ครอบครัวผู้เสียชีวิตและกลุ่มสิทธิมนุษยชนยังคงเรียกร้องให้มีการสอบสวนอิสระที่ไม่ถูกแทรกแซงจากรัฐบาลหรือกองทัพ ให้มีการฟื้นฟูคดีและนำผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำเกินกว่าเหตุเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม รวมถึงการฟื้นฟูชื่อเสียงของผู้เสียชีวิตที่ถูกสังคมมองในเชิงลบ

- 23 ส.ค. ศาลจังหวัดนราธิวาส รับฟ้องคดีสลายการชุมนุมตากใบเมื่อปี 2547 จำเลย 7 คน ข้อหาฆ่าผู้อื่น-พยายามฆ่าผู้อื่น-ร่วมกันกักขังหน่วงเหนี่ยว 

- 12 ก.ย. ศาลจังหวัดนราธิวาส ออกหมายจับ 6 จำเลยคดีสลายการชุมนุมหน้า สภ.ตากใบ ส่วน พล.อ.พิศาล อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 สส.พรรคเพื่อไทย ได้รับความคุ้มกันตามรัฐธรรมนูญ

- 18 ก.ย. อัยการสูงสุดสั่งฟ้องผู้ต้องหา 8 คนคดีตากใบ วินิจฉัยว่าแม้จะไม่ประสงค์ต่อผลที่จะให้ผู้ตายถึงแก่ความตายก็ตาม แต่การจัดหารถเพียงจำนวน 25 คันในการบรรทุกผู้ชุมนุมพันกว่าคน เป็นการบรรทุกแออัดเกินความเหมาะสม เป็นเหตุให้มีผู้ถึงแก่ความตาย

- 3 ต.ค. ศาลจังหวัดนราธิวาส ออกหมายจับ พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 สส.เพื่อไทย ในคดีสลายการชุมนุมที่ตากใบ แต่พบว่าลาราชการเดินทางไปประเทศอังกฤษเพื่อรักษาอาการป่วย ต่อมา ตำรวจภูธรภาค 7 เร่งติดตามผู้ต้องหาที่ยังคงหลบหนีคนอื่น ๆ

- 15 ต.ค. พรรคเพื่อไทย "ปิด-จบ" พร้อมตัดบทความรับผิดชอบ เพียงแค่หนังสือลาออกจากสมาชิกพรรคของ พล.อ. พิศาล วัฒนวงษ์คีรี พร้อมสิ้นสภาพความเป็น สส. แล้ว ขณะที่รัฐบาลเร่งประสาน "ตำรวจสากล-อินเตอร์โพล" ติดตาม-จับกุมตัวมารับโทษ

ด้านเรียกร้องการชดเชยทางแพ่ง ครอบครัวผู้สูญเสียบางส่วนที่เคยได้รับการชดเชยไปแล้ว แต่หลายครอบครัวยังคงต่อสู้เพื่อการชดเชยที่เหมาะสม รวมถึงการสนับสนุนจากองค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งในประเทศและนานาชาติยังคงเรียกร้องให้รัฐบาลไทยแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์นี้ หลังพบว่าผู้ต้องหาทั้ง 14 คน มีความเป็นไปได้ที่จะไม่มีใครมาแสดงตนต่อหน้าศาลก่อนวันที่ 25 ต.ค.2567 

ปฏิกิริยารัฐบาลไทยต่อคดีตากใบ

รัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร

หลังเหตุการณ์เกิดขึ้น รัฐบาลทักษิณถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากหลายฝ่าย ถึงการใช้กำลังในการสลายการชุมนุม
ในช่วงแรก รัฐบาลทักษิณระบุว่าเหตุการณ์การสลายการชุมนุมที่เกิดขึ้นเป็นไปตามหลักการ และไม่ถือว่าเจ้าหน้าที่กระทำเกินกว่าเหตุ ซึ่งสร้างความไม่พอใจแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตและกลุ่มสิทธิมนุษยชน

มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยรัฐบาลเพื่อสอบสวนเหตุการณ์นี้ คณะกรรมการมีข้อสรุปว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้ทำผิดตามกฎหมาย เนื่องจากเป็นการปฏิบัติหน้าที่ แต่สาเหตุการเสียชีวิตเกิดจากการขาดอากาศหายใจ

ทักษิณเคยกล่าวต่อสื่อในช่วงปี 2547 ว่า "ประชาชนไม่ควรตื่นตระหนกกับเหตุการณ์นี้เพราะเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้น" คำพูดนี้ส่งผลให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก

รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์

หลังจากรัฐประหารในปี 2549 รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ ได้พยายามแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงเหตุการณ์ตากใบ พล.อ.สุรยุทธ์ได้กล่าวขอโทษต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ตากใบ และยังได้พยายามสร้างความปรองดองในพื้นที่ เรียกร้องให้มีการจัดการกับเหตุการณ์นี้อย่างโปร่งใส 

รัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาในภาคใต้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและขออภัยต่อความสูญเสียที่เกิดขึ้น

รัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 

มีการเรียกร้องให้รัฐบาลนำคดีตากใบเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมใหม่ แต่ก็ไม่ได้มีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม อภิสิทธิ์ไม่ได้ออกมาขอโทษหรือแสดงความรับผิดชอบโดยตรงต่อคดีตากใบ แต่มีความพยายามในการสร้างความปรองดองในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงการเยียวยาผู้เสียหายและครอบครัวผู้เสียชีวิต

รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 

มีการการเยียวยาจากรัฐบาล จำนวนรวมทั้งสิ้น 987 ราย คิดเป็นเงินทั้งหมด 651,451,200 บาท การเยียวยาในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ดำเนินการโดย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ดำรงตำแหน่งเลขาธิการศูนย์อำนวนการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ขณะนั้น 

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 

หลังการรัฐประหารในปี 2557 รัฐบาลเจอแรงกดดันจากกลุ่มสิทธิมนุษยชนและองค์กรนานาชาติ รวมถึง Amnesty International และองค์การสหประชาชาติ ให้สอบสวนคดีตากใบใหม่และให้มีการรับผิดชอบต่อเหตุการณ์นี้ ทำให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ต้องออกมาตรการเยียวยาผู้เสียหายบางส่วน 

รัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน 

ยังไม่พบความเคลื่อนไหวกรณีคดีตากใบ

รัฐบาล แพทองธาร ชินวัตร 

มีความเคลื่อนไหวจากผลายฝ่าย ทั้งภาคประชาชน, ผู้แทน Human Rights Watch Asia, แม้กระทั่ง นางอังคนา นีลไพจิตร สว. ที่เรียกร้องให้รัฐบาลออก พ.ร.ก.ต่ออายุความคดีตากใบ เนื่องจากพบว่าทั้ง 14 จำเลยในคดีนี้ ทางรัฐบาลไม่สามารถตามตัวมาปรากฏตัวต่อหน้าศาลได้ก่อนที่ดคีแห่งความสูญเสียนี้จะหมดอายุความลงในวันที่ 25 ต.ค.2567 

ส่วนทางด้านรัฐบาลนั้น รมว.กลาโหม นายภูมิธรรม เวชยชัย ยืนยันว่าทางรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พยายามตามตัวผู้ต้องหาในคดีอย่างสุดความสามารถ รมว.ยุติธรรม พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อยากเห็นปาฏิหาริย์แต่ก็กังวลเรื่องการออก พ.ร.ก.ต่ออายุความจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ ส่วน รมว.มหาดไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล วอนขอคนไทยให้อภัยต่อเหตุการณืที่เกิดขึ้น และเชื่อว่าผู้ที่หลบหนีนั้นก็คงไม่มีความสุข และไม่ได้อยู่แบบสบาย ๆ 

ท้ายที่สุด ผู้ที่มีอำนาจสูงสุดของรัฐบาลชุดนี้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ได้แถลงขอโทษต่อเหตุการณ์ตากใบที่เกิดขึ้น โดยยืนยันว่าเหตุการณ์นี้ แม้จะมีนายกรัฐมนตรีในอดีตรวมถึง นายทักษิณ ชินวัตรที่ได้กล่าวคำว่า "ขอโทษ" ไปแล้ว แต่ตนเองในฐานะนายกรัฐมนตรี ก็ขอแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ในอดีตนี้

ในฐานะนายกฯ วันนี้ก็รู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างมากและขอโทษในนามของรัฐบาลด้วย ก็จะทำให้ดีที่สุดไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก

และตอบปมการตรา พ.ร.ก."คดีตากใบ" ต่อลมหายใจสุดท้ายของครอบครัวผู้สูญเสีย ให้ยังมีเวลาตามหาความยุติธรรมกลับคืนต่อ 78 ผู้จากไป ว่าไม่เข้าเกณฑ์รัฐธรรมนูญ เหตุไม่ใช่เรื่องฉุกเฉินที่จะรักษาความปลอดภัยความมั่นคง และเกี่ยวกับภาษีอากร แต่เป็นการใช้คดีเฉพาะเสี่ยงเลือกปฏิบัติต่อบุคคลและหลักกฎหมายสากล

อ่านข่าว : 

แตกต่างแต่เท่าเทียม พ.ร.บ.-พ.ร.ก. 2 กฎหมายบทบาทไม่เหมือนกัน

เปิดเอกสารกฤษฎีกา ตอบปมตราพ.ร.ก."คดีตากใบ" ไม่เข้าเกณฑ์รัฐธรรมนูญ

"แพทองธาร" ขอโทษคดีตากใบ-ชี้ไม่เข้าเกณฑ์ออกพ.ร.ก.

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง