ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

Digital Government "ประเทศ" แห่งการลงทะเบียนรัฐสวัสดิการ

เศรษฐกิจ
24 ต.ค. 67
17:13
142
Logo Thai PBS
Digital Government  "ประเทศ" แห่งการลงทะเบียนรัฐสวัสดิการ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ตามแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล 2566 – 2570 รัฐบาลไทยมุ่งเน้นอยากจะเป็น “Digital Government” เพื่อใช้เทคโนโลยีดิจิทัลยกระดับการทำงานให้มีประสิทธิภาพตอบสนองประชาชนเพื่อให้ได้รับความสะดวก สบาย ลดความเหลื่อมล้ำ และจนถึงขณะนี้ ไทยเป็นรัฐบาลดิจิทัลหรือยัง…อะไรเป็นสิ่งบ่งชี้ได้ว่าประเทศไทยเข้าสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล...?

"รายการคุยนอกกรอบ กับ สุทธิชัย หยุ่น" จับเข่าคุยกับ ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ ผู้คร่ำหวอดด้านสตาร์ทอัพ ในฐานะอดีตนายกสมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย (THAI STARTUP) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองคณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม และยังเป็น CEO ผู้ก่อตั้ง iTAX แอพพิเคชั่นการคำนวณภาษี ...และทำให้เห็นว่าจริง ๆ แล้วการเป็นรัฐบาลดิจิทัล จะต้องมีการพัฒนาไปทิศทางใด เพื่อตอบโจทย์ประชาชนในฐานะกลุ่มเป้าหมาย

ผศ.ยุทธนา มองว่า ทุกครั้งที่มีโจทย์ ความเสียเปรียบของไทย คือ การพัฒนาเทคโนโลยี โดยภาครัฐชอบคิดว่าจะต้องเป็นฮีโร่ หรือเป็นเจ้าภาพ และมีแค่รัฐเท่านั้นที่ทำบริการได้ทั้งที่ความเป็นจริง บริการภาครัฐหลาย ๆ ครั้ง สามารถให้สตาร์ทอัพ มาช่วยแก้ปัญหาได้เหมือนกัน…เช่น เมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว ตอนที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็นผู้ว่า กทม. ใหม่ ๆ มีหลายร้อยนโยบายว่า จะมีวางระบบอย่างไร และได้ขอให้เอกชนมาช่วยกัน

"ตอนนั้น ผมอยู่สมาคมไทยสตาร์ทอัพ ก็พาพรรคพวกไปคุยกับกทม.ว่ามีโจทย์อะไรที่อยากแก้ไข เขาบอกมีประมาณ 200 นโยบาย จากนั้นก็ไปถามสมาชิกสตาร์ทอัพรายไหนสนใจโจทย์ข้อไหนบ้าง ปรากฏว่ามีสมาชิกเข้ามาแก้ปัญหา 50-60 เรื่อง ทั้งเรื่องการศึกษา หลักสูตร e-Learning การเรียนดนตรี ผ่านเครื่องมือและโซลูชั่นของสตาร์ทอัพ"

เมื่อภาครัฐมีโจทย์มาให้สตาร์ทอัพ ผศ.ดร.ยุทธนา เชื่อว่าสตาร์ทอัพจะหาวิธีแก้ปัญหาเหล่านั้นได้ "สตาร์ทอัพเราหิวปัญหามากเลย อยากเจอจุดอ่อน เพื่อทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการแก้ปัญหา" ซึ่งจะต่างจากการที่ภาครัฐจ้างหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งในการทำระบบโครงสร้างที่ต้องการ แต่จะถูกกำหนดด้วยทีโออาร์ ก็จะติดอุปสรรคเมื่อหน่วยงานที่ถูกจ้างเจอกับอุปสรรค หรือ ปัญหาที่เกิดขึ้นในระหว่างจัดทำ แต่ไม่สามารถที่จะแก้ได้ เนื่องด้วยถูกกำหนดไว้ด้วยขอบเขตของการจ้างงาน

"สมมุติว่า ผมเป็นหน่วยงานที่รับงานจากภาครัฐมา ก็ไม่กล้าทำข้อที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ คือ เกรงทำไปแล้วเกิดไม่ตรวจรับจะมีปัญหา เพราะผิดสเปค ข้อสองไม่มีแรงจูงใจที่จะทำสิ่งนั้น ผมทำครบตามข้อกำหนดแล้ว จะทำต่อไปทำไม ซึ่งต่างจากสตาร์ทอัพที่เราชอบแก้ปัญหา ยิ่งเจอปัญหา ยิ่งต้องหาทางแก้"

"Digital Government" ขยับหรือยัง

ถามว่าตอนนี้รัฐบาล เป็น "รัฐบาลดิจิทัล" หรือยัง…หลาย ๆ เรื่องเริ่มดีขึ้น แต่ก็อาจจะติดขัดเพื่อเอื้อเอกชนบางส่วน เห็นได้จากเวลาที่มีแพลตฟอร์จากต่างประ เทศจะได้รับการสนับสนุนอย่างดี จากหน่วยงานราชการไทย แต่หากเป็นเทคโน โลยีสตาร์ทอัพที่เกิดจากแนวคิดของคนไทย กลับถูกมองเป็นการเอื้อประโยชน์ ให้กับเอกชนรายใดรายหนึ่ง ทำให้มีการตั้งคำถามมาตลอด

"ทำไมเราเป็นสตาร์ทอัพไทย เมดอินไทยแลนด์ เราตั้งบริษัทในไทยเสียภาษีในไทยด้วย ทำไมการเล่นในบ้าน เราไม่มีแต้มต่อเลย แต่กลับรู้สึกว่า มีแต้มลบหลายเรื่องด้วยซ้ำว่าโดนบีบโดนสกัดสารพัดเลย"

ผศ.ดร.ยุทธนา เล่าว่า มีรุ่นพี่สตาร์ทอัพ เคยเล่าให้ฟังว่า เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วได้ทำระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ หรือ ระบบการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ ปรากฏหน่วยงานกิจการโทรคมนาคมมาปิดระบบทันที โดยอ้างเป็นเรื่องของความมั่นคง พอผ่านไปไม่นานก็มีแพลตฟอร์ม Skype จากต่างประเทศแพร่หลาย เข้ามาใช้ในประเทศไทย ทั้งที่คนไทยสร้างได้ก่อน แต่กลับไม่ได้ใช้ของคนไทย แต่กลับเปิดโอกาสให้บริษัทต่างชาติเป็นผู้นำเทคโนโลยีเข้ามาแทน

"อนาคตไม่มีทางที่จะถอยกลับมาเป็นอนาล็อก มีแต่จะวิ่งไปข้างหน้าเพื่อให้ง่ายและสะดวกเพิ่มขึ้น" จึงเป็นเหตุผลที่ประเทศไทยจะต้องพัฒนาเทคโนโลยี คิดเพียงว่า 1 เทค โนโลยี จะสามารถแก้ปัญหาได้ 1 เรื่อง หากเรามีเทคโนโลยีดี ๆ หลายตัว ก็จะแก้ปัญหาได้มากมาย แต่เมื่อไปดูตลาดหลักทรัพย์ไทย ยังไม่พบหุ้นเทคโนโลยีที่เป็นเมดอินไทยแลนด์ เช่น เฟซบุ๊ก (Facebook) , กูเกิล (Google) , เมตา (Meta)

สิ่งเหล่านี้กลายเป็นหลักฐานที่บ่งชี้ได้ว่า ไทยยังขาดการสัญญาณการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนา สอดรับ และหากต้องการหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง เป็นประเทศพัฒนาที่พุ่งทะยานไปข้างหน้า คงหนี้ไม่พ้น การสร้างเทคโนโลยี หรือสตาร์ทอัพ ที่สร้างมูลค่ารายได้อย่างมหาศาล

ไทยอยู่กี่เปอร์เซ็นต์ของคำว่า "Digital Government"

แม้ราชกิจจานุเบกษา จะประกาศยกเลิกการเรียกสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้าน ตามประกาศกรมการปกครอง เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2564 เพื่อรองรับการเป็นรัฐบาลดิจิทัล โดยให้ประชาชนยื่นบัตรประชาชนแบบสมาร์ท การ์ดที่มีข้อมูลแทน แต่ก็ยังมีอีกหลายหน่วยงานที่ยังต้องใช้

ดังนั้น แม้จะมีระเบียบออกมาแล้ว ส่วนหนึ่งเกิดจากทัศนคติของข้าราชการในการจัดการ ที่มีความกังวลในเรื่องการรับผิด อีกทั้งความเคยชินที่มีการปฏิบัติมานานหลายสิบปี

"เรื่องแรกอาจต้องเปลี่ยน คือ มายเซ็ท ของคนที่ทำงานตรงนั้น องค์กรควรสื่อสารให้เห็นทิศทางรัฐบาลในการเป็น Digital Government บางครั้งฝ่ายบริหารมีการประกาศมาแล้ว มีนโยบายมาแล้ว แต่เมื่อไปถึงหน้างาน เจ้าหน้าที่กลับบอกว่าไม่ทราบเรื่อง ดังนั้นจำเป็นที่จะต้องสื่อสารภายในองค์กร"

นอกจากนี้ การที่กระดาษหายไปจะบ่งชี้ว่าไทยเข้าสู่ Digital  Government อย่างเป็นรูปธรรมหริอไม่ แต่หลายองค์กรยังมีการเก็บเอกสารข้อมูลไว้ไม่ต่ำกว่า 10 – 15 ปี จึงต้องถามก่อนว่า การเก็บเอกสารดังกล่าวเพื่อเป็นหลักฐานอ้างอิงในการยืนยันการทำธุรกรรมเท่านั้น

ระบบเทคโนโลยีดิจิทัลสามารถทำแทนได้ แต่ส่วนใหญ่ยังมีความเคยชิน และความสบาย ป้องกันการรับผิด ก็ต้องย้อนกลับไปที่การสื่อสารขององค์กรให้เจ้าหน้าที่มีความเข้าใจและค่อยๆ เปลี่ยนการทำงานเข้าสู่ระบบ

"สรรพากร" ควรเป็นหน่วยงานนำร่อง เนื่องด้วยเป็นหน่วยงานที่น่าจะใช้กระดาษมากที่สุด ด้วยการหันมาเปลี่ยนใช้เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ และต้องยอมรับว่าเอก สารอิเล็กทรอนิกส์ เทียบเท่ากับเอกสารกระดาษ หากแก้ได้จะเห็นการเปลี่ยน แปลงในไทยเป็นวงกว้าง เช่นเดียวกับ "กรมที่ดิน" เอกสารสำคัญยังคงเป็นกระดาษ ทำให้ประชาชนใช้เวลาเกือบทั้งวันในการไปรอทำธุรกรรม

โฉนดที่ดิน ทำเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ได้หรือไม่?

"สามารถทำได้" โดยมีตัวอย่างของกรมที่ดินเมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ประกาศเป็นที่แรกของโลก ด้วยการสร้างระบบ blockchain เป็นฐานข้อ มูล เพื่อบันทึกสัญญาเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมด (โฉนดที่ดิน) รวมถึงการลงทะเบียนเช่าและเชื่อมโยงกับ Dubai Electricity & Water Authority (DEWA) ระบบโทรคมนาคมและทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับตั๋วเงิน ประกอบด้วยฐานข้อมูลผู้เช่าส่วนบุคคลรวมทั้งบัตรประจำตัวของ Emirates 

และความถูกต้องของวีซ่าพำนักและช่วยให้ผู้เช่าสามารถชำระเงินด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์โดยไม่จำเป็นต้องเขียนเช็คหรือพิมพ์เอกสารใด ๆ กระบวนการทั้งหมดนี้สามารถดำเนินการทางอิเล็กทรอนิกส์ภายในไม่กี่นาทีได้ตลอดเวลาและจากที่ใดก็ได้ในโลกโดยไม่จำเป็นต้องไปที่องค์กรภาครัฐใด ๆ ..ที่สำคัญระบบดังกล่าวเป็นการร่วมกันคิดค้นจากสตาร์ทอัพร่วมกับหลายหน่วยงาน

"Blockchain" ถือเป็นเทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูล (Data Structure) ที่เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายผ่านการเข้ารหัสทางคอมพิวเตอร์ โดยข้อมูลที่ถูกบันทึกจะส่งต่อข้อมูลไปยังทุกคนในเครือข่าย ซึ่งยากต่อการปลอมแปลงข้อมูล จึงทำให้ถูกนำมาใช้ในฐานข้อมูลดังกล่าว

"หลักการทำงาน เมื่อโฉนดที่ดินถูกรวบรวมไว้ในระบบ Blockchain เวลาเปลี่ยนมือจะเห็นเลยว่า จากบัญชีใคร ไปหาบัญชีใคร ดังนั้นการโอนกรรมสิทธิ์ไม่ต้องไปนั่งทำอะไรกันมากมาย เขาถือว่าใครเป็นเจ้าของตรงนี้มันจะสามารถตรวจสอบแบบย้อนหลังได้ว่าโฉนดนี้ออกเมื่อไหร่ ไปหาใคร แล้วตอนนี้ใครเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์"

ระบบราชการไทย ยังล้าหลัง

ระบบราชการไทยในปัจจุบัน หลายเรื่องมีจุดยืนให้ข้าราชการเป็นศูนย์กลาง ส่วนหนึ่งเพราะระเบียบที่ถูกต้องขึ้นมาเพื่อปกป้องตัวเองก่อน ไม่ให้มีปัญหาการรับผิด ส่งผลให้เกิดกระบวนการที่ซับซ้อนมากหลายขั้นตอน เพื่อให้ข้าราชการทำ งานง่าย แต่ไม่ได้ให้ประชาชนได้รับบริการง่ายขึ้น

ดังนั้นโจทย์ของไทยจะต้องปรับเปลี่ยนใหม่ คือ เอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไทยถึงจะเป็น "Digital Government" ต้องยอมรับอาจเป็นเรื่องยาก เนื่องด้วยการปรับเปลี่ยนระบบต่าง ๆ เป็นเรื่องนโยบายฝ่ายบริหาร แต่หากมองในมุมกลับ ประเทศชาติจะไม่สามารถเดินไปข้างหน้าได้ แต่...ส่วนหนึ่งก็เริ่มมีความหวังกับการเมืองยุคใหม่ ที่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่อยู่ในตำแหน่งสำคัญมากขึ้น

"ต้องคิดด้วยว่า ง่ายกับประชาชน อาจจะไม่ได้ง่ายกับราชการ แต่เราสามารถทำให้ง่ายทั้งคู่ได้ อย่างน้อยถ้าฝั่งประชาชนงานน้อยลง แปลว่า งานฝั่งของทางราชการเองก็จะน้อยลงตามไปด้วย เพราะไม่ต้องเจอกัน ไม่ต้องเสียเวลาสัมผัสกัน"

ย้อนกลับไปจุดเริ่มต้น 8 ปีที่แล้วประเทศไทยรู้จักกับ "สตาร์ทอัพ" (เทคโนโลยีที่ใช้วิทยาศาสตร์และวิศวกรรมขั้นสูงมาพัฒนา หรือโซลูชั่นเพื่อแก้ปัญหาสิ่งที่มีอยู่ในตลาด ขั้นตอนค้นคว้าวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์มีความซับซ้อน มีสิทธิบัตรทางปัญญาคุ้มครอง ลอกเลียนแบบได้ยาก) เกิดความฮือฮาในหน่วยงานราชการ หลายคนเริ่มรู้จักการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในโลกของเรา

แต่สุดท้ายรัฐบาลก็ไม่ได้มีแผนพัฒนาให้เกิดเป็นรูปธรรม เป็นเพียงการโปรโมทและจัดงานเท่านั้น แม้ปัจจุบันที่มีการแถลงนโยบายก็ยังไม่ได้มีเป้าหมายอย่างชัดเจนถึงทิศทางการก้าวเดินของไทย มีความน่ากังวลเมื่อปัจจุบัน "เทคโนโลยีเอไอ" เข้ามา มองว่าหากเรื่องสตาร์ทอัพยังตามไม่ทัน เราจะก้าวกระโดดในการพัฒนาเอไอไปเลยหรือไม่ หรือหากเราไม่สนใจทั้งสองอย่าง ก็เชื่อว่าเป็นความน่ากลัววันหนึ่งหากจะเริ่มก็อาจจะช้าไป

โมเดลของประเทศจีนอย่างหนึ่ง ถ้าอันไหนจะทำไม่ทัน ก็ไม่ต้องไปตามเขา จะกระโดดไปเจเนอเรชั่นใหม่เลย  ซึ่งเราอาจจะต้องทำแบบนั้น สมมุติเราสารภาพกันตรง ๆ ว่าระบบราชการบ้านเราเหมือนจะมีความช้านะ เราจะทำอย่างไรให้มันเร็วขึ้น เราอาจจะกระโดดไปอีกเจเนอเรชั่นใหม่ มันมีอะไรที่ทำงานได้บ้างหรือไม่

โดยต้องมีเป้าหมายว่า จะเริ่มจากอะไร หากตัดเอไอทิ้งไปก่อน ตัดทุกอย่างทิ้งไป เอาเป้าหมายก่อนว่า เราอยากได้อะไร สมมุติว่าเป้าหมายของเรา คือ อยากให้ประชาชนได้รับบริการภาครัฐที่สะดวกสบายมากขึ้น ถ้าประชาชนเป็นเป้าหมายหลัก เราก็มาดูกันต่อว่าเส้นทางที่เราจะไปตรงนี้ มีเครื่องมืออะไรที่แก้ได้บ้าง

ถ้าเอไอ คือ คำตอบก็ใช้เอไอ ถ้าบล็อกเชน คือ คำตอบใช้บล็อกเชน ถ้าการใช้กระดาษเป็นคำตอบก็ใช้กระดาษ ผมไม่มีปัญหาใช้เครื่องมืออะไรก็ได้ แต่เอาประชาชนเป็นตัวตั้งก่อน ดังนั้นถ้าถามว่าเราจะเริ่มต้นจากอะไร ผมว่าเริ่มต้นจากประชาชนคุณไม่มีวันตอบคำถามนี้ผิด

ไทย "ประเทศ" แห่งการลงทะเบียน

"จำได้ว่า ช่วงโควิดที่ผ่านมา หลายคนที่จะเข้าไปรับเงินเยียวยา ประเด็นคือผมมีคนที่ตกหล่น เพราะมีการลงทะเบียน ที่ต้องใช้เป็นสมาร์ทโฟน หรือคอมพิวเตอร์ ตัวหนังสือก็ตัวเล็กมาก การกรอกข้อมูลก็ยาก"

เหตุผลที่ต้องให้ประชาชนลงทะเบียนทุกครั้งเมื่อเวลาที่มีรัฐสวัสดิการต่าง ๆ นั้นก็เพราะหน่วยงานหลักไม่มีข้อมูลที่ทำให้รู้ว่าจะต้องช่วยใคร หรือใครเป็นกลุ่มเป้าหมาย เนื่องด้วยไม่มีการแชร์ข้อมูลระหว่างหน่วยงานรัฐ กลายเป็นว่าต้องลงทะ เบียนซ้ำไปซ้ำมา

"เปรียบเทียบกับสหรัฐอเมริกา ใช้วิธีให้กรมสรรพากรเป็นเจ้าภาพ เพราะมีข้อมูลทุกคนในประเทศ ใครบ้างควรได้รับความช่วยเหลือ เขาจะส่งเช็คเงินสดช่วยเหลือช่วงโควิด – 19 ไปที่บ้านเลย โดยไม่ต้องลงทะเบียน ไม่ต้องรับสาย และเขาจะสื่อสารไปว่า จะไม่มีเจ้าหน้าที่โทรศัพท์ไปก่อน ถ้าโทรไปคือการหลอกลวง และอีกหลายประเทศก็เป็นแบบนี้"

เรื่องนี้ถือเป็นความท้าทายของไทยในการควบรวมข้อมูลพื้นฐานประชาชน บนความขัดแย้งของหน่วยงานที่มีการหวงข้อมูลกันไว้ประมาณหนึ่ง…ถ้าให้มอง "กรมสรรพากร" อาจจะต้องเป็นหัวเรือใหญ่ในการรวมข้อมูล เนื่องด้วยมีข้อมูลของผู้ที่เสียภาษีอยู่แล้ว ส่วนข้อมูลของประชาชนบางส่วนที่อยู่ในหน่วยงานกรมปกครอง มหาดไทย , สำนักงานประกันสังคม ,กระทรวงแรงงาน จะต้องทำระบบที่สามารถซิงค์ข้อมูลได้

"หากจะทำเรื่อง Digital Government หรือ สตาร์ทอัพ ผมว่า Negative Income Tax หรือแนวคิดในการเก็บภาษีที่ออกแบบมาเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย โดยในระบบนี้ หากบุคคลที่มีรายได้น้อยกว่าขีดจำกัดที่กำหนดไว้จะไม่ได้จ่ายภาษี เหมาะสมสุด ที่จะเริ่มจากตรงนี้ เพราะกระทบกับทุกคน ทั้งยังช่วยให้เห็นภาพทั้งหมดได้ ถ้าทำอะไรสักอย่าง แล้วเป็นโครงสร้างพื้นฐาน เรื่องนี้มีความเป็นไปได้มากที่สุด ที่จะเปลี่ยนระบบ"

หากรัฐบาลเกรงว่า อาจจะต้องใช้เงินจำนวนมากในการเปลี่ยนแปลงระบบใหม่ แต่อย่างน้อยให้มองว่าเป็นการเริ่มต้นจากความตั้งใจดีตรงนี้ก่อนว่า อยากช่วย แล้ว นี่คือสิ่งที่ควรจะเป็น และหากติดเรื่องเทคโนโลยีมาคุยกับสตาร์ทอัพได้ เชื่อว่าจะมีทางเลือกให้แน่นอน อีกทั้งจะช่วยประหยัดเงินได้มาก

แต่จนถึงตอนนี้รัฐบาลก็ยังไม่มีการเข้ามาพูดคุย หากมองในมุมบวกก็อาจจะเพราะมีเรื่องสำคัญที่ต้องจัดการก่อน เรื่องของสตาร์ทอัพ เทคโนโลยี จึงอาจยังไม่ได้สำคัญ

แต่ก็หวังว่ารัฐบาลไม่ควรปล่อยเวลานานเกินไป เพราะเชื่อว่าการจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วได้ในโลกยุคนี้ จะต้องมีเทคโนโลยีที่เป็นเมดอินไทยแลนด์เป็นของตัวเอง อย่างน้อยที่สุด ต้องมีสตาร์ทอัพที่เกิดจากคนในประเทศ ที่แก้ปัญหานี้ได้

พบกับรายการ:คุยนอกกรอบกับ สุทธิชัย หยุ่น ทุกวันพฤหัสบดี เวลา 21.30-22.00 น.ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

ข่าวที่เกี่ยวข้อง